การบริหารเวลา
  จำนวนคนเข้าชม  9149

การบริหารเวลา


โดย... ซอลาหฺ นญีบ อัล-ดิ๊ก


          มุสลิมผู้ชาญฉลาด ผู้ต้องการทางรอด จะต้องบริหาร จัดการเวลาของเขา ในเรื่องราวต่างๆทั้งทางด้านศาสนา (บทบัญญัติต่างๆที่เป็นฟัรฎูและซุนนะฮฺ) และทางด้านการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ (การศึกษา การแสวงหาปัจจัยยังชีพ) เขาจะต้องจัดสรรเวลาให้กับทั้งสองสิ่งในปริมาณที่พอเหมาะพอควร ไม่มากเกินไป และไม่น้อยจนเกินไป หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไปก็เท่ากับเป็นการลิดรอนอีกสิ่งหนึ่ง เขาจะต้องลำดับความสำคัญในการกระทำว่าสิ่งใดควรมาก่อน สิ่งใดควรมาทีหลัง หรือสิ่งใดสำคัญกว่า

         และบุคคลที่สมควรยิ่งที่จะต้องบริหาร จัดการเวลาของเขาให้เหมาะก็คือ บรรดาชนชั้นปกครอง บรรดานักวิชาการ และบรรดาผู้รับผิดชอบกิจการของประชาชน ที่ดูแลกิจการขององค์กรหรือสถาบันใดๆ บุคคลเหล่านี้จะต้องสละเวลาส่วนตัว เพื่อมาดูแล มารับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ที่เขามีอยู่ ต่อสถานที่ หรือองค์กรที่เขาสังกัด เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของแต่ละสถาบัน

 (เวลากับวิถีชีวิตของมุสลิม หน้า 22-24)


บุตรหลานกับเวลาว่าง

           สภาพสังคมในปัจจุบัน ภายหลังการเรียนอันยาวนาน ก็เป็นระยะเวลาของการหยุดเทอมภาคฤดูร้อน บรรดาเยาวชน หนุ่มสาว บุตรหลานของเรา ก็จะใช้ชีวิตช่วงนี้แตกต่างกันไป บ้างก็พักผ่อน บ้างก็ไปช้อปปิ้งต่างประเทศ บ้างก็เรียนพิเศษภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือวิชาชีพที่ตนเองถนัด มีส่วนน้อยเท่านั้นที่หวนคิดถึงศาสนา จัดการอบรมศาสนา อัลกุรอาน วิชาการที่ยังประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม แล้วมีบรรดาผู้ปกครองสักคนไหม ที่เมื่อบุตรหลานกลับมาจากการพักผ่อน การท่องเที่ยว จะถามพวกเขาว่า ได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากการเดินทาง การพักผ่อน ที่เป็นผลพลอยได้ ในแง่มุมของศาสนาและทางโลก

          ท่านพี่น้องที่เคารพ ส่วนหนึ่งจากการอบรม เลี้ยงดูบุตรหลานนั่นคือการปลูกฝังสิ่งที่ยังประโยชน์ต่อเขา ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ตั้งแต่เยาว์วัยให้รู้จักคุณค่าของเวลา แล้วเขาก็จะเติบโตพร้อมเข้าสู่วัยเยาวชนอย่างมีคุณภาพ ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า คุ้มค่า และมีประโยชน์ เพื่อตัวเขา เพื่อผู้อื่น เพื่อดุนยาและอาคีเราะฮฺ

 


 ตัวอย่างการกระทำและคำสอนของชาวสลัฟ

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบฺ อับดุลมาลิก อิบนฺ มัรวาน เล่าว่า  การเดินทางครั้งหนึ่งของเรากับบิดา

ท่านพูดกับพวกเราว่า  “เรามากล่าว ซุบฮานัลลอฮฺกัน จนกว่าเราจะถึงต้นไม้ที่อยู่ข้างหน้าเรา” ครั้นเมื่อเราถึงต้นไม้ต้นดังกล่าว

ท่านก็บอกกับเราอีกว่า “มีต้นไม้อีกต้นอยู่ข้างหน้า ก่อนที่เราจะไปถึงมัน เรามากล่าวตักบีรกัน จนกว่าจะถึงต้นไม้ต้นนั้น”

และเช่นนี้แหละ ที่พวกเขากระทำกันประจำ ระหว่างการเดินทาง

           หยุด... แล้วคิดพิจารณากันสักนิดว่า สังคมปัจจุบัน การเดินทางโดยรถยนต์ เครื่องบิน รถไฟ จะมีสักกี่กลุ่มคน ที่เมื่อเดินทางจะหยิบซีดีอัลกุรอาน หรือคำบรรยายศาสนธรรมมารับฟังตลอดระยะเวลาการเดินทางหรือว่าเป็นการหาความเพลิดเพลินจากเสียงเพลง ภาพยนตร์ ตลก ทอล์คโชว์ ตลอดระยะเวลาการเดินทาง

 คิด.. คิด.. คิด...แล้วเปรียบเทียบกับคนในยุคบรรพชน ท่านจะพบความเหมือนหรือความต่าง ก็อยู่ที่ตัวท่านเอง


อิบนฺ อัลเญาซียฺ กล่าวในหนังสือ “ลัฟตะตุ้ลกะบิด ฟีนะซีฮะตุ้ลวะลัด” พูดถึงความห่วงใยของบิดาต่อบุตร ด้วยถ้อยคำที่กินใจเกี่ยวกับคุณค่าของเวลา ว่า

         “โอ้ ลูกรัก พึงทราบเถิดว่า แท้จริงวันเวลานั้นจะกลืนกินกาลเวลา และกาลเวลานั้นจะกลืนกินอายุขัย และทุกๆชีวิตนั้นจะต้องมีกล่องสะสมคุณความดี ฉะนั้น พึงระวัง อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปโดยไม่ได้สะสมอะไรเลย และในที่สุด วันกิยามะฮฺ เจ้าก็จะพบว่าในกล่องนั้น ไม่มีคุณความดีอะไรเลย แล้วเจ้าก็จะเสียใจ”


          ฉะนั้น จงไตร่ตรองถึงวันเวลาของท่านว่า ทุกวินาทีได้ถูกใช้ไปในทางใด อย่าปล่อยให้มันผ่านไปเปล่าๆ แต่จงใช้มันอย่างมีคุณค่า อย่าปล่อยตัวปล่อยใจกับกาลเวลา จงเร่งสะสมคุณความดีเท่าที่สามารถ แล้วส่งมอบผ่านไปเพื่อสะสมเสบียงแห่งคุณความดี และท่านก็จะสุขใจเมื่อพบมันในวันแห่งการตอบแทน

(จากหนังสือ คุณค่าของเวลา ณ. ที่อุละมาอฺ 62)

 

 

แปลและเรียบเรียง อ.ยาซิร อับดุลลอฮฺ กรีมี

วารสาร อัลอิศลาห์ สมาคม  อันดับที่ 375-377