ความรู้ ต้องมาก่อนการปฏิบัติ
  จำนวนคนเข้าชม  6642

ความรู้ ต้องมาก่อนการปฏิบัติ


 โดย... อ.อับดุลเราะมัน  เจะอารง


          ความรู้มีความสำคัญ เพราะความสำคัญของความรู้ทำให้อิหม่ามบุคอรีย์ตั้งชื่อบทในหนังสือ เศาะเหิ๊ยะห์ อัล-บุคอรีย์ว่า บทว่าด้วย ความรู้ก่อนการปฏิบัติ ผู้อธิบายและขยายความหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า  อิหม่ามบุคอรีย์ตั้งใจจะบอกให้ได้ทราบว่า ความรู้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คำพูดและการปฏิบัตินั้นถูกต้อง หมายความว่า ความรู้ต้องนำหน้า 2 ประการนี้ และ 2 ประการนี้พระองค์อัลลอฮ์จะไม่ทรงยอมรับนอกจากด้วยความรู้  เพราะมีความรู้ทำให้การตั้งเจตนา(เนี๊ยต)ของแต่ละคนถูกต้องโดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้


1. قوله تعالى (فاعلَمْ أنَّه لا إلهَ إلاَّ اللهُ واسْتَغْفِرْ لذَنْبِكَ ولِلمؤمِنِين والمؤمِنات) (محمد/19)

 “ฉะนั้นพึงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด(ที่ถูกกราบไหว้โดยเที่ยงแท้) นอกจากอัลลอฮ์ และจงขออภัยโทษต่อความผิดเพื่อตัวเจ้า

และเพื่อบรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง”

          อายะฮ์นี้ถึงแม้ว่าจะพูดกับท่านนบี  แต่เราเป็นประชาชาติของท่านครอบคลุมอยู่ในอายะฮ์นี้ด้วย อายะฮ์เริ่มต้นด้วยคำสั่งให้เรียนรู้ รู้ว่าพระองค์มีองค์เดียว แล้วตามหลังด้วยการปฏิบัติ คือ การขออภัยโทษแก่ตัวท่านนบีเองและแก่บรรดาผู้ศรัทธา ทั้งชายและหญิง

 

2. قولُه تعالى (إنَّما يخْشَى اللهَ من عِبادِه العلَماءُ) (فاطر/28)

 “แท้จริง บรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮ์” 

          เพราะความรู้ก่อให้เกิดความกลัว ความกลัวผลักดันให้บ่าวแต่ละคนเร่งรีบในการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะพยายามที่ให้การปฏิบัตินั้นดีขึ้นๆ ตรงกับสุนนะฮ์ของท่านเราะสูล  มากขึ้น เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ เพื่อความพึงพอพระทัยของพระองค์

 

3. قولُه تعالى (اقرأْ باسْمِ ربِّكَ الَّذي خَلَقَ حلَقَ الإنْسانَ من علقٍ واقْرأْ وربُّكَ الأكْرمُ الذِي علَّمَ بالقلَم علَّمَ الإنسانَ ما لم يعْلَمْ) (العلَق1-5)

 “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้า ผู้ทรงบังเกิด  ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด

จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” 

          อายะฮ์นี้บรรดาอุลามาอ์เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นอายะฮ์แรกที่ประทานลงมา อายะฮ์นี้เน้นให้มุสลิมศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะลงมือกระทำ  แล้วตามหลังด้วยอายะฮ์

(يا أيُّها المدَّثِّر قمْ فأنْذِرْ وربَّكَ فكبِّرْ وثيابَك فطهِّرْ والرُّجْزَ فاهجُرْ) (المدَّثِّر/1-5)

 “โอ้ผู้ห่มกายอยู่เอ๋ย ลงลุกขึ้น และประกาศตักเตือน และแด่พระองค์ของเจ้าจงให้ความเกรียงไกรต่อพระองค์

และเสื้อผ้าของเจ้าจงทำให้สะอาด และสิ่งสกปรกก็จงหลบหลีกให้ห่างเสีย”

เหตุผลก็เพราะว่า

♦ ในด้านการศรัทธานั้น ความรู้สามารถแยกความถูกต้องจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้

 ในด้านการพูดจาและการกระทำ ความรู้สามารถแยกคำพูดที่ถูกต้องและมีน้ำหนักจากคำพูดที่ไม่ถูกต้องและไม่มีน้ำหนักได้เช่นเดียวกัน

 ในเรื่องอิบาดะฮ์ ความรู้สามารถแยกแยะระหว่างสุนนะฮ์กับบิดอะฮ์

 ในเรื่องมุอามะลาต(สังคม) ความรู้สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่ถูกต้องในศาสนากับสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้

 ในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์  ความรู้สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่อนุมัติ(หะลาล) กับสิ่งที่ไม่อนุมัติ(หะรอม)ได้

 ในเรื่องจริยธรรมและศีลธรรม ความรู้สามารถแยกแยะระหว่างพฤติกรรมที่ดีกับพฤติกรรมที่ไม่ดี

 ในเรื่องของค่านิยมและอุดมการณ์ ความรู้สามารถแยกแยะค่านิยมที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับกับค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง

 

4. (قلْ إنَّما حرَّمَ ربِّيَ الفواحِشَ ما ظهَرَ منها وما بطَنَ والإثْمَ والبغْيَ بغيْرِ الحقِّ  وأن تشرِكوا باللهِ ما لَمْ ينَوزِّلْ به سلْطاناً وأن تقولُوا على اللهِ ما لا تعْلَمونَ) (الأعراف/33)

 “จงกล่าวเถิดมุหัมมัดว่า แท้จริง สิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามฉันนั้น คือบรรดาสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจ ทั้งเป็นสิ่งที่เปิดเผยจากมันและสิ่งที่ไม่เปิดเผย

และสิ่งที่เป็นบาป และการข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม 

และการที่พวกเจ้าให้เป็นภาคีต่ออัลลอฮ์ซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใด ๆ ลงมาแก่สิ่งนั้น

 และการที่พวกเจ้ากล่าวใส่ร้ายแก่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้

         สรุปจากอายะฮ์นี้ได้ว่าไม่อนุญาตให้พูดถึงพระองค์อัลลอฮ์  ในเรื่องที่เราไม่รู้ ผู้ที่จะตัดสิน  หรือชักชวนผู้อื่น ไม่ควรพูดในสิ่งที่ไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ

 

5. (يا أيُّها الناسُ كلُوا ممَّا في الأرْضِ حلالاً طيِّباً ولا تتَّبِعوا خُطُواتِ الشَّيْطانِ  إنَّه لَكم عدُوٌّ مُبِينٌ) (البقرة/168)

 “มนุษย์เอ๋ย จงบริโภคสิ่งอนุมัติดี ๆจากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดเจนของพวกเจ้า

ที่จริงมันเพียงแต่จะใช้พวกเจ้าให้ประกอบสิ่งชั่วและสิ่งลามกเท่านั้น และจะให้พวกเจ้ากล่าวความเท็จให้แก่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้

 

        มนุษย์มีหน้าที่รู้สิ่งที่พระองค์ทรงใช้และสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และต้องรู้วิธีปฏิบัติที่พระองค์ทรงใช้ให้ปฏิบัติ หากไม่รู้ทำให้การปฏิบัติไม่ถูก เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องพระองค์จะไม่ทรงตอบรับการปฏิบัตินั้น