อิสลาม กับ ประชาคมอาเซียน (2)
  จำนวนคนเข้าชม  17509

อิสลาม กับ ประชาคมอาเซียน... (2)


นิพล  แสงศรี


        การจัดตั้งกลุ่มบุคคลและหน่วยงาน องค์กร บริษัท  และอื่นๆ ตลอดจนการทำงานเป็น Team  Works เป็นสิ่งที่อิสลามได้เรียกร้องบรรดามุสลิมให้ความสำคัญมาตลอด เพื่อบริหารจัดการ  แบ่งเบาภาระ และกระจายความรับผิดชอบงาน  ทั้งที่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านศาสนา  สังคม  การปกครอง  การศึกษา  และอื่นๆ  โดยเฉพาะองค์กรขับเคลื่อนทางระบบเศรษฐกิจอิสลาม  และถือเป็นโครงสร้างเชิงสถาบันสำคัญที่จะสานฝันให้เป็นจริงขึ้นมา ตามที่วัตถุประสงค์ของความมั่นคงทางสังคมอิสลาม


         ยุคญาฮิลียะฮฺชาวเยเมนได้ขายสินค้าให้แก่ท่าน อาชฺ บุตร วาเอล  ด้วยการตั้งราคาสินค้าที่สูงกว่าท้องตลาด  อิบนุอิสฮาก  เล่าว่า  คนกลุ่มหนึ่งจากเผ่าญุรฮัมและเผ่าเกาะกูรออฺจึงรวมตัวกัน  เพื่อทำสัญญาระหว่างกันว่า   พวกเขาจะช่วยกันต่อต้านความอธรรมในนครมักกะฮฺ    พวกเขาเชื่อว่า  ไม่เป็นการสมควรที่จะเกิดอธรรมในนครมักกะฮฺยกเว้นสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่พระเจ้าจะทรงยกย่องตามสิทธิของมัน  โดยข้อตกลงในครั้งนี้ถูกเรียกว่า สัญญาสหพันธ์ฟุดูล

 

         สาเหตุที่เรียกว่า  สัญญาสหพันธ์ฟุดูล  เพราะพวกเขาสัญญาที่จะมอบเกียรติยศ  ศักดิ์ศรี  และสิทธิต่างๆกลับคืนสู่เจ้าของและไม่สร้างอธรรมระหว่างกัน โดยนบีมุฮัมมัด ได้มีส่วนร่วมในการจัดระเบียบสังคมในนครมักกะฮฺให้ปราศจากการอธรรมทุกรูปแบบ  หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนทูตแห่งอัลลลอฮฺ  ท่านกล่าวว่า “หากฉันถูกเชิญกลับเข้าไปเข้าร่วมอีกจะตอบรับคำเชิญแน่นอน”


         ช่วง 10 ปีแรกในนครมักกะฮฺ  ท่านเน้นไปทางการเผยแผ่ศาสนาอิสลามและเกี่ยวกับการศรัทธาเชื่อมั่นเป็นหลัก  ดังนั้นการทำงานของท่านในระยะแรกจึงเป็นการทำงานเพียงลำพังและเน้นไปยังรายบุคคล แต่หลังอพยพสู่นครมะดีนะฮฺท่านจึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างชิงสถาบันและส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม  โดยริเริ่มจัดตั้งกลุ่มและองค์กรเข้ามาทำงานสนับสนุนการทำงาน  ทั้งด้านศาสนา  สังคม  การเมือง  และการทหาร  โดยเฉพาะกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ  เพื่อประสิทธิภาพในการฟื้นฟูและพัฒนาสังคมทุกระดับ 

        สถาบันแรกที่นบีมุฮัมมัด   สร้างหลังอพยพมายังนครมะดีนะฮฺคือ  มัสญิดกุบาอฺ  เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของพี่น้องมุสลิมในการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺผู้เป็นเจ้า  และเป็นสถานดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์มุสลิม  ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน  ปรึกษาหากันในกิจการงานต่างๆ  ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่า  ระบบเศรษฐกิจ ณ นครมะดีนะฮฺตกอยู่ภายใต้อิทธิพลยิว  และตลาดใหญ่ของบะนีก็อยนุกออฺ และเกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ยทุกชนิด  ประกอบกับมุสลิมเริ่มมีควมเข้มแข็งขึ้น  ท่านจึงก่อตั้งตลาดที่ดำเนินงานโดยมุสลิมขึ้นที่นครมะดีนะฮฺ   ดังรายงานระบุ  ความว่า 


แท้จริงศาสนทูตของอัลลอฮฺ    ได้เดินไปยังตลาดอันนะบีฎ  และท่านก็มองพินิจพิจารณาตลาด 

และท่านกล่าวว่า ตลาดสำหรับพวกท่านไม่ใช่แบบนี้ 

ต่อมาท่านเดินไปยังตลาดหนึ่ง  และท่านก็มองพินิจพิจารณาตลาด 

และท่านกล่าวว่า ตลาดสำหรับพวกท่านไม่ใช่แบบนี้ 

ต่อมาท่านเดินกลับไปยังนี้ (ตลาดที่ท่านสร้างขึ้น)  และท่านเดินวนเวียนในตลาด 

และกล่าวว่า  นี้คือตลาดของพวกท่าน ดังนั้นอย่าได้ทำให้มันขาดตกบกพร่อง  และอย่าเรียกเก็บภาษีระหว่างกัน

(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ  :  2233)


          เช่นเดียวกับ บัยตุลมาล ถือเป็นสถาบันด้านเศรษฐกิจแรกที่นบีมุฮัมมัด   ก่อตั้งขึ้นมาหลังการอพยพและหลังได้รับบทบัญญัติเกี่ยวซะกาตฺและเศาะดาเกาะฮฺ เพื่อช่วยเหลือสังคม  เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชน และยังเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการปกครองของมุสลิมมากที่สุดในยุคนั้น  โดยมีสายรายงานอีกมากมายที่บ่งชี้อย่างสอดคล้องกันว่า ผู้รับผิดชอบดูแลบัยตุลมาลยุคของท่านคือ  อะบู อุบัยดัยดะฮฺ บุตร อัลญัรรอฮฺ    จนท่านได้ขนานนามเขาว่า อัลอะมีน แห่งประชาชาติ

         แม้อิสลามจะอนุญาตให้ร่วมมือกันได้  แต่ภาพรวมของความร่วมมือทางการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมจะต้องอยู่บนพื้นฐาน  ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยอันตรายต่อตนเองและก่อความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น  นบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

((لا ضرر ولا ضرار))        (رواه ابن ماجه  :  2341)
 
“  ไม่เป็นภัยหรืออันตราย  (ต่อตนเอง)  และไม่ก่อให้เกิดอันตราย (ต่อบุคคลอื่น)

(รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ  :  2341)

        หรือไม่ขัดกับหลักคุณธรรม  จริยธรรม  การสร้างความดี  และสร้างศัตรูระหว่างกัน  ทั้งในรูปการกระทำด้วยตนเองหรือสนับสนุนให้คนอื่นกระทำ  อัลกุรอานระบุว่า

﴿وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى وَلَا تَعَاوَنُوا عَلَى الْإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ﴾       (المائدة : 2)

“และพวกท่านจงช่วยเหลือกันบนการเป็นคุณธรรมและความยำเกรงต่อพระเจ้า  และพวกท่านอย่าช่วยเหลือกันบนสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน”

(อัลมาอิดะฮฺ : 2)

         หรือจะต้องวางอยู่บนหลักที่ว่าด้วยการส่งเสริมในกระทำสิ่งที่ดีงาม  มีประโยชน์ต่อสังคม  เช่นเดียวกับให้การหยุดหยั้งในสิ่งที่เป็นชั่ว  หรือเป็นภัยคุกคามต่อตนเองและสังคมส่วนรวม  อัลกุรอานระบุว่า

﴿وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ﴾     (ال عمران : 104)

“และพวกเจ้าจงทำให้มีขึ้นจากหมู่พวกเจ้าคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำในสิ่งที่ชอบและห้ามมิให้กระทำในสิ่งที่มิชอบ 

 และชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่ได้รับความสำเร็จ”

(อาลิอิมรอน  : 104)


        การสร้างสันติภาพ  การสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สิน  การสร้างค่านิยมว่าด้วยการไม่ใช้กำลังแก้ไขปัญหาด้วยอาวุธและนิวเคลียร์  หรือการเสริมสร้างขีดความสามารถในการเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่  หรือการสร้างความหวังใหม่  เพื่อสมาชิกทุกคนจะได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสร้างสรรค์ระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้คือความมั่นคงที่อิสลามส่งเสริมให้เกิดขึ้นระหว่างมนุษยชาติเช่นกัน  ทั้งในมิติการให้ความร่วมมือกับมุสลิม  หรือในมิติการให้ความร่วมมือกับคนต่างศาสนิก  ภายใต้เงื่อนไข  รูปแบบ  และวิธีการเฉพาะตัวหรือกฎหมายชะรีอะฮฺ


         โดยเฉพาะประชากรอาเซียนมีจำนวนเกือบ 600 กว่าล้านคนมีทั้ง อิสลาม  พุทธ  ฮินดู  และ คริสต์เตียน  โดยเกือบ 300 กว่าล้านคนเป็นมุสลิม  ดังนั้นมุสลิมจึงควรทำความรู้จักประชาคมอาเซียนให้ดี  เช่นเดียวกับการทำความรู้มุมมองมุสลิมที่มีต่อประชาคมอาเซียน  ตลอดจนศึกษาเส้นทางไทยและมุสลิมไทยสู่ประชาคมอาเซียน  

 

 

 


อ้างอิง

1. http://sameaf.mfa.go.th/th/organization/detail.php?ID=203
2. al-Buti, Muhammad  S. Ramadan.  1978.  Figh  al-Sirah al-Nabawiyah. (Lebanon : Dar al-Fikr), หน้า 153.
3. Ibn  al-Athir.  1989.  al-Kamil  Fi  al-Tarikh.  (Lebanon : Dar  Ahya al-Turath), หน้า  473  (เล่ม 1).
4. al-Qaradawi, Yusuf.  1977.  al-Halal  Wa  al-Haram  Fi  al-Islam.  (al-Qahirah  :  Maktabah ), หน้า  116.
5.Alam  al-Din, Mustafa. 1992.  al-Mujtama  al-Islami. (Lebanon : Dar  al-Nahdhah  al-Arabia), หน้า  36 และ หน้า 143.