การงานของจิตใจบางประการ
  จำนวนคนเข้าชม  8024

การงานของจิตใจบางประการ


แปลโดย : ลุตฟีย์ อะห์มัด เจ๊ะเลาะ


เนียต คือ ความต้องการหรือมีเจตนา การงานจะใช้ไม่ได้และจะไม่ถูกตอบรับหากปราศจากการเนียต

ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

“แท้จริงการงานทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเนียตและแน่นอนทุกคนย่อมได้รับผลตอบแทนตามที่เขาได้เนียตเอาไว้”

(มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ)

และอิบนุ อัล-มุบาร็อก เราะฮิมะฮุลลอฮฺได้กล่าวว่า

“ อันการงานที่เล็กน้อยนั้นมันจะเพิ่มพูนมากได้ด้วยด้วยการเนียต และการงานที่มากมายนั้น มันอาจจะให้น้อยได้ด้วยการเนียตเช่นกัน ”

และท่านฟุฏัยลฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า

         “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ ทรงต้องการจากท่านซึ่งการเนียตของท่านและความปรารถนาของท่านหากว่าการงานนั้นทำเพื่อพระองค์ จะเรียกว่า อิคลาศ นั่นก็คือการงานทุกอย่างทำเพื่ออัลลอฮฺโดยไม่ได้แบ่งเพื่อสิ่งอื่นใดในโลกนี้ และหากว่าการงานนั้นทำเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระองค์จะเรียกว่า ริยาอ์ หรือ นิฟาก หรืออื่นๆ”


         มนุษย์ทุกคนนั้นจะต้องหายนะ นอกจากผู้ที่มีความรู้ และคนที่มีความรู้จะเกิดความหายนะ นอกจากคนที่ปฏิบัติสิ่งที่เขารู้ และคนที่ปฏิบัตินั้นจะเกิดความหายนะนอกจากว่าเขาจะได้อิศลาศในการงานของเขา ดังนั้น หน้าที่ประการแรกที่จำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องการภักดีต่อพระองค์ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเนียต หลังจากนั้นให้มีการปรับปรุงมันให้ถูกต้องด้วยการลงมือทำหลังจากที่ได้รับรู้เกี่ยวกับความซื่อสัตย์และอิคลาศ เพราะว่าการงานนั้น ถ้าปราศจากการเนียตแล้วเป็นการเหนื่อยเปล่า การเนียตถ้าปราศจากการอิคลาศก็จะเกิดเป็นริยาอ์โอ้อวด และการอิคลาศโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอีมานก็เปล่าประโยชน์เช่นเดียวกัน


การงานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

     1) มะอาศีย์ หรือการทำบาป การเนียตดีในการทำมะอฺศิยัตนั้นไม่ถือว่าเป็นการทำความดี ถึงแม้ว่าเขาจะมีเจตนาดีก็ตามและหากว่าการทำมะอฺศิยัตแล้วมีเจตนาที่ไม่ดีอีกก็จะเพิ่มบาปทวีคูณเป็นเท่า

     2) มุบาหาต (สิ่งที่อนุญาต)สิ่งที่อนุญาตทุกอย่างก็จำเป็นจะต้องมีการเนียตโดยเฉพาะหากว่าต้องการให้สิ่งนั้นเป็นการอิบาดะฮฺให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮฺ

     3) ฏออาต หรือการเชื่อฟังต้องอาศัยการเนียตที่ดีตั้งแต่เริ่มแรกของการงานอยู่แล้วจึงจะได้รับผลบุญ มิฉะนั้นแล้วจะศูนย์เปล่า

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่มีเจตนาจะทําดี แต่ไม่ได้ทํา อัลลอฮฺ จะจารึกผลบุญให้เขาหนึ่งผลบุญ โดยไม่ขาดแม้แต่น้อย

และหากว่าเขามีเจตนาดี พร้อมกับทําในสิ่งที่เขาเจตนาไว้ พระองค์จะจารึกให้เขาสิบผลบุญ จนถึงเจ็ดร้อยผลบุญ หรือมากกว่านั้น

และหากว่าเขามีเจตนาไม่ดี แต่ไม่ได้ทําสิ่งนั้น พระองค์จะจารึกผลบุญให้เขาหนึ่งผลบุญ

แต่หากว่าเขาเจตนาไม่ดี แล้วทําสิ่งที่เขาได้เจตนา พระองค์จะจารึกให้เขาหนึ่งบาป”

(มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ)


          หากเจตนาริยาอ์โอ้อวดให้คนอื่นเห็นสิ่งที่ทำมันจะเป็นมะอฺศิยัต และเป็นชิริกเล็ก และอาจพาไปเป็นชิริกใหญ่ก็ได้ มันมีสามกรณี

     1) มีเจตนาตั้งแต่แรกแล้วเพื่อให้คนอื่นเห็นกรณีนี้ถือว่าเป็นชิริก และอิบาดะฮฺจะใช้ไม่ได้

     2) เจตนาในการทำเพื่ออัลลอฮฺแล้วเกิดการริยาอ์ขึ้นมาระหว่างนั้นหากว่าเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันระหว่างส่วนหน้ากับส่วนหลัง เช่น การเศาะดะเกาะฮฺ เริ่มแรกที่ทำนั้นถือว่าใช้ได้ แต่ที่ทำตอนหลังนั้นย่อมเสียใช้ไม่ได้ และหากว่าเป็นอิบาดะฮฺที่เชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น การละหมาด ก็มีสองกรณีด้วยกัน หนึ่ง พยายามลบความรู้สึกริยาอ์ออกไปกรณีนี้การริยาอ์จะไม่ส่งผลใดๆ ต่ออะมัล สอง ยินยอมที่จะมีการริยาอ์ดำเนินต่อไปกรณีนี้อิบาดะฮฺทุกอย่างจะเสียและใช้ไม่ได้

     3) เกิดการริยาอ์หลังจากปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นแล้วกรณีนี้ถือว่าเป็นเพียงความลังเล(วัสวาส)ที่ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการงานที่ได้ทำไปแล้วและไม่มีผลต่อผู้ปฏิบัติอะมัล และยังมีกรณีของริยาอ์อีกมากมายที่ต้องเรียนรู้และควรระมัดระวัง


          หากว่าเจตนาทําการงานที่ศอลิหฺเพื่อผลตอบแทนของโลกดุนยา แท้จริงแล้วผลบุญของเขา หรือผลบาปของเขานั้นจะขึ้นอยู่กับการเจตนาของเขาว่ามากน้อยเพียงใด มันมีสามกรณีด้วยกัน

     1) เป้าหมายในการงานของเขาเพื่อดุนยาเท่านั้น  เช่น คนที่นำละหมาด เพื่อกินเงินเดือนเท่านั้น แน่นอนว่าเขาจะได้รับบาป

ดังที่ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่แสวงหาความรู้ซึ่งเป็นความรู้ที่ควรหาเพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ แต่เขาไม่ได้แสวงหามันนอกเสียจากเพื่อหวังผลประโยชน์ของดุนยา

 แน่นอนเขาจะไม่ได้ลิ้มรสกลิ่นอายของสวนสวรรค์ในวันกิยามะฮฺ”

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

     2) ทำงานเพื่ออัลลอฮฺ และเพื่อหวังผลประโยชน์ดุนยาด้วย  จะถือว่าอีมานของเขานั้นยังไม่สมบูรณ์นัก เช่น คนที่ไปทำหัจญ์และเจตนาจะไปค้าขายด้วยผลบุญของการทำหัจญ์ก็อยู่ที่การอิคลาศของเขามากน้อยเพียงใด

     3) ทำการงานเพื่อพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ว่าเขาไม่ลืมทำงานเลี้ยงชีพจะถือว่าผลบุญของเขานั้นเต็มโดยไม่ขาดหาย ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“แท้จริง สิ่งสมควรที่สุดที่พวกท่านจะรับผลตอบแทนจากมันก็คือ คัมภีร์(อัลกุรอาน)ของพระองค์อัลลอฮฺ”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)


พึงรู้ว่าคนที่ทำงานที่อิคลาสนั้น มีหลายระดับ

1) ระดับต่ำ นั่นก็คือ คนที่ทำงานหวังผลบุญจากพระองค์และเกรงกลัวต่อโทษทันฑ์

2) ระดับปานกลาง นั่นก็คือคนที่ทำงานนั้นเพื่อขอบคุณ(ชุโกร)ต่อพระองค์ และตอบรับสิ่งที่พระองค์ทรงใช้

3) ระดับสูงสุด นั่นก็คือคนที่ทำงานเพราะความรักใคร่และยกย่องและเชิดชูต่อพระองค์ และนี่เป็นระดับของบรรดา “อัศ-ศิดดีกีน”

อัลลอฮฺ ได้ตรัส ความว่า

 “และข้าพระองค์ได้รีบเร่งมายังพระองค์เท่านั้น โอ้ พระเจ้าของฉัน ก็เพื่อพระองค์ทรงพอพระทัยเท่านั้น”

     และนบีมูซาเร่งรีบเพื่อมาพบกับพระองค์ และเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยแก่เขา ไม่ใช่เพื่อตอบรับคําบัญชาของพระองค์เท่านั้น เช่นเดียวกับ การทําดีต่อบิดามารดา

     ♥ ถ้าระดับต่่ำหน่อย ทําดีต่อท่านทั้งสองเพราะว่ากลัวต่อโทษทันฑ์ของพระองค์และเพื่อให้ได้ผลบุญเท่านั้น

      ถ้าระดับปานกลาง ทําดีต่อท่านทั้งสองเพราะคําสั่งของพระองค์ และตอบแทนความดีงามที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูครั้งเมื่อเยาว์วัย และท่านทั้งสองเป็นเหตุให้คุณเกิดมามองโลก

      ระดับสุงสุด และดีที่สุด คือทําดีต่อท่านทั้งสองนั้น เพื่อยกย่องและเชิดชูคําสั่งของพระองค์ท่สั่งให้ทําดีกับท่านทั้งสอง และด้วยความรักใคร่และยกย่องพระองค์อัลลอฮฺ

 

 

 


ที่มา : สำนักงานสอนอิสลามเมืองอุตสาหกรรมเก่า กรุงริยาด  / Islam house