สองช่วงเวลาสำหรับบ่าว
  จำนวนคนเข้าชม  7426

สองช่วงเวลาสำหรับบ่าว


โดย : ซอลาหฺ นญีบ อัล-ดิ๊ก


           พี่น้องผู้ศรัทธาที่รักทุกท่าน ผู้ที่เพิกเฉยละเลยต่อคุณค่าของเวลาแน่นอน สักวันเขาจะต้องนึกเสียใจ เสียดายในวันเวลาที่เขาเพิกเฉยหรือละเลย ที่มิได้ประกอบคุณความดีใดๆไว้เลย แล้วเมื่อเขาสำนึกได้เมื่อนั้นก็สายเกินไปที่เขาจะกลับมาแก้ไข เปลี่ยนแปลงอดีต

         อัลกุรอานได้อธิบายพร้อมชี้แจงสองช่วงเวลาดังกล่าวที่บ่าวจะนึกเสียใจในสิ่งที่เขาเพิกเฉย ละเลยในวันเวลา ซึ่งในขณะนั้นความเสียใจ เศร้าใจก็จะไม่ยังประโยชน์ใดๆเลย


 ช่วงเวลาที่หนึ่ง

          ขณะที่มลาอิกะฮฺ มาปลิดวิญญาณ ขณะที่เข้าต้องอำลาจากดุนยา มุ่งสู่อาคีเราะฮฺ ในขณะนั้นเขาปรารถนาที่จะให้อัลลอฮฺประวิงเวลาให้เขา แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้เขาได้กลับมาแก้ไขสิ่งที่เขาได้บกพร่อง เพิกเฉย ละเลยต่อหน้าที่ ต่อความรับผิดชอบต่อบทบัญญัติต่างๆที่เขาต้องทำ  ในซูเราะฮฺ อัล-มุนาฟิกูน อายะฮฺ ที่10-11

 และสูเจ้าจงบริจาค จากสิ่งที่เราได้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ก่อนที่ความตายจะประสบกับคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเจ้า

แล้วเขาก็จะกล่าวว่า ข้าแด่พระเจ้าของข้าพระองค์ หากพระองค์จะทรงประวิงเวลาแก่ข้าพระองค์ แม้ช่วงเวลาเพียงน้อยนิด

เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้บริจาค และข้าพระองค์จะอยู่ในบรรดาผู้ทรงไว้วึ่งความดี ผู้ทรงคุณธรรม

และอัลลอฮฺจะไม่ทรงประวิงเวลาให้แก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใดเป็นอันขาด เมื่อกำหนด (ความตาย) ของมันได้มาถึง

และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”

 อิบนุ กะษีร กล่าวว่า

          “ทุกๆชีวิตที่ละเมิดจะประสบกับความเสียใจขณะที่ความตายมาเยือน และจะร้องขอให้ยืดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อที่จะกลับไปทำคุณความดีต่างๆ ที่เขาเพิกเฉยละเลยไปในอดีต ครั้งที่เขามีชีวิตในดุนยา แต่ทว่า สำหรับเขาทุกอย่างสิ้นสุดแล้ว ณ โลกใบนี้”

           กล่าวคือ อัลลอฮฺจะไม่ทรงยืดเวลาให้แก่บ่าวคนใดเป็นอันขาดเมื่อความตายมาถึง ทั้งนี้ จากอายะฮฺข้างต้น เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนที่มีสติปัญญา ที่มองเป็นคุณค่าของเวลาขณะมีชีวิตอยู่ ให้รีบเร่งปฏิบัติคุณความดี ก่อนที่ความตายจะมาเยือน ซึ่งเราและท่านก็มิทราบว่าเราทุกคนจะพบกับความตายเมื่อใด

 

ในซูเราะฮฺ อัล-มุมินูน อายะฮฺที่ 99-100

  “จนกระทั่งเมื่อความตายได้มาประสบกับคนหนึ่งคนใดในพวกเขา เขาก็จะกล่าวขึ้นว่า

ข้าแด่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กลับไปมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเถิด

 เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้ประกอบคุณงามความดีที่ข้าพระองค์ละเลยไป เปล่าเลย มันคือเพียงถ้อยคำที่เขากล่าวไว้เท่านั้น

และเบื้องหลังจากนี้ของพวกเขา คือบัรซัค (ชีวิตในหลุมศพ) จนกระทั่งวันที่พวกเขาถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง”

          สองอายะฮฺข้างต้น คือสภาพของผู้ที่เพิกเฉยละเลยในการทำคุณความดี และจบชีวิตในสภาพที่ขาดทุน ทุกคนที่มีลักษณะเช่นนี้ เวลาที่เขาถูกปลิดวิญญาณ ก็จะมีความปรารถนาทำนองนี้กันทุกคน

 ขออัลลอฮฺ ทรงปกป้องเราและท่านทั้งหลายให้รอดพ้นสภาพดังกล่าวด้วย อามีน

 


 ช่วงเวลาที่สอง

         ขณะทุกๆชีวิตรอรับการกระทำที่ทุกคนแสวงหาและปฏิบัติเอาไว้ในดุนยา ขณะที่ชาวสวรรค์ได้ถูกเชิญให้เข้าที่พำนักอันถาวร และชาวนรกถูกต้อนให้ลงไปในเปลวเพลิงอันลุกโชติช่วง ณ ขณะนั้น ชาวนรกต่างปรารถนาที่จะกลับมามีชีวิตในดุนยาอีกครั้ง เพื่อกลับไปประกอบคุณความดี ทดแทนสิ่งที่เขาละเลยครั้งเมื่อเขามีชีวิตอยู่ แต่แล้วความปรารถนาของเขานั้นกลับกลายเป็นความสิ้นหวังอันสิ้นเชิง เพราะ สิ่งที่เขาขอนั้น มันเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

          ช่วงระยะเวลาของการประกอบคุณความดีนั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่ ณ ขณะนี้คือ ระยะเวลาของการรับรางวัลจากการปลูกเพาะต้นกล้าแห่งความดีที่ทำไว้ในดุนยา เวลาของการตอบแทนของอัลลอฮฺ ต่อบ่าวของพระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมความดี ตลอดการมีชีวิตอยู่ในดุนยา

 เหตุการณ์ดังกล่าว อัลลอฮฺได้ทรงบรรยายสภาพให้เราสดับรับฟังและพิจารณา ในซูเราะฮฺ ฟาฏิร อายะฮฺที่36-38

“ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะได้รับนรกญะฮันนัม (เป็นสิ่งตอบแทน) จะไม่ถูกตัดสินลงโทษให้ตายเพื่อที่พวกเขาจะตาย

และพวกเขาจะไม่ได้รับการลดหย่อนในการลงโทษ

เช่นนี้แหละ  เราจะตอบแทนแก่บรรดาผู้เนรคุณ และพวกเขาจะร้องตะโกนในไฟนรกว่า

ข้าแต่พระเจ้าของพวกข้าพระองค์ขอได้โปรดนำเราออกไป (จากนรก)

เพื่อไปปฏิบัติการงานที่เป็นคุณความดีอื่นจากที่เราได้ปฏิบัติไปแล้ว

(พระองค์ทรงตอบว่า) และเรามิได้ให้พวกเจ้ามีอายุยืนยาวพอกระนั้นหรือ? เพื่อที่ผู้ใคร่ครวญจะได้รำลึกถึงข้อตักเตือน

และได้มีผู้ตักเตือน (ท่านนบี) มายังพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส (การลงโทษ) เถิด

เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้น จะไม่มีผู้ช่วยเหลือสำหรับเขาแน่ (ไม่มีผู้คุ้มกันให้พ้นจากการลงโทษ)”

 

          และนี่คือ ส่วนหนึ่งที่อัลลอฮฺ ทรงบอกเล่าให้เรารู้ล่วงหน้าถึงการลงโทษ และในวันนั้น ผู้ที่บกพร่องในหน้าที่ บทบัญญัติของพระองค์ตลอดชีวิตอยู่ในความหลงผิด การปฏิเสธ มีหลักศรัทธาที่ผิดเพี้ยน มีการกระทำที่สวนทางกับบทบัญญัติของศาสนา แน่แท้ จุดจบของเขาคือไฟนรก แล้วสภาพของเขาก็ไม่ต่างกับสภาพที่อัลกุรอานได้ระบุเอาไว้

 

 


แปลและเรียบเรียง : อ.ยาซิร อับดุลลอฮฺ กรีมี

วารสาร อัลอิศลาห์ สมาคม  อันดับที่ 375-377