การถือศีลอดกับการเลิกบุหรี่
  จำนวนคนเข้าชม  6466

การถือศีลอดกับการเลิกบุหรี่


โดย ยูซุฟ อบูบักรฺ

 
          เดือนรอมาฎอนอันประเสริฐเป็นเดือนแห่งการนำสาส์นอิสลามมาสู่การปฏิบัติ อบรมขัดเกลาในด้านความยำเกรง  เป็นเดือนแห่งการฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  นับเป็นโอกาสที่มีคุณค่ายิ่งต่อการที่จะเลิกนิสัยหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ดีให้หมดไป  ดังนั้นเดือนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินเสเพล เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสทองสำหรับการจัดระเบียบวิถีชีวิตและขจัดความไร้ระบบ ความทะเยอทะยานและความแข็งกระด้าง สำหรับผู้ที่มีความต้องการมุ่งมั่นในเรื่องนี้

        ในทำนองเดียวกัน เดือนรอมาฎอนถูกนับว่าเป็นเดือนแห่งการทดสอบในด้านการปฏิบัติ  สอนให้มุสลิมรู้จักวิธีขัดเกลาวิถีในการดำเนินชีวิตและแนวคิดของเขา  และหวนกลับไปทบทวนนิสัย ธรรมเนียมปฏิบัติ และความเคยชินบางประการของเขาว่าเป็นอย่างไร  เช่นเดียวกันนั้น มันยังเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งเรื่องความมุ่งมั่นในระดับปัจเจกบุคคล  และได้ตระหนักอย่างแน่วแน่ต่อการเฝ้ามองของอัลลอฮฺในทุกกิจการและงานต่างๆ


         “การสูบบุหรี่”  เป็นอีกเรื่องที่หลักการศาสนาปฏิเสธมาโดยตลอดหรือแม้กระทั่งผู้ที่มีสติปัญญาที่สมบูรณ์เองก็ไม่ยอมรับ  การสูบบุหรี่คือที่มาของอันตรายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ  ชีวิต  และทรัพย์สินอย่างไม่สามารถที่จะประมาณได้

            คำยืนยันจากการทำวิจัยทางวิชาการว่า  มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างการสูบบุหรี่กับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปอด  โรคตับแข็ง  โรคเส้นโลหิตอุดตัน  โรคเจ็บหน้าอก  โรคมะเร็งริมฝีปาก  โรคระบบทางเดินหายใจ  โรคหลอดเสียง  และโรคร้ายชนิดอื่นๆ อีกมากมาย

          ลองพิจารณาดูถึงสถิติที่พิษบุหรี่ได้คร่าชีวิตผู้คนในโลกนี้ในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายล้านคน  ซึ่งอายุของพวกเขาอยู่ระหว่าง 34 - 65 ปี  จะไม่มีใครได้รับความปลอดภัยจากพิษควันบุหรี่แม้กระทั่งเด็กทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดา
 
            ดังนั้นท่านจะเลิกจากการสูบบุหรี่ได้อย่างไร?
   

        วิธีการที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

     1.  กำหนดแผนในการที่ท่านต้องการจะเลิกสูบบุหรี่  เพื่อสนองตอบคำดำรัสแห่งอัลลอฮฺ ความว่า

مِنْ عَزْمِ الأُمُور     “แท้จริงมันคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่เด็ดเดี่ยว” 

(อาละอิมรอน : 186)


     2.  กำหนดระยะเวลาในการเลิกบุหรี่อย่างชัดเจน  ให้เป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุดไม่สมควรให้ล่าช้าเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคลิกภาพและกำหนดการของท่าน
 
           
     3.  จงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺและขอดุอาอ์ต่อพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ให้พระองค์ได้มอบความเข้มแข็งและประทานความสำเร็จ  จนกระทั่งท่านได้บรรลุถึงความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว  ท่านนบี กล่าวว่า

« وإذا استعنت فاستعن بالله»      “และเมื่อท่านขอความช่วยเหลือ  ก็จงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ”

 
      4.  พยายามหยิบเอาความอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่และโทษอันแสนสาหัสมาวางไว้ต่อหน้า  และโปรดรำลึกเสมอว่าในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะถามท่านถึงเรื่องสุขภาพ  อายุ  และทรัพย์สินได้ใช้ไปอย่างไรบ้าง


      5.  ใช้ความพยายามในการติดต่อกับเพื่อนฝูงที่สูบบุหรี่ด้วยกัน เพื่อร่วมกันทำสัญญาเลิกบุหรี่  เป็นการกระทำที่เรียกร้องไปสู่ความดีงามและจะยิ่งเพิ่มให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะละทิ้งการสูบบุหรี่ เพราะบุคคลหนึ่งจะต้องอยู่ร่วมกับพรรคพวกเพื่อนฝูง  ไม่ใช่อยู่ได้เพียงตัวคนเดียวโดยลำพัง  อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى وَلا تَعَاوَنُوا عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَان

“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องคุณธรรมและความยำเกรง  และอย่าได้ช่วยเหลือกันในเรื่องที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน” 

(อัลมาอิดะฮฺ : 2) 

ท่านนบี กล่าวว่า

«من دل على خير فله أجر مثل فاعله »

“ผู้ใดที่ชี้แนะให้คนอื่นทำความดี  เขาจะได้รับภาคผลบุญแห่งความดีเหมือนกับผู้ที่ได้กระทำ”
 

     6.  จงระวังเพื่อนฝูงของท่านที่พยายามชักจูงท่านให้หันเหออกจากการเลิกสูบบุหรี่  ท่านพยายามรำลึกถึงพจนารถแห่งท่านนบีมุฮัมมัด  ที่กล่าวว่า

«المرء على دين خليله، فلينظر أحدكم من يخالل »

 “บุคคลนั้นจะดำเนินชีวิตตามแนวทางของผู้ที่เป็นเพื่อนของเขา ดังนั้นจงพิจารณาคนที่จะยึดเอามาเป็นเพื่อน”
 

     7.  ประกาศเจตนารมณ์ของท่านให้ภรรยา  สมาชิกในครอบครัว  และคนที่ท่านเคารพนับถือทราบ  เพราะพวกเขาจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่สำคัญในการให้กำลังใจให้การสนับสนุนท่าน  อินชาอัลลอฮฺ  


     8.  จงกำหนดโดยการตัดเงินจากส่วนที่ท่านเคยใช้ซื้อบุหรี่  แล้วนำไปบริจาคให้แก่บรรดาคนยากจนและเด็กกำพร้าเป็นรายวัน  เพราะอัลลอฮฺ ตรัสความว่า

﴿  وَمَا تُقَدِّمُوا لأَنْفُسِكُمْ مِنْ خَيْرٍ تَجِدُوه عِنْدَ اللهِ هُوَ خَيْرًا وَأَعْظَمَ أَجْرًا ﴾ُ

 “และความดีอันใดที่พวกเจ้าได้กระทำไว้เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง  พวกเจ้าก็จะได้พบมันณ ที่อัลลอฮฺ  ซึ่งเป็นความดีงามและผลตอบแทนก็ยิ่งใหญ่กว่า” 

(อัลมุซซัมมิล : 20)
 

     9.  จงฉวยโอกาสจากการถือศีลอดในการที่จะให้มันช่วยท่านบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้  แล้วยังช่วยให้ท่านได้ใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ  และตระหนักถึงการเฝ้ามองของพระองค์มากยิ่งขึ้น  ดั่งคำตรัสของอัลลอฮฺ ความว่า

﴿مَا يَكُونُ مِنْ نَجْوَى ثَلاثَةٍ إِلاَّ هُوَ رَابِعُهُمْ وَلا خَمْسَةٍ إِلاَّ هُوَ سَادِسُهُمْ وَلا أَدْنَى مِنْ ذَلِكَ وَلا أَكْثَرَ إِلاّ هُوَ مَعَهُمْ أَيْنَمَا كَانُوا ثُمَّ يُنَبِّئُهُمْ بِمَاعَمِلُوا يَوْم الْقِيَامَة﴾
 
“การซุบซิบกันในระหว่างสามคนจะไม่เกิดขึ้นเว้นแต่พระองค์จะทรงเป็นที่สี่ของพวกเขา

และมันจะไม่เกิดขึ้นในระหว่างห้าคนเว้นแต่พระองค์จะทรงเป็นที่หกของพวกเขา 

และมันจะไม่เกิดขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่านั้นหรือจะไม่เกิดขึ้นในจำนวนที่มากกว่านั้นเว้นแต่พระองค์จะทรงอยู่ร่วมกับพวกเขา 

ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ ณ แห่งหนใด  ต่อจากนั้นพระองค์ก็จะทรงแจ้งให้พวกเขาได้รับทราบในวันกิยามะฮฺ”

 (อัลมุญาดะละฮฺ : 7)
 

     10.  จะเกิดแรงปะทะขึ้นภายในที่ทำให้ท่านอยากกลับไปสูบบุหรี่อีก ดังนั้นท่านจงพยายามรำลึกถึงคำตรัสของอัลลอฮฺ ความว่า

﴿إِنَّ الَّذِينَ اتَّقَوْا إِذَا مَسَّهُمْ طَائِفٌ مِنَ الشَّيْطَانِ تَذَكَّرُوا فَإِذَا هُمْ مُبْصِرُون﴾

 “แท้จริงบรรดาผู้ที่ยำเกรงนั้นเมื่อมีคำชี้นำ (ให้กระทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา) ใดๆ จากชัยฏอนมาประสบแก่เขาพวกเขาก็จะรำลึกได้ 

 แล้วทันใดพวกเขาก็จะมองเห็น” 

(อัลอะอฺรอฟ: 201)  

และท่านอย่าลืมคำตรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า

﴿وَإِمَّا يَنْزَغَنَّكَ مِن الشَّيْطَانِ نَزْغٌ فَاسْتَعِذْ بِاللهِ إِنَّهُ سَمِيعٌ عَلِيم َ﴾

 “และหากมีการยั่วยุใดๆ จากชัยฏอนกำลังยั่วยุเจ้าอยู่  ดังนั้นจงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺเถิด  แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้” 

(อัลอะอฺรอฟ : 200) 
 

     11.  ให้ไปพบทันตแพทย์แล้วให้เขาขจัดสิ่งสกปรกและคราบบุหรี่ออกเพื่อเป็นการกำจัดร่องรอยและกลิ่นที่น่ารังเกียจออกไปให้หมดสิ้น  ต่อจากนั้นใช้สิวากหรือแปรงสีฟัน  โดยให้พยายามรำลึกถึงพจนารถแห่งท่านนบีมุฮัมมัด ที่กล่าวว่า

« السواك مطهرة للفم مرضاة للرب»

“สิวาก (การแปรงฟัน) เป็นการทำความสะอาดช่องปาก  เป็นการสร้างความพอพระทัยให้แก่พระผู้อภิบาล”
 

     12.  จงรำลึกเสมอว่าท่านกำลังมีชีวิตอยู่ในเดือนของการถือศีลอด  ด้วยกับเหตุผลดังกล่าวนี้มันจะส่งผลให้ท่านสามารถละทิ้งต่อสิ่งที่ไม่ดีและน่ารังเกียจทั้งหลายแหล่ และการสูบบุหรี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ไม่ดีและเป็นอันตรายซึ่งนับเป็นความจำเป็นที่ต้องละทิ้งมันให้ได้  อัลลอฮฺ ตรัสความว่า 

﴿وَيُحِلُّ لَهُمُ الطَّيِّبَاتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الْخَبَائِث ﴾

“และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งบรรดาสิ่งที่ดีงาม  และจะให้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามแก่พวกเขาซึ่งบรรดาสิ่งที่ชั่วช้า” 

(อัลอะอฺรอฟ : 157)   
 

     13.  พึงรับรู้ไว้เลยว่าส่วนใหญ่จะเกิดอาการเปรี้ยวปากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังจากที่เลิกสูบบุหรี่  ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าในทุกสภาวการณ์ที่มันจะเรียกร้องท่านกลับไปสูบบุหรี่อีก  อาทิ จะเกิดอาการกระวนกระวาย  สับสน  หงุดหงิด  ต้องการเอาใจเพื่อน เป็นต้น  หากเกิดอาการอย่างที่กล่าวมาจงหาวิธีการหรือสื่อที่สอดรับกับสติปัญญาและสอดคล้องกับบทบัญญัติ  เพราะว่าการสูบบุหรี่ไม่สามารถช่วยให้สมองแก้ไขปัญหาอันใดได้เลย  และพึงรำลึกอยู่เสมอว่าผู้ใดที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทรงให้เขามีทางออก  


     14.  จำเป็นที่ท่านจะต้องแยกแยะอย่าหลงประเด็นระหว่างการสูบบุหรี่เป็นการคลายเครียดหรือเป็นความเท่ห์  เพราะผลจากการวิจัยและการค้นคว้าศึกษายืนยันแล้วว่าการสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านเข้าใจ


     15.  ท่านจงรำลึกอยู่เสมอว่าความปรารถนาอย่างแรงกล้าบวกกับความตั้งใจอย่างแน่วแน่  ซึ่งมันปรากฏชัดอยู่ในการถือศีลอดและการงดอาหารการกิน การดื่ม และงดการสนองอารมณ์ใคร่นั้น เป็นตัวช่วยสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้ท่านเลิกสูบบุหรี่  และจะช่วยลดภาวะความต้องการที่จะสูบได้มากทีเดียว  จงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺให้มีความอดทนและจงละหมาด  ท่านอย่าได้ปล่อยให้โอกาสทองสูญหายไปในเดือนรอมาฎอนอันประเสริฐนี้


     16.  หลังจากที่ท่านเลิกสูบบุหรี่ท่านจะมีความรู้สึกกระสับกระส่ายเวลานอน  อ่อนเพลีย  และสับสนวุ่นวาย  ริมฝีปากแห้ง  สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์  เพราะว่าร่างกายยังมีความผูกพันอยู่กับนิโคติน  ดังนั้นจงเอาเวลาส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการผ่อนคลายและอย่ากดดันตัวท่านเองในช่วงเวลานี้  และห้ามดื่มกาแฟ  ชา  หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของก๊าซหรือกาเฟอีนหลังจากละศีลอด  และฝึกฝนด้านอารมณ์ให้รู้จักปล่อยวาง  จงทำร่างกายให้มีความอบอุ่น  และจงปรึกษาแพทย์ในกรณีที่มีความจำเป็น 

         จงขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺต่อการงานอันแสนยากเข็ญนี้ด้วยกับทุกวิธีที่สามารถทำให้ท่านมีความเข้มแข็งขึ้น อาทิเช่น  การสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างดีต่ออัลลอฮฺ  เพิ่มความยำเกรง  ทำอิบาดะฮฺให้มากๆ  หากำลังใจจากสมาชิกในครอบครัว  และด้วยกับการมีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นแน่วแน่


     17.  จงหลีกห่างสถานที่ที่มีการสูบบุหรี่และสถานที่ที่มีผู้สูบบุหรี่อย่างแพร่หลาย  ท่านจงพยายามรำลึกถึงพจนารถแห่งท่านนบีมุฮัมมัด ที่กล่าวว่า

« فمن اتقى الشبهات استبرأ لدينه وعرضه »

 “ดังนั้นผู้ใดที่เฝ้าระวังสิ่งคลุมเครือ  ก็เท่ากับทำให้ศาสนาและเกียรติของเขาบริสุทธิ์”
 

     18. หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งหะลาล(อนุมัติ) แล้วทำไมท่านไม่กล่าวพระนามของอัลลอฮฺบิสมิลลาฮฺ ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มสูบ  ให้เหมือนกับเวลาที่ท่านดื่มสิ่งของที่อัลลอฮฺหะลาลให้ท่าน !


     19.  หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งหะลาล  แล้วทำไมท่านไม่กล่าวสรรเสริญ (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ) หลังจากที่สูบเสร็จ  ให้เหมือนกับเวลาที่ท่านดื่มสิ่งของที่อัลลอฮฺหะลาลให้ !


     20.  หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่เห็นบุหรี่เป็นเนียะมัต (เป็นความโปรดปราน)  แล้วทำไมท่านถึงได้ขยี้มันด้วยกับรองเท้าทุกครั้งหลังจากที่สูบเสร็จ !


     21. หากท่านเห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา แล้วทำไมท่านถึงไม่สูบต่อหน้าพ่อแม่ของท่าน  หรือสูบต่อหน้าเจ้านายในเวลาทำงานหรือที่ทำงานของท่าน !


     22.  หากท่านเห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องสนุกคลายเครียด  แล้วทำไมท่านไม่สอนบุตรหลานของท่านหรือสั่งเสียให้พวกเขาได้สูบมันล่ะ !


     23.  ประการสุดท้ายจงปฏิบัติตามสัญญาของท่านอย่างเข้มแข็งมุ่งมั่น  และจงเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าพระองค์อัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือท่าน  และจงขอดุอาอ์ต่อพระองค์ให้ประทานความสำเร็จให้แก่ท่าน