การกระทำเพื่อให้ นิอ์มะฮ์ คงอยู่ตลอดไป
  จำนวนคนเข้าชม  7457

การกระทำเพื่อให้ "นิอ์มะฮ์" คงอยู่ตลอดไป


โดย... อ. มาลิก โยธาสมุทร


วิธีการในการกตัญญูต่อ “นิอฺมะฮฺ” เพื่อให้“นิอฺมะฮฺ”ยังคงอยู่ต่อไป และเพิ่มพูนมากขึ้น

         พี่น้องผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย มีหลายวิธีในการที่ผู้เป็นบ่าวจะได้เป็นผู้กตัญญูต่อ“นิอฺมะฮฺ” ที่อัลลอฮฺทรงประทานให้ เพื่อเป็นการรักษา “นิอฺมะฮฺ”ของอัลลอฮฺให้คงอยู่ต่อไป และเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้ คือ


1.การละทิ้งสิ่งที่เป็นบาปที่เป็นการฝ่าฝืน

     ท่าน ซาบิด บิน ฮูเซน กล่าวว่า “การกตัญญู คือ การไม่ฝ่าฝืน ไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความผิดบาปทั้งมวล”


2.การรู้จักใน “นิอฺมะฮฺ”ของอัลลอฮฺ

     ต้องกล่าวสรรเสริญยกย่อง “นิอฺมะฮฺ”ดังกล่าว และไม่กระทำการฝ่าฝืนต่อพระองค์


3.การมองดูผู้ที่มีความรู้ ผู้มีความเข้าใจในศาสนาอย่างลึกซึ้ง

        การมองดู ผู้ที่ประสบภัย “บะลาอฺ”ต่างๆเพื่อเป็นข้อคิด และบทเรียนดังที่ท่านนบี  กล่าวว่า

“และเมื่อผู้ใดในหมู่พวกท่านมองไปยังผู้ที่มีทรัพย์สมบัติ และมีมารยาทที่ประเสริฐเหนือกว่าตัวเขาเอง ก็จงมองดูผู้ที่ด้อยกว่าตัวเขาเถิด

(ทั้งในด้านฐานะและมารยาท)”  

(บันทึกโดย อิมาม บุคอรีย์ และมุสลิม)

อีกรายงานหนึ่งระบุว่า มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ แจ้งว่า ท่านนบี  กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลาย จงมองดูผู้ที่ด้อยกว่าพวกท่าน อย่ามองดูผู้ที่เหนือกว่าพวกท่าน

 เพราะจะไม่เป็นการเหมาะสมเลย ที่พวกท่านจะปรามาสดูถูก ดูแคลนความกรุณา โปรดปราน “นิอฺมะฮฺ” ที่อัลลอฮฺประทานให้กับพวกท่าน”

 (บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

อิมาม อันนะวะวีย์ กล่าวว่า อิบนิ ญะรีรฺและท่านอื่นๆกล่าวว่า

           “ฮะดิษนี้ รวมความดีเอาไว้หลายประการ เพราะคนเรานั้น เมื่อเขาเห็นคนที่เหนือกว่าตนในโลก เขาก็อยากเป็นเช่นนั้นบ้าง  และเขาจะเห็นว่าสิ่งที่ตนมีอยู่นั้น ด้อยค่าไร้ราคา แม้ว่าสิ่งนั้น จะเป็นความกรุณา “นิอฺมะฮฺ” ที่อัลลอฮฺ ประทานมาให้เขาก็ตาม แถมยังปรามาส ดูถูกดูแคลน “นิอฺมะฮฺ”ดังกล่าวอีกด้วย”

         นี่คือ สิ่งที่ผู้คนส่วนมากเป็นกัน และสำหรับการมองดูผู้ที่ด้อยกว่าตนในเรื่องของโลกดุนยานี้ ก็จะให้ได้เห็นและรู้ถึง “นิอฺมะฮฺ”ของอัลลอฮฺที่ได้ประทานมาให้กับเขา แล้วเขาก็กตัญญูต่อพระองค์ นอบน้อมถ่อมตน และทำคุณงามความดีให้มากยิ่งๆขึ้น


4.การรู้ว่ามนุษย์เรานั้นอยู่ในฐานะเป็นบ่าว

         เพราะมีผู้ที่เป็นเจ้าของเป็นนายอยู่เหนือเขาอีก ที่จริงเขามิได้เป็นเจ้าของครอบครองกรรมสิทธิ์ใดๆเลย สิ่งที่เขาครอบครองอยู่นั้น เป็นเพียงการประทานมาให้ของผู้เป็นนายของเขาเท่านั้น

อัลฮะซัน กล่าวว่า

     “ท่านนบีมูซา กล่าวว่า “โอ้ (อัลลอฮฺ) พระเจ้าของข้าพระองค์ ท่านนบีอาดัม สามารถทำการกตัญญูต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงทำความดีให้กับตัวท่านได้อย่างไร ? ทั้งๆที่พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างท่านขึ้นมาด้วยกับพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงเป่าวิญญาณของพระองค์เข้าไปในตัวท่าน และเป็นผู้ทรงให้ท่านอยู่ในสวนสวรรค์ของพระองค์ และทรงมีบัญชาให้บรรดามลาอิกะฮฺ “สุญูด” ก้มกราบแสดงความเคารพต่อท่าน”

     ท่านนบีอาดัม กล่าววว่า “โอ้ มูซา รู้ไว้ด้วยว่า การดังกล่าวนั้น อัลลอฮฺ ประทานให้แก่ฉัน แล้วฉันขอสรรเสริญพระองค์ ดังนั้น จึงนับเป็นการกตัญญูต่อการที่ฉันได้ปฏิบัติต่อพระองค์”

ด้วยเหตุนี้ จึงมีปรากฏในศอเฮี้ยะหฺ บุคอรีย์ และมุสลิมว่า

 “ท่านนบี ยืนละหมาดในเวลากลางคืน จนกระทั่งเท้าทั้งสองของท่านบวม”

มีผู้กล่าวกับท่านว่า “ท่านทำถึงขนาดนี้เชียวหรือ ? ทั้งๆที่อัลลอฮฺทรงอภัยให้กับท่านในความผิดที่ผ่านพ้นไปแล้ว และที่จะมาอีก?”

ท่านร่อซูล จึงกล่าวว่า “จะไม่ให้ฉันเป็นบ่าวที่กตัญญูกระนั้นหรือ?”

          หมายถึง ทุกสิ่งที่อัลลอฮฺ ทรงทำให้กับฉัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือก การนำทางให้เป็นนบี และร่อซูล ตลอดจนการอภัยโทษ ฯลฯ ถือว่าเป็นการให้การส่งเสริม สนับสนุนค้ำจุนจากอัลลอฮฺ ทั้งสิ้น จึงสมควรแล้วที่จะต้องมีการสรรเสริญ และกตัญญูต่อพระองค์ ดังนั้น ฉันจึงเป็นเพียงบ่าวคนหนึ่งของพระองค์ก็เท่านั้น ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ


5.การได้รับประโยชน์จาก “นิอฺมะฮฺ” และไม่ปกปิดซ่อนเร้น

         มีรายงาน จาก อัมรฺ อิบนุ ชุอัยบฺ จากบิดาของเขา จากปู่ของเขา แจ้งว่า ท่านนบี  กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลาย จงกิน จงดื่ม และจงบริจาค โดยไม่ให้มีร่องรอยของความตระหนี่และความฟุ่มเฟือยให้เห็น

เพราะอัลลอฮฺทรงชอบที่จะเห็นร่องรอยแห่งความกรุณา (นิอฺมะฮฺ) ของพระองค์ ที่มีต่อบ่าวของพระองค์”

(ฮะดีษศฮเฮี้ยะหฺ บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด อันนะซาอีย์ อัตติรมีซีย์และอัลฮากิม)

 
6.การทำทาน (ศอดะเกาะฮฺ)

         เป็นสัญลักษณ์ของการกตัญญูต่อ “นิอฺมะฮฺ” ด้วยเหตุนี้ จึงมีรายงานว่า ท่านนบี ดาวูด ท่านได้เคยขอดุอาอ์ว่า

“ขอสดุดีพระผู้ทรงบริสุทธิ์ ผู้ทรงให้แสดงความกตัญญูด้วยการให้ทำทาน”

 
7.การซิกรุลลอฮฺ

         ดังนั้น การกตัญญูที่แท้จริง คือ การรำลึกนึกถึงอัลลอฮฺ (ซิกรุลลอฮฺ) นั่นเอง ดังมีรายงานจากท่านมุญาฮิด เกี่ยวกับดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า

“แท้จริง เขา (นู๊ฮฺ) เป็นบ่าวที่กตัญญู”

(อัลอิสร็อฮฺ 17:3)

         โดยอธิบายว่า จงอย่ากินสิ่งใด นอกจาก ต้องกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และอย่าดื่มสิ่งใดนอกจากต้องกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และไม่ใช้กำลัง ออกแรงกับสิ่งใด นอกจากด้วยการสรรเสริญอัลลอฮฺ ดังนั้น การสรรเสริญสดุดี อัลลอฮฺ จึงทำให้เขาเป็นผู้ที่กตัญญูต่อพระองค์ นั่นเอง”

มีรายงานจากท่านอนัส อิบนุมาลิก แจ้งว่า ท่านนบี กล่าวว่า

“แท้จริง อัลลอฮฺย่อมทรงพอพระทัยผู้เป็นบ่าว เมื่อเขารับแระทานอาหาร เขาก็กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ หรือเมื่อเขาดื่มเครื่องดื่ม

เขาก็กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” 

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)


8.การถ่อมตน

          ละการพยศอวดใหญ่อวดโต เพราะการพยศ อวดโตนั้น เป็นการค้านกับการกตัญญู เพราะว่า การพยศอวดโตที่แท้จริงนั้นคือ การที่ผู้เป็นบ่าวนึกเอาเองว่า ตนนั้นเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ ส่วนการกตัญญู คือ การรู้ว่าอัลลอฮฺ นั้น ทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงนั่นเอง


9.การเป็นพยาน

          สิ่งที่บ่งชี้ ถึงข้อบกพร่องในการกตัญญู(ชุกุรก) ต่ออัลลอฮฺ  ไม่ว่าผู้เป็นบ่าวเขาจะทุ่มเทให้กับการกตัญญูไปมากน้อยแค่ไหนเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทำให้พระกรุณาธิคุณ (นิอฺมะฮฺ) ที่อัลลอฮฺ  ประทานให้นั้น เป็นที่สมบูรณ์ครบถ้วนได้ การกตัญญูต่อตัวเองนั้น นับเป็น“นิอฺมะฮฺ”อย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการกตัญญู การกตัญญูต่อตนเอง จะเป็น“นิอฺมะฮฺ” ฉะนั้นก็จะต้องกตัญญูต่อพระองค์


10.การต่อสู้กับชัยฏอน

การขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ให้พ้นจากชัยฏอน ดังที่ท่านอิบนิล กอยยิม กล่าว

    เมื่ออิบลีส ผู้เป็นศัตรูของอัลลอฮฺ ยังรู้จักความสำคัญของการกตัญญูและมันนั้นอยู่ในสถานที่เหนือกว่า มันจึงมุ่งที่จะตัดความสัมพันธ์กับมนุษย์ ดังดำรัสของอัลลอฮฺ  ที่ว่า

“แล้วข้าจะมายังพวกเขา (มนุษย์) จากเบื้องหน้าของพวกเขา จากเบื้องขวาของพวกเขา และจากเบื้องซ้ายของพวกเขา

และพระองค์จะไม่ทรงพบว่า ส่วนมากของพวกเขา (มนุษย์) นั้นเป็นผู้ที่กตัญญูกันเลย”

(อัลอะอฺร็อฟ 7:17)


11.การไม่คบหาสมาคมร่วมกับกลุ่มชนที่เพิกเฉยละเลย

          เพราะการคบหาสมาคมกับกลุ่มชนดังกล่าวทำให้หลงลืมการกตัญญูและเป็นการทำให้ผู้เป็นบ่าวตัดขาดจากการใคร่ครวญ นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ“นิอฺมะฮฺ” ของอัลลออฮฺ

     อัลฮะซัน ได้ยินผู้คนกล่าวว่า “นี่ไงผู้ชายคนนั้นที่ไม่ยอมคบหาสมาคมกับผู้คน เขาจึงไปพบชายคนนั้น แล้วถามไถ่ว่า เรื่องมันเป็นไปอย่างไร ?

     ชายคนนั้นก็กล่าวว่า “ทั้งเช้าและเย็น ฉันเกลือกกลิ้งอยู่ระหว่างบาป ความผิด และ “นิอฺมะฮฺ” ฉันก็เห็นว่า ตัวฉันนั้นควรจะยุ่งอยู่กับการขออภัยโทษ การสารภาพผิด (อิสติฆฟ๊าร) และกตัญญูต่ออัลลอฮฺ ที่ได้ประทาน “นิอฺมะฮฺ” มาให้กับฉัน”

     อัลฮะซัน จึงพูดกับเขาว่า “ท่านนั้น โอ้ ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ มีความเข้าใจในศาสนาอ่างลึกซึ้งยิ่งกว่าฮะซันเสียอีก”


12.การขออุอาอฺ

     ทั้งนี้ เพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงให้ท่านนั้น เป็นผู้ที่กตัญญูรู้คุณ ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี  จึงได้ย้ำเตือนกับท่านมุอ๊าซ

“มุอ๊าซ เอ๋ย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า แท้จริง ฉันนั้นรักเธอ ดังนั้น หลังละหมาดทุกเวลา อย่าลืม ดุอาอฺ ดังต่อไปนี้”

คำอ่าน “อัลลอฮุมมะอะอินนี อะลาซิกริกะวะชุกริกะวะฮุสนี อิบาดะติกะ”

คำแปล “ข้าแต่อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในการรำลึกนึกถึงพระองค์ ในการกตัญญูต่อพระองค์ และในการเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่อพระองค์โดยดีด้วยเถิด”

(ฮะดีษศอเฮียะหฺ บันทึกโดย อิมามอะฮฺมัด อบูดาวู๊ด และอัลนะซาอีย์)

 

 

วารสารอัลอิศลาห์ สมาคม

 อันดับที่ 369-371