ข้อคิดจากสุสาน
  จำนวนคนเข้าชม  13938

ข้อคิดจากสุสาน


เขียนโดย อับดุรเราะฮฺมาน บินอับดิลลาฮฺ อัลละอฺบูน


ท่านรอซูล กล่าวว่า

“แท้จริง สุสาน (กุบูร) คือ สถานที่พักแห่งแรกหลังความตาย

ดังนั้น ถ้าหากเขารอดพ้นจากการทรมานในหลุมฝังศพ สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น (ในวันกิยามะฮฺ) ก็ย่อมง่ายดายขึ้น

แต่ถ้าหากเขาไม่รอดพ้นจากมัน สิ่งที่จะเจอในภายหลังนั้นก็ย่อมหนักกว่า”

 (หะซัน, เศาะเฮียะฮฺสุนัน อัตติรมีซีย์, จากอุษมาน บินอัฟฟาน, หะดีษเลขที่ 1878)

หะดีษอีกบทหนึ่งกล่าวว่า

          “ครั้งหนึ่ง ท่านอุษมาน บินอัฟฟาน ได้ยืนอยู่บนหลุมฝังศพ (กุบูร) แล้วท่านก็ร้องไห้อย่างมากมาย จนกระทั่งเคราของท่านปียกโชกด้วยน้ำตา มีคนถามท่านว่า “แม้ตอนที่กล่าวถึงสวรรค์ท่านยังไม่ร้องไห้ แต่ท่านจะมาร้องไห้ เพราะหลุมฝังศพนี้กระนั้นหรือ?”

ท่านจึงได้ตอบด้วยคำกล่าวของท่านรอซูล ข้างต้นมาเป็นเหตุผล


         หนึ่งในวิธีการขัดเกลา (ตัรบียะฮฺ) ของท่านรอซูล  ต่อบรรดาศอฮาบะฮฺของท่านก็คือ ท่านจะอบรมพวกเขาให้เห็นความสำคัญของการร่วมละหมาดให้กับศพ (มัยยิต) ไปเยี่ยมศพ ตลอดจนการไปร่วมฝังศพที่สุสานด้วย ทั้งนี้ นอกจากรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่จะได้รับจากอัลลอฮฺ แล้ว ยังเป็นการสอนให้มนุษย์ฝึกฝนจิตใจตนเองให้สูงขึ้นด้วยการระลึกถึงความตาย ซึ่งทุกคนจะต้องประสบ

ท่านรอซูล ได้สอนว่า

“ผู้ใดไปเยี่ยมศพ และได้ละหมาดให้กับมัยยิตนั้น เขาจะได้รับผลบุญเท่า 1 กีรอต ส่วนผู้ใดที่มาเยี่ยม(ร่วมละหมาดแล้วจึง)ฝังมัยยิต เขาก็จะได้รับผลบุญเท่า 2 กีรอต

เมื่อถูกถามว่า 2 กีรอตนั้นคืออะไร?

ท่านตอบว่า เท่าภูเขาขนาดใหญ่ 2 ลูก”

(ดู มุคตะศ็อร เศาะเฮียะฮฺอัลบุคอรี, บทอัลญะนาอิช, หะดีษเลขที่ 666)

และในอีกหะดีษหนึ่ง ท่านรอซูล กล่าวว่า

“พวกท่านทั้งหลาย จงไปเยี่ยมเยียนสุสานเถิด เพราะแท้จริงมันทำให้ท่านระลึกถึงความตาย”

(ดู มุคตะศ็อร เศาะเฮียะฮฺมุสลิม, บทอัลญะนาอิช, จากอบูฮุร็อยเราะฮฺ, หะดีษเลขที่ 495)


          การรักในดุนยา ซึ่งเป็นโลกมายาอันแสนสั้น ย่อมทำให้มนุษย์นั้นตามืดบอด เขาถูกมอมเมาให้แสวงหาและทำทุกอย่างเพื่อมัน จนลืมสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น และบางครั้งการเกลียดกลัวความตาย อาจทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกอยากจะลืมมันไปเสีย ซึ่งตรงข้ามกับคำสั่งเสียของท่านรอซูล  ที่ว่า

“พวกท่านจงระลึกถึงสิ่งที่จะทำลายความหรรษาทั้งหลายให้มากเถิด นั่นคือ ความตาย นั่นเอง”

(หะดีษหะซัน เศาะเฮียะฮฺ, เศาะเฮียะฮฺ หะซัน อัตติรมีซีย์, จากอบูฮุรอยเราะฮฺ, หะดีษเลขที่ 1877)


         ตัวอย่างที่บรรดาคนดีมีคุณธรรมได้ทำไว้ ส่งเสริมให้เรายึดเอาเป็นอุทาหรณ์และเกิดความตระหนัก นั่นก็คือ แบบอย่างแห่งการเยี่ยมสุสาน ทั้งนี้เพราะมันเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้หัวใจของมนุษย์เกิดความอ่อนโยน และได้ตระหนักถึงวาระสุดท้ายของอายุขัย เป็นจุดจบของความอุตสาหะของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนยุคปัจจุบันอาจลืมไปว่า ในที่สุด บั้นปลายก็คือการกลับสภาพไปสู่ความสูญสลายเน่าเปื่อยนั่นเอง

         สิ่งที่บรรพชนอิสลามยุคต้นได้ปฏิบัติไว้ ดูช่างแปลกประหลาดและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยแม้แต่น้อยในความรู้สึกของเรา ทั้งนี้ เพราะในจิตใจของพวกเขามีความตระหนักและเข้าใจในเป้าหมายของมัน พร้อมยำเกรงต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากความตายนั่นเอง

         การเยี่ยมสุสาน ในทัศนะของชาวบ้านส่วนใหญ่ บางทีเป็นเพียงประเพณีที่ปฏิบัติกันมาเพื่อมารยาททางสังคม เช่น เมื่อญาติพี่น้องหรือคนรู้จักนับถือเสียชีวิตลงก็ไปเยี่ยม ส่วนโอกาสอื่นจากนี้แทบไม่มีเลย เมื่อวัน เดือน ปีผ่านพ้นไป ความรู้สึกต่างๆ นั้นก็ลบเลือนหายไปหมดสิ้น และกลับไปสู่ความเผลอเรอเช่นเดิมอีก

ท่านอิบรอฮีม อัลบะคออีย์ กล่าวว่า

         “เมื่อมีญะนาซะฮฺ (คนตาย) หรือเราได้ยินข่าวการตายของผู้ใด เหตุการณ์นั้นจะถูกพูดคุยตักเตือนกันอยู่ในหมู่พวกเราเป็นเวลาหลายวัน ทั้งนี้ เพราะเราตระหนักแก่ใจว่าการตายที่เกิดขึ้นกับเรานั้น คือ การไปสู่สวรรค์ หรือไม่ก็ไปสู่นรก ในขณะที่พวกท่านเมื่อมีญะนาซะฮฺ (คนตาย) เกิดขึ้น กลับมัวพูดคุยกันอยู่แต่เรื่องราวของดุนยา”


          ฉะนั้น ในทุกญะนาซะฮฺ หรือการตายที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นบทเรียนสอนใจ และเตือนสติแก่ทุกคน ให้พวกเขาเข้าใจว่า สักวันหนึ่งชีวิตของตนเอง ก็ต้องเป็นเช่นเดียวกัน ให้เขามีความรู้สึกว่าวันนั้นตนเอง ก็จะถูกนำไปยังสุสานและฝังอยู่ในนั้นเหมือนกับญะนาซะฮฺของคนอื่นๆ เพื่อว่าเราจะได้ไม่เป็นดั่งคำกลอนอาหรับที่ว่า

“เรากลัวก็ต่อเมื่อเห็นศพเท่านั้น...........แต่เมื่อมันผ่านลับไปเราก็เริงร่า

เช่นแกะที่กลัวการปรากฏตัวของหมาป่า..........ครั้นเมื่อมันไม่มา ก็แทะเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลิน”

และคำกลอนอีกบทหนึ่งที่สอนไว้ว่า

“มนุษย์ช่างอยู่ในความเผลอเรอ ความตายเท่านั้น คือผู้ปลุก..........เพราะเขาจะไม่ยอมตื่นจนกว่าวิญญาณจะออกจากร่าง

ทุกคนต่างมาเยี่ยมเยียนศพของญาติมิตรที่จากลา..........ล้วนพาให้คิดอาลัยในร่างที่จะถูกกลบดิน

แต่ครั้นเมื่อเสร็จสิ้น ต่างก็กลับไปสู่การเผลอเรอต่อไป..........เสมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้านี้”


 

        ภาพในขบวนรถไฟแห่งกาลเวลา ที่ขับเคลื่อนแต่ละวงล้อออกไปอย่างรวดเร็ว เพื่อมุ่งหน้าสู่ “จุดหมายร่วม (สุสาน)” จอดรับบรรดาผู้โดยสาร ไม่เว้นแต่ละสถานี มนุษย์ต่างต้องเดินทางสู่จุดหมายปลายทางนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เขาอยากจะหนีออกห่างจากมันก็ตาม

ดั่งคำกล่าวของท่านอัลรอฟิอีย์ ที่ว่า

          “สิ่งใดที่มนุษย์หนีจากมัน เขาย่อมละทิ้งมันไว้เบื้องหลัง ยกเว้น สุสาน (กุบูร) เพราะไม่มีผู้ใดหนีพ้น นอกจากต้องพบกับมัน มันเฝ้ารอคอยทุกคนอยู่เสมอ โดยไม่เบื่อหน่าย และท่านเองก็เป็นคนหนึ่งที่มุ่งหน้าไปหามัน โดยไม่มีโอกาสกลับหลังเช่นกัน”


           รายงานจากอัลบัรรอฮฺ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเราได้อยู่กับท่านรอซูล ในการเยี่ยมญะนาซะฮฺของคนหนึ่ง ท่านนั่งอยู่ปากหลุมศพและร้องไห้ จนกระทั่งน้ำตานองหน้า หลังจากนั้น (ท่านหันมาทางเรา) และกล่าวว่า

“โอ้พี่น้องเอ๋ย…พวกท่านจะต้องตายเหมือนเช่นชายผู้นี้แหละ ดังนั้น จงเตรียมตัวไว้เถิด…”

(หะดีษหะซัน, เศาะเฮียะฮฺ สุนัน อบนุมาญะฮฺ, บาบอัลฮุซนุ วัลยุกาอฺ, หะดีษเลขที่ 3383)

โอ้…น่าอนาถแท้ ชาวสุสานผู้ที่หมดโอกาสกระทำคุณงามความดีเพิ่มเติมแล้ว !

         แต่กระนั้น ยังมีผู้ที่น่าเวทนายิ่งกว่า คือ ผู้ที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องตายสักวันหนึ่ง ไม่เร็วก็ช้า แต่ขณะนี้ ตัวเองกลับเถลไถลไม่ยอมสร้างสมเสบียง (อะมัล) เอาไว้ เมื่อตอนที่ถูกปล่อยให้นอนอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ไร้ญาติขาดมิตรในหลุมสุสานที่มีแต่ความเปล่าเปลี่ยวมืดมิด น่าสะพรึงกลัวและน่าสยดสยอง ในสภาพที่พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกเลย  การเยี่ยมสุสาน ทำให้เรามีสติตื่นขึ้นมาจากสภาพความหลงใหลดุนยาและได้ตระหนักถึงวาระสุดท้าย (อะญัล) ของชีวิตที่กำลังใกล้เข้ามา และจะได้รีบเร่งสะสมความดี เตรียมพร้อมเอาไว้เพื่อวันนั้น


ดังเหตุการณ์ที่ชาวสลัฟท่านหนึ่งคือ อัมร์ บินอุตบะฮฺ ในค่ำคืนหนึ่ง ท่านได้เดินทางออกจากบ้านพร้อมขี่ม้าออกไป เมื่อผ่านสุสาน ท่านก็หยุดยืนอยู่หน้าปากหลุม และกล่าวว่า

“โอ้ชาวสุสานเอ๋ย... สมุดบันทึกนั้นปิดลงแล้ว และการกระทำทั้งหลายก็ยุติลงแล้ว”

แล้วท่านก็ร้องไห้ และยืนอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งรุ่งสาง จึงกลับไปละหมาดซุบฮิ

 

ครั้งหนึ่ง ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ ได้ไปเยี่ยมศพของชายผู้หนึ่ง ท่านนั่งอยู่บนปากหลุมและกล่าวว่า

        “แท้จริงชายผู้นี้ ชีวิตตอนต้นของเขาสมควรที่ต้องกลัวตอนบั้นปลาย แท้จริงชายผู้นี้ ตอนบั้นปลายของเขาควรมักน้อยกว่าตอนแรก และวันนี้พกพาร่างอันไร้วิญญาณเอาไว้ ช่วงเวลาของอายุขัยได้หมดลงแล้วอย่างสมบูรณ์ แม้โลกจะให้สิ่งทั้งหมด เพื่อต่อเวลาสักเสี้ยววินาทีเดียวก็ย่อมไม่ได้อีกแล้ว และวันพรุ่งนี้ผู้ที่หามอาจเป็นฝ่ายถูกหาม ท่ามกลางญาติมิตรที่ไปส่งอย่างอาลัย”

 

 

 


ที่มา: หนังสือเมื่อผู้ศรัทธาร้องไห้

แปลโดย นัศรุลลอฮฺ ต็อยยิบ