การเงินอิสลาม ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจอาเซียน
  จำนวนคนเข้าชม  8886

การเงินอิสลาม ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจอาเซียน


นิพล  แสงศรี

 


          ปัจจุบันสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของอุตสาหกรรมการเงินอิสลามทั่วโลก (ล่าสุด)  จะอยู่ที่ 950,000 ล้านดอลลาร์  ขณะที่ขนาดของตลาดพันธบัตรอิสลามทั่วโลกอยู่ที่ 110,000 ล้านดอลลาร์  โดยคาดการคาดการณ์ว่าสินทรัพย์จะพุ่งขึ้น 5 เท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  และแน่นอนส่วนหนึ่งของสินทรัพย์หลายหมื่นล้านดอลลาร์ข้างต้น  กำลังหมุนเวียนอยุ่ในเศรษฐกิจอาเซียน


          การเปิดตัวประชาคมอาเซียน  ซึ่งมีประชากรราว  600  ล้านคน  และ 300   กว่าล้านคนเป็นมุสลิม  เช่น ประเทศอินโดนีเซีย  มาเลเซีย  และบรูไน  เป็นต้น  จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มและเกิดการโยกย้ายทรัพยากรมนุษย์หรือแรงงาน  ทั้งในเชิงรุก  กล่าวคือ  ประเทศไทยสามารถไปทำธุรกิจ  ค้าขาย  และลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้  และเชิงรับ  กล่าวคือ  ประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้ามาทำธุรกิจ  ค้าขาย  และลงทุนในประเทศได้  ซึ่งจะทำระบบการเงินอิสลาม  กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาเซียนทันที


          มีการประเมินสินทรัพย์สหกรณ์  ที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินตามรูปแบบการเงินอิสลามพบว่า  ราว 3,000 ล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในวงจรเศรษฐกิจอาเซียน  8 ประเทศ  ได้แก่  ประเทศอินโดนีเซีย  จำนวน  สหกรณ์  ประเทศบรูไน ดารุสสลาม 1 สหกรณ์ ประเทศสิงคโปร์ 1 สหกรณ์ ประเทศมาเลเซีย  6 สหกรณ์  ประเทศกัมพูชา 2  สหกรณ์  ประเทศเวียดนาม 1 สหกรณ์ ประเทศลาว 1 สหกรณ์ และสหกรณ์อิสลามในประเทศไทย  20  สหกรณ์


          ส่วนธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (Micro Credit) ตามหลัก Ar- Rahnu โดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น  กำลังจะเปิดขยายฐานการเงินอิสลามให้บริการ  736   สาขาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  คิดเงินเป็นมูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์  และจะเพิ่มขึ้นอีกหลังเปิดตัวประชาคมอาเซียน  (Ar-Rahnu มีสำนักงานบริหารจัดการที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2004 / พ.ศ.2547 ปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา และตีมอร์เลสเต้)


          ทั้งนี้ยังไม่รวมสินทรัพย์ของธนาคารอิสลาม  พันธบัตรอิสลาม  และกองทุนอิสลามประเภทอื่นๆในประเทศสมาชิกอาเซียน  ที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า ระบบการเงินอิสลามกำลังแพร่กระจายสู่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10  ประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งมีสินทรัพย์ดำเนินธุรกรรมแบบอิสลามมากขึ้นเท่าใด  ยิ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจอาเซียนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น  ดังนั้นประเทศที่ไม่เคยได้ยินหรือไม่รู้จักระบบการเงินข้างต้น  ควรทำความเข้าใจเพื่อให้ธุรกรรมทางการเงินกับมุสลิมดำเนินไปได้ด้วยดี