คนรวยที่ขอบคุณ กับคนจนที่มีความอดทน
  จำนวนคนเข้าชม  9778

คนรวยที่ขอบคุณ กับคนจนที่มีความอดทน


แปลโดย : ลุตฟีย์ อะห์มัด เจ๊ะเลาะ


บุคคลใดประเสริฐกว่าระหว่างคนรวยที่ขอบคุณ กับคนจนที่มีความอดทน ?


          คำตอบ ก็คือ หากว่าคนรวยใช้เงินของเขาในการภักดีต่อพระองค์ หรือเก็บออมเพื่อหนทางของพระองค์ เขาจะดีกว่าคนจน  และหากว่าคนรวยใช้เงินของเขาส่วนใหญ่ในการงานที่มุบาห์(สิ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามปกติ) แน่นอนว่า คนจนนั้นจะดีว่าคนรวย

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“ผู้มีจะกินที่รู้จักขอบคุณ เทียบเท่าคนถือศีลอด(ผู้ไม่มีจะกิน)ที่มีความอดทน”

(รายงานโดย อะห์มัด)

 

อัร-ริฎอ (ความพอใจ)

          คือ ความพึงพอใจกับสิ่งที่มีและพอเพียงกับมัน มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว และการริฎอต่อสภาวะการกำหนดของพระองค์อัลลอฮฺนั้นเป็นสถานะอันสูงสุดสำหรับผู้ใกล้ชิดพระองค์ และมันเป็นผลของความรักและการตะวักกัล และการขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺปัดเป่าสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไม่ได้ขัดแย้ง การริฎอหรือพอใจต่อพระองค์

 

อัล-คุชูอฺ (การเชิดชู อ่อนน้อม และถ่อมตน)

ท่านหุซัยฟะฮฺได้กล่าวว่า “พึงระวังการคุชูอฺแบบนิฟาก(คนหน้าไหว้หลังหลอก)

ครั้นมีผู้ถามท่านว่า อะไรล่ะคือคุชูอฺแบบนิฟาก ?

ท่านบอกว่า เมื่อท่านเห็นร่างกายนอบน้อม และจิตใจกลับไม่ได้นอมน้อมถ่อมตัวเหมือนกับร่างกาย”

และท่านได้กล่าวอีกว่า “สิ่งแรกที่จะสาบสูญหายไปจากศาสนาของพวกท่านนั้นคือ การคุชูอฺ”

          และการงานใดก็ตามที่มีบัญญัติให้มีการคุชูอฺประกอบอยู่ด้วย แท้จริงแล้วผลบุญของการงานนั้นก็จะได้รับตามที่เขาคุชูอฺมากน้อยเพียงใด เช่น การละหมาด แท้จริงท่านนบี  ได้กล่าวสำหรับผู้ที่ละหมาดว่า

 " เขาจะไม่ได้ผลบุญนอกจากครึ่งของมัน หรือเศษหนึ่งส่วนสี่ หรือเศษหนึ่งส่วนห้า หรือเศษหนึ่งส่วนสิบ

และอาจไม่ได้รับผลบุญเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากละหมาดของเขาปราศจากคุชูอฺ "

 

อัร-เราะญาอ์  (การหวัง)

          คือ การมองและคิดถึงความเมตตาของอัลลอฮฺอันกว้างใหญ่ไพศาลตรงข้ามของมันคือหมดหวัง และการงานที่ทำบนความหวังมันจะสูงกว่าการงานที่ทำบนความเกรงกลัว เพราะว่าการงานเพื่อรอความหวังนั้นจะส่งผลให้เกิดการคิดในแง่ดีต่ออัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสในหะดีษกุดสีย์ว่า ความว่า

“ข้าอยู่เคียงข้างกับบ่าวที่คิดในแง่ดีต่อข้า”

(รายงานโดย มุสลิม)


การหวังนั้นมีสองระดับ

ระดับสูง

         คือผู้ที่ปฏิบัติความดีและหวังผลบุญการตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ ท่านหญิง อาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุ อันฮา ได้กล่าวว่า

         “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ในอายะฮฺที่ว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมด้วยความหวั่นเกรง (อัล-มุอ์มินูน 60) เขาผู้คือที่ลักขโมย และผิดประเวณี และดื่มสิ่งมึนเมา และเขาเกรงกลัวอัลลอฮฺว่าจะทรงลงโทษเขาใช่หรือไม่ ?

ท่านนบี  ได้ตอบว่า

          “ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก โอ้ลูกของอัศ-ศิดดีก แต่มันหมายความว่า เขาเหล่านั้น ได้ทำการละหมาด ถือศีลอด บริจาคทาน และเขาเหล่านั้นกลัวว่าจะไม่ถูกตอบรับจากพระองค์ต่างหาก พวกเขาคือบรรดาผู้ที่รีบเร่งในการทำความดี”

(รายงานโดย อัต-ติรมีซีย์)

ระดับต่ำ

         คือผู้ที่ทำบาปและได้กลับตัวและหวังการอภัยโทษจากพระองค์ ส่วนผู้ที่ทำบาปแต่ไม่ได้เตาบัต และยังหวังการอภัยโทษจากพระองค์ เช่นนี้เรียกว่า “ตะมันนี”(คาดหวังลมๆแล้งๆ) ไม่ใช่เป็นการเราะญาอ์แต่อย่างใด การหวังประเภทนี้เป็นสิ่งน่าตำหนิ ส่วนการหวังแบบอย่างแรกนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าสรรเสริญและมุอ์มินที่แท้จริงจะรวบรวมระหว่างการทำดีกับความเกรงกลัวคู่กัน ส่วนคนมุนาฟิกนั้นจะรวบรวมระหว่างการทำความชั่วกับความรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย

 

อัล-เคาฟฺ (ความกลัว)

          คือภาวะความกังวลที่เกิดขึ้นกับจิตใจเพราะเกรงว่าจะเกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าหากแน่ใจว่าจะเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์นั้นเรียกว่า “ค็อชยะฮฺ”ตรงกันข้ามของมันก็คือ อัล-อัมน์ หรือความรู้สึกว่าปลอดภัย

          อัล-เคาฟฺนั้นไม่ได้ตรงกันข้ามกับ อัร-เราะญาอ์ หรือการหวัง ทว่ามันเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการสำรวม ส่วนการหวังนั้นกระตุ้นให้เกิดการกระตือรือร้นและปรารถนา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมทั้งความรัก ความกลัว และความหวัง ให้มีอยู่พร้อมด้วยกันในตัวของเรา

ท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิม ได้กล่าวว่า

         “หัวใจนั้นเดินทางไปหาอัลลอฮฺเสมือนกับนกที่บินอยู่บนฟ้า ความรักเป็นหัว ความกลัวและความหวังนั้นเป็นปีกทั้งสองข้างของนก หากว่าความกลัวได้สถิตอยู่ในใจแล้ว มันจะเผาผลาญส่วนที่เป็นอารมณ์ใฝ่ต่ำ และขับไล่ดุนยาออกไปจากมัน”

ความกลัวที่เป็นวาญิบ: คือ ส่วนที่ส่งผลให้ทำในสิ่งที่ดีและละทิ้งสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ความกลัวที่สุนัต: คือ ส่วนที่ส่งผลให้ทำสิ่งที่สุนัตและละทิ้งสิ่งที่น่ารังเกียจ(มักรูฮฺ)


ความกลัวมีหลายประเภท คือ

     1) การกลัวสิ่งเร้นลับและอำนาจที่มองไม่เห็นซึ่งวาญิบจะต้องกลัวอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น เพราะว่าการกลัวต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์เป็นชิริกใหญ่ เช่น กลัวต่อบรรดาสิ่งเคารพของของพวกมุชริกีนว่ามันจะให้อันตรายต่างๆ นานา

2) การกลัวที่เป็นหะรอม คือ การทำสิ่งวาญิบหรือละทิ้งสิ่งที่เป็นหะรอมเพราะเกรงกลัวมนุษย์ด้วยกัน

3) การกลัวที่อนุญาตหรืออนุโลม คือ การกลัวปกติทั่วไป เช่นกลัวสัตว์ร้ายเช่นหมาป่า เป็นต้น

 

อัซ-ซุฮดฺ (ความสมถะ)

          คือ การหันหลังให้กับบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งที่ประเสริฐกว่า และความสมถะทางโลกนั้นจะช่วยผ่อนคลายจิตใจและร่างกาย และการมุ่งมาดไขว่คว้าหาดุนยานั้นก่อให้เกิดความทุกข์และกังวลเพิ่มมากขึ้น การรักชีวิตโลกเป็นบ่อเกิดแห่งความเลวร้ายทั้งปวง และการไม่ชอบมันเป็นสาเหตุของการเชื่อฟังทั้งปวง และความสมถะต่อดุนยานั้นคือการนำมันออกจากหัวใจไม่ใช่เอาออกจากมือ แต่จิตใจยังไขว่คว้าต้องการอยู่ เช่นนี้คือความสมถะของคนโง่เขลา

 ท่านนบี ได้กล่าวว่า

“ทรัพย์สมบัติที่ดี คู่ควรกับชายที่ดี”

(รายงานโดย อะห์มัด)

 

สำหรับคนยากจนนั้นมีความสัมพันธ์กับทรัพย์สมบัติอยู่ห้าประเภท


     1) คนที่หันหลังและไม่อยากได้เงินทองเพราะเกลียดกลัวและป้องกันตัวเองว่าจะมีปัญหาและยุ่งกับเงินทอง คนประเภทเรียกว่า “ซาฮิด” (คนสมถะ)


     2) คนที่ไม่รู้สึกดีใจเมื่อได้มันมาครอบครอง และก็ไม่ได้เกลียดจนเป็นภัยต่อตัวเอง คนประเภทนี้เรียกว่า “รอฎีย์ ”(ผู้ที่พอใจ)


     3) คนที่เมื่อมีทรัพย์จะรู้สึกชอบและดีกว่าไม่มีเพราะความที่ตัวเองชอบมัน แต่ไม่เลยเถิดจนต้องไปควานหามันหากว่าไม่มี ทว่าถ้าหากมันมีมาเองก็จะรับไว้และดีใจ คนประเภทนี้เรียกว่า “กอนิอฺ” (ผู้พอเพียง)


     4) คนที่ไม่ได้หามันเพราะความอ่อนแอของเขาแต่ทว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่อยากได้มันและถ้าหากเขามีหนทางที่จะหามาได้เขาย่อมเหน็ดเหนื่อยเพื่อหามันมาให้ได้ คนประเภทนี้เรียกว่า “หะรีศ” (คนมักได้)


     5) คนที่มีความจำเป็นต่อเงินทอง เช่น คนที่หิว คนที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่ คนประเภทนี้เรียกว่า “มุฎฏ็อรฺ”(คนที่มีความจำเป็น)

 

 

 

ที่มา : สำนักงานสอนอิสลามเมืองอุตสาหกรรมเก่า กรุงริยาด  / Islam house