ความสำคัญของบั้นปลายชีวิต
โดย... อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง
ชีวิตมนุษย์จะนับว่าสั้นหรือยาวก็ได้ มันยาวเมื่อเรานับชั่วโมง วัน เดือน ปี แต่ชีวิตที่ผ่านมา 20 ปี หรือ 30 ปี หรือ 40 ปีที่ผ่านมา มันช่างสั้นนัก ชีวิตมนุษย์ในช่วงเยาว์วัย ช่วงวัยรุ่น ช่วงกลางคนและช่วงแก่ชรา ใน 4 ช่วงนี้ ช่วงก่อนชราและช่วงบั้นปลายชีวิตถือว่าสำคัญที่สุด และมันมีความสำคัญมาก เพราะมีสัญญาณเตือนความตายมาเป็นระยะๆ ทั้งสัญญาณเตือนจากตัวเอง หรือสัญญาณเตือนจากคนรอบข้างที่ช่วยเตือนสติ
ฉะนั้นมนุษย์ที่อยู่ในช่วงนี้ต้องสำรวมและนึกถึงชะตากรรมก่อนที่ความตายจะมาเยือน อย่างน้อยเป็นโอกาสแก้ตัว พิจารณาความคิดและการปฏิบัติในชีวิตที่ผ่านมา พิจารณาความผิดพลาดที่ล่วงเลยมา พระองค์อัลลอฮ์ได้เตือนสติมนุษย์ไว้ในตอนหนึ่งว่า
أولَم نعَمِّرْكم ما يتذكَّرُ فيه مَن تذكَّرَ وجاءَكم النذيرُ فَذُوقُوا فما لِلظالِمين من نصيرٍ (فاطر/37)
“และเรามิได้ให้อายุของพวกเจ้ายืนนานพอดอกหรือเพื่อผู้ที่ใคร่ครวญจะได้รำลึกถึงข้อตักเตือนและ(ยิ่งกว่านั้น) ได้มีผู้ตักเตือนมายังพวกเจ้าแล้ว
ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส(การลงโทษ)เถิด เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นจะไม่มีผู้ช่วยเหลือ”
คำว่า “ผู้ตักเตือนได้มายังพวกเจ้าแล้ว” แล้วใครเล่าผู้ตักเตือน ผู้อธิบายอายะฮ์นี้กล่าวว่า ผู้ที่ตักเตือนอาจเป็นท่านเราะสูล หรือวัยชราของมนุษย์ เพราะผู้ที่ตักเตือนมนุษย์ มีทั้งที่เป็นมุสลิมและหรือยังไม่เป็นมุสลิม ที่ได้จบชีวิตด้วยการตายที่ดีและไม่ดี
ตั้งแต่ท่านนะบีมุฮัมมัด ได้รับการแต่งตั้งเป็นเราะสูล และได้รับคัมภีร์อัลกุรอาน และใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวมักกะฮ์ถึง 23 ปี จนถึงท่านเสียชีวิต ท่านได้ตักเตือนมนุษย์ตลอดเวลา และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผู้ตักเตือน ก็คือ วัยชราของมนุษย์เอง เพราะวัยชราของมนุษย์ทำให้มนุษย์หมดกิเลสตัณหา ไม่ต้องการอะไรจากโลกนี้แล้ว
อัลกุรอานที่ประทานลงมาได้เน้นว่า มนุษย์จะต้องผ่าน 2 โลก คือโลกนี้และโลกหน้า เนื้อหาในอัลกุรอานเปี่ยมด้วยข้อคิดเตือนใจถึงการมีชีวิตในโลกหน้า คำสอนของท่านเราะสูลทั้งที่เป็นคำพูด หรือการกระทำชักชวนให้มนุษย์ศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ และให้มีความรับผิดชอบในชีวิตของตนเอง เช่นหะดีษที่ท่านได้กล่าวว่า
أعْذَرَ الله إلى امرئٍ أخَّر أجلَه حتى بلغَ ستِّينَ سنةً (رواه البخاري/6419)
“พระองค์อัลลอฮ์จะไม่ทรงอนุญาตอ้างด้วยข้ออ้างใด ๆให้แก่มนุษย์ที่พระองค์ได้ยืดอายุเขาจนถึง 60 ปี”
หมายความว่าพระองค์จะไม่ทรงลงโทษผู้ใดนอกจากได้มีหลักฐานและเหตุผลที่ชัดเจนได้มาถึงพวกเขา
พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
ولا تزِرُ وازِرةٌ وزْرَ أخرى وما كنَّا معذِّبِينَ حتى نبعَثَ رسولاً (الإسراء/14-15)
"และไม่มีผู้แบกภาระใดที่จะแบกภาระของผู้อื่นได้ และเรามิเคยลงโทษผู้ใด จนกว่าเราจะแต่งตั้งเราะสูล”
หะดีษข้างต้นเตือนให้เราทราบว่า ผู้ที่มีอายุจนถึง 60 ปี ได้รับสัญญาณเตือนมาแล้ว และบั้นปลายชีวิตของมนุษย์เป็นเวลาที่สำคัญมาก เป็นเวลาที่สามารถกำหนดชะตากรรมของแต่ละคน ซึ่งในเรื่องชะตากรรมของมนุษย์มี 2 หะดีษที่ท่านเราะสูลได้เตือนสติของพวกเรา คือ
1. حديث (إنَّ العبدَ ليعمَلُ فيما يرى الناسُ عملَ أهلِ الجنَّةِ وإنه لمن أهلِ النَّارِ ، ويعملُ فيما يرى الناسُ عمل أهلِ النَّارِ وهو من أهلِ الجنَّةِ وإنَّما الأعمالُ بِخَواتِيمِها) (رواه البخاري/6493)
“มีในปวงบ่าวของพระองค์ผู้ที่มนุษย์เห็นว่าเขาปฏิบัติการงานของชาวสวรรค์ แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นชาวนรก
และมีบ่าวบางคนที่มนุษย์เห็นว่าเขาปฏิบัติการงานของชาวนรก แต่ที่ไหนได้เขาเป็นชาวสวรรค์
การงานของมนุษย์อยู่ที่วาระสุดท้าย”
2. حديث (يبْعَثُ كلُّ عبْدٍ على ما ماتَ عليه) (رواه مسلم/2878)
“บ่าวของพระองค์ทุกคนจะถูกฟื้นคืนชีพตามสภาพที่เขาเสียชีวิต”
สรุปจากหะดีษนี้ได้ว่า
1. วาระสุดท้ายหมายถึงบั้นปลายของชีวิตมนุษย์
2. พระองค์อัลลอฮ์ จะทรงคิดการงานสุดท้ายของมนุษย์ หมายความว่า ผู้ใดที่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีเป็นพฤติกรรมที่ดีถือว่าเขาได้เตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว)แล้ว และผู้ใดที่เปลี่ยนอีมาน(การศรัทธา)เป็นกาฟิร(ผู้ไม่ศรัทธา)ถือว่าเป็นมุรตัดแล้ว
3. ผู้ใดที่ปฏิบัติความดีและเสียชีวิตในสภาพปฏิบัติความดีเขาจะได้รับการตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ และผู้ใดที่ปฏิบัติไม่ดีและเสียชีวิตในสภาพที่ไม่ดีเขาจะได้รับการตอบแทนด้วยไฟนรก
4. ผู้ใดที่พระองค์อัลลอฮ์ ทรงประสงค์ให้เขาเป็นคนดี พระองค์จะทรงให้เขาเสียชีวิตในสภาพที่ดี