อยู่อย่างมีสติ
  จำนวนคนเข้าชม  11173

 

อยู่อย่างมีสติ


โดย... อ.อับดุลมานาฟ อันนันนับ


          ท่านพี่น้องที่ศรัทธาทุกท่าน เราทุกคนยอมรับว่าอัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวของเราพราะองค์ทรงบังเกิดเราและสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งที่เรามองเห็น และมองไม่เห็น พระองค์ทรงเลี้ยงดูปกป้องรักษาและประทานปัจจัยยังชีพ และในยามที่เราทุกข์โศกเราหันเข้าหาพระองค์ และยามที่สมหวังเราก็ไม่หลงลืมพระองค์ ทุกคนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์

         สิ่งที่เราครอบครองซึ่งเราคิดกันว่ามันเป็นของเรา ที่จริงแล้วทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ทั้งสิ้น และสักวันหนึ่งและสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งหมดย่อมกลับไปสู่พระองค์ เพื่อรับการพิพากษาและการตอบแทนจากพระองค์ นี่คือหลักศรัทธาสำคัญ ที่บ่าวผู้ศรัทธาจะต้องสำนึก และจดจำใส่ใจอยู่เสมอ

          เราทุกคนล้วนศรัทธาว่า อัลลอฮฺ เป็นพระเจ้า ท่านนบีมุฮัมมัด เป็นศาสนทูตของพระองค์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต เราเชื่อมั่นว่าการตักว่า (ยำเกรง)ต่อพระองค์นั้น เป็นสาเหตุแห่งการได้รับความสำเร็จทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ โดยที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดและทุกชีวิต จงพิจารณาดูเถิดว่า อะไรบ้างที่ตนเตรียมไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ (วันกิยามะฮฺ)

 และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แน่นอน อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”

         พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงเรียกร้องบรรดาผู้ศรัทธาต่อพระองค์ให้ยำเกรงพระองค์ ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใดก็ตาม พร้อมทั้งพระองค์ทรงกำชับให้ผู้ศรัทธาพิจารณาพฤติกรรมของตนเองที่ผ่านมาว่า ได้กระทำการใดที่เป็นคุณงามความดีบ้างหรือไม่? มากน้อยเพียงใด? เพราะพฤติกรรมต่างๆของเขาย่อมต้องถูกนำไปสอบสวน และพิพากษา

          พระองค์อัลลอฮฺได้ย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งให้บรรดาผู้ศรัทธาสำรวมตน และยำเกรงต่อพระองค์ เพราะการสำรวมตต่อพระองค์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลแสดงพฤติการรมที่ดี ทั้งทางด้านการกระทำ คำพูด และจิตใจ แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรอบรู้ยิ่งถึงการงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะใหญ่โต หรือเล็กน้อยก็ตาม และพระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า....

“และพวกเจ้าอย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ที่หลงลืมอัลลอฮฺ มิฉะนั้น อัลลอฮฺจะทรงทำให้พวกเขาลืมตัวของพวกเขาเอง

แน่นอน ชนเหล่านั้น พวกเขาเป็นกลุ่มชนผู้ฝ่าฝืน”

(อัล-ฮัชร 19)

         ในอายะห์ นี้อัลลอฮฺได้เตือนสติของเราว่า อย่าได้เป็นผู้ที่หลงลืม หรือแกล้งหลงลืมพระองค์ เพราะผู้ใดก็ตามที่หลงลืมพระองค์ พระองค์ย่อมไม่ประทานความช่วยเหลือของพระองค์ให้กับเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เขาประสบความทุกข์อย่างใหญ่หลวงในวันพิพากษา ในทางกลับกัน ผู้ใดก็ตามที่รำลึกถึงพระองค์เป็นอาจิณ พระองค์จะทรงยกย่องสรรเสริญผู้นั้นต่อมวลหมู่มลาอิกะฮฺ พร้อมทั้ง จะทรงประทานความช่วยเหลือของพระองค์ให้แก่เขา


          บรรดาผู้ที่ศรัทธา และยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺ ต่างตระหนักดีว่าพระองค์ได้ประทานความโปรดปรานแก่เราอย่างมากมาย ไม่ว่าจะในด้านการศรัธา การใช้ชีวิตในโลกดุนยา อาหารการกิน สุขภาพร่างกาย ครอบครัว ทรัพย์สิน และหน้าที่การงาน ตลอดจนปัจจัยต่างๆในการดำรงชีวิต หากเราจะนับหรือคำนวณ แน่นอน เราไม่สามารถนับ หรือคำนวณสิ่งเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน จึงจำเป็นที่เราจะต้องสำนึก และขอบคุณในความเมตตาของพระองค์ที่ทรงประทาน สิ่งต่างๆเหล่านี้มาให้กับเรา โดยการสำนึกด้วยกับหัวใจ ด้วยกับพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์ มีความกลัวในการลงโทษของพระองค์ และมุ่งหวังความรักความเมตตาจากพระองค์ ซึ่งความกลัวและความมุ่งหวังนี้ จะเป็นเหตุนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งใช้แห่งอัลลอฮฺ และห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม โดยที่เขานั้นดำรงมั่นอยู่บนหลักธรรมคำสอนของศาสนา เมื่อพื้นฐานของจิตใจดีแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการขอบคุณ และรำลึกถึงพระองค์ด้วยกับลิ้นของเรา   โดยการสดุดี และสรรเสริญพระองค์ด้วยกับประโยคต่างๆ เช่น “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺ)

          การรำลึก และขอบคุณในความเมตตาของพระองค์ จะสมบูรณ์พร้อม ก็ด้วยกับการปฏิบัติโดยการใช้อวัยวะทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า ปาก หู ซึ่งรวมถึงลิ้นและหัวใจ ในการปฏิบัติคุณงาความดี สักการะ ต่ออัลลอฮฺ ทั้งในยามกลางวันและกลางคืน ช่วยเหลืองานศาสนา เรียกร้องผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีงาม และยับยั้งการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ แน่นอนเหลือเกินว่า สิ่งดังกล่าวย่อมเป็นสาเหตุนำไปสู่การได้รับความโปรดปราน จากพระองค์อัลลอฮฺ เป็นเท่าทวีคูณ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า

“และจงรำลึกถึง เมื่อครั้งที่พระเจ้าของเจ้าประกาศว่า หาเจ้าทั้งหลายแสดงการกตัญญูต่อข้า แน่นอน ข้าย่อมเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า”

(อิบรอฮีม 14:7)

         ในทางกลับกัน พระองค์ยังได้ทรงสัญญาไว้สำหรับผู้ที่ไม่สำนึกในความเมตตากรุณาของพระองค์ ประพฤติปฏิบัติตนสวนทางกับคำสอนของศาสนา การลงโทษ ทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮฺ จะได้รับกับเขาอย่างแน่นอน โดยที่พระองค์ได้ตรัสว่า

“และหากพวกเจ้าเนรคุณ แน่นอนการลงโทษของข้าย่อมรุนแรงยิ่งนัก” 

(อิบรอฮีม 14-7)

         แต่กระนั้นก็ตาม เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า หลายครั้งหลายหนที่จิตใจของเราอ่อนแอ พลาดท่าเสียทีให้กับชัยฏอน ทำให้หัวใจขาดการรำลึกนึกถึงอัลลอฮฺ และถลำเข้าไปสู่การฝ่าฝืนในคำสั่งใช้ และคำสั่งห้ามของพระองค์ มากบ้าง น้อยบ้าง จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ท่านนบี กล่าวว่า

“มนุษย์ทุกคนย่อมเป็นผู้ที่พลาดพลังด้วยกันทั้งสิ้น และผู้ที่พลาดพลั้งที่ดียิ่ง คือผู้ที่สารภาพผิดกลับเนื้อกลับตัว (เตาว์บะฮฺ)”  

 (บันทึกโดย  อัตติรมีซีย์ จากท่านอนัส)


         ท่านพี่น้องที่ศรัทธาทุกท่าน อัลลอฮฺ ได้ทรงใช้บรรดาบ่าวของพระองค์ ให้แสวงหาสาเหตุในอันที่จะได้มาซึ่งปัจจัยสำหรับการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ แต่กระนั้นการแสวงหาปัจจัยต่างๆ ต้องอยู่ในกฎระเบียบเงื่อนไข และขอบเขตที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ โดยที่เขาจะต้องไม่หลงใหลหรือยึดติดอยู่กับปัจจัยเหล่านั้น ดังที่พระองค์ทรงวางขอบเขตของการแสวงหาปัจจัยไว้ ในดำรัส ของพระองค์ที่ว่า

“โอ้ มนุษยชาติทั้งหลาย เจ้าทั้งหลายจงรับประทานจากสิ่งที่ดี ที่อยู่บนหน้าผืนแผ่นดินที่ศาสนาอนุมัติ

และเจ้าทั้งหลายอย่าดำเนินตามแนวทางทั้งหลายของชัยฏอน แท้จริง มันเป็นศัตรูอย่างชัดเจนของพวกเจ้า”

(อัล บะกอเราฮฺ 168)

         พระองค์ได้ทรงสั่งใช้ให้บรรดามนุษย์ เลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ศาสนาอนุมัติ เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ รวมไปถึงพิจารณาสาเหตุแห่งการแสวงหาปัจจัยต่างๆ ที่ได้มานั้น อยู่ภายใต้ขอบเขต และเงื่อนไขของศาสนาหรือไม่ เนื่องจากมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถแยกแยะสิ่งที่ดีกับไม่ดีได้ ฉะนั้นผู้ที่มีสติปัญญา จะต้องดำเนินชีวิตแตกต่างจากผู้ที่ไม่มีสติปัญญา และจะต้องไม่ดำเนินชีวิตตามแนวทางของชัยฏอนมารร้ายเพราะมันคือศัตรูตัวฉกาจที่ชัดแจ้งของมนุษย์ มันจะคอยล่อลวงพวกเขา มันจะคอยนำเสนอผลประโยชน์ต่างๆ อย่างมากมายแก่มนุษย์ หลายคนจึงหลงเชื่อคำชักจูงของมัน โดยไม่ใส่ใจว่า ผลประโยชน์ที่ได้มาเหล่านั้นจะถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่?

“ยุคสมัยหนึ่งจะมีมายังมนุษย์ ซึ่งบุคคลหนึ่งจะไม่ใส่ใจเลยว่า ทรัพย์สินที่เขาได้รับมานั้น มาจากแหล่งรายได้ที่ศาสนาอนุมัติหรือที่ศาสนาห้าม”

        ตัวอย่างเช่น ผลไม้ลูกหนึ่ง เช่นมะม่วง ไม่มีใครเถียงว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้รับประทานได้ แต่ถ้ามะม่วงลูกเดียวกันนี้เป็นสิ่งที่ขโมยมา แน่นอนการรับประทานเข้าไป ย่อมเป็นปาปแก่ผู้นั้นอย่างแน่นอน

         สำหรับผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮฺ อย่างแท้จริงนั้น เมื่อใดที่เขาพลาดพลั้ง หลงเชื่อคำหลอกลวง หรือเห็นดีเห็นงามกับคำยุยงของชัยฏอนมารร้าย ในเรื่องที่ขัดกับหลักการสอนของศาสนา เขาจะรีบย้อนคืนสู่พระองค์อัลลอฮฺ และขออภัยโทษต่อพระองค์ทันที พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง ถึงแม้เขาอาจจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางโลกดุนยาไปบ้างก็ตาม แต่ ณ ที่พระองค์ เขาย่อมได้รับความโปรดปรานและการตอบแทนเป็นเท่าทวีคูณ

มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ จากท่านนบี มุฮัมมัด ได้กล่าวว่า

“สี่ประการ เมื่อมีอยู่ในตัวเจ้า แน่นอนสิ่งอื่นๆในโลกนี้ที่พลัดพรากไปจากเจ้า ย่อมไม่สร้างความเสียหายใดๆแก่เจ้านั่นก็คือ

การรักษาอะมนะฮฺ การมีคำพูดสัจจริง มีจริยธรรมอันงดงาม และการระมัดระวังตนในเรื่องอาหาร”

(บันทึกโดย อะฮฺหมัด)


พี่น้องที่ศรัทธาทุกท่าน
 
         อิสลามเป็นศาสนาที่ได้ถูกบัญญัติโดย อัลลอฮฺ เพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตสำหรับมนุษยชาติ อิสลามสอนให้เราเป็นคนดี สำรวมตนต่ออัลลอฮฺ ปฏิบัติตามท่านนบีมุฮัมมัด  และช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องร่วมสังคม ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่ามุสลิมที่ดีจึงไม่รีรอที่จะสนองพระบัญชาแห่งอัลลอฮฺ อีกทั้งยังไม่เบาความต่อการเสียสละเพื่อพี่น้องร่วมสังคมของเขา เขารู้ดีว่าทุกๆการกระทำของเขาย่อมต้องถูกนำไปสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ไม่ว่าสิ่งนั้น จะดูยิ่งใหญ่ หรือเล็กน้อยในสายตามนุษย์เพียงไรก็ตาม

 

มุสลิมที่มีปัญญา ย่อมรู้จักใช้ทุกสิ่งที่ตนมีอย่างชาญฉลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพย์สินที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขา

 

 

อัลอิศลาห์ สมาคม