ความจำเริญแห่งชีวิต 1
โดย.... เชคอัลดุลมุฮฺซิน อัลกอซิม
ความจำเริญ (บาร่อกัต) แห่งชีวิตของมุลิมมีอยู่ ณ. ที่ใดบ้าง?
ท่านพี่น้องมุสลิมทุกๆท่าน มนุษย์ทุกๆคนบนหน้าแผ่นดินนี้ ต่างดิ้นรนแสวงหาปัจจัยยังชีพกันด้วยวิธีการที่มาและแตกต่างกัน บางครั้งก็จับจ่ายใช้สอยไปในสิ่งที่เป็นหนทางที่ฝ่าฝืนและอยู่ในความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺ ในบางครั้งมนุษย์ก็ใช้จ่ายกันไปในหนทางแห่งความพอพระทัย ในการปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้
อัลลอฮ์ ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัรเราะอฺดุ อายะห์ที่ 16 ว่า
“สำหรับฟองนั้นก็จะออกเป็นสิ่งที่เหลือเดน ส่วนที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ก็จะคงอยู่ในแผ่นดิน”
การกระทำใดก็ตามที่มิได้กระทำไปเพื่ออัลลอฮฺ (การปฏิบัติตนในสังคม รวมถึงอิบาดะฮฺต่างๆ) การงานนั้นๆก็จะไม่มีสิริมงคล (บาร่อกัต) อัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นคือผู้ประทานบาร่อกัต พระองค์จะทรงมอบให้กับบ่าวผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น
ในซูเราะฮฺ อัซซุครุฟ:85 พระองค์ตรัสว่า
“และทรงความจำเริญ พระผู้ซึ่งอำนาจแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ในระหว่างทั้งสองเป็นกรรมสิทธ์ของพระองค์
และ ณ. ที่พระองค์นั้นคือความรอบรู้แห่งยามอวสาน และยังพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจะถูกนำกลับไป"
การกระทำทุกอย่างที่มีการอ้างอิงถึงพระองค์ ชื่อหรือพระนามของพระองค์ล้วนแต่จะนำมาซึ่งบาร่อกัตมาให้กับสิ่งนั้นๆหรือการงานนั้น
ในซูเราะฮฺ อัรเราะฮฺมาน : 78 พระองค์ตรัสว่า
“พระนามแห่งพระเจ้าของเจ้า ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงโปรดปราน ทรงจำเริญยิ่ง”
(ความจำเริญ คือ การเพิ่มพูน และงอกเงย หลังจากกล่าวถึงความโปรดปรานของพระองค์เก่บรรดามุอฺมิน ในที่พำนักอันมีเกียรติของพระองค์ และสิ่งที่พระองค์ได้ประทานความดีต่างๆให้แก่พวกเขา)
ด้วยกับความเมตตาปราณีของพระองค์ ที่นำความดีงามต่างๆ อันมากมายและด้วยกับความประเสริฐของพระองค์ที่จะทำให้ความจำเริญเพิ่มพูน การมีปัจจัยอันกว้างขวาง การกระทำความดีอันมากมาย การมีอายุขัยที่ยาวนาน หามีประโยชน์อันใดไม่ หากไร้ซึ่งความจำเริญจากอัลลอฮ์ การมีปัจจัยอันมากมาย ความดีที่หลากหลาย อายุขัยที่ยืนยาวนั้น จะต้องอยู่คู่กับความจำเริญของพระองค์ ถึงจะเป็นสิ่งที่เราปรารถนา
การทำงานที่มีบาร่อกะฮฺในดุนยานี้ เราจะได้รับการกล่าวขาน ได้รับการตอบแทนในอาคีเราะฮฺนั้น ต้องเป็นงานที่ประกอบไปด้วย หัวใจที่สะอาด จิตใจที่บริสุทธิ์ และ มารยาทอันสูงส่ง สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของการงานที่มีความจำเริญ
บาร่อกะฮฺ หากจะมีอยู่น้อยนิด แต่ก็อาจเพิ่มพูนขึ้นได้ ฉะนั้นมนุษย์จึงไม่มีผู้ใด ไม่ต้องการบาร่อกะฮฺจากอัลลอฮฺ แม้กระทั่งบรรดาอัมบิยาอฺ และบรรดาร่อซูล ต่างก็ขอสิ่งนี้จากพระผู้เป็นเจ้า
บรรดาร่อซูลต่างๆรวมทั้งบรรดาอุลามาอฺ ผู้เรียกร้องไปสู่สัจธรรมนั้น เป็นผู้ที่มีบาร่อกะฮฺ ด้วยกับการงานและคุณงามความดีต่างๆ ของพวกเขา การเรียกร้องของพวกเขานั้นต่างนำพาไปสู่ความดีและทางที่ถูกต้อง
ท่านนบีอีซา ได้กล่าวว่า
“และพระองค์ทรงให้ฉันได้รับควาจำเริญ (บาร่อกะฮฺ) ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ.ที่ใด และทรงสั่งเสียให้ฉันทำการละหมาดและจ่ายซะกาต ตราบที่ฉันยังมีชีวิตอยู่”
(ซูเราะฮฺมัรยัม อายะห์ที่ 31)
ท่านนบีนูฮฺ ก็ได้รับความจำเริญ (บาร่อกะฮฺ) มากมายจากอัลลอฮฺ ตะอาลา
“ได้มีเสียงกล่าวขึ้นว่า โอ้นูฮฺเอ๋ย จงลงไป (ในเรือ) ด้วยความศานติจากเราและความจำเริญแก่เจ้า และกลุ่มชนที่อยู่กับเจ้า (ชาวเรือ)”
(ซูเราะฮฺ ฮูด อายะห์ที่ 48)
และนูฮฺ ก็ได้ขอต่อพระเจ้าของเขาให้ได้รับที่พำนัก (เรือ) ที่มีความจำเริญ
“จงกล่าวเถิด ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ลงจากเรือด้วยการลงที่มีความจำเริญ (ป้องกันให้พ้นจากความชั่วร้ายทุกชนิด)
และพระองค์เท่านั้นเป็นผู้ทรงเลิศยิ่งแห่งบรรดาผู้ให้ลงจากเรือ”
(ซูเราะฮฺ อัล-มุอฺมินูน อายะห์ที่ 29)
“เราได้แจ้งข่าวดีแก่เขาว่า จะได้(ลูกคนหนึ่ง)อิสฮากเป็นนะบี(จะเป็นหนึ่ง)ในหมู่คนดีทั้งหลาย และเราจะได้ให้ความจำเริญแก่เขา และแก่อิสฮาก
และในหมู่ลูกหลานของเขาทั้งสองนั้นมีผู้ทำความดีและผู้อธรรมแก่ตัวของเขาเองอย่างชัดแจ้ง”
(อัศศอฟฟาต อายะห์ที่ 112-113)
“ความเมตตาของอัลลอฮฺและความจำเริญของพระองค์จงประสบแต่พวกท่าน โอ้ครอบครัว (ของอิบรอฮีม)
แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญ ผู้ทรงประเสริฐยิง”
(ฮูด อายะห์ที่ 73)
ท่านอิบนุกอยยิม กล่าวว่า
นี่คือบ้านหลังที่มีความจำเริญอันบริสุทธิ์และมีเกียรติยิ่ง และนบีหลังจากนบีอิบรอฮีมก็เป็นเชื้อสายวงศ์วานของท่าน และบรรดาผู้เป็นสหายผู้ปฏิบัติตามจะได้เข้าสวรรค์ ก็ด้วยกับแนวทางและคำสั่งสอนของบรรดานบีท่านก่อนๆ และบรรดานบีท่านก่อนๆ ต่างก็ขอต่อพระเจ้าให้ได้รับความจำเริญและสิริมงคล
“และขอให้ฉันได้รับความจำเริญในสิ่งที่พระองค์ท่านทรงประทานให้”
(บันทึกโดยอัตติรมีซีย์)
ทั้งหมดที่กล่าวตั้งแต่ข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่าอัลลอฮ์ ประทานความจำเริญและสิริมงคลให้กับบรรดานบีและร่อซูลท่านก่อนๆ และขณะเดียวกันพวกเขา (บรรดานบี) ต่างก็ขอต่อพระเจ้าให้ได้รับความจำเริญทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่านความจำเริญ(บาร่อกะฮฺ) มีอยู่ในทุกกิจการของมุสลิม ดังเช่นการทักทายกันตามแบบฉบับของอัล-อิสลาม
“ขอความสันติสุข ความเอ็นดู เมตตาและสิริมงคลทรงประสบแก่ท่าน”
อัลกุรอานก็เช่นกัน มีคุณความดีอันใหญ่โตมากมาย เป็นคัมภีร์อันมหาจำเริญที่อัลลอฮฺทรงประทานมาให้เป็นเราะฮฺมะฮฺ (ความเมตตา) เป็นชีฟาอฺ (เป็นการเยียวยา รักษา) เป็นฮูดา (แนวทางและหลักฐานอันชัดแจ้ง)
“และนี่คือ อัลกุรอาน เป็นการตักเตือนที่จำเริญซึ่งเราได้ให้มันลงมา”
(อัมบิบาอฺ อายะฮฺที่ 50)
ซูเราะห์อัลบากอเราะฮฺ เป็นซูเราะห์ที่มีความจำเริญ ที่นบีได้สั่งใช้ให้เรียนรู้ซูเราะห์นี้
ท่านนบี กล่าวว่า
“พวกท่านจงศึกษา (แล้วนำไปปฏิบัติ) ซูเราะห์บากอเราะห์ เพราะหากท่านศึกษา (แล้วนำไปปฏิบัติ) ก็จะเกิดบาร่อกะฮฺกับพวกท่าน
และหากพวกท่านละเลยหรือทอดทิ้ง พวกท่านก็จะขาดทุน”
(บันทึกโดย อะฮฺมัด)
การติดต่อเครือญาติก็เช่นกัน มีผลทำให้ริสกีกว้างขวางและมีชีวิตที่จำเริญ มีบาร่อกะฮฺ
“ท่านรอซูลกล่าวว่า บุคคลใดที่ปรารถนาในริสกีอันกว้างขวางและการมีอายุที่ยืนยาว ก็จงติดต่อกับเครือญาติของเขา”
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
การค้าขายด้วยความสุจริต การประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามบทบัญญัติ จะทำให้ทรัพย์สินที่แสวงหามาได้มีความจำเริญ มีสิริมงคล (บาร่อกะฮฺ)
ท่านร่อซูล กล่าวไว้ มีความว่า
“การค้าขายระหว่างบุคคล 2 บุคคลย่อมอยู่กับการตัดสินใจหรือการเลือกของแต่ละฝ่าย ตราบใดที่ทั้งสองยังไม่แยกจากกัน (ตกลงราคากันจนแยกจากกันไป)
หากผู้ขายมีวาจาสัตย์ ไม่ปกปิดข้อมูล อัลลอฮฺจะประทานความจำเริญ ให้แก่ทั้งสองฝ่าย
หากตรงกันข้าม ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปกปิดสิ่งไม่ดีของสินค้าหรือราคาหรือทุจริตกันในการค้า อัลลอฮฺก็จะทรงเอาความจำเริญ (บาร่อกะฮฺ)ออกจากทั้งสอง”
(บันทึกโดย บุคอรีย์และมุสลิม)
ระบบครอบครัว อิสลามมีแบบอย่างตั้งแต่การมีระบบครอบครัวใหม่ (แต่งงาน) ก็มีการขอดุอาอฺให้คู่บ่าวสาวได้รับความจำเริญและสิริมงคล (บาร่อกะฮฺ)
รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า เมื่อนบี แต่งงานให้คู่บ่าวสาว ท่านจะขออุอาอฺดังนี้
“ขออัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญให้แก่ท่าน ขอพระองค์ได้ทรงประทานความจำเริญเหนือท่าน และทรงให้การอยู่ร่วมกันระหว่างท่านทั้งสองในความดี”
สตรีที่มีความจำเริญ (บาร่อกะฮฺ) คือ สตรีที่มีค่าตัว (มะฮัร) น้อยที่สุด ฉะนั้นครอบครัว (ชีวิตการแต่งงาน)ที่จะได้รับความสุขคือ การมีชีวิตแบบเรียบง่าย ผ่อนปรนกันตามรรลองของอิสลาม
“สตรีที่ประเสริฐยิ่ง คือ สตรีที่มีความง่ายดาย (ผ่อนปรน)ในสินสอดของตัวนาง
(คือ ไม่เรียกร้องฝ่ายชายด้วยสินสอดที่มากเกินไป อันนำมาซึ่งความยากลำบากหรืออุปสรรคในการแต่งงานของฝ่ายชาย)”
เช่นกัน ภรรยาที่มีเกียรติยิ่ง มีความจำเริญยิ่ง คือ ภรรยาที่มีความฏออัตต่อสามี และเชื่อฟัง ปรณิบัติสิทธิที่พึงปฏิบัติต่อสามีในขอบเขตที่ศาสนากำหนด (ทำในสิ่งที่ไม่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺและร่อซูล) และบุตรหลานที่จะได้รับความจำเริญ คือ เด็กที่เติบโตใต้ร่มเงาของอิสลาม เชื่อฟังต่อพระเจ้า เคร่งครัดในศาสนา พร้อมทั้งดำเนินอยู่ในแนวทางของท่านนบี พร้อมทั้งปกป้องตนให้พ้นจากความผิดและสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในรูปแบบต่างๆ
มารยาทในการเข้าบ้านก็เช่นกัน ก่อนจะเข้าบ้าน อิสลามได้วางบัญญัติเพื่อให้เกิดความจำเริญทั้งผู้มาเยือนเจ้าของบ้าน ด้วยการให้กล่าวสลาม ถึงแม้จะไม่มีผู้ใดในบ้านก็ตาม รายงานจากท่านอนัส เล่าว่า ท่านร่อซูล ได้บอกฉันว่า
“โอ้เด็กน้อย (อนัส) เมื่อเจ้าจะเข้าบ้าน จงให้สลามเถิด เพื่อว่าจะเป็นความจำเริญ (บาร่อกะฮฺ) ต่อตัวเจ้าและครอบครัวของเจ้า”
(บันทึกโดย อัตติรมีซีย์)
แปลและเรียบเรียงโดย บินอับดุลลอฮฺ ฏอนฏอวีย์
อัลอิศลาห์ สมาคม เอกสารฉบับพิเศษ มุฮัรรอม 1430