มาใคร่ครวญโองการอัลกุรอานกันเถิด
เขียนโดย อับดุรเราะฮฺมาน บินอับดิลลาฮฺ อัลละอฺบูน
อัลกุรอาน คือ กะลามุลลอฮฺ หรือ ถ้อยคำดำรัสของอัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจผ่องแผ้ว ให้ความแจ่มแจ้งแก่สายตาและบำบัดโรคร้ายในหัวอก บุคคลใดอ่านอัลกุรอานอย่างพิเคราะห์ใคร่ครวญ และเข้าใจถึงความหมายของกุรอานอย่างลึกซึ้ง แน่นอนกุญแจหัวใจที่ปิดอยู่ย่อมถูกไขออก จิตใจก็จะมีแต่ความสงบ และนี่เองคือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงเรียกร้องให้เราปฏิบัติ
อัลลอฮฺตรัสว่า
“พวกเขามิได้พิจารณาใคร่ครวญอัลกุรอานดอกหรือ? หรือว่าบนหัวใจของพวกเขามีกุญแจหลายดอกลั่นอยู่”
(ซูเราะฮฺมุฮัมหมัด อายะฮฺที่ 24)
เพราะแท้จริงการได้อ่านถ้อยคำอันดียิ่งของพระเจ้า ย่อมปลุกจิตวิญญาณให้ตื่นจากภวังค์ และเข้าถึงจุดประสงค์และสิ่งที่โองการหมายถึง ดังนั้น จึงทำให้บางคนสามารถเห็นสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายในโองการเหล่านั้น ขณะที่บุคคลอื่นอาจมองไม่เห็น เช่นเดียวกัน มันยังเป็นเสมือนดวงวิญญาณที่เดินทางไปในยามค่ำคืน ขณะที่ร่างกายซึ่งยืนละหมาด(กิยามุลลัยล์) อยู่ท่ามกลางความเงียบสงบยามราตรี เขากลับรู้สึกมีชีวิตชีวาเปลี่ยนให้ความมืดนั้นเป็นรัศมีที่แจ่มจรัสในหัวใจ
เจ้าของดวงวิญญาณนี้ได้รู้จักชีวิตอันประเสริฐบริสุทธิ์ ผู้ที่มีแต่ความรู้สึกเศร้าสร้อยสะเทือนใจ ถึงแม้การประทานโองการอัลกุรอาน (วะฮฺยู)ได้จบสิ้นไปแล้วก็ตาม
ท่านอบูบักร อัศศิดดิก ได้กล่าวต่อท่านอุมัร บินอัลคอฏฏอบ ภายหลังที่ท่านรอซูลได้เสียชีวิต (วะฟาต) ไปแล้วว่า
“จงพาเราไปหานางอุมมุอัยมัน(ผู้เคยเป็นแม่นมของท่านรอซูล) เสมือนดังที่ท่านรอซูลได้ไปเยี่ยมนางอยู่เป็นประจำ”
เมื่อทั้งสองมาถึงเห็นนางร้องไห้อย่างมาก จึงถามว่า “สิ่งใดทำให้ท่านร้องไห้หรือ?”
นางตอบว่า “สิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺ หาใช่ความดีต่อท่านรอซูลหรอก แต่สิ่งที่ทำให้ฉันต้องร้องไห้อยู่อีก ก็คือ การสิ้นสุดของการประทานโองการ(วะฮยู) จากอัลลอฮฺต่างหากเล่า”
คำพูดของนางนั้น ซาบซึ้งใจจนกระทั่งทั้งสองท่านนั้นทนไม่ไหว และได้ร้องไห้ตามนางไปด้วย
เพราะอัลกุรอาน เป็นดั่งคัมภีร์แห่งหัวใจ การอ่านอัลกุรอานเป็นเสมือนสายน้ำที่ให้ความชุ่มฉ่ำแก่ผู้กระหาย จิตใจก็จะรู้สึกชุ่มชื่นขึ้น ดอกไม้แห่งจิตใจจะผลิบานมาเมื่อรับการหลั่งรินของน้ำจากดวงตาในโองการแห่งอัลกุรอานที่มีความหมายบ่งบอกเรื่องราวมากมาย มิใช่เป็นเพียงถ้อยคำสำหรับอ่าน หรือเพียงฟังเสียงเท่านั้น แต่มันคือความหมายที่เข้าถึงภายในหัวใจและทำให้มีความสุขขึ้นได้ ดังนั้น ความสุขและความสงบของหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์นั้นย่อมอยู่ในการอ่าน และการใคร่ครวญความหมายของอัลกุรอานเสมอ และทุกคราที่ความบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อนั้นรัศมีจากพระผู้เป็นเจ้าก็จะเต็มอยู่ในหัวใจ ความรักต่ออัลกุรอานและการปฏิบัติตามก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ ท่านอุษมาน บินอัฟฟาน คอลีฟะฮฺท่านที่ 3 ท่านได้ประจักษ์ถึงความจริงข้อนี้ จึงกล่าวว่า
“หากแม้นหัวใจของพวกท่านทั้งหลาย ถูกจัดให้เป็นแถว(ระดับ) เดียวกัน แน่นอน พวกท่านจะไม่มีวันรู้สึกอิ่มหรือเพียงพอต่อถ้อยคำของพระผู้ทรงสร้าง(กะลามุลลอฮฺ)ได้เลย”
แน่นอนว่า พวกเขาจะเพ่งพินิจโองการเหล่านั้นที่ปลุกเร้าความรู้สึกใฝ่หาในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสัญญาแก่ผู้เชื่อฟังพระองค์จากความสุขอันสถาพรในสรวงสวรรค์ และการได้อยู่ร่วมกับบรรดาชาวสวรรค์ผู้ทรงเกียรติอย่างที่มนุษย์ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
พวกเขาต่างศึกษาเรื่องราวความเป็นไปในอดีตที่ประสบแก่ผู้ที่ล่วงละเมิดและยโสโอหังทั้งหลายไว้เป็นบทเรียน และหลีกห่างจากการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน เมื่อพวกเขาได้อ่านโองการเกี่ยวกับการลงโทษและการทรมานอันแสนเจ็บปวดนั้น
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“หากเราประทานอัลกุรอานนี้ลงมาบนภูเขาลูกหนึ่ง แน่นอนเจ้าจะเห็นมันนอบน้อมแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องเพราะความกลัวต่ออัลลอฮฺ
อุปมาเหล่านี้เราได้ยกมันเปรียบเทียบสำหรับมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้พิจารณาใคร่ครวญ”
(ซูเราะฮฺอัลฮัชรฺ อายะฮฺที่ 21)
โองการนี้ถูกประทานลงมาแก่หัวใจที่ฟื้นขึ้นมาด้วยอีหม่านศรัทธา ดังนั้น มันจึงบังเกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของการใคร่ครวญและความยำเกรงด้วยหัวใจที่มุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ มีชีวิตภายใต้ร่วมเงาแห่งอัลกุรอาน
ท่านวุฮัยบ์ บินอัลวัรด์ กล่าวว่า “เราได้พิจารณาฮะดิษ และคำสอนต่างๆ แล้ว แต่เรายังไม่พบสิ่งใดที่ทำให้จิตใจอ่อนน้อม และเกิดความเศร้าได้มากเท่าการอ่านอัลกุรอาน และการใคร่ครวญอัลกุรอาน” โองการต่างๆ ที่อ่าน ผู้ที่ใคร่ครวญจะต้องหยุดอยู่กับมันเป็นเวลานานเพื่อพยายามเข้าให้ถึงเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนหัวใจที่เผลอเรอย่อมมิอาจเข้าใจได้เลย
บรรดาศอฮาบะฮฺ ต่างยึดถือโองการต่างๆ ของอัลกุรอานด้วยความเชื่อมั่นว่าโองการเหล่านั้นได้เจาะจงพวกเขาก่อนบุคคลอื่น ดังนั้น ในทุกๆ อายะฮฺ ล้วนแต่มีความหมายแฝงเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขาอยู่เสมอ เพราะมันเป็นถ้อยคำขององค์พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลที่ไม่อาจมีความเท็จใดๆ เจือปนอยู่ได้เลย
อัลลอฮฺ ได้ตรัสเล่าถึงพวกเขาเหล่านั้นว่า
“และเมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่รอซูลแล้ว เจ้าก็จะเห็นตาของพวกเขาหลั่งน้ำตาออกมา เนื่องจากความจริงที่พวกเขารู้
โดยที่พวกเขาจะกล่าวว่า โอ้พระเจ้าของพวกข้าพระองค์โปรดจารึกพวกข้าพระองค์ร่วมกับบรรดาผู้กล่าวปฏิญาณด้วยเถิด”
(ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 83)
รายงานจากอนัส กล่าวว่า ท่านษาบิต บินกัยช์ บินซัมมาซ ผู้นี้เป็นถึง “เคาะฎีบ (ผู้อ่านคำเทศนา)” ของชาวอันศอร แต่ต่อมาเมื่ออายะฮฺที่ว่า:
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ยกเสียงของพวกเจ้าเหนือเสียงของท่านนบี”
(คือเมื่อพวกท่านพูดกับท่านนบีจงลดเสียงของพวกท่านให้เบาลง อย่าเปล่งเสียงให้ดังกว่าเสียงของท่านนบี เหมือนกับที่พวกท่านพูดระหว่างกัน และอย่าเรียกท่านด้วยชื่อหรือสมญานามของท่าน)
(ซูเราะฮฺอัลหุญุรอต อายะฮฺที่ 2)
เมื่ออายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาเขามักจะนั่งอยู่แต่ในบ้าน และกักขังตัวเองไว้ไม่กล้าพูดจาขณะที่มีท่านนบีอยู่เบื้องหน้าเหมือนเช่นเคย
จนกระทั่งท่านนบีสงสัยเนื่องจากผิดสังเกต จึงกล่าวถามซะอฺด บินมุอาซ ว่า “เกิดอะไรขึ้นกับษาบิต…? เขาเจ็บป่วยอะไรหรือ….?”
ท่านซะอฺด บินมุอาซ จึงไปเรียกเขามา และเล่าความจริงให้ท่านนบี ฟังว่า “โองการนี้ถูกประทานลงมา ซึ่งพวกท่านทั้งหลายทราบดีอยู่แล้วว่า แท้จริง ตัวฉันนี้แหละคือผู้ที่ส่งเสียงดังที่สุดในหมู่พวกท่าน(เนื่องจากมีฐานะเป็นเคาะฎีบ) เหนือเสียงของท่านรอซูล ดังนั้น ฉันคงต้องตกนรกแน่ๆ เลยเชียว”
ดังนั้น ท่านรอซูล จึงได้กล่าวว่า “ไม่หรอก แต่ทว่า เขาคือชาวสวรรค์คนหนึ่งต่างหาก”
(บันทึกโดยมุสลิม, มิซกาตุลมะศอบีฮฺ, บาบญามิอิลมะนากิบ, จากอนัส, ฮะดิษเลขที่ 6202)
อีกรายหนึ่งจากท่านนาฟิอฺ กล่าวว่า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร เมื่อใดที่ท่านอ่านอายะฮฺที่ว่า:
“ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ? สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการระลึกถึงอัลลอฮฺ และสิ่งที่ถูกประทานลงมาอันเป็นความจริง
และพวกเขาอย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์(อะฮฺลุลกิตาบ)ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเวลาเนิ่นนานเกินไป ดังนั้น จิตใจของพวกเขาก็แข็งกระด้าง
และพวกเขาส่วนมากล้วนเป็นผู้ฝ่าฝืน”
(ซูเราะฮฺอัลฮะดีด อายะฮฺที่ 16)
แล้วท่านก็จะร้องไห้สะอึกสะอื้น
ท่านอัลฮะซัน อัลบัสรีย์ ได้สาบานกับตัวเองต่อการกระทำที่สามารถผูกสัมพันธ์บุคคลที่มีอีหม่านเข้มแข็งและมุ่งมั่นต่อการอ่านพระดำรัสของอัลลอฮฺได้ โดยท่านกล่าวไว้ว่า
“ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ในวันนี้ไม่มีบ่าวคนใดที่อ่านอัลกุรอานแล้วเป็นผู้ศรัทธาต่อมัน เว้นแต่เขาจะมีปฏิกิริยาของการโศกเศร้าเสียใจอย่างมากมาย และลดความสนุกสนานน้อยลง โดยร้องไห้มากขึ้น และลดการหัวเราะลง และมีความเจ็บปวดยุ่งเหยิงมากขึ้น และพักผ่อนหรือทำสิ่งอันไร้สาระน้อยลง”
ใครบ้างที่ไม่เคยกระทำความชั่วเลยในชีวิต? ไม่เคยตกอยู่ในภาวะที่เลี่ยงไม่ได้หรือเคยถลำไปในข้อห้าม ต่อมาซัยฎอนก็ได้ล่อลวงให้เขาชะล่าใจต่อความดีงามที่เคยทำไว้ จนทำให้เขาเห็นความผิดนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อย อันเป็นความรู้สึกประมาทและอันตรายที่สุด เขามิทราบดอกหรือ? สภาพของบุคคลมากมายในอดีตที่พวกเขาต่างเพียรกระทำความดีกันเพื่อเป็นการใกล้ชิดต่อพระเจ้า และได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หลงตนเอง มีความนอบน้อมยอมจำนนต่อพระองค์ ทั้งนี้เพื่อหวังให้พระองค์นั้นทรงรับการภักดีของพวกเขา และขอพระองค์อย่าได้ทรงถือโทษในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการหลงลืมกลายเป็นความชั่วคืนสนองแก่พวกเขาในบั้นปลาย แต่กระนั้น พวกเขายังคงคร่ำครวญและจดจำต่อความผิดพลาดเหล่านั้นอยู่เสมอด้วยความสำนึกที่โศกเศร้าและเจ็บปวด จนบางครั้งสุดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้
บรรดาชาวสลัฟ (บรรพชนมุสลิมยุคต้น) ของเรามีความพยายามอย่างมากเหลือเกินในการปฏิบัติงานทุกรูปแบบเพื่อการภักดี(ฎออัต) และให้ตนเองเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺ พวกเขาได้เสียชีวิตด้วยความหวาดกลัวว่าการงานที่เพียรกระทำนั้น จะไม่เป็นที่ยอมรับจากอัลลอฮฺ ทั้งๆ ที่พวกเขาทำความดีมากมาย ฉะนั้น นับประสาอะไรกับบุคคลที่มีความชั่ว และบกพร่องอยู่อีกมากมายเช่นเรา จะมีความชะล่าใจและคิดว่าปลอดภัยกระนั้นหรือ …?
ในยามที่ “อยู่เดียวดาย” อย่าเข้าใจว่า “อยู่ลำพัง”
จงสำนึกเถิด ทุกขณะนั้นมีผู้เฝ้ามอง อย่าคิดว่าอัลลอฮฺจะทรงหลงลืม หรือสิ่งที่ปกปิดจะลอดเร้น
จงสำนึกเถิด วันคืนผ่านไปอย่างรวดเร็ว แล้วพรุ่งนี้ จะได้พบผู้เฝ้ามอง…
โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงโปรดช่วยเหลือให้เราภักดี(ฎออัต) ต่อพระองค์ และให้เราได้รับทางนำของพระงอค์ และอย่าได้ทรงปล่อยให้เราเผชิญกับชะตากรรมของเราเพียงลำพัง โอ้ผู้ทรงเมตตากรุณา พระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรับการร้องทุกข์เสมอ
ที่มา: หนังสือเมื่อผู้ศรัทธาร้องไห้
แปลโดย นัศรุลลอฮฺ ต็อยยิบ