ทางรอดจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า 3
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
ถ้าจะถามถึงวิธีบรรเทาและผ่อนปรนความทุกข์ยากเหล่านี้ก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่อัลกุรอานและสุนนะฮฺได้บอกไว้แก่พวกเรา ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ (ต่อ)
ประการที่สี่
การออกห่างจากสิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัย เช่น การเล่นหุ้นในรูปแบบที่ผู้คนนิยมกันซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการพนันเสี่ยงทาย
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวว่า
“ในยุคสมัยหนึ่งในอนาคตผู้คนจะไม่สนใจว่าทรัพย์สินของพวกเขานั้นได้มาด้วยวิธีการใดและจากแหล่งที่มาที่หะล้าลหรือหะรอม?”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2083)
อิบนุ อัล-มุบาร็อก กล่าวว่า
"สำหรับฉันแล้วการคืนเงินหนึ่งดิรฮัมที่ไม่แน่ใจในแหล่งที่มาของมัน ดีกว่าการที่ฉันจะบริจาคเงินหนึ่งแสนดิรฮัมเสียอีก"
ท่านอุมัร กล่าวว่า
"พวกเรานั้นออกห่างจากเก้าในสิบของสิ่งที่หะล้าลเพียงเพราะเกรงว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่หะรอม"
นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า
"เมื่อท่านสงสัยในสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่ามันเป็นสิ่งที่หะล้าลหรือว่าหะรอม ก็จงพิจารณาที่ผลของมันเพราะสิ่งที่ดีย่อมให้ผลที่ดีส่วนสิ่งที่ชั่วร้ายนั้นย่อมให้ผลที่ชั่วร้ายเช่นเดียวกัน"
ท่านนบี กล่าวว่า
“ท่านจงสอบถามหัวใจของท่านด้วยเถิด แม้ว่าผู้คนมากมายจะให้คำตอบแก่ท่านอย่างไรก็ตาม"
(อัล-บุคอรียฺ ในตารีค 1/144-145)
ประการที่ห้า
การจ่ายซะกาตเมื่อครบกำหนดเวลาและนี่ก็คือรุก่นอิสลามข้อที่สาม ท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี กล่าวว่า
“อิสลามนั้นวางอยู่บนรากฐานห้าประการคือการปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดนั้นเป็นเราะสูลของพระองค์
การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีหัจญ์ และการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 8 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 16)
แต่ผู้คนจำนวนมากในสมัยนี้กลับปฏิเสธที่จะจ่ายซะกาตหรือไม่ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่าย ดังเช่นหะดีษข้างต้นที่ท่านนบี ได้กล่าวความว่า
“และหากกลุ่มชนใดปฏิเสธการจ่ายทานซะกาต ฝนก็จะหยุดตกและถ้ามิใช่เพราะสัตว์ต่างๆต้องการฝนพวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้รับความโปรดปรานดังกล่าวนี้อีกต่อไป"
กวีอาหรับคนหนึ่งกล่าวว่า
"และฉันมั่นใจว่าถ้าผู้คนต่างจ่ายซะกาตกันทุกคน ท่านจะไม่มีวันเห็นลูกหลานผู้ยากไร้เดินขอทานเป็นแน่"
นอกจากซะกาตที่จำเป็นแล้วเราก็ควรที่จะบริจาคทานเศาะดะเกาะฮฺแก่ผู้ยากจนขัดสนด้วยเพราะสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะขจัดความชั่วร้ายให้พ้นไปจากเรา ท่านนบี กล่าวว่า
“การบริจาคทานนั้นจะลบล้างความผิดบาปเสมือนกับน้ำที่ดับไฟ”
(ส่วนหนึ่งจากหะดีษที่บันทึกโดยอัตติรมีซียฺหะดีษเลขที่ 2616)
ประการที่หก
การนำสื่อทีวีต่างๆที่เผยแพร่เชิญชวนสู่ความชั่วร้ายและต่อต้านความดีงามออกจากสถานที่อยู่ของเราเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของเราอีก ทั้งยังทำให้เราเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไร้สาระ โดยทำให้เราออกห่างจากการละหมาดหรือการทำอิบาดะฮฺอื่นๆ
เชคอิบนุอุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ท่านนบี กล่าวว่า
“บ่าวคนหนึ่งคนใดที่อัลลอฮฺทรงให้เขานั้นเป็นผู้ปกครองดูแลผู้ที่อยู่ภายใต้เขาแต่ทว่าเขานั้นกลับละเลยหน้าที่ดังกล่าวพระองค์จะทรงห้ามมิให้เขาได้เข้าสวรรค์”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่715 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 142)
ซึ่งการดูแลรับผิดชอบที่ว่านี้ครอบคลุมทั้งในสังคมใหญ่และสังคมเล็กๆ เช่นคนในครอบครัว ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวว่า
“หัวหน้าครอบครัว คือผู้ที่ดูแลครอบครัวของเขาซึ่งเขานั้นคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการปกครองของเขา”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 893และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1829)
ฉะนั้นผู้ใดที่ตายไปโดยที่เขาได้ปล่อยปะละเลยให้ที่บ้านของเขานั้นมีจานรับสัญญาณที่เผยแพร่สิ่งที่ไม่ดีก็เท่ากับว่าเขาตายไปในสภาพที่บกพร่องต่อหน้าที่ของเขา และเราขอบอกว่าบาปความผิดใดที่เป็นผลอันเนื่องจากการติดจานดาวเทียมดังกล่าว เขาก็จะต้องเป็นผู้แบกเอาความผิดดังกล่าวนั้นไปด้วยไม่ว่าจะตายไปนานเท่าใดหรือมีบาปความผิดเกิดขึ้นมากมายเพียงใด"
(คุฏบะฮฺของเชคอิบนุอุษัยมีน เมื่อวันที่ 25/3/1417)
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islam House