อิสลาม กับ ประชาคมอาเซียน(1)
  จำนวนคนเข้าชม  17964

อิสลาม กับ ประชาคมอาเซียน...  (1)


นิพล  แสงศรี


         ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายในยุคโลกาภิวัฒน์ ตลอดจนสถานการณ์โลกโดยรวมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  อาทิ  ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ปัญหาโรคติดต่อ  ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ  ปัญหาสงคราม  หรือแม้แต่ปัญหายาเสพติด  รวมถึงปัญหาอำนาจต่อรองและการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศในด้านต่างๆ  โดยหลายประเทศให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมมากขึ้น 

          กลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เชีย หรือเรียกกันว่า Gulf Cooperation Council (GCC)  จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 (1981) จากความร่วมมือของประเทศรัฐริมอ่าวอาหรับ 6 ชาติ เพื่อประสานนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และวัฒนธรรม ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ และบาห์เรน นอกจากนี้ ยังมีเยเมนเป็นประเทศสังเกตการณ์ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายในปี 2559 ปัจจัยที่เร่งการรวมตัวเพื่อก่อตั้งเป็น GCC เกิดจากการตระหนักถึงภัยคุกคามความมั่นคงในภูมิภาค  เช่นเดียวกับ  อียู  หรือ  สหภาพยุโรป (อังกฤษ: European Union: EU) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 27 ประเทศ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ภายใต้สนธิสัญญามาสทริชต์ แทนที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC)


          ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนในปี 2558   ประกอบด้วย 10 ชาติ ได้แก่  บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)  กัมพูชา (Cambodia)  อินโดนีเซีย (Indonesia)  ลาว (Laos)  มาเลเซีย (Malaysia)  พม่า (Myanmar)  ฟิลิปปินส์ (Philippines)  สิงคโปร์ (Singapore)  เวียดนาม (Vietnam)  ประเทศไทย (Thailand) โดยมีการกำหนดเป้าหมายไว้ได้แก่ 
 
     (1) เพื่ออาเซียนจะได้มีความมั่นคงการเมือง  (ASEAN Political Security Community)  การร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองและสงคราม  

     (2) เพื่ออาเซียนจะได้มีความมั่งคั่งเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community)  การร่วมมือกันครั้งนี้จะมีการไหลเวียนของ ธุรกิจ  การค้า การลงทุน สินค้า  และการบริการท่องเที่ยว ตลอดจนการเคลื่อนย้ายแรงงานของประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น (ทั้งออกและเข้า)  จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ  ท้องถิ่น  และชุมชน 

     (3) และเพื่อประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community)


        เป็นที่ทราบกันดีว่า มุสลิมมิได้เป็นเพียงชนชาติเดียวที่อาศัยอยูบนโลกใบนี้เพียงลำพัง แต่เรายังมีชนชาติอื่น เผ่าพันธุ์ และเชื้อสายอื่นถูกสร้างและร่วมอาศัยอยู่ด้วย

 อัลกุรอานระบุว่า

  ﴿ يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُمْ مِنْ ذَكَرٍ وَأُنْثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوباً وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا﴾   ( الحجرات : 13)

“ โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย  แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง 

และเราได้ทำให้พวกเจ้าแยกออกเป็นชนเผ่าและตระกูล  เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้จักกัน”

(อัลฮุจญ์รอต : 13)

  
         ท่ามกลางความหลายหลากของชนชาติและเผ่าพันธ์  มนุษย์มิได้ถูกบังเกิดขึ้นในโลกนี้เพียงลำพัง  แต่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติและความมั่งคั่งต่างๆถูกบังเกิดมาควบคู่กันด้วย  เราจะพบว่าความมั่นคั่งบางอย่างอยู่กับคนบางกลุ่มขณะมีความมั่งคั่งอื่นๆมากมายก็อยู่กับคนอีกหลายกลุ่ม ดังนั้นมนุษย์จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพึ่งพากันได้ เมื่อทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันกว้างเท่าใด ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในด้านต่างๆย่อมกว้างมากขึ้นเท่านั้น   จากคนหนึ่งไปยังคนหนึ่ง จากกลุ่มหนึ่งไปยังกลุ่มหนึ่ง  จากชาติหนึ่งไปยังอีกชาติหนึ่ง  จนในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติจึงเกิดขึ้น และเป็นเหตุนำไปสู่การช่วยเหลือกันในกระบวนการผลิต  การแลกเปลี่ยนกันทางธุรกิจการค้า  และกำหนดทิศทางของความมั่นคงร่วมกัน  ทั้งนี้เพื่อสนองตอบความต้องการของทุกคนได้อย่างสมบูรณ์และครบถ้วน

          เช่นเดียวกับเรื่องความต้องการต่างๆของมนุษย์ที่ไม่อาจหยุดเพียงแค่การพึ่งพาตนเองหรือชนกลุ่มเดียว หรือชาติเดียวกันเท่านั้น  แต่จะต้องอาศัย  และพึ่งพา  หยาดเหงื่อและแรงงานของมนุษย์ด้วยกัน  ทั้งในระดับชุมชน  ภูมิภาค  ประเทศ  และทวีป  เพื่อเข้ามาทดแทนในสิ่งที่ตนเองและพวกพ้องยังขาดแคลน หรือเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและสร้างฐานเศรษฐกิจที่ดี  เพราะทุกคน  และทุกชนชาติมีขีดความรู้  ความสามารถ  และการครอบครองทรัพยากรและความมั่งคั่งแตกต่างกัน  อัลกุรอานระบุว่า

﴿أَهُمْ يَقْسِمُونَ رَحْمَةَ رَبِّكَ نَحْنُ قَسَمْنَا بَيْنَهُمْ مَعِيشَتَهُمْ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَرَفَعْنَا بَعْضَهُمْ فَوْقَ بَعْضٍ دَرَجَاتٍ لِيَتَّخِذَ بَعْضُهُمْ بَعْضًا سُخْرِيًّا وَرَحْمَةُ رَبِّكَ خَيْرٌ مِمَّا يَجْمَعُونَ ﴾     (الرخرف : 32)

 “พวกเขาคือผู้แบ่งปันพระเมตตาจากพระเจ้ากระนั้นหรือ  เราต่างหากที่เป็นผู้จัดสรรการทำมาหากินของพวกเขาระหว่างพวกเขาในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้

และเราต่างหากที่ได้เชิดชูบางคนในหมู่พวกเขาเหนือกว่าอีกบางคนหลายชั้น  เพื่อบางคนในหมู่พวกเขาจำได้นำเอาอีกบางคนมาเอื้ออำนวยใช้ประโยชน์

และความเมตตาของพระเจ้านั้น ย่อมดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาเก็บสะสมไว้”

(อัซซัครุฟ : 32-34)


         ในทางปฎิบัติเราจะพบว่า  มีหลักฐานในอัลฮะดีษระบุว่า  นบีมุฮัมมัด    เคยหุ้นกับ อัสสาอิบ บุตร อะบีสาอิบ  ทำการธุรกิจค้าขายโดยแบ่งกำไรตามตกลง  และนักเศรษฐศาสตร์เรียกการค้าชนิดนี้ว่า  al-Musharakah ซึ่งเป็นที่มาของรูปแบบบริษัทตามหลักเศรษฐศาสตร์อิสลามในปัจจุบัน  ท่านเคยเข้าร่วมกองคาราวานสินค้าระหว่างประเทศของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ โดยมีส่วนแบ่งจากผลกำไร ท่านเคยซื้อแกะจากมุชริกคนหนึ่ง  ซื้ออาหารจากชาวยิวคนหนึ่ง  ซึ่งถือเป็นการตัวอย่างในภาคพาณิชยกรรม  และท่านเคยร่วมมือทางเศรษฐกิจกับชาวยิวในตำบลค็อยบัร  ได้มอบสวนที่ค็อยบัรแก่ชาวยิว และให้พวกเขาได้ทำงานในสวน  และให้พวกเขาเพาะปลูกในสวน  โดยพวกเขามีสิทธิครึ่งหนึ่งจากผลผลิตที่เกิดจากสวน     ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการลงทุนในภาคการเกษตรแบบ al- Mudharabah and al-MuZaraah


          กิจกรรมด้านเศรษฐกิจต่างๆของท่านล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่แบบพึ่งพากัน  หรือช่วยเหลือกันในกระบวนการผลิต  การบริโภค  และอุปโภค     หรือชี้ให้เห็นถึงการกระจายรายได้  ความมั่งคั่ง  และทรัพยากร  ทั้งในรูปแบบธุรกิจ  การค้า  การเงิน  การตลาด  และการลงทุน 

 


next 2 ......click