ความจำเริญแห่งชีวิต
  จำนวนคนเข้าชม  9058

ความจำเริญแห่งชีวิต 2


โดย.... เชคอัลดุลมุฮฺซิน อัลกอซิม


           สำหรับบุคคลทั่วไป ศิริมงคล ความจำเริญจะประสบกับตัวเขา ก็ต่อเมื่อตัวเขานั้นเป็นผู้ที่ยังประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อสังคม ไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่ใด และเมื่อเขายิ่งเข้าใกล้พระเจ้ามากเท่าไหร่ แม้เวลาและกระทำเพียงน้อยนิด แต่เขาจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ ณ ที่อัลลอฮฺ ขอให้พิจารณาว่า ท่านอบูบักร เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ อบูบักรใช้เวลาก่อนซุบฮฺในการเยี่ยมคนป่วย ไปร่วมญะนะซะฮฺ และให้อาหารคนยากจน พอเช้ามาท่านก็ถือศีลอดต่อในวันถัดไป ท่านอบูฮูรอยเราะฮฺ กล่าวว่า :

 

ท่านร่อซูล ได้ถามว่า : ในวันนี้ใครบ้างในหมู่พวกท่านที่ถือศีลอด ?

ท่านอบูบักรตอบว่า : กระผมครับ

แล้วท่านร่อซูล ก็ถามต่อว่า : แล้วใครบ้างที่ไปร่วมญะนาซะฮฺวันนี้?  :

ท่านอบูบักรตอบว่า : กระผมครับ

ท่านร่อซูลก็ถามต่ออีกว่า :แล้วใครบ้างอีกทีให้อาหารคนยากจนในวันนี้ ?

ท่านอบูบักรก็ตอบว่า กระผมครับ

ท่านร่อซูลก็ถามต่ออีกว่า : แล้วใครอีกที่เยี่ยมคนป่วยวันนี้ ?

ท่านอบูบักรก็ตอบว่า กระผมครับ

แล้วท่านร่อซูลก็พูดขึ้นว่า : “บุคคลใดก็ตามที่ทำการดังกล่าวข้างต้น เขาจะได้รับสวรรค์เป็นการตอบแทน”

          (บันทึกโดย มุสลิม)

         การคบเพื่อน คบสหาย ก็ควรคบมิตรสหายที่ดี ที่ซอและฮฺ ที่ชุมนุมที่ดีที่สุด คือ สถานที่ที่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (มีการเรียน การสอนศาสนา) ณ.ที่นั้นจะมีมะลาอิกะฮฺ และบุคคล ณ. ที่นั้นก็จะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ ตะอาลา

 แล้วมะลาอิกะฮฺก็จะทูลถามอัลลอฮฺว่า : ณ. ที่นั้นมีผู้ที่มาด้วยวัตถุประสงค์อื่น (มิได้มาเพื่อการศึกษา)

อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า : เขาคือผู้ที่ร่วมนั่ง (ฟัง) แล้วมิได้ก่อความรำคาญหรือความเดือดร้อนให้แก่ผู้เข้าร่วมคนอื่นเลย

 (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 (ณ. ที่นั้น สถานที่ที่มีการเรียนการสอนศาสนา จะมีบะร่อกะฮฺ ส่งผลให้ผู้ที่มาชุมนุม ณ.ที่นั้น ได้รับการอภัยโทษ ไม่ว่าเขาจะมาด้วยประสงค์ใดก็ตาม)

 

         ทรัพย์สมบัติที่จะมีความจำเริญ คือทรัพย์ที่ใช้จ่ายในด้านคุณงามความดี มีประโยชน์ต่อศาสนา สังคมและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ การค้าขายก็เช่นกัน ผู้ที่ค้าขายด้วยความสุจริต ไม่คดโกง ตรงไปตรงมา ถึงแม้เขาจะได้ผลกำไรเพียงน้อยนิด อัลลอฮฺจะให้ความจำเริญกับเขาในสมบัติและลูกหลาน

 ท่านร่อซูล กล่าวไว้มีความว่า :

“ใครที่ได้ทรัพย์มาในทางที่ถูกต้องและใช้จ่ายในหนทางที่ดีที่ถูกต้อง อัลลอฮ์จะให้เนียะอฺมัตต่อเขาในปัจจัยยังชีพ”

(บันทึกโดย อัลบุคอรรีย์)

           เราจะเห็นว่า บะร่อกะฮฺนั้นมีอยู่กับบ่าวในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งมากมายหลายชนิด หากแต่บ่าวของพระองค์ ไม่ทราบกันเองว่ามันมีอยู่ตรงไหนในชีวิตของเขา ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การรับประทานอาหาร ควรกล่าวนามของอัลลอฮฺก่อน ควรทานกันเป็นกลุ่มไม่ควรแยกกินทีละคน ควรทานอาหารให้หมด ไม่ฟุ่มเฟือย เมื่อทานอิ่มแล้วก็ควรดูดตามนิ้วมือให้หมดเกลี้ยง เพราะเราไม่ทราบว่า ส่วนไหนของอาหารที่เป็นบะรอกะฮฺ ดังที่ท่านได้กล่าวว่า

  “พวกท่านคงไม่รู้หรอกว่า บะร่อกะฮฺนั้นอยู่ที่ไหน (ในส่วนของอาหาร)

 

          การรับประทานอาหารร่วมกัน ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีบะร่อกะฮฺร่วมกัน ซึ่งต่างกับการที่ต่างคนต่างรับประทาน ท่านวะฮฺชียฺ อิบิ ฮัรบิน ได้เล่าให้ฟังว่า

บรรดาศอฮาบะฮฺต่างพากันถามท่านรอซูลว่า : ยาร่อซูลุลลอฮฺ !พวกเรารับประทานอาหารแล้ว แต่พวกเราไม่รู้สึกอิ่มเลย

ท่านร่อซูลตอบว่า : (สงสัยว่า) พวกท่านคงแยกกันกิน (คือต่างคนต่างกัน)

บรรดา ศอฮาบะฮฺ ตอบว่า : ใช่ครับ ท่านร่อซูล จึงกล่าวขึ้นว่า

 ”พวกท่านจงรับประทานอาหารร่วมกัน (เป็นกลุ่ม) และจงกล่าวนามของอัลลอฮฺ ตะอาลา แล้วอัลลอฮฺจะทรงประทานความจำเริญในอาหารของพวกท่าน” 

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

     กาลเวลาและสถานที่  ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในสิ่งที่พระองค์ทรงให้ความจำเริญ เช่น ค่ำคืนที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด คือ ค่ำคืนอัลก๊อดฺร

" แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ”  

(อัด-ดุคอน อายะฮฺที่  3)

”คืน อัล-ก๊อดฺร นันดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน”          

(อัลก๊อดรฺ : 3)

          ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่สมควรจะแสวงหาความจำเริญของในแต่ละวัน คือ ระยะเวลาหลังจากละหมาดฟัจร์ (ศุบฮิ) เพราะช่วงนี้เป็นเวลาของการประทานปัจจัยยังชีพ เวลาแห่งการประทานความจำเริญสู่ปวงบ่าวของพระองค์ อัลลอฮฺทรงสาบานด้วยกับสิ่งนี้ไว้ในอัลกุรอานในซูเราะฮฺ อัต-ตักวีร อายะฮฺที่ 17-18 ว่า

 ”ขอสาบานด้วยกลางคืนที่มันเหือดหาย และตอนเช้าตรู่เมื่อมันทอแสง (ซึ่งทั้งสองเวลาเป็นเวลาที่มีความจำเริญอยู่)

 และในช่วงเวลานี้ (เช้าตรู่) ท่านนบี ก็ขอให้กับประชาชาติของท่านให้ได้รับความจำเริญในเวลานี้

  “ข้าแด่อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานความจำเริญในช่วงเช้าตรู่ ให้แก่ประชาชาติของข้าพระองค์ด้วยเถิด”

 ฉะนั้น บุคคลที่หลับนอนในระยะเวลานี้ (ระหว่างละหมาดศุบฮิถึงเวลา ชุรุก (ตะวันขึ้น) บุคคลผู้นั้ก็จะพลาดที่จะได้รับกับความจำเริญอันนี้ ที่ท่านนบีได้ขอไว้

 

          บัยตุ้ลลอฮิลฮะรอม (กะอฺบะฮฺ) ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งในสถานที่ที่พระองค์ทรงประทานความจำเริญอันยิ่งใหญ่ ไม่มีสถานที่ใด ณ. ผืนดินแห่งนี้จะประเสริฐเท่า ในซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 97 พระองค์ทรงตรัสว่า

 ”ในบ้านนั้น มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง (ส่วนหนึ่งนั้น) คือมะกอมอิบรอฮีม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็จะเป็นผู้ปลอดภัย

และสิทธิของอัลลอฮฺที่มีแก่มนุษย์นั้นคือ การมุ่งสู่บ้านหลังนั้นอันได้แก่ผู้ที่สามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้นได้

และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย”

 

           มะดีนะฮิ อัล-มุเนาวะเราะฮฺ ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ประเสริฐรองลงมาจากบัยตุ้ลลอฮิลฮะรอม เพราะการละหมาด ณ. ที่นั้นหนึ่งเวลา เทียบเท่ากับการละหมาด ณ. ที่อื่น 100 ครั้ง และอินทผาลัมของชาวเมืองมะดีนะฮฺ ยังเป็นยารักษาโรคได้อีก

 สถานที่นอกจากนี้ ก็ยังมีที่บัยตุ้ลมักดิส ที่มีความจำเริญอยู่ ดังในซูเราะฮฺ อัล-อิสระอฺ อายะฮฺ ที่ : 1 พระองค์ตรัสว่า

”มหาบริสุทธิ์ ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์เดินทางในเวลากลางคืน จากมัสญิด อัลฮะรอม ไปยังอัลอักซอ (เยรูซาเล็ม)

ซึ่งบริเวณรอบๆเราได้ให้ความจำเริญ เพื่อเราจะให้เขาเห็นบางอย่างจากสัญญาณต่างๆของเรา.”

 

          ความประเสริฐ ความจำเริญ จะยังมีอยู่ตลอดทุกสถานที่และทุกกาลเวลา แต่ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการงานที่ซอและฮฺ เพราะในบางครั้งสถานที่ก็ประเสริฐ ระยะเวลาก็อำนวย แต่มนุษย์เรานั้นกลับไม่กระทำการงานที่ดี ปล่อยให้ระยะเวลาและโอกาสนั้นหลุดลอยผ่านไปครั้งแล้วครั้งเล่า

  “แผ่นดิน (ที่คิดว่าประเสริฐหรือบริสุทธิ์นั้น)มิได้ทำให้มนุษย์บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมาเลย หากแต่มนุษย์จะประเสริฐหรือบริสุทธิ์ได้ ก็ด้วยกับการกระทำของเขาเท่านั้น”

 

          โอ้บรรดาพี่น้องมุสลิมผู้ศรัทธามั่น พึงทราบเถิดว่า เมื่อบ่าวคนใดกระทำบาปขึ้นมานั้น สิ่งที่จะต้องตามมาแน่นอนคือ การลงโทษชนิดต่างๆตามที่เขาประกอบไว้ ฉะนั้นในทางกลับกัน หากแผ่นดินแห่งนี้ปราศจากมะอฺซียะฮฺ (สิ่งที่ขัดต่อหลักการ) ต่างๆ บะร่อกะฮฺ (ความจำเริญ)จากอัลลอฮฺก็จะกระจายไปทั้งหน้าแผ่นดินนั้นและเมื่อใดที่มะอฺซียะฮฺ (สิ่งที่ขัดต่อหลักการ) เกิดขึ้น หรือแพร่กระจาย บะร่อกะฮฺของอัลลอฮฺก็จะถูกถอดถอนออกไป ณ. ที่นั้นเช่นกัน อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัล-ญิน อายะฮฺที 16-17 ว่า

 “และหากพวกเขาธำรงมั่นอยู่บนแนวทางที่เที่ยธรรม แน่นอนเราก็จะให้พวกเขามีริสกีอันกว้างขวาง เพื่อเราจะทดสอบพวกเขาในเรื่องนี้

และผู้ใดหันห่างจากการรำลึกถึงพระเจ้าของเขา พระองค์ก็จะให้เขาได้รับการลงโทษอันแสนสาหัส”

 

          ดังนั้น การทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ (มะอฺซียะฮฺ) นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บะร่อกะฮฺต้องหดหายไปจากทรัพย์สิน การกระทำ วิชาความรู้ ตลอดจนอายุขัย ท่านร่อซูล กล่าวยืนยันเอาไว้ว่า

  “แท้จริงบ่าวจะถูกห้ามจากริสกี (ปัจจัยยังชีพ) ของอัลลอฮฺ ด้วยกับบาปที่เขาได้กระทำเอาไว้” 

 (บันทึกโดยอิบนูมาญะฮฺ)

 ท่านอิบนุ กอยยิม : กล่าวว่า

           "การทำมะอฺซียะฮฺ (การกระทำที่ฝ่าฝืน) เป็นเหตุให้สิริมงคล ความจำเริญจากอัลลอฮฺต้องถูกถอดถอนไปทั้งในเรื่องของศาสนา และการดำรงชีวิต ฉะนั้น ผู้ที่ยังคงทำมะอฺซียะฮฺ เขาจะไม่ได้พบกับบะร่อกะฮฺ (สิริมงคล และความจำเริญ) ในชีวิตของเขา ทั้งในเรื่องของศาสนาและการดำเนินชีวิตในดุนยา"

           ฉะนั้น เราจะไม่ได้รับสิ่งดีต่างๆจากอัลลอฮฺ หากเขาไม่ฏออัต (เชื่อฟัง)ต่อพระองค์ ความสุขสบายนั้น อยู่ที่การได้เข้าใกล้ชิดพระองค์ ฉะนั้นการเชื่อฟังและปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ และบริสุทธิ์ในจะส่งผลให้เขาได้รับบะร่อกะฮฺต่างๆอันมากมาย และการที่เราหวังสิ่งต่างๆจากพระองค์ ยังเป็นสิ่งที่จะทำให้พระองค์ทรงเปิดประตูต่างๆแห่งปัจจัยยังชีพให้กับเรา ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 96ว่า

  “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรง แน่นอนเราก็จะเปิดบะร่อกาตต่างๆ

(ให้ฝนตกตามฤดูการ แล้วให้แผ่นดินออกผลอันเป็นปัจจัยยังชีพ) จากฟากฟ้าและแผ่นดิน

และหากกพวกเขาปฏิเสธ เราจึงได้ลงโทษพวกเขาเนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว”

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ จากตรงนี้เราก็คงจะทราบแล้วว่า บะร่อกะฮฺแห่งชีวิตของมุสลิมนี้มีอยู่ ณ.ที่ใดบ้าง คำตอบคือ เราจะพบได้ในชีวิตของมุสลิมที่มีความฏออัตต่ออัลลอฮฺในทุกๆโอกาสและทุกๆกาลเวลาไม่ว่าในชีวิตประจำวันหรือในโอกาสพิเศษต่างๆ  เมื่อทราบกันแบบนี้ เราจะมัวรีรออะไรกัน หากเราเป็นผู้ที่ฉลาดก็ควรจะรีบตักตวงมันไว้เท่าที่เราสามารถจะทำได้ตราบใดที่ลมหายในยังมีอยู่ ก่อนที่วันที่สมบัติอันมากมายและลูกหลานจะยังไม่ยังประโยชน์อันใดเลย ยกเว้นผู้ที่กลับไปพบกับพระองค์ในสภาพที่พร้อม

 

           สุดท้ายนี้ ขอให้เราและท่านทั้งหลายรอดพ้นจากการลงโทษจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ห่างไกล จากไฟนรก และได้รับสวนสวรรค์ของพระองค์เป็นสิ่งตอบแทน

     

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย บินอับดุลลอฮฺ  ฏอนฏอวีย์

 อัลอิศลาห์ สมาคม เอกสารฉบับพิเศษ มุฮัรรอม 1430