การมีปณิธานสูง
  จำนวนคนเข้าชม  7596

การมีปณิธานสูง


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


         มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสขความจําเริญและศานติจงประสบแด่ ศาสนทตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สําหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

         แท้จริงการมีปณิธานสูงเป็นนิสัยอันดีงามเป็นคุณลักษณะอันน่าสรรเสริญและเป็นจรรยามารยาทอันสูงส่ง มนุษย์จะมีคุณค่าในตัวเองมากเท่าใดจะมีสถานะสูงส่งเพียงใด ขึ้นอยู่กับการที่เขามีปณิธานอันสูงส่ง อีกทั้งมีเป้าหมายในชีวิตอันมีเกียรตินั่นเอง

          มีผู้ให้นิยามของการมีปณิธานสูงว่า คือ การมองเป้าหมายใหญ่เป็นเรื่องง่ายและมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้ หมายความว่า เมื่อมุอ์มินทำงานหนึ่งงานใดไม่ว่าจะเป็นงานของดุนยาหรือศาสนาสำเร็จลุล่วงไปงานหนึ่งแล้ว เขาจะไม่หยุดอยู่แค่งานนี้เท่านั้นแต่ทว่าเขาจะมุ่งมั่นทำงานอื่นๆต่อไปอีกเรื่อยๆโดยไม่หยุดหย่อน ดังกล่าวนี้แหละคือลักษณะของผู้มีปณิธานสูง


ปณิธานแบ่งเป็น 2 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง

     ♥ บุคคลที่สำนึกตนว่ามีศักยภาพคู่ควรกับงานอันยิ่งใหญ่และมองงานอันยิ่งใหญ่นั้นเป็นเป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้จงได้เช่นนี้เรียกว่า ปณิธานอันยิ่งใหญ่ หรือปณิธานอันแน่วแน่

ประเภทที่สอง

     ♥ บุคคลที่มีศักยภาพเหมาะกับงานอันยิ่งใหญ่แต่เขากลับดูถูกตนเองไม่มุ่งมั่นทำงานให้บรรลุเป้าหมายแต่กลับมองว่าเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่สำคัญ เช่นนี้เรียกว่า ปณิธานต่ำ

 

อัลมุตะนับบีย์ กล่าวว่า

"ฉันเห็นว่าไม่มีสิ่งใดน่าตำหนิเท่ากับคนที่มีความสามารถแต่ไม่ทำจนสุดกำลัง ไม่พยายามทำให้สำเร็จ"

 

ตัวอย่างของการมีปณิธานสูง

มัสรูก เล่าว่า อับดุลลอฮฺ บินมัสอูด กล่าวว่า

         “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺไม่มีอัลกุรอานอายะฮฺใดที่ถูกประทานลงมาเว้นแต่ฉันจะต้องรู้ว่าถูกประทานลงมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ใด ถูกประทานลงมา ณ ที่ใด และหากฉันรู้ว่ามีผู้ใดรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ของอัลลอฮฺมากกว่าฉันแล้วละก็ ฉันจะต้องไปหาเขาอย่างแน่นอนถ้าอูฐไปถึงเขาได้ (หากฉันสามารถไปหาเขาได้ฉันก็จะไปอย่างแน่นอน)”

     อิมามอัล-บุคอรีย์เคยตื่นขึ้นมาในคืนหนึ่งถึงประมาณ20 ครั้ง เพื่อบันทึกหะดีษหรือความคิดที่ผุดขึ้นมา

     อิมามอะหฺมัด บิน หันบัลกล่าวว่า

“ฉันได้เดินทางไปยังเมืองชายแดน แคว้นชาม เมืองชายฝั่ง เมืองโมร็อกโคเมืองแอลจีเรีย มักกะฮฺ มะดีนะฮฺ เยเมนคุรอซาน และเปอร์เชียเพื่อแสวงหาหะดีษ”

     ท่านได้กล่าวอีกว่า “ฉันได้ทำหัจญ์ 5 ครั้งด้วยกัน ซึ่ง 3 จาก 5 ครั้งเป็นการเดินเท้าจากแบกแดดไปมักกะฮฺ”

อิบนุ อัลเญาซีย์ กล่าวว่า

“อิมามอะหฺมัดได้เดินทางไปทั่วโลกถึง 2 ครั้งจนสามารถรวบรวมหนังสือมุสนัดของท่านซึ่งมีหะดีษเป็นจำนวนถึง 30,000 หะดีษ”

          อิบนุ อัลเญาซีย์ได้กล่าวอีกว่า

          “ถ้าหากฉันพูดว่าฉันอ่านหนังสือมากกว่า 20,000 เล่ม แต่ถึงกระนั้นฉันก็ยังแสวงหาความรู้เพิ่มอีกฉันได้รับคุณประโยชน์จากการอ่านและได้รู้เรื่องราวของกลุ่มชนพลังปณิธาน พลังความจำกำลังการทำอิบาดะฮฺของพวกเขาและเรื่องราวความรู้เฉพาะทางความรู้แปลกใหม่ ที่ผู้ไม่ได้อ่านก็จะไม่รู้ แล้วฉันก็คิดติงมนุษย์ในเรื่องการมีปณิธาน และเห็นว่าปณิธานของนักศึกษานั้นน้อยนิดเหลือเกิน"

 (ศอยด-อัลคอฏิร หน้า 402)

          อิบนุอัลเญาซีย์กล่าวไว้ในชีวประวัติของอัฏเฏาะบะรอนีย์ว่า ท่านคือนักปราชญ์ผู้มีชื่อว่า สุลัยมาน อิบนฺ อะหฺมัด ผู้รวบรวมหะดีษแห่งดุนยา ท่านมีผลงานหนังสือมากกว่า 75,000 เล่ม ท่านถูกถามถึงการรวบรวมหะดีษที่มากมายว่าทำได้อย่างไร

    ท่านตอบว่า “เพราะฉันนอนแต่บนเสื่อถึง 30 ปี”(เป็นการบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้)

 

อิมามอัชชาฟีอีย์ กล่าวบทกลอนว่า

"จงนิรเทศตนเองออกจากบ้านเมืองเพื่อแสวงหาความสูงส่ง

จงออกเดินทางไปเพราะการเดินทางมีห้าผลดี คือ

ปลดเปลื้องความทุกข์ ได้รับความสุข ความมั่นคง ได้ความรู้ วัฒนธรรม ทั้งยังได้รู้จักสหายที่มีเกียรติ"

 

ตัวอย่างของคนที่มีปณิธานสูงในยุคสมัยของเรา (ผู้เขียนเล่าความว่า)

        “มีผู้เล่าให้ฉันฟังว่ามีชายคนหนึ่งตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ แต่ไม่เคยพลาดตักบีเราะตุ้ลอิหฺรอมเลยสักครั้ง และเป็นที่น่าแปลกดีแท้ผู้ที่พาเขาไปยังมัสญิดก็ คือลูกชายของเขา ซึ่งหูหนวกและเป็นใบ้ ถึงแม้จะมีสภาพเช่นนั้นอีกทั้งได้รับการอนุโลมทางศาสนาแต่ทั้งสองก็ยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจอันแรงกล้าที่จะออกไปยังบ้านของอัลลอฮฺและร่วมละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺ"

อัลมุตะนับบีย์ กล่าวบทกลอนว่า

"หากเมื่อจิตใจหวังสูงแล้วไซร้ ร่างกายจำต้องเหนื่อยล้าเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนา"

และกล่าวว่า

"หากท่านเปี่ยมล้นไปด้วยปณิธานอันสูงส่งจงอย่าปรารถนาในสิ่งที่ต่ำต้อยกว่าดวงดาว

เพราะถึงอย่างไรรสชาติของความตายในงานที่ต่ำต้อยก็ไม่ต่างจากรสชาติของความตายในงานที่ยิ่งใหญ่"

อบูฟิรอส อัลหะมะดานีย์ กล่าวว่า

"พวกเราคือกลุ่มชนที่ไม่มีลักษณะครึ่งๆกลางๆสำหรับเราคือความสูงสุดเหนือผู้ใดหรือสุสาน

ต่อให้งานยิ่งใหญ่แค่ไหนใจของเราก็ว่าง่ายดาย

ผู้ใดที่อยากหมั้นหมายกับหญิงดี มะฮัรก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อมสำหรับเขา"

อิบนุลก็อยยิม เราะฮิมะฮุลลอฮฺกล่าวเกี่ยวกับปณิธานว่า

         "เป็นการสมควรแล้วหรือสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺทรงให้เขารู้จักตัวของเขาเอง ทรงให้เขารู้จักความสุขและความทุกข์แล้วเขาพอใจจะเป็นเพียงสัตว์ ทั้งที่อัลลอฮฺทรงให้เขาเป็นมนุษย์แล้วเขาก็พอใจจะเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง ทั้งๆที่พระองค์ทรงให้เขาสามารถจะเป็นกษัตริย์ได้แล้วเขาก็พอใจจะเป็นเพียงกษัตริย์ธรรมดา ๆ ทั้งที่พระองค์ทรงให้เขาสามารถเป็นกษัตริย์ในสถานที่อันทรงเกียรติ (สวรรค์) ณที่พระเจ้าผู้ทรงอานุภาพซึ่งบรรดามะลาอิกะฮฺจะรับใช้พวกเขาและมาหาพวกเขาจากทุกประตู"

อัลลอฮฺตรัสว่า

(พร้อมกับกล่าวว่า) ความศานติจงมีแด่พวกท่านเนื่องด้วยพวกท่านได้อดทน ที่พำนักบั้นปลายนี้มันช่างดีเสียนี่กระไร”

(อัรเราะอฺด์: 24)

          ความสำเร็จนี้จะได้มาด้วยความรู้ การเอาใจใส่ต่อการแสวงหาความรู้และขวนขวายให้ได้มาซึ่งความรู้ และสิ่งที่น่าตำหนิมากที่สุดคือ การที่ผู้หนึ่งมีความสามารถแต่ไม่ได้ทำจนสุดความสามารถของตน แล้วก็มัวแต่เสียดายในสิ่งที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะไม่ได้ทำให้ดีที่สุด

        "ไม่มีอะไรที่น่ารังเกียจยิ่งไปกว่าการที่บุคคลละเลยเพิกเฉยต่อการงานที่เป็นสุนนะฮฺความรู้ที่เป็นประโยชน์ และการงานที่ดีงามผู้ใดเป็นเช่นนั้น เขาก็เป็นเช่นอนารยชนคนเสเพล ผู้กวนน้ำให้ขุ่น ทำตัวไร้ค่า เขาจึงมีชิวิตที่ไม่น่ายกย่อง หากเขาตายจากไปเขาก็ตายจากไปโดยไม่มีผู้อาลัยอาวรณ์การจากไปของเขา ทำให้แผ่นดินเบาผู้คนรอบข้างเขาสบายขึ้นท้องฟ้าก็ไม่ร้องไห้ให้เขาฝุ่นดินก็ไม่คิดถึงเขา"

 (จากญามิอฺอัลอาดาบ มิน กะลาม อิบนฺ อัลก็อยยิมตรวจสอบหนังสือโดย ยุสรี อัสสัยยิดมุหัมมัด เล่ม1 / หน้า 218-219)

         สรุป มุอ์มินจำเป็นต้องมีปณิธานสูงต้องมุ่งมั่นทำการงานอันยิ่งใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อเขาทั้งงานดุนยาและงานศาสนา ซึ่งต้องเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ และทรัพย์สมบัติอันมีค่า อย่าเป็นผู้ที่มีปณิธานต่ำ ขาดความมุ่งมั่น รักความสบาย เกียจคร้าน เพราะหากตรากตรำ พยายามมากเพียงใดก็จักได้ความสำเร็จและมีเกียรติสูงมากเพียงนั้น และผู้ใดปรารถนาความยิ่งใหญ่จักต้องอดนอนยามค่ำคืน

(จากหนังสืออุลุวุลฮิมมะฮฺ ของ ชัยคฺ อิสมาอีลอัลมุก็อดดัม)

นักกวีกล่าวว่า

"ผู้ใดปรารถนาความยิ่งใหญ่และมีเกียรติโดยไม่มุมานะบากบั่น

ย่อมทำให้อายุขัยสูญไปกับการปรารถนาสิ่งที่ไม่มีวันเป็นไปได้

หากผู้ใดปรารถนาความมีเกียรติสูงส่งจักไม่หลับใหลลุ่มหลง

ผู้ใดปรารถนาไข่มุกย่อมต้องลงไปใต้ท้องทะเลเพื่อ งม หา มัน"

 

 

 

แปลโดย : รีมา เพชรทองคำ  / Islam House