กลุ่มต่างๆ ในอิสลาม....
  จำนวนคนเข้าชม  28997

กลุ่มต่างๆ ที่แตกไปจากแนวทางอิสลามอันถูกต้อง


ดร.ศอและฮ์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน

 


กลุ่มแรก “อัลก้อดะรียะฮฺ”

           คือกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นในปลายยุค “ศ่อฮาบะฮฺ” พวกเขาปฏิเสธการบันทึกและกำหนดของพระผู้เป็นเจ้า โดยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในโลกนี้ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับการบันทึกหรือกำหนดล่วงหน้าใดๆ จากพระองค์ หากแต่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น พวกเขาปฏิเสธหลักศรัทธาพื้นฐานที่สำคัญในศาสนาอิสลาม คือ “อัลก้อดัร” ซึ่งเป็นหลักศรัทธาพื้นฐานประการที่หก

          เหตุนี้พวกเขาจึงถูกขนานนามว่า “อัลก้อดะรียะฮฺ” และยังถูกขนานนามว่าเป็นพวกเมไจ (อัลมะญู๊ซ) แห่งประชาชาตินี้ ที่ถูกขนานนามเช่นนั้นก็เพราะว่า พวกเขาเชื่อว่าแต่ละคนคือผู้สร้างการกระทำของตัวเองโดยปฏิเสธการสร้างและกำหนดของอัลลอฮฺ พวกเขายืนยันว่ามีผู้สร้างอื่นจากพระองค์ ซึ่งไม่แตกต่างจากพวกเมไจหรือเรียกตามภาษาอาหรับว่า “อัลมะญู๊ซ” ในอดีตพวกนี้เชื่อว่ามีพระผู้สร้างสององค์ องค์หนึ่งคือแสงสว่างซึ่งสร้างแต่สิ่งดีๆ และอีกองค์หนึ่งคือความมืดสร้างแต่สิ่งชั่วร้าย

          พวก “อัลก้อดะรียะฮฺ” เลวร้ายกว่า พวก “อัลมะญู๊ซ” เพราะพวก “อัลก้อดะรียะฮฺ” เชื่อว่ามีผู้สร้างมากกว่าสอง โดยพวกเขากล่าวว่ามนุษย์คือผู้สร้างการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ดีพวกเขาก็ถูกขนานนามว่าเป็นพวก “อัลมะญู๊ซ” แห่งประชาชาตินี้ เพราะเชื่อว่าผู้สร้างมีมากกว่าหนึ่ง

          ต่อมาเกิดกลุ่มที่มีแนวคิดตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับกลุ่มอัลก้อดะรียะฮฺขึ้นโดยได้รับการขนานนามต่อมาว่ากลุ่ม “อัลญะบะรียะฮฺ” พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ถูกบังคับโดยทุกกรณีกล่าวคือมนุษย์ไม่มีอิสระใดๆ ในการเลือกเฟ้น พฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์เป็นไปในลักษณะถูกบังคับให้กระทำทั้งสิ้น พวกเขาพยายามจะยืนยันเรื่องการบันทึกและกำหนดของอัลลอฮฺแต่เป็นการยืนยันที่สุดโต่งและผิดพลาดซึ่งไม่แตกต่างจากพวก “อัลก้อดะรียะฮฺ” ในแง่ของความสุดโต่ง พวกอัลก้อดะรียะฮฺสุดโต่งในแง่ของการยืนยันความมีอิสระของมนุษย์แต่พวกอัลญะบะรียะฮฺสุดโต่งในแง่การยืนยันการบันทึกและกำหนดของอัลลอฮฺ 

ต่อมากลุ่ม อัลก้อดะรียะฮฺ แตกออกเป็นอีกหลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มมีแนวความเชื่อในส่วนย่อยที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็มีหลักใหญ่ๆ ตรงกัน ดังนั้นจึงยังจัดอยู่ในหลุ่ม อัลก้อดะรียะฮฺอยู่


กลุ่มที่สอง “อัลค่อวาริจญ์”

           คือกลุ่มที่ไม่เชื่อฟังผู้ปกครองและมีความคิดลักษณะขบทซึ่งเกิดขึ้นในปลายยุคของท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน ค่อลีฟะฮฺลำดับที่สาม เหตุการณ์วุ่นวายในปลายยุคของท่านเป็นเหตุพาไปสู่การสังหารท่านในที่สุด

           ในยุคของท่านอาลี อิบนุ อะบีฎอลิบ แนวคิดลักษณะ “อัลค่อวาริจญ์” ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น พวกเขาตัดสินเหล่าศ่อฮาบะฮฺที่เห็นด้วยกับพวกเขาว่าสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม (มุรตัด) โดยพวกเขาเชื่อและเข้าใจว่าโทษของผู้กระทำผิดในบาปใหญ่ทั้งหลายคือการสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม นี้คือความหลงผิดใหญ่หลวงของพวกเขา อันเป็นเหตุให้พวกเขาตัดสินเหล่าศ่อฮาบะฮฺที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาว่าถึงกับสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม

           แนวคิดความเชื่อของพวกเขาคือไม่ดำเนินตามแนวทางของชาวซุนนะฮฺ (ผู้ยึดมั่นในแบบฉบับและคำสอนของนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ) พวกเขาไม่เชื่อฟังผู้นำโดยมีแนวคิดว่าการปฏิวัติคือศาสนาหากเห็นว่าผู้นำอธรรม การก่อขบทคือแนวทางสร้างสังคมให้เที่ยงตรงได้แม้จะจากชนหมู่น้อยก็ตาม โดยเป็นแนวคิดที่ต่างจากคำสั่งเสียของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างสิ้นเชิง

“ฉันสั่งเสียพวกพวกท่านให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามแม้ผู้นำจะมาจากทาสก็ตาม

ผู้ใดที่มีชีวิตยืนยาวเขาจะได้เห็นความชัดแย้งมากมาย”   

           การเชื่อฟังผู้นำมุสลิมถือเป็นศาสนา แต่พวก “อัลค่อวาริจญ์” กลับกล่าวว่า “เราคืออิสระชน” นี้คือรากเง้าของแนวคิดปฏิวัติทั้งหลายในยุคนี้

           พฤติกรรมของพวก “ค่อวาริจญ์” สร้างความแตกแยก ร้าวฉาน และสับสนขึ้นในหมู่มุสลิม เป็นการฝืนคำสอนของอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ในเรื่องดังกล่าว พวกเขายังเห็นว่าผู้ประพฤติผิดในบาปใหญ่คือผู้สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมอีกด้วย

           บาปใหญ่เช่น การซินา (พฤติผิดในกามวิสัย) การกินเหล้าเมายา การลักขโมย การกินดอกเบี้ย ฯลฯ หากผู้ใดล่วงละเมิดไปกระทำเข้า ผู้นั้นถือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมตามคติความเชื่อของพวก “อัลค่อวาริจญ์” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรง และต่างไปจากความเชื่อของชาวซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ (อัลญะมาอะฮฺแปลว่ากลุ่มชนที่รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นไม่แตกแยก-ซึ่งหมายถึงมุสลิมีนในยุคต้นๆ) ที่เข้าใจโดยถูกต้องว่าผู้กระทำบาปใหญ่หากมิได้ปฏิเสธหลักการนั้นๆ เขาก็ยังเป็นมุสลิม เพียงแต่เขาเป็นผู้ฝ่าฝืนเท่านั้น และการกระทำบาปแม้จะเป็นบาปใหญ่ก็มิได้ทำให้ผู้นั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมแต่อย่างใด แต่พวกอัลค่อวาริจญ์กลับเชื่อว่าผู้กระทำบาปใหญ่สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม และเชื่อว่าจะไม่ได้รับการอภัยและต้องตกนรกตลอดกาล ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสอนของศาสนา

           สาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาคิดและเชื่อเช่นนั้นคือ ความไม่เข้าใจในตัวบทของศาสนาและไม่ยินยอมรับฟังคำอธิบายใดๆ จากปราชญ์ในยุคนั้นๆ (ในยุคเริ่มต้นคือเหล่าสาวกของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ) พ วกเขามักมีความเข้มงวดในการปฏิบัติศาสนกิจ จริงจังกับการเคารพภัคดีต่ออัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิบัติบละหมาด ถือศีลอด อ่านอัลกุรอ่าน และ ฯลฯ พวกเขามีความเคร่งครัดมาก แต่ส่วนใหญ่กระทำไปบนพื้นฐานของความไม่เข้าใจมากกว่า ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงพวกเขาว่า “พวกเขาหลุดออกจากศาสนาดุจลูกธนูที่พุ่งออกจากคันศร”    กล่าวคือหลุดออกไปจากศาสนาทั้งๆ ที่พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด ถือศีลอด อ่านอัลกุรอ่าน และ ฯลฯ

           พวกอัลค่อวาริจญ์สังหารมุสลิมด้วยกันมาตั้งแต่อดีต เช่น ท่านอุษมาน อิบนุอัฟฟาน ท่านอาลี อิบนุ อะบีตอลิบ และท่านซุเบร อิบนุ้ล เอาวาม เป็นต้น พวกเขาเข่นฆ่าสาวกหลายท่านและพวกเขายังไม่วางมือจากการเข่นฆ่ามุสลิมตราบเท่าทุกวันนี้

           ความรักความหวงแหนศาสนาเพียงลำพังมิอาจนำพาคนให้รอดพ้นจากความหลงผิดได้ หากแต่จะเป็นหนทางสู่ความหายนะเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้นความรักความหวงแหนศาสนาต้องตั้งอยู่บนความรู้และความเข้าใจอันถูกต้องด้วย จึงจะเป็นพลังสร้างสรรค์ยิ่งใหญ่หาไม่แล้วจะกลายเป็นพลังร้ายแรงทำลายทุกสิ่งโดยพลิบตา

 ในยุคต่อๆ มากลุ่มแนวคิดนี้ได้แตกออกกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกจนนับไม่ถ้วน และถูกส่งผ่านมาถึงยุคเราด้วยเช่นกัน


กลุ่มที่สาม “อัชชีอะฮฺ”

           คือกลุ่มที่สนับสนุนสายตระกูลของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเรียกว่า “อะฮฺลุ้ลบัยตฺ” เพราะความเหมายเดิมของชีอะฮฺคือการปฏิบัติตามและให้การช่วยเหลือ

         ต่อมากลายเป็นชื่อของคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเจริญรอยตามแนวทางของสายตระกูลของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งก็คือท่านอาลี อิบนุ อบีตอลิบและลูกหลาน พวกเขาอ้างว่าท่านอาลี ร่อฎิยัลลอฮุอัลฮุ (ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยท่าน) คือผู้ได้รับพินัยกรรมให้สืบทอดตำแหน่งผู้นำหลังจากท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นท่านอบูบักรฺ อุมัร และอุษมาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ้ม (ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยท่านเหล่านั้น) จึ่งเป็นผู้อธรรมเพราะแย่งตำแหน่งผู้นำไปจากท่านอาลี นี้คือความเชื่อของพวกเขา
 
           ตามจริงแล้วเรื่องราวมิได้เป็นที่พวกเขาเชื่อแต่ประการใดเพราะเหล่าศ่อฮาบะฮฺ(สาวก) ส่วนใหญ่ต่างเหลือกและสนับนุนท่านเหล่านั้นให้เป็นผู้นำสืบต่อกันมาจวบจนเลือกท่านอาลีเป็นผู้นำลำดับที่สี่ ทั้งสามท่านมิได้แย่งชิงตำแหน่งมาแต่อย่างใด

            พวกเขาหลงไหลคลั่งไคล้ในคำว่า “อะฮฺลุ้ลบัยตฺ” จนเป็นเหตุให้ตัดสินศ่อฮาบะฮฺ (สาวก) ส่วนใหญ่ว่าสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม เพราะสนับสนุนให้ผู้อื่นขึ้นมาเป็นผู้นำสืบต่อจากท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บางกลุ่มถึงกับเชื่อว่าผู้นำจากสายสกุลของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีสิทธิ์ออกข้อบัญญัติทางศาสนาได้รวมถึงเป็นผู้ปราศจากความผิดบาปใดๆ และอีกหลายๆ กลุ่มเชื่อว่าอัลกุรอ่านถูกตัดทอน ต่อเติม และบิดเบือนไปจากฉบับจริงโดยน้ำมือของศ่อฮาบะฮฺ (สาวก)

 ทั้งสามกลุ่มที่กล่าวแล้วข้างต้น ในกาลต่อมาก็แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจนนับไม่ถ้วน


กลุ่มที่สี่ “อัลญะฮฺมียะห์”
 
            “อัลญะฮฺมียะฮฺ” เป็นกลุ่มอ้างถึงบุคคลๆ หนึ่งชื่อว่า อัลญะฮฺม์ อิบนุ ศ็อฟวาน ผู้เป็นลูกศิษย์ของ อัลญะอฺ อิบนุ ดิรฮัม ผู้เป็นศิษย์ของ ฎอลู๊ต ผู้เป็นศิษย์ของ ละบี๊ด อิบนุ้ล อะอฺศ็อม ซึ่งเป็นคนยิว

           แนวคิดความเชื่อของกลุ่ม “อัลญะฮฺมียะฮฺ” คืออะไร แนวคิดความเชื่อของพวกเขาคือปฏิเสธพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ พวกเขายืนยันแต่เพียงอาตมันของพระองค์เท่านั้น กล่าวคือยืนยันเพียงว่าพระองค์ทรงมีอยู่แต่จะมีอยู่แต่ปฏิเสธที่เรียกพระนามของพระองค์และปฏิเสธที่จะยืนยันคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์ และเป็นการทำให้พระองค์ซึ่งมีอยู่องค์เดียวกล่ายเป็นหลายองค์

           ไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุใดพวกเขาถึงคิดและเชื่อเช่นนั้น เพราะหากจะกล่าวถึงคนๆ หนึ่งที่มีคุณลักษณะหลากหลายก็มิได้สื่อใดๆ ว่าผู้นั้นมีหลายคนแต่ประการใด แล้วเหตุใดจึงต้องเชื่อว่าการยืนยันพระนามและคุณลักษณะต่างๆ แก่อัลลอฮฺจะทำให้เกิดภาคีแก่พระองค์เล่า

           การที่เราทราบว่าอัลลอฮฺมีพระนามและคุณลักษณะมากมายจากตัวบทอัลกุรอ่าน เป็นทำให้เรารู้ลึกซึ้งว่าพระองค์คือใคร และเป็นการบอกถึงความสมบูรณ์ยิ่งของพระองค์อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงฟังไม่ขึ้นว่าการยืนยันพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺจะเป็นการเพิ่มภาคีแก่พระองค์

           สรุปง่ายๆ ว่าพวกกลุ่ม “อัลญะฮฺมียะฮฺ” มีความผิดเพี้ยนในด้านพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ในเวลาเดียวกันกลุ่มนี้ก็มีความเชื่อในด้านการบันทึกและกำหนดของอัลลอฮฺตรงกับกลุ่ม “อัลญะบะรียะฮฺ” ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ตรงข้ามกลุ่ม “อัลก้อดะรียะฮฺ” ที่กล่าวแล้วข้างต้น พวกเขาปฏิเสธเรื่องสิทธิ์การเลือกกระทำของมนุษย์ กล่าวโดยย่อคือมนุษย์ถูกบังคับให้กระทำไปตามที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า อุปมาเหมือนขนนกที่ตกอยู่จะเคลื่อนไหวได้ก็ด้วยแรงลมที่พัดมาเท่านั้น

          ต่อมามีกลุ่มเกิดขึ้นใหม่อีกหลายกลุ่มที่มีส่วนเชื่อมโยงกับความเชื่อของกลุ่ม “อัลญะฮฺมียะฮฺ” ซึ่งก็คือกลุ่ม“อัลมั๊วอฺตะซิละฮฺ” กลุ่ม “อัลอัชอะรียะฮฺ” และกลุ่ม “อัลมาตุรีดียะฮฺ”


          กลุ่ม “อัลมั๊วอฺตะซิละฮฺ” ยืนยันเรื่องพระนามของอัลลอฮฺแต่ปฏิเสธคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์ กล่าวคือยืนยันและยอมรับพระนามต่างๆ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความหมายใดๆ ในพระนามเหล่านั้นซึ่งก็คือคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์นั่นเอง

           กลุ่มนี้มีความเป็นมาดังนี้  ผู้เป็นผู้นำกลุ่มคือ “วาศิล อิบนุ อะฎออฺ” ผู้เป็นลูกศิษย์ของท่าน ฮะซัน อัลบะศ่อรี่ ผู้เป็นปราชญ์ในยุคของตาบิอีน (ลูกศิษย์ของศ่อฮาบะฮฺ) ตามประวัติกล่าวได้มีผู้ถามท่านฮะซันถึงโทษของผู้กระทำบาปใหญ่ ท่านตอบไปตามแนวทางความเชื่อชาวซุนนะฮฺว่า “เขายังนับว่าเป็นผู้ศรัทธาอยู่ (กล่าวคือยังไม่สิ้นสภาพการเป็นมุสลิมแม้จะประพฤติผิดในบาปใหญ่) แต่การศรัทธาของเขาบกพร่องไม่สมบูรณ์ เขาศรัทธาตามศรัทธาที่เขามีอยู่และเขาเป็นคนไม่ดีตามความผิดใหญ่หลวงที่เขากระทำ”

         เมื่อวิศิล อิบนุ อะฎออฺ ได้ยินดังนี้ก็รู้สึกไม่พอใจและแยกจากมาพลางกล่าวว่า “ฉันเห็นว่าเขาไม่เป็นทั้งผู้ศรัทธา(มุอฺมิน) และไมเป็นทั้งผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) แต่เขาอยู่ในกึ่งกลางระหว่างทั้งสอง (การศรัทธาและการปฏิเสธ)” เมื่อเขาแยกจากมาก็มีผู้คนที่เขลาบางกลุ่มแยกตัวตามเขามาโดยเชื่อว่าคำพูดของวาศิลถูกต้องกว่าคำพูดของท่านฮะซัน ตั้งแต่นั้นมาผู้คนกลุ่มนั้นถูกขนานนามว่า “อัลมั๊วอฺตะซะละฮฺ” หากแปลตามภาษาหมายถึงการแยกตัวหรือปลีกตัวออกมานั่นเอง ต่อมากลุ่มนี้มีความเชื่อที่ผิดๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายประการ

           ต่อมาเกิดกลุ่ม “อัลอัชอะรียะฮฺ” ขึ้น หากจะกล่าวแล้วก็คือเป็นการแตกแขนงของกลุ่มอัลมั๊วอฺตะละฮฺนั่นเอง ชื่อกลุ่มนี้ได้จากชื่อสกุลของผู้ก่อตั้งกลุ่มคือฮะซัน อัลอัชอะรีย์ เดิมทีเขามีความเชื่อแบบอัลมั๊วอฺตะซิละฮฺ ต่อมาศึกษาจนทราบถึงความผิดพลาดใหญ่ของกลุ่มดังกล่าวจึงได้ประกาศตัวเพื่อปฏิเสธความเชื่อดังกล่าว แต่ก็ยังสลัดไม่พ้นความผิดในด้านพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ กล่าวคือหลังจากปฏิเสธที่จะเชื่อแบบอัลมั๊วอฺตะซิละฮฺก็หันไปยึดแนวทางของบุคคลผู้หนึ่งชื่อว่า “มุฮัมมัด อิบนุ สอี๊ด อัลกัลล้าบ” ซึ่งเขายืนยันคุณลักษณะของอัลลอฮฺเพียงเจ็ดคุณลักษณะเท่านั้นคือ

๑. ความรู้
๒. ความสามารถ
๓. พระประสงค์
๔. ชีวิต
๕. ได้ยิน
๖. มองเห็น
๗. และตรัส

        โดยให้เหตุผลว่าปัญญาสามารถยอมรับได้เพียงเจ็ดคุณลักษณะเท่านั้น และสิ่งใดที่ปัญญามิอาจรับได้จะยืนยันว่าเป็นคุณลักษณะของอัลลอฮฺมิได้

           ต่อมาอัลลอฮฺ ประทานทางนำอันถูกต้องแก่ ฮะซัน อัลอัชอะรีย์ เขาได้สลัดความเชื่อเดิมๆ และหันมายึดถือความเชื่อที่ถูกต้องตามตัวบทจากอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ ซึ่งผู้นำทางความรู้ที่ถูกต้องในยุคนั้นคือท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบัล ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาฮะซัน อัลอัชอะรีย์กล่าวในห่วงสุดท้ายของชีวิตคือหลังจากที่กลับตัวกลับใจว่า “ฉันเชื่อตามแนวทางของผู้นำชาวซุนนะฮฺวัลญะมาอะอฺ อะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบัล”

           ดังนั้นบรรดาผู้ที่อ้างว่ายึดถือความเชื่อของเขาในยุคปัจจุบัน แท้ที่จริงแล้วเป็นการถือเอาความเชื่อของ “มุฮัมมัด อิบนุ สอี๊ด อัลกัลล้าบ” ต่างหาก เพราะอะบุลฮะซัน อัลอัชอะรีย์ประกาศกลับตัวกลับใจแล้ว ดังปรากฏในตำราที่เขาเขียนขึ้น เช่น หนังสือ “อัลอิบานะฮฺ ฟี อุศูลลิดดิยานะฮฺ” และ “อัลมะกอลาตอัลอิสลามียะฮฺ” เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มอัชอะรียะฮฺในยุคปัจจุบันจึงมิใช่ความเชื่อใดๆ ของอะบุ้ลฮะซัน อัลอัชอะรีย์แต่อย่างใด แม้จะเรียกกันอยู่ว่ากลุ่มอัลอัชอะรียะฮฺ

 

ที่มา : http://www.alfawzan.ws


           สรุปแล้วรากเง้าของกลุ่มหลงผิดต่างๆ ในปัจจุบันล้วนมีที่มาจากสี่กลุ่มหลักในอดีตทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มศูฟีเฎาะรีเกาะฮฺ กลุ่มตับลีฆ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากลุ่มดะอฺวะฮฺ) กลุ่มอิควานมุสลิมูน กลุ่มญิฮาด กลุ่มตักฟีร กลุ่มปัญญานิยมยุคใหม่ กลุ่มก็อดยานี และฯลฯ

          หากจะตั้งคำถามว่าแล้วกลุ่มใดคือกลุ่มที่ถูกต้องที่สุด คำตอบง่ายๆ คือกลุ่มที่ดำเนินตามคัมภีร์อัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺของท่านศาสดามุอัมหมัด ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บนพื้นฐานการเข้าใจของบรรพชนที่ดี (สะละฟุศศอและฮฺ) ในยุคต้นๆ อิสลาม โดยไม่บิดเบือน เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือตีความให้เปลี่ยนไปจากที่ปรากฏในตัวบททางศาสนา

 

อ. อิสฮาก พงษ์มณี : ผู้แปล เรียบเรียง