ทางรอดจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า 2
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
ถ้าจะถามถึงวิธีบรรเทาและผ่อนปรนความทุกข์ยากเหล่านี้ก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่อัลกุรอานและสุนนะฮฺได้บอกไว้แก่พวกเรา ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ประการที่หนึ่ง
จำเป็นที่จะต้องงดเว้นและออกห่างจากความผิดบาปทั้งหลายที่กระทำอยู่พร้อมทั้งขออภัยโทษและรีบเร่งทำการเตาบัตกลับตัวต่ออัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจ
พระองค์ตรัสว่า
“แท้จริงอัลลอฮฺจะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใดจนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง”
(อัร-เราะอฺด์: 11)
และตรัสอีกว่า
“และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรงแล้วไซร้แน่นอนเราก็จะเปิดให้แก่พวกเขาซึ่งบรรดาความเพิ่มพูนจากฟากฟ้าและแผ่นดิน
แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธดังนั้นเราจึงได้ลงโทษพวกเขาเนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว้”
(อัล-อะอฺรอฟ: 96)
ชาวสลัฟบางท่านกล่าวว่า
"ท่านอย่าได้รู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดการตอบรับดุอาอ์ที่ท่านขอถึงได้ล่าช้านักในเมื่อตัวท่านเองได้ปิดช่องทางดังกล่าวด้วยการทำความชั่วและการฝ่าฝืน"
กวีอาหรับคนหนึ่งกล่าวว่า:
"พวกเราวิงวอนขอต่อพระเจ้าเมื่อยามทุกข์ใจ แต่กลับลืมพระองค์เมื่อยามพ้นภัย
แล้วเราจะหวังคำตอบจากท่านได้อย่างไร เมื่อเราได้ปิดทางนั้นด้วยบาปของเราแล้ว"
ท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺกล่าวว่า
"บททดสอบและการลงโทษจะประสบกับเราก็ด้วยการทำบาปและจะถูกขจัดไปด้วยการเตาบัต"
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
“และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ยเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ”
(อันนูร:31)
ประการที่สอง
ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺให้มากเพราะนั่นคือหนทางแห่งการได้รับความโปรดปราน ทั้งจากน้ำฝน ทรัพย์สินเงินทองลูกหลานสืบสกุล และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
อัลลอฮฺตรัสว่า
“ข้าพระองค์ได้กล่าวว่าพวกท่านจงขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่านเถิด เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษอย่างแท้จริง
พระองค์จะทรงหลั่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน และจะทรงเพิ่มพูนทรัพย์สินและลูกหลานแก่พวกท่าน
และจะทรงทำให้มีสวนมากหลายแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีลำน้ำมากหลายแก่พวกท่าน”
(นูหฺ: 10-12)
อัล-ฟุฎ็อยล์ บิน อิยาฏ กล่าวว่า
"การขออภัยโทษโดยไม่คิดจะละเลิกในความผิดที่ทำอยู่ เป็นการเตาบัตกลับตัวของผู้ที่โกหกปลิ้นปล้อน"
ท่านอัล-อะฆ็อร อัล-มุซะนียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ในบางครั้งฉันยังรู้สึกว่าหัวใจของฉันขุ่นหมองฉันจึงขออภัยโทษต่อพระองค์อัลลอฮฺหนึ่งร้อยครั้งในหนึ่งวัน”
(บันทึกโดยมุสลิมหะดีษเลขที่ 2702)
ถ้าหากนี่คือสภาพของท่านนบี ซึ่งเป็นผู้นำแห่งมวลมนุษยชาติทั้งๆที่ท่านนั้นได้รับการอภัยโทษในบาปความผิดของท่านทั้งปวงแล้วแล้วพวกเราที่มีทั้งความผิดและความบกพร่องมากมายเล่าจะมีสภาพอย่างไร?
ประการที่สาม
การออกห่างจากทรัพย์สินที่หะรอมต้องห้าม ซึ่งที่เลวร้ายที่สุดประการหนึ่งก็คือ ดอกเบี้ย ผู้ที่ข้องเกี่ยวกับเงินดอกเบี้ยถือว่าเขานั้นได้ประกาศสงครามกับอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์
อัลลอฮฺตรัสว่า
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดและจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสียหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา
และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตามก็พึงรับรู้ไว้ด้วยว่า มันเป็นการประกาศซึ่งสงครามต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์
และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้วสำหรับพวกเจ้าก็คือต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรมและไม่ถูกอธรรม”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 278-279)
เป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนสมัยนี้ส่วนใหญ่นำเงินทองที่มีไปฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย หรือไม่พวกก็กู้เงินภายใต้สัญญาดอกเบี้ย หรือซื้อขายหุ้นของธนาคารที่ดำเนินกิจการเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลายแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้ที่งดงามและพระองค์จะไม่ทรงตอบรับสิ่งใดนอกจากจะเป็นสิ่งที่ดีและงดงาม
และพระองค์ทรงสั่งใช้บรรดาผู้ศรัทธาเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงสั่งใช้บรรดาเราะสูล"
พระองค์ตรัสว่า
“โอ้ บรรดาเราะสูลเอ๋ย! พวกเจ้าจงบริโภคสิ่งที่ดีและจงกระทำความดีเถิด เพราะแท้จริงข้ารอบรู้สิ่งพวกเจ้ากระทำ”
(อัล-มุอฺมินูน: 51)
และตรัสว่า
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดีๆทั้งหลาย”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 172)
หลังจากนั้นท่านก็ได้กล่าวถึงผู้ที่เดินทางไกลด้วยความยากลำบาก ผมเผ้ายุ่งเหยิงโดยเขาได้ยกมือขึ้นขอวิงวอนต่อพระเจ้า ในขณะที่อาหารของเขานั้นหะรอม เครื่องดื่มของเขาหะรอม เสื้อผ้าของเขาก็หะรอม และเลือดเนื้อของเขาถูกเสริมสร้างขึ้นด้วยสิ่งที่หะรอมทั้งสิ้น แล้วดุอาอ์ของเขาจะถูกตอบรับได้อย่างไร ?”
(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1015)
จะเห็นว่าท่านนบี ได้บอกเราว่าผู้ที่บริโภคทรัพย์ที่หะรอม ดุอาอ์ของเขาจะไม่ถูกตอบรับ
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islam House