เลือกสิ่งสะดวกมาปฏิบัติ
  จำนวนคนเข้าชม  5750

 

เลือกสิ่งสะดวกมาปฏิบัติ


โดย... อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง


ในเรื่องข้อชี้ขาดเรื่องศาสนา เรามี 2 ประเด็น คือ 1. ประเด็นอะซีมะฮ์ 2. ประเด็นรุคเศาะฮ์

          1. อะซีมะฮ์ คือ ฮุกมที่อัลลอฮ์บัญญัติตั้งแต่ต้น เช่นการอาบน้ำละหมาดโดยการใช้น้ำ การละหมาด  เวลวรวมทั้งหมด 17 ร๊อกอัตในหนึ่งวัน ใช้ให้ละหมาดญุมอัตเที่ยงของวันศุกร์พร้อมกัน การจ่ายซะกาต และการประกอบพิธีฮัจญ์และพิธีกรรมศาสนาอื่น ๆ และเป็นการปฏิบัติในสภาพทั่ว ๆไป 

          2. รุคเศาะฮ์ คือ ฮุกมที่ผ่อนปรนสำหรับผู้ที่มีความจำเป็น เช่นอนุญาตการซื้อโดยการจ่ายเงินก่อนได้รับสินค้า การอนุญาตให้ย่อละหมาด 4 ร๊อกอัต เป็น 2 ร๊อกอัต และรวมการละหมาด2 เวลาใน 1 เวลา การละศีลอดในเดือนรอมฎอนเมื่อป่วย หรืออยู่ในระหว่างเดินทาง การตะยัมมุมแทนการใช้น้ำ และอื่นๆ


โดยมีหลักฐานจากอัล-กุรอานที่อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้

1. يريدُ اللهُ بِكمُ اليُسْرَ ولا يريدُ بكمُ العسْرَ (البقرة/185)

 “อัลลอฮ์ทรงประสงค์ความสะดวกจากพวกเจ้าและพระองค์ไม่ทรงประสงค์ความยุ่งยากจากพวกเจ้า”

2. ما يريدُ اللهُ ليجعَلَ عليكمْ مِن حرجٍ (المائدة/6)

 “อัลลออ์ไม่ทรงประสงค์ที่จะให้เกิดความยุ่งยากแก่พวกเจ้า”

 

และมีหลักฐานจากอัส-สุนนะฮ์ เช่นหะดีษของอาอิชะฮ์ที่กล่าวว่า

ما خُيِّرَ رسولُ الله من أمْرَينِ إلا أخّذَ أيْسَرَهما ما لم يكُنْ إثْماً ، فإذا كان إثْماً كان أبعَدَ الناسِ عنْه (رواه  )

 “เมื่อมีคำสั่งให้ท่านเราะสูลเลือกระหว่าง 2 ประการ ท่านจะเลือกสิ่งที่ง่ายกว่า ตราบใดที่สิ่งง่ายนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นบาป

เมื่อสิ่งที่ง่ายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นบาป ท่านเป็นผู้ที่ห่างไกลจากมันมากที่สุด”


          เพื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอัลกุรอาน ท่านเราะสูลได้สั่งสอนให้พวกเราปฏิบัติสิ่งที่สะดวกและง่ายในชีวิตเรา เช่นให้รีบละศีลอดเมื่อถึงเวลา และให้ล่าช้าในการรับประทานอาหารสะหูร เป็นการช่วยให้ผู้ถือศีลอดมีกำลังในการปฏิบัติหน้าที่

ท่านเราะสูลได้ส่งอะบู มูซา อัล-อัซอะรีย์และท่านมุอาซ บิน ญะบัลไปยังประเทศเยเมนและได้กล่าวให้แก่ท่านทั้งสองว่า

يسِّرا ولا تُعَسِّرا بشِّرا ولا تنَفِّرا
 
“ท่านทั้งสองจงทำให้ทุกอย่างง่ายและสะดวกและอย่าทำให้ทุกอย่างยากลำบาก ท่านทั้งสองจงบอกข่าวดีและอย่าทำให้มนุษย์หนีจากศาสนา”

 

         การเข้าอยู่ในความหมายเลือกสิ่งที่ง่ายและมีความสะดวกกว่า คือ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและสภาพสังคม ความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและสังคมให้ความหมาย 2 ประการ คือ

1. ความเสื่อมและการถดถอยของศาสนาในสังคมปัจจุบัน

2. ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี่ในชีวิตมนุษย์


       หนึ่งในบรรดาตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ๆ คือ การที่อุลามาอ์สมัยก่อนได้แบ่งโลกนี้เป็น 2 โลก คือ  1. ดารุล อิสลาม  2. ดารุล หัรบิ ซึ่งปัจจุบันนี้เราไม่สามารถจะแยกกันได้อย่างชัดเจน

        เหตุผลก็เพราะว่า การอยู่ในสภาพสันติสุขเป็นความโปรดปรานมหาศาลอย่างหนึ่ง และในโลกดารุลหัรบินั้นก็มีมุสลิมจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ และที่สำคัญโอกาสของการชักชวนให้เป็นมุสลิมเปิดกว้างสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลาและสถานที่และทุกวิธีทาง


          ความหมายของการปฏิบัติสิ่งที่สะดวก หรือเลือกสิ่งที่ง่ายกว่ามาปฏิบัติ คือ ในความพยายามที่จะสร้างสังคมมุสลิม หรือก่อตั้งรัฐอิสลามที่แท้จริง เราจะกระทำไม่ได้ในช่วงพริบตา หรือช่วงเวลาสั้น ๆ โดยคำสั่งของกษัตริย์คนเดียว หรือนายกรัฐมนตรีดนเดียว แต่การสร้างสังคมมุสลิมและการสร้างรัฐอิสลามกระทำได้โดยวิธีการเตรียมความพร้อมด้านความคิด ด้านจิตใจ ด้านจริยธรรมและด้านปริมาณคุณภาพของคน

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสีเราะฮ์ นะบะวิยะฮ์เป็นตัวอย่างที่เราต้องนำมาวิเคราะห์และศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคมักกีย์และในยุคมะดะนีย์