มุสลิมจะใช้เวลาอย่างมีคุณค่าได้อย่างไร
  จำนวนคนเข้าชม  6130

มุสลิมจะใช้เวลาอย่างมีคุณค่าได้อย่างไร


โดย... ซอลาหฺ นญีบ อัล-ดิ๊ก


บรรดานักวิชาการ และอุละมาอฺจำนวนมากได้เสนอหนทาง และรูปแบบไว้มากมาย ซึ่งเราพอจะรวบรวม และสรุปได้ดังต่อไปนี้


หาความรู้อันถ่องแท้ในศาสนา และท่องจำอัลกุรอาน

         มุสลิมทุกคนจะต้องแสวงหาความรู้ ความเข้าใจในศาสนาให้ถูกต้องและถ่องแท้ เท่าที่เขาจะมีความสามารถ พึงทราบเถิดว่า ตราบใดที่เขาศึกษาหาความรู้เรื่องราวของศาสนาแล้ว นั้นคือคุณความดีที่ถูกรวบรวมสะสมไว้ให้เขาในตราชั่งแห่งคุณความดี ในวันที่เขากลับไปพบผู้อภิบาล
 
ในซูเราะฮฺ อับมุญาดาละฮฺ อายะฮฺที่11

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อใดมีเสียงกล่าวแก่พวกเจ้าว่า จงหลีกที่ให้ในที่ชุมนุม (ทางวิชาการศาสนา) พวกเจ้าจงหลีกที่ให้เขา

 เพราะอัลลอฮฺจะทรงให้ที่กว้างขวางแก่พวกเจ้า (ในวันกิยามะฮฺ)

และเมื่อมีเสียงกล่าวว่า จงลุกขึ้นยืนจากที่ชุมนุมนั้น พวกเจ้าก็จงลุกขึ้นยืน

เพราะอัลลอฮฺจะทรงยกย่องเทอดเกียรติ แก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ได้รับความรู้หลายชั้น

และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”

ในซูเราะฮฺ อัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 122

 “ไม่บังควรที่บรรดาผู้ศรัทธาจะออกไปสู้รบกันทั้งหมด ทำไมแต่ละกลุ่มในหมู่พวกเจ้าจึงไม่ออกไปแสวงหาความเข้าใจในศาสนา

เพื่อที่จะได้ตักเตือนหมู่คณะของพวกเขา เมื่อพวกเขาได้กลับมายังหมู่คณะของพวกเขา โดยหวังว่า หมู่คณะของพวกเขาจะได้ระมัดระวัง”

จากท่านมุอาวียะฮฺ อิบนฺ อบีซุฟยาน เล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“บุคคลใดที่อัลลอฮฺปรารถนาให้เขาได้รับคุณความดีแล้ว พระองค์ก็จะให้เขามีความรู้ ความเข้าใจเรื่องราวของศาสนาอย่างถ่องแท้ ”

(อัลบุคอรียฺ 71, มุสลิม 1037)

รายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“บุคคลใดที่วางแนวทางแห่งความรู้ สาขาหนึ่งสาขาใดที่ยังประโยชน์ อัลลอฮฺจะทรงให้ทางสะดวกแก่เขาในการเข้าสู่สวนสวรรค์

 ไม่ว่ามีกลุ่มชนใดที่รวมตัวกัน ณ บ้านหลังหนึ่งหลังใดของอัลลอฮฺ เพื่อร่วมกันอ่านคัมภีร์ของพระองค์ และศึกษาหาความรู้จากคัมภีร์นั้น

กลุ่มชนนั้นจะได้รับความสุขสงบ และความเมตตาก็จะเข้าปกคลุมพวกเขา

และบรรดามลาอิกะฮฺจะเฝ้าห้อมล้อมดูแลพวกเขา และจะนำบุคคล ณ ที่นั้น ไปชมเชยต่ออัลลอฮฺ” 

(มุสลิม 2699)

         นักวิชาการให้ข้อคิดไว้ว่า ก้าวแรกของการมีความรู้ที่ถ่องแท้ในศาสนานั้น เริ่มจากการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน อ่านคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ ความเข้าใจในกฎการอ่านอย่างถูกต้อง (ตัจวีด และมารยาท) และนี่คือแนวทางของความสำเร็จ สู่ความรู้ ความเข้าใจศาสนาอย่างถ่องแท้เฉกเช่นบรรดาสลัฟ หรือบรรพชนในยุครุ่งอรุณของอิสลาม

จากท่านอุษมาน บินอัฟฟาน จากท่านร่อซุลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ผู้ที่ประเสริฐในหมู่พวกท่าน คือ ผู้ที่แสวงหาความรู้ และถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน”

(อัลบุคอรียฺ 5027)

 

เรียกร้อง เชิญชวนสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ ด้วยความสุขุม รอบคอบ และเผยแพร่วิชาความรู้ที่ยังประโยชน์

          การเรียกร้องไปสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ  มีขอบข่ายและวิธีที่หลากหลาย ความค่าแก่การใช้เวลา ควรค่าแก่การลงทุน เพราะนั้นคือภาระสำคัญ หรืองานหลักของบรรดานบี และศาสนทูตของอัลลอฮฺ นั่นคือ การงานที่ประเสริฐที่สุด รองจากการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ  และศรัทธามั่นต่อบรรดานบี และเป็นวิถีทางที่ทำให้มนุษย์ได้รับทางนำสู่พระองค์ นำพาพวกเขาเหล่านั้นออกจากความมืดมิดของความอวิชา สู่แสงประทีปของปัญญา สู่ศาสนาของพระองค์

“และผู้ใดเล่าจะมีคำพูดดีเลิศยิ่งไปกว่าผู้ที่เชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ และเขาปฏิบัติการงานที่ดี และกล่าวว่า แท้จริง ฉันนั้นเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้นอบน้อม”

(ฟุศศิลัต 33)

มีฮะดีษมากมายที่ส่งเสริมให้เชิญชวน เรียกร้องสู่การเผยแพร่ความรู้

จากซัยดฺ บินซาบิต เล่าว่า ท่านร่อซุลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ขออัลลอฮฺได้ประทานคุณความดีอันมากมายต่อบุคคล ผู้ซึ่งได้รับฟังคำพูดของฉันแล้วจดจำ เพื่อนำไปบอกต่อหรือสั่งสอนผู้อื่น

 บางทีผู้ที่ได้จดจำไป อาจจะไปบอกผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจมากกว่าเขาหรือไม่ บางที่ผู้ทีจดจำไปอาจจะไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจก็ได้”

(ฮะดีษศ่อเฮี๊ยะหฺ ติรมิซีย์ โดย อัลอัลบานียฺ 2139)

         ตามนัยของฮะดีษ คือท่านนบี ขอให้อัลลอฮฺทรงประทานคุณความดีให้ได้กับผู้เผยแพร่คำสอนของท่านนนบี  หรือใครก็ตามที่มีเจตนาเผยแพร่คำสอนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าผู้นั้น จะมีความรู้ ความเข้าใจในตัวบท หรือเพียงรับฟัง แล้วนำไปบอกต่อ โดยที่ตัวเขาเองไม่เข้าใจก็ตาม บุคคลทั้ง 2 ประเภทนี้ จะได้รับคุณความดีที่ท่านนบี  บอกเอาไว้เช่นกัน

จากอบีฮุร็อยเราะห์ แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า

“เมื่อมนุษย์สิ้นชีวิตลง การงานต่างๆของเขาก็จะสิ้นสุดลงด้วย ยกเว้น 3 ประการ (ที่จะส่งผลบุญตามเขาต่อไป)

คือ ทานที่เป็นกุศลสาธารณะ (สร้างมัสยิด, โรงเรียน,พิมพ์หนังสือ ตำราศาสนา และอื่นๆ), ความรู้ที่ยังประโยชน์ และบุตรที่ศอและหฺขอดุอาอฺให้เขา”

(มุสลิม 1631)

จากท่านซะหฺล อิบนฺ ซะอฺด เล่าว่า แท้จริงท่านร่อซูลลุลลอฮฺ ได้ให้โอวาทกับท่านอะลี อิบนฺ อบีฏอลิบ ว่า

“วัลลอฮิ...หากว่าอัลลอฮฺ ให้ท่านเป็นเหตุให้คนๆหนึ่งได้รับทางนำ (คือแนะนำบุคคลให้ได้รับแนวทางที่ถูกต้อง )

จะเป็นการดียิ่งกกว่าการที่ท่านได้ครอบครองอูฐแดงสักตัวหนึ่ง” (อูฐแดง คือ สัตว์ที่มีค่ายิ่ง ณ ชาวอาหรับ)

(อัลบุคอรียฺ 4210/มุสลิม 2406)

 

การบูรณะ ทำนุบำรังมัสยิด และการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซิกรุลลอฮฺ)

          การทำนุ บำรุง ดูแลมัสยิด ด้วยการดำรงไว้ซึ่งการละหมาดฟัรฎู 5 เวลา มีการศึกษาศาสนธรรมความรู้ที่มีประโยชน์ ถือเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ มาด้วยฐานะ  ตำแหน่ง ณ ที่อัลลอฮฺ  คุ้มค่าแก่การลงทุน นับเป็นการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า หากคนใดสามารถที่จะทำได้ ดังดำรัส ของพระองค์ในซูเราะฮฺ อัตเตาบะหฺ อายะห์ที่ 18

 “ที่แท้จริง การจะบูรณะบรรดามัสยิดของอัลลอฮฺ คือ

ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ต่อวันปรโลก ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด จ่ายซะกาต และเขาไม่ยำเกรงผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น

ดังนั้นจึงหวังว่า ชนเหล่านั้นแหละจะเป็นผู้ที่อยู่ในหมู่ชนที่ได้รับคำแนะนำ (แนวทางที่ถูกต้อง)

          การบูรณะมัสยิดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การดูแล ทำนุบำรุงมัสยิดให้สะอาด ดูแลอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ไฟฟ้าของมัสยิด ช่วยกันประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ เกื้อหนุนกิจการของมัสยิดอย่างไม่เบื่อหน่ายและลงมือทำด้วยความสมัครใจ เพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ


สรุป การบูรณะมัสยิดมี 2 รูปแบบคือ รูปธรรมและนามอธรรม

รูปธรรม คือ การดูแลตัวอาคารมัสยิด ความสะอาด สิ่งของเครื่องใช้ของทางมัสยิด ตลอดจนเกื้อหนุนทรัพย์สินในกิจการ และค่าใช้จ่ายของทางมัสยิด

นามอธรรม คือ ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดฟัรฎู การศึกษาศาสนาและความรู้ที่มีประโยชน์

 

การซิกรุลลอฮฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ ด้วยคำพูดและจิตใจ)

         กาซิกรุลลอฮฺมีรูปแบบมากมาย ที่ท่านร่อซูลกระทำไว้เป็นแบบอย่าง เหมาะสำหรับมุสลิมในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพราะกระทำได้ง่าย ในทุกสถานที่ และมีภาคผลอันมากมายมหาศาล

         อัลลอฮฺ ทรงชี้แนะพวกเราไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ถึงการรำลึกถึงพระองค์ ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตมุสลิม พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลอะหฺซาบ อายะฮ์ที่ 41-43 ว่า

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา จงรำลึกถึงอัลลอฮฺ โดยการซิกรุลลอฮฺ (กล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ)อย่างมากมาย * และจงแซ่ซ้องสดุดีพระองค์ทั้งยามเช้าและยามเย็น*

พระองค์คือผู้ทรงประทานความเมตตาให้แก่พวกเจ้า และมลาอิกะฮฺของพระองค์ก็เช่นกัน (ขอพร ขออภัย ขอความเมตตาให้แก่ผู้ศรัทธา)

 เพื่อพระองค์จะทรงนำพวกเจ้าออกจากความมืดทั้งหลาย (การฝ่าฝืน) สู่ความสว่าง (แห่งการจงรักภักดี) และพระองค์นั้นทรงเมตตาต่อบรรดาผู้ศรัทธาเสมอ”

 

         ฮะดีษมากมายที่ระบุถึงภาคผลของการซิกรุลลอฮฺส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติ สนับสนุนให้กระทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเราจะขอนำเสนอเป็นบางส่วน

รายงานจากอบีฮุร็อยเราะห์ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

“ฉันจะอยู่ในความนึกคิดของบ่าวที่รำลึกถึงฉันตลอดเวลา และฉันก็จะอยู่กับเขาหากเขารำลึกถึงฉัน

หากเขารำลึกถึงฉันในจิตใจ ฉันก็จะนึกถึงเขาในใจเช่นกัน

หากเขารำลึกถึงฉันในกลุ่มชนใดแล้ว ฉันก็จะกล่าวขวัญเขาในกลุ่มชนที่ดีกว่าพวกเขา

(พึงทราบเถิดว่า) หากเขาแสวงหาความใกล้ชิด เข้ามาหาฉันเพียงคืบเดียว ฉันจะเข้าหาเขาหนึ่งศอก

หากเขาเข้าใกล้ฉันหนึ่งศอก ฉันก็จะเข้าใกล้เขาอีกหนึ่งวา และหากเขาเดินมาหาฉันเมื่อใด ฉันก็จะวิ่งเข้าหาเขาเช่นกัน” 

(อัลบุคอรียฺ 7405,มุสลิม26758)

รายงานจากอบีดัรดาอฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

          “พึงทราบเถิดว่า ฉันจะบอกถึงการกระทำความดีประการหนึ่งซึ่งเมื่อกระทำแล้ว จะเป็นที่พอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า เป็นการยกระดับฐานะให้แก่พวกท่าน เป็นการดียิ่งกว่าการให้ทรัพย์สินเงินทองดียิ่งกว่าการที่ท่านประทะกรับศัตรู แล้วพวกเขาก็ฟันดาบลงบนต้นคอของพวกท่าน หรือไม่พวกท่านก็ฟันดาบลงบนต้นคอของพวกเขา (หมายถึง ออกสมรภูมิแล้วสิ้นชีวิตในฐานะชะฮี๊ด) พวกท่านอยากทราบไหมว่าคืออะไร?”

บรรดาศ่อฮาบะห์ ตอบว่า “แล้วสิ่งที่ท่านว่านั้นคืออะไรครับ?”

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ตอบว่า “คือ การซิกรุลลอฮฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ)

 

การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ช่วยเหลือกิจการของพี่น้องมุสลิม

         มุสลิมที่สมบูรณ์ เขาจะต้องมีสิ่งต่างๆเหล่านี้อยู่ในจิตใจ หากเขาทารบดีว่า การกระทำดังกล่าวนี้ จะยังประโยชน์ต่อเขาทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ

“ผู้ใดช่วยเหลืออย่างดี เขาก็จะได้รับส่วนหนึ่งจากคุณความดีนั้น และผู้ใดให้การช่วยเหลืออย่างชั่ว เขาก็จะได้รับส่วนหนึ่งจากความชั่วนั้น”

     (คือ ผู้ที่ให้การช่วยเหลือร่วมมือในการทำดี เขาจะได้รับส่วนของความดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และผู้ที่ให้การช่วยเหลือ ร่วมมือในการทำชั่ว เขาจะต้องร่วมรับผิดชอบและร่วมรับผลแห่งการทำชั่วนั้นด้วย)

(อันนิซาอฺ 85)

รายงานจากอบีฮุร็อยเราะหฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“บุคคลใดที่ปัดเป่าความกลัดกลุ้มความทุกข์ใจใดๆออกจากมุสลิมในโลกดุนยา อัลลอฮฺจะทรงปัดเป่าความกลัดกลุ้ม ความทุกข์ใจต่างๆ ออกจากเขาผู้นั้นในวันกิยามะฮฺ

และผู้ใดให้ความสบายผ่อนปรนต่อลูกหนี้ อัลลอฮฺก็จะทรงให้ความสบายแก่เขาเช่นกันทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ

และผู้ใดที่ปกปิดความลับของพี่น้องมุสลิมคนหนึ่ง อัลลอฮฺก็จะทรงปกปิดความผิดให้แก่เขาทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ

(พึงทราบเถิดว่า) อัลลอฮฺนั้น ทรงอยู่ในการช่วยเหลือบ่าวของพระองค์เสมอ ตราบใดที่บ่าวผู้นั้นให้การช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมด้วยกัน”

(มุสลิม 2669)

การปรับความเข้าใจ การสมานฉันท์ระหว่างคนสองคน กลุ่มคนสองกลุ่มนั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการดูแลปรับปรุงกิจการของบรรดามุสลิม

“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้น พวกเจ้าจงไกล่เกลี่ย ประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า

และพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกท่านจะได้รับความเมตตา”

(อัลหุญุร๊อต 10)

รายงานจากอบีดัรดาอฺ จากท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“จะเอาไหม ฉันจะบอกพวกท่านถึงสิ่งๆหนึ่งที่หากพวกท่านทำแล้วจะมีความประเสริฐมากกว่าภาคผลของการถือศีลอดมากกว่าการละหมาด มากกว่าการทำศ่อดะเกาะห์”

บรรดาศ่อฮาบะฮฺตอบว่า เอาครับ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ตอบว่า “การปรับปรุงประนีประนอมระหว่างผู้ที่บาดหมางกัน และการบาดหมางกันนั้น คือ มีดโกน”

(ที่กัดกินศาสนา สร้างความสั่นคลอนให้กับสังคมมุสลิม ขาดความเป็นปึกแผ่น แล้วท้ายที่สุด ก็จะกลายเป็นสังคมที่อ่อนแอ ไร้คุณภาพ ขาดเอกภาพในที่สุด)

(ศ่อเฮี๊ยะหฺ อบีดาวูด/โดยอัลอัลบานียฺ 4111)

 

ออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่เป็นประโยชน์และเป็นที่อนุมัติ

         มุสลิมทุกคนสามารถที่จะใช้เวลาว่างหลังจากอิบาดะฮฺ ในการออกกำลังกาย เช่นกีฬาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้จิตใจแจ่มใส ซึ่งประเภทของกีฬาที่อนุมัตินั้น มีเงื่อนไขว่าต้องปกปิดเอาเราะห์ให้มิดชิดทั้งชายและหญิง และเวลาของการออกกำลังกายจะต้องไม่ทำให้หลงลืม หรือเสียละหมาดทั้ง 5 เวลา โดยเฉพาะการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด
 
รายงานจากท่านหญิงอาอีชะหฺ ว่า ครั้งหนึ่งนางร่วมเดินทางไปกับท่านนบี  ท่านหญิงเล่าว่า

“ฉันได้วิ่งแข่งกับท่านนบี แล้วฉันก็วิ่งชนะท่าน  ครั้นต่อมาเมื่ออ้วนขึ้น มีเนื้อหนังมากขึ้น ฉันได้วิ่งแข่งกับท่านนบีอีก

ในครั้งนั้นท่านก็ชนะฉัน แล้วท่านก็กล่าวกับฉันว่า นี่หรือผู้ที่เคยชนะ (ด้วยการหยอกล้อ)” 

(ศ่อเฮี๊ยะหฺ อบีดาวูด/โดยอัลอัลบานียฺ 2248)

 


แปลและเรียบเรียง : อ.ยาซิร อับดุลลอฮฺ กรีมี

วารสาร อัลอิศลาห์ สมาคม  อันดับที่ 375-377