ความร่ำรวยที่จิตใจ
  จำนวนคนเข้าชม  12176

  

ความร่ำรวยที่จิตใจ


โดย... เชคญะมาล อับดุรเราะฮฺมาน


        ความร่ำรวยนั้น อยู่ที่จิตใจของท่าน เมื่อจิตใจยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ สงบนิ่งอยู่กับริสกี ที่อัลลอฮฺ ทรงจัดสรรปันส่วนให้ริสกีก็จะมีมายังท่านตามที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวกับท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มุสอู๊ด ว่า

“โอ้อับดุลลอฮฺ ท่านอย่ากังวลมากเกินไป สิ่งที่ถูกกำหนด จะต้องเกิดขึ้น สิ่งที่ถูกกำหนดจะต้องมีมายังท่าน”

(บันทึกโดย อัลบัยฮะกีย์)

ท่านอีมาม อะฮมัด กล่าวว่า ฮะดีษนี้ ไม่ได้ห้าการทำงานเพื่อแสวงหาริสกี แต่ห้ามกังวล และท่านนบี  ได้กล่าวไว้อีกว่า

แท้จริงมะลาอิกะฮฺญิบรีล บอกอย่างแผ่วเบาในขณะที่ฉันวิตก ท่านกล่าวว่า คนหนึ่งคนใดจะยังไม่สิ้นชีวิต จนกว่าเขาจะได้รับริสกีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ดังนั้นพวกท่านจงเกรงกลัวอัลลอฮฺและทำงานแสวงหาริสกีด้วยดี เลือกเอาในสิ่งที่ฮะล้าล ละเว้นในสิ่งที่ฮะรอาม”

(ซิลซิละฮฺ ศาอฮียฺฮะฮฺ)


ดังนั้น ความร่ำรวยที่จิตใจ จะช่วยให้มีกำลังใจแสวงหาริสกี และความร่ำรวยของผู้ศรัทธานั้น ได้แก่ ความพอเพียง ในริสกีที่ได้รับ  ท่านนะบี  กล่าวว่า

“โอ้อัลลอฮฺ ได้โปรดให้อาหารหลักเป็นริสกีแก่วงศ์วาน ของมุฮัมมัดด้วย เถิด”

(บันทึกโดย บุคอรีย์ มุสลิม)

และท่านนบี กล่าวว่า

“สิ่งที่มีน้อยแต่พอเพียง ดีกว่าสิ่งที่มีมากแต่ฟุ่มเฟีอย(อีลุ่ยฉุยแฉก)

(มุสนัดท่านอีมา อะฮฺมัด)

ท่านอะบู ฮาชิม กล่าวว่า

“เมื่อมีสิ่งที่พอเพียงอยู่เล้ว แต่ยังไม่ทำให้ท่านรู้จักพอ ก็ไม่มีอะไรในโลกที่จะทำให้ท่านรู้จักพอ”

 

ท่านร่อซูล ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจาก

“ความยากจนชนิดที่สุดจะทน และความร่ำรวยชนิดที่ทำให้ผู้นั้นโอหังกลายเป็นผู้ละเมิด”

          แสดงว่า คนเรานั้น ยากจนมากเกินไป ก็ไม่ดี ร่ำรวยมากเกินไปก็ไม่ดี หรื่อมั่งมีมากเกินกว่าอาหารหลักและความพอเพียงก็ถูกตำหนิ เพราะอาจจะเกิดฟิตนะฮฺ (ความยุ่งเหยิง) หรือขาดแคลนจนกระทั่งไม่พอเพียงความต้องการ ก็จะเกิดฟิตนะฮฺได้เช่นเดียวกัน โดย เฉพาะครอบครัวของคนที่มีบุตรหลายคน

และจากรายงานของท่าน อะบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล  กล่าวว่า

“พวกเจ้าจงขอความคุ้มคครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากภัยบะลาอฺอันหนักหน่วง ให้พ้นจากการเกิดเหตุที่จะนำพาไปสู่ความพินาส

ให้พ้นจากเรื่องร้ายๆ ที่อยู่ในกำหนดกาณ์ชีวิต ให้พ้นจากการกล่าวร้ายเย้ยหยันของศัตรูด้วยเถิด”

(บันทึกโดย บุคอรีย์)


มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ อีกเช่นเดียวกัน ในบันทึกของท่านอิมาม อะฮฺมัด และท่าน สะอี๊ด อิบนิ มันศูร ว่า ท่านนบี  กล่าวว่า

“และความร่ำรวยนั้น ร่ำรวยที่จิตใจ”

และปรากฏในบันทึกของท่าน อิบนิ ฮิบบาน จากรายงานของ ท่าน อบี ซัรรฺว่า

“ท่านร่อซูล ถามฉันว่า โอ้ อบูชัรฺ ท่านเข้าใจว่า การมีทรัพย์มากคือ ความร่ำรวยใช่หรือไม่?

ฉันตอบว่า ใช่ครับ

ท่านร่อซูล  ถามต่อไปอีกว่า และท่านเข้าใจว่า การมีทรัพย์น้อย คือ ความยากจนใช่หรือไม่?

ฉันตอบว่า ใช่ครับ โอ้ท่านร่อซูล

ท่านร่อซูล  กล่าวว่า แท้จริงความรวยนั้น รวยที่ใจ ความยากจนนั้น ก็จนที่ใจ”


          ท่านอิบนุ บัตฎอล อธิบายว่า.. ความหมายของ ฮะดีษนี้ก็คือ ความร่ำรวยทีแท้จริง ไม่ใช่การมีทรัพย์สินมากมายมหาศาล แต่เขาไม่มีความสุขสบายเขายังไม่พึงพอใจ เขาอยากจะได้เพิ่มเติมให้มากยิ่งขึ้นอีก ตักตวงเอามาให้มากเข้าไว้ โดยไม่คำนึงว่า ทรัพย์นั้นจะมาจากแหล่งไหน เขาทำตัวเหมือนว่า เขายากจน เพราะจ้องแต่จะกอบโกยอยู่ร่ำไป ... แต่ความรวยที่แท้จริงนั้น คือร่ำรวยที่จิตใจ พึงพอใจในสิ่งที่ได้รับ ไม่โลภที่จะเอาให้มากอีก ไม่ขอเซ้าซี้


          ท่าน อัลกุรฏุบีย์อธิบายว่า .. ความหมายของฮะดีษนี้คือ ความรวยที่มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ และได้รับการสรรเสริญนั้น คือความร่ำรวยที่ใจ กล่าวคือ เมื่อใจร่ำรวย ความโลภก็หมดไป เขาก็เป็นคนที่มีเกียรติ ได้รับความเชื่อถือ เกิดความรู้สึกสบายใจ มีฐานะสูงส่ง และได้รับคำสรรเสริญมากกว่าคนร่ำรวยที่มีจิตใจยากจน เพราะคนรวยแต่หัวใจยากจนนั้น เขาจ้องแต่จะกอบโกย ชีวิตยุ่งอยู่กับเรื่องไม่บริสุทธิ์ ยุ่งอยู่กับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย เพราะคิดแต่จะเอาให้ได้อย่างเดียวและมีความตระหนี่สูง จึงทำให้ผู้คนทั้งหลายตำหนิติเตียน ประณามเขา ทำให้ความน่าเชื่อถือในตัวของเขาลดน้อยลง เขาจะกลายเป็นบุคคลต่ำต้อย ตกต่ำ ในที่สุด


          สรุปได้ว่า ผู้ที่จิตใจร่ำรวยนั้น เขาจะพึงพอใจในริสกี เมื่ออัลลอฮฺทรงกำหนดให้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น ไม่โลภมากโดยไม่จำเป็น ไม่ขอเซ้าซี้ สำหรับผู้ที่จิตใจยากจนจะมีสภาพตรงกันข้าม คือเขาไม่พึงพอใจในสิ่งที่เขาได้รับ อยากจะกอบโกยให้มากเข้าไว้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ถ้าหากสิ่งที่เขาต้องการหลุดลอยไป เขาจะเสียใจ เสียดาย คล้ายกับเขาเป็นคนจนทรัพย์ เพราะสิ่งที่ได้รับนั้น แม้ว่าจะมากมายอยู่แล้วก็ยังไม่พอคล้ายกับว่าเขาไม่ใช่คนรวย

          ถ้ารวยด้วยจิตใจเขาจะยินดีกับกำหนดของอัลลอฮฺ ยอมรับตามที่อัลลอฮฺ ทรงแบ่งสรรปันส่วนให้ เพราะเขาทราบดีว่าสิ่งใดที่ได้มา ณ.อัลลอฮฺ  นั้น ดีกว่าถาวรกว่า ดังนั้น ช่างเป็นคำพูดที่ดีมาก สำหรับผู้ที่กล่าวไว้ว่า “ร่ำรวยด้วยจิตใจนั้น คือ สิ่งที่ได้รับนั้น พอเพียงแก่ความต้องการ ถ้าหากได้รับมากกว่าความต้องการ ความร่ำรวยนั้น จะกลับทำให้ยากจน”


ท่าน อัฏฏ็อยฺยีบียฺ กล่าวว่า “จุดประสงค์ของคำว่ารวยด้วยจิตใจนั้น หมายถึง บุคคลผู้นั้นเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ ทั้งความรู้และการกระทำ”

 

        ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กล่าวว่า “ใครก็ตามใช้เวลาที่มีอยู่หมดไปในการสะสมทรัพย์เพราะกลัวจน เขานั้นแหละคือคนจน” ดังนั้นเขาสมควรจะต้องใช้เวลาไปในการแสวงหาความร่ำรวยอันแท้จริงนั้น คือความเพียบพร้อมสมบูรณ์ มิใช่สะสมทรัพย์ เพราะการสะสมทรัพย์นั้น ไม่มีอะไรเพิ่มพูน นอกจาก ความจน

 

รวยด้วยใจรวยอย่างไร ?

         คนรวยด้วยใจนั้น คือมีใจพึ่งพาต่ออัลลอฮฺในทุกๆกิจการของเขา เชื่อว่าอัลลอฮฺ  เท่านั้นเป็นผู้ให้ หรือไม่ให้ เขาจึงพึงพอใจและขอบคุณอัลลอฮฺในความโปรดปรานที่เขาได้รับ จึงกล่าวได้ว่าคำว่า “ร่ำรวย” ในอัลกุรอาน ที่ว่า

"และทรงพบเจ้าเป็นผู้ขัดสน แล้วทรงให้มั่งคั่ง(แก่)เจ้าดอกหรือ"

(อัฎฎุฮา /8 )

 

 

 


แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ยะห์ยา อับดุลกะรีม

อัลอิศลาห์ สมาคม เอกสารฉบับพิเศษ มุฮัรรอม 1430