ทุกๆช่วงเวลามีการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่ถูกกำหนด
  จำนวนคนเข้าชม  9612

ทุกๆช่วงเวลามีการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่ถูกกำหนด


โดย : ซอลาหฺ นญีบ อัล-ดิ๊ก


          บทบัญญัติของอิสลามได้มีมาเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญ คุณค่าและความประเสริฐของเวลา เพราะในทุกๆช่วงระยะเวลานั้นจะมีอิบาดะฮฺที่ถูกกำหนดให้กระทำในกรอบเวลาที่จำกัด หากเราจะปฏิบัตินอกกรอบของเวลาที่ถูกกำหนดไว้ การงานนั้นก็จะเป็นโมฆะ ไม่ถูกตอบรับ ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้


การละหมาดฟัรฏู

          การละหมาดฟัรฎู 5 เวลานั้น มีกรอบเวลาที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว เราจะต้องปฏิบัติภายใต้กรอบเวลาที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น ยกเว้นผู้ที่มีอุปสรรค ได้รับการผ่อนผันทางศาสนา เช่น ผู้ป่วย คนเดินทาง ผู้หลงลืม สำหรับพวกเขาเหล่านี้ มีข้อปฏิบัติและบทบัญญัติเฉพาะกาล ที่เป็นที่อนุมัติตามบัญญัติของศาสนา

“ครั้นเมื่อพวกเจ้าเสร็จจากการละหมาดแล้วก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ทั้งในสภาพยืน นั่งและนอนเอกเขนกของพวกเจ้า

ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ก็จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดแท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา (ตายตัว) ไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธา”   

(อันนิซาอฺ 103)

 

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

การถือศีลอด คือรุก่นหนึ่งจากรุก่นอิสลามทั้งห้า กำหนดเวลาของมันที่ตายตัวคือ เดือนรอมฎอน

“เดือนรอมฎอนนั้นเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อชี้แนะสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวข้องกับข้อแนะนำนั้น

 และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ

ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในเดือนอื่นแทน

อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความยากลำบากแก่พวกเจ้าและเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนซึ่งจำนวนวัน (ของรอมฎอน)

และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกียงไกรแด่อัลลอฮฺ ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ”

(อัลบะเกาะเราะหฺ 185)

“และจงกิน จงดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว (แสงสว่างของรุ่งอรุณ) จะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำ (ความมืดของกลางคืน)

เนื่องจากแสงอรุณแล้ว พวกเจ้าจงให้การถือศีลอดเต็มจนถึงพลบค่ำ”

(อัลบะเกาะเราะหฺ 187)

          ตามนัยของสองอายะห์ข้างต้นบ่งถึงกรอบเวลาของการถือศีลอดว่าอยู่ในเดือนรอมฎอน และระยะเวลาแต่ละวันจะต้องอดอาหารตั้งแต่รุ่งอรุณของแต่ละวัน จนถึงพลบค่ำเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า

 

การประกอบพิธีฮัจญ์

(เวลา)การทำฮัจญ์นั้นมีหลายเดือนอันเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ใดที่การทำฮัจญ์จำเป็นแก่เขาในเดือนเหล่านั้นแล้ว

ก็ต้องไม่มีการสมสู่ ไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาทใดๆ ในระยะเวลาทำฮัจญ์”

(อัลบะเกาะเราะหฺ 19)

         คำว่า “หลายเดือนอันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว" นั้นคือกรอบเวลาของพิธีฮัจญ์ คือเดือนเชาว้าล ซุลเกาะดะฮฺ และสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์

 

เวลาที่ถูกระบุไว้ในซุนนะฮฺ (อัลฮะดีษ)

          ในฮะดีษต่างๆได้แจกแจง บรรยายคุณค่า ความประเสริฐ ความสำคัญของเวลา ซึ่งเป็นการเน้นย้ำสิ่งที่ได้ถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งฮะดีษต่างๆนั้น ได้พูดถึงคุณค่าและความสำคัญของเวลากับวิถีชีวิตของมุสลิม และการดำเนินชีวิตในดุนยา เพื่อความปลอดภัยในอาคีเราะฮฺ เพราะแท้จริง เวลานั้น คือ ต้นทุนในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

จากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส รายงานว่า ท่านร่อซูล  กล่าวว่า

“ความโปรดปราน 2 ประการที่มนุษย์ส่วนมากมักจะหลงลืม ละเลย หรือเพิกเฉย คือ การมีสุขภาพที่ดีและยามว่าง (เวลาว่าง)”  

(อัลบุคอรีย์ 6412)

          อิบนุ อัลเญาซียฺ กล่าวว่า บางทีมนุษย์ที่มีสุขภาพดี แต่ก็ไม่มีเวลาว่างพอ อันเนื่องมาจากต้องทำมาหากินเพื่อยังชีพ และมนุษย์บางคนก็มีเวลาว่างมากมาก แต่ก็สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรค ครั้นเมื่อสองคุณลักษณะดังกล่าว (การมีสุขภาพดี และเวลาว่าง) รวมอยู่ในคนๆหนึ่งแล้ว เขาก็ยังขี้เกียจคร้านในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั่นแหละ คือ ผู้ที่ละเลย เพิกเฉย ที่สมควรที่สุด เขาต้องพึงสังวรไว้ว่าดุนยา คือสถานที่เพาะปลูกการงาน เพื่อไปเก็บเกี่ยวผลบุญ การตอบแทนในอาคีเราะฮฺ และดุนยาคือการทำการค้า การลงทุน ซึ่งผลกำไรจะปรากฏในโลกหน้า

         ดังนั้น ใครที่ให้การมีสุขภาพดี และเวลาว่างของเขา ในสิ่งที่ศาสนากำหนด เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เขาก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ส่วนใครที่ใช้สองสิ่งนี้ ไปในทางฝ่าฝืน เพิกเฉยต่อบทบัญญัติ คำสอน เขาก็จะเป็นผู้ปราชัย พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ พึงทราบเถิดว่า หลังจากเวลาว่างอันมากมาย คือ ภาระและการงานที่ทำให้ไม่มีเวลาว่าง และหลังจาการมีสุขภาพดี คือ โรคภัย และการเจ็บไข้ได้ป่วย


รายงานจากอบูบัรเซาะห์ อัล-อัซละมีย์ ว่า ท่านร่อซูล กล่าวว่า

“ในวันกิยามะฮฺ เท้าทั้งสองของมนุษย์จะยังไม่ขยับไปไหน จนกว่าจะถูกถามถึงสิ่งต่างๆต่อไปนี้

อายุของเขาว่าในดุนยา เขาได้ใช้เวลาไปในหนทางใด

การกระทำของเขาว่า ได้ประพฤติปฏิบัติไปในทางใด

ทรัพย์สมบัติของเขาว่า แสวงหามาอย่างไร (ฮะลาลหรือฮะรอม ) และจับจ่ายใช้สอบไปในทางใด

ร่างกายของเขา ว่า ใช้ หรือย่างก้าวไปในทางใด”

(ศ่อเฮี๊ยะหฺ อัตติรมีซียฺ โดย อัลอัลบานียฺ 1970)


รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“จงฉวยโอกาส 5 ประการที่ท่านมีอยู่และปรารถนาก่อนที่ 5 ประการที่ท่านไม่ปรารถนาจะมาประสบกับตัวท่าน คือ

ความหนุ่มสาว ก่อนที่ความชราภาพจะมาประสบ

การมีสุขภาพ แข็งแรง ก่อนที่โรคภัย ความเจ็บป่วจะมาเยือน

ความมั่งมี ความร่ำรวย ก่อนที่จะพบกับความยากจน

การมีเวลาว่า ง ก่อนที่ความยุ่ง ธุระ การงานต่างๆจะเข้ามา

การมีชีวิตในโลกดุนยา ก่อนที่ความตายจะมาเยือน”

(อัลฮากิม/ศ่อเฮี๊ยะหฺอัลญามิอฺ โดย อัลอัลบานียฺ 1063)


          จากฮะดีษต่างๆที่นำเสนอข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ท่านนบี  ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเวลา สุขภาพ รวมไปถึงการแสวงหาปัจจัยยังชีพ การดำเนินชีวิตทุกขณะ ทุกอิริยาบถนั้น จะต้องถูกสอบสวนอย่างแน่นอน

 


แปลและเรียบเรียง : อ.ยาซิร อับดุลลอฮฺ กรีมี

วารสาร อัลอิศลาห์ สมาคม  อันดับที่ 375-377