สังคมมุสลิมที่มอรอคโค
ประเทศมอรอคโค เป็นประเทศหนึ่งที่อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับยุโรปคือ สเปน ที่ครั้งหนึ่ง ณ ดินแดนแห่งนั้น เคย เป็นอาณาจักรอันศิวิไลของมุสลิมเรา จนปัจจุบันวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมยังสะท้อนภาพของชาวตะวันตกมา ประเทศมอรอคโคเป็นประเทศที่ ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม และยึดการปฏิบัตศาสนา ตาม มัสฮับ (ทรรศนะ)ของอีหม่าม มาลิก สำหรับอิหม่ามมาลิกเป็น ผู้หนึ่งที่มีความเคร่งครัดและละเอียดอ่อนทางด้านฟิกฮฺ ทางบัญญัติของศาสนา การเรียน การศึกษาอิสลาม และการปฏิบัติตามหลักการ ถือว่าดีทีเดียว
ระยะเวลาสี่ปีที่ผมได้อยู่ที่นี่ ผมได้รับรู้และมองเห็นอะไรหลายๆอย่าง ทั้งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมในประเทศ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการแต่งกายของคนมอรอคโค ชุดพื้นเมืองของคนที่นี้ ที่ใช้สวมใส่ ตอนละหมาดหรือชุดออกงาน จะเป็นชุดโต๊ปที่มีเอกลักษณ์แท้ๆ คือ ชุดโต๊ปจะมีลวดลายสวยงาม และมีหมวกติดกับโต๊ป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจาก ชุดโต๊ปประเทศ อื่นๆ และมีอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดของคนมอรอคโคสำหรับเครื่องแต่งกาย คือ รองเท้าที่ทำมาจากหนังสัตว์ ลักษณะของรองเท้าจะเป็น หัวปลายแหลม เหยียบส้น เป็นเอกลักษณ์ ของเขาเลยครับ
การศึกษา และวิธีการท่องจำอัลกุรอ่านของคนมอรอคโค
การเรียนอัลกุรอ่านของคนมอรอคโคส่วนมาก เรียนกันที่ มัสยิด โดยเรียนกันตั้งแต่เด็ก ๆเลย จนกระทั่งท่องจำได้แม่นยำและเขียนได้ถูกต้องทั้งหมด ถึงจะถือว่าเป็น ฮาฟิซ (ผู้ท่องจำกุรอ่าน) สำหรับครูที่สอนคืออีหม่ามที่ประจำมัสยิดนั้นๆ ที่คอยดูแลและทดสอบนักท่องจำทั้งหลาย วิธีการท่องจำคือ มีกระดานไม้หนึ่งชิ้น ความยาวและความกว้างพอประมาณใหญ่กว่ากระดานชนวนบ้านเรา เอาง่ายๆ ประมาณได้ว่ากว้างยาวพอๆกับกระเป๋าใส่โน็ตบุค และน้ำหมึกนั้นทำจากขนแกะเกิดจากการเคี่ยวขนแกะ และปากกาที่ทำจากไม้ไผ่ โดยเหลาให้แหลม อุปกรณ์สามชิ้นนี้แหละที่พวกเขานำมาเป็นวิธีการท่องจำกุรอ่าน โดยใช้เขียนและท่องจำไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ลบด้วยก้อนหินชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ลบน้ำหมึกได้ เมื่อสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำ และสามารถเขียนได้อย่างถูกต้อง ครูผู้สอนหรืออีหม่ามที่ประจำตามมัสยิดนั้น ถึงจะให้จบการศึกษาได้ และสำหรับระยะเวลาการศึกษากุรอ่านของพวกเขาขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนด้วย อาจจะห้าปี หกปีหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความจำที่แม่นยำ และสามรถ เขียนได้ถูกต้องทั้งหมด สามสิบ ยุซ ...มาชาอัลลอฮฺ สำหรับนักท่องจำกุรอ่าน ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเกียรติอันมากมาย ทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ
มัสยิดในมอรอคโค เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งด้วย คือ โดม หรือ หออาซาน มีรูปแบบทรงเดียวกันหมดทั้งประเทศเลยทีเดียว เป็นรูปแบบที่คัดลอกมาจาก อูตูบียะฮฺ เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ จากสมัย อันดะลุส สมัยที่อิสลามเคยรุ่งเรือง ประมาณ หกร้อย - เจ็ดร้อยปีก่อน ซึ่งปัจจุบัน คือบริเวณ ประเทศสเปน
ทำนองการอาซาน และทำนองการอ่านอัลกุรอ่าน เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งเช่นกัน คือ ทั้งประเทศยึดทำนองเดียวกันหมด เป็นอะไร ที่น่าภาคภูมิใจ ที่มีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรม แบบนี้ยังคงมีอยู่ในประเทศอิสลาม เอกลักษณ์แบบนี้แตกต่างจากประเทศอิสลามอื่นๆ ไม่ว่าจะป็นการอ่านดุอาร์ การตักบี๊รวันอีด จะอ่านในทำนองของประเทศมอรอคโคเฉพาะของเขา อย่างเห็นได้ชัด ในเทศกาล อีดอัฎฮา สำหรับคนที่มีครอบครัวแล้วถือว่าการทำกุรบานแกะกันทั้งครอบครัวเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับทุกครอบครัว
ระบบการศึกษาวิชาศาสนา ในมหาลัยต่างๆ ของประเทศมอรอคโค การศึกษาระดับชั้นซานาวี หรือระดับมัธยมจะเป็นโรงเรียนของเอกชนเท่านั้น คล้ายๆกับบ้านเรา ....แต่ระดับปริญญาตรีจะเป็นมหาลัยรัฐบาลที่มีบทเรียนสาขาอิสลามศึกษาอยู่ทั่วทุกหัวเมืองใหญ่ๆของประเทศมอรอคโค วิชาสาขาต่างๆที่เรียนสำหรับปริญญาตรีไม่ใช่แค่เรียนเฉพาะเรื่อง แต่จะเรียนทุกหมวดในวิชาศาสนา คล้ายๆ วิชาเรียนระดับชั้นซานาวีในบ้านเราเลย ในระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก จะมีให้เลือกเฉพาะด้าน ตามความถนัด (ด้านศาสนา) ส่วนระยะเวลาการศึกษาในประเทศมอรอคโค ระดับปริญญาตรี ระบบเก่าใช้เวลาเรียนสี่ปี ระบบใหม่สามปีก็จบ สำหรับใครที่เก็บหมดสามารถจบได้ สำหรับปริญญาโท ใช้เวลาสองปี ปริญญาเอก ใช้เวลาสามถึงห้าปี ทั้งสามระดับนี้ล้วนได้รับทุนการศึกษาถ้าสามารถเรียนให้จบได้ในเวลาที่กำหนด
วิถีชีวิตของคนมอรอคโค สามารถประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทำไร่พืชล้มลุก มีการประมงชายทะเล การค้าขาย เลี้ยงแพะ อาหารการกินนั้นจะเป็นขนมปังจากข้าวแป้งสาลีจิ้มแกงเป็นส่วนใหญ่ อาหารหลักจะ มี กุสกุส ตอยญีน ฮะรีเราะฮฺ อาหารว่างจะเป็นพวกชา อาหารการกินที่นี่ไม่ลำบากหากินง่าย ผัก ผลไม้มีเยอะ สภาพอากาศจะหนาวมากกว่าร้อน หน้าหนาวประมาณเจ็ดถึงแปดเดือนและมีหิมะตกตามพื้นที่ราบสูงในบริเวณที่มีสภาพอากาศเย็น มลพิษมีน้อยมาก รถไม่ติด อุตสาหกรรมไม่ค่อยมี ประชากรทั้งประเทศโดยรวม ประมาณ 30 ล้านคน
นาย สุเมธ (ซุเบร) สุคนธา
มหาวิทยาลัย อับดุลมาลิกอัสซะดิฮฺ เมืองเตตรวน ประเทศมอรอคโค
ปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ สาขาอิสลามศึกษา