เป้าหมายการศึกษาของอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  33868

 เป้าหมายการศึกษาของอิสลาม


เขียนโดย อิสมาอีล  กอเซ็ม 


มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ

         การศึกษาหาวิชาความรู้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์  เพราะการอยู่รอดของมนุษย์ไม่ว่ายุคใดก็ตามต้องอาศัยการเรียนรู้ต่อสิ่งที่อยู่รอบข้าง  การพัฒนาในเรื่องของความรู้จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ  ในอดีตการจัดการศึกษาของมนุษย์ถูกจำกัดในวงแคบๆ  ซึ่งต่างกับยุคปัจจุบันที่การศึกษาของมนุษย์ถูกจัดไว้ในหลากรูปแบบ มีโรงเรียนและสถาบันที่ให้ความรู้กับผู้คนมากมาย มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ และเอกชน

         การแข่งขันในเรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้มีโรงงานมากมายเพราะความต้องการในสินค้าของมนุษย์  ปัจจุบันการเปิดหลักสูตรที่ทำการเรียนการสอนได้มีสาขาการเรียนรู้มากมาย และการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยของนักเรียนจึงเป็นความหวังและอนาคตของพวกเขา  ค่านิยมของคนส่วนมากมักจะคิดแค่ว่าเรียนจบแล้วมีงานทำคือเป้าหมายสูงสุด ได้ทำงานและมีรายได้ดีหลังจากที่จบมาแล้ว  จึงต้องเลือกเรียนคณะที่มีงานรองรับ


          นักเรียนจำนวนมากถูกปลูกฝังในเรื่องของการศึกษา ถ้าจะเข้ามหาวิทยาลัยต้องเข้าเรียนคณะที่มีความนิยม  และค่านิยมของคนในประเทศไทยถูกปลูกฝังในเรื่องของการศึกษา ว่าเรียนคณะอะไร จบมาแล้วมีงานอะไรให้ทำบ้าง ? เป้าหมายของคนส่วนมากในการศึกษาคือ จบมาแล้วจะได้มีงานทำ นักเรียนน้อยคนที่จะถูกปลูกฝังในเรื่องการศึกษาเพื่อให้เป็นนักวิชาการ และนำความรู้ที่ได้ศึกษามาค้นคว้าต่อเพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้า  และเรามิได้ปลูกฝังให้นักเรียน เรียนเพื่อให้เป็นคนที่รับใช้สังคม ในด้านที่ตัวเองมีความรู้ และนำความรู้ที่มีมาใช้ประโยชน์กับตัวเองและสังคมมนุษย์

 เจตนารมณ์ที่อิสลามส่งเสริมให้มีการศึกษาเพราะอะไร ? และเป้าหมายการศึกษาของอิสลามนั้นเพื่ออะไร ?


         เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของท่านนบี ท่านถูกส่งมาในยุคที่เรียกว่า ยุคญาฮีลียะห์ (ยุคงมงายอวิชา) คนในยุคนั้นไร้อารยะธรรม ไร้คุณธรรม ใช้ชีวิตที่ไม่มีกฎระเบียบในสังคม มีแต่การเข่นฆ่า การแก้แค้นกันระหว่างเผ่าที่ไม่มีการจบสิ้น มีการเสพดื่มของมึนเมา การผิดประเวณีแพร่หลาย และผู้หญิงถูกเหยียดหยามไม่ให้เกียรติ  เมื่อได้ลูกผู้หญิงจะรู้สึกอับอายเป็นอย่างมาก  จนกระทั่งชนอาหรับในยุคนั้นนิยมฝังลูกผู้หญิงทั้งเป็น  และถูกมองว่าเป็นชนชาติที่ล้าหลัง แต่สังคมอาหรับเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อท่านนบี มูฮัมมัด ได้นำวะยูฮฺจากพระผู้เป็นเจ้ามายังชาวมักกะฮฺ


بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ
اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ * خَلَقَ الْإِنْسَانَ مِنْ عَلَقٍ * اقْرَأْ وَرَبُّكَ الْأَكْرَمُ * الَّذِي عَلَّمَ بِالْقَلَمِ * عَلَّمَ الْإِنْسَانَ مَا لَمْ يَعْلَمْ

1. จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด

2. ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด

3. จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง

4. ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา

5. ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (*1*)

 

(1) ตั้งแต่อายะฮฺที่หนึ่งถึงอายะที่ห้าเป็นอายาตของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรก ขณะที่ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หลบเข้าไปอยู่ในอุโมงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการบูชาเจว็ดของผู้คนในขณะนั้นและเพื่อแสวงหาสัจธรรมในการค้นหาพระเจ้าที่แท้จริง ห้าอายาตของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรกนี้นับได้ว่าเป็นความเมตตา และความโปรดปรานครั้งแรกที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวเป็นการเตือนให้ตระหนักว่ามนุษย์ถูกบังเกิดมาจากก้อนเลือด และด้วยการให้เกียรติโดยทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้และให้วิชาความรู้แก่เขา ซึ่งเป็นปมเด่นที่มนุษย์มีเหนือมะลาอิกะฮฺ

 

         อัลกุรอานอายะห์แรก ซึ่งเป็นพระบัญชาของอัลลอฮฺ ใช้ให้ตื่นตัวในเรื่องของการศึกษาหาวิชาความรู้  ในยุคที่ชาวอาหรับอยู่กับความงมงาย สิ่งที่จะนำพวกเขาออกจากความอวิชา ก็คือการตื่นตัวในเรื่องของการศึกษา และการศึกษาสิ่งแรกคือ ศึกษาในเรื่องของพระเจ้า หมายถึงมุสลิมต้องศึกษาให้รู้จักพระเจ้าของเขาอย่างแท้จริง เพราะเมื่อได้รู้จักพระเจ้าและมีหลักความเชื่อที่ถูกต้อง เขาจะเป็นบุคคลที่สร้างสรรค์สังคม ในจิตใจจะมีแต่ความต้องการที่จะนำสิ่งดีๆ มาสู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน   อิสลามไม่ห้ามศึกษาด้านต่างที่เป็นวิชาการที่มีความรู้  เพราะการศึกษาในทัศนะของอิสลามมีอยู่สองลักษณะด้วยกัน

          1. การศึกษาเป็นข้อบังคับที่ทุกคนต้องเรียนรู้ (ฟัรดูอีน)  การศึกษาที่เกี่ยวกับหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติ เช่นการศึกษารายละเอียดของรุกุนอีมาน การศึกษาหลักการปฏิบัติ เช่น การอาบน้ำละหมาด การเรียนรู้วิธีละหมาด การถือศีลอด และอื่นๆ

          2. การศึกษาที่ไม่บังคับสำหรับมุสลิมทุกคน แต่เพียงพอถ้ามุสลิมคนหนึ่งได้ศึกษา (ฟัรดูกิฟายะห์)  ถ้าหากไม่มีใครศึกษาสักคนเดียว ถือว่ามุสลิมทั้งหมดมีบาป เช่นการศึกษาในอาชีพด้านต่างๆ ที่มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพา  ช่างซ่อม นักวิทยาศาตร์ นักค้นคว้าที่ผลิตสิ่งใหม่ที่นำประโยชน์มายังมวลมนุษยชาติ หมอ ทหาร ตำรวจ และอีกมากมายที่จำเป็นต่อสังคม


          ดังนั้นความเข้าใจของผู้คนที่พยายามมาแยกความรู้ ในเรื่องศาสนาและความรู้ทางโลกออกจากกันเป็นความเข้าใจที่ผิด  เนื่องจากความรู้ทุกอย่างที่เรียนแล้วสามารถนำประโยชน์ยังมวลมนุษย์ถือว่าเป็นความรู้ที่อิสลามส่งเสริม และถ้าผู้เรียนมีเจตนาเพื่อนำความรู้มาช่วยเหลือด้านศาสนาเขาก็มีผลบุญ  แต่ความรู้ที่เกี่ยวกับหลักศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า  และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัตินั้นเป็นความรู้ที่จำเป็นต้องเรียน  ถ้ามุสลิมลำดับความสำคัญในการศึกษาแน่นอนความดีอีกมากมายจะเกิดในสังคมมุสลิม 

         การจัดการศึกษาของอิสลามในอันดับแรกคือ หลักคุณธรรม และคงไม่มีคุณธรรมในข้อใดที่ดีที่สุดเท่ากับการรู้จักพระเจ้า และรู้ถึงหน้าที่ของบ่าวที่มีต่อพระเจ้า  และเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีมุสลิมจำนวนมากลำดับความสำคัญที่ผิดพลาด หลายคนมองข้ามเรื่องนี้ไป มุสลิมจำนวนมากที่เติบโตมาเพียงชื่ออย่างเดียวโดยที่ความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติในเรื่องศาสนาไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นมุสลิมเลย  อิสลามไม่ได้ห้ามในการประกอบอาชีพรับราชการ เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ แต่ทุกอย่างที่กล่าวมาต้องควบคู่ไปกับสิ่งที่อิสลามต้องการ  พ่อค้าที่มีความรู้ในเรื่องศาสนาแน่นอนเขาไม่คดโกง ครูสอนนักเรียนที่เข้าใจอิสลามเขาจะเป็นครูที่มีคำสอนที่ควบคู่กับแบบอย่างที่ดี และจะได้รับความดีอีกมากมายหากนำอิสลามมาใช้ในชีวิตจริง

 


          ประการแรกที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้คือ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อเพื่อให้เราได้ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า  และเพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้  มีมุสลิมมากมายที่ปัจจุบันที่ยังไม่ได้เข้าใจศาสนาของตัวเอง เพราะมุสลิมถูกทำให้เข้าใจผิดในเรื่องของการศึกษาโดยมีการแยกวิชาการศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ออกจากกัน วิชาการทุกแขนงเป็นเรื่องที่อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมต้องเรียนรู้แต่ไม่ได้เป็นภาคบังคับ  สำหรับเรื่องการปฏิบัติในหลักการศาสนานั้นเป็นภาคบังคับที่ทุกคนต้องเรียนรู้ 

          หากเรากลับไปดูนักวิชาการในอดีตที่ผ่านมาหลายร้อยปี จะพบว่าพวกเขาไม่ได้แยกวิชาความรู้ในด้านต่างๆออกจากกัน  บางคนเป็นนักรายงานหะดีษ แต่มีความรู้ในเรื่องการแพทย์ ประวัติศาสตร์ และการอรรถาธิบายอัลกุรอาน เช่น ท่าน อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะห์ และอีกมากมายจากนักวิชาการในอดีต  ดังเช่นคนในยุคของท่านนบีและในยุคของอัตตาบีอีนและกลุ่มคนที่มาหลังจากพวกเขาที่ท่านนบีศอลลัลลอฮู อะลัยอิวะซัลลัมได้รับรองว่าเป็นยุคที่ดีที่สุด เป็นยุคที่พวกเขาเคร่งครัดในหลักการศาสนากว่าพวกเรา แต่เขาตื่นตัวการศึกษาในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในทางศาสนาและความก้าวหน้าทางโลกดุนยา และความเจริญที่ค้นพบไม่ได้ทำให้เขาลืมอัลลอฮฺและทิ้งศาสนาของพวกเขา

         มุสลิมในยุคปัจจุบันต้องกลับไปดำเนินตามคนในยุคอดีตที่ผ่านมา กลับมาเริ่มตนปลูกฝังศาสนาให้กับลูกหลานอันดับแรก หลังจากนั้นเขาจะเรียนรู้อะไรก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรียนรู้หลักอากีดะห์ที่มีต่อพระเจ้าแน่นอนลูกหลานของเราจะดีด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ  แนวคิดที่พยายามแยกศาสนาออกจากการดำเนินของชีวิตของมนุษย์ โดยให้คนเข้าใจว่าศาสนานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในด้านต่างๆ มันเป็นความคิดที่บรรดาชาติตะวันตกที่ล่าอาณานิคมในประเทศอิสลาม และพวกเขาได้วางโครงสร้างหลักสูตรใหม่ในการศึกษาให้กับมุสลิม คือ พยายามแยกศาสนาออกจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ว่า เรื่องการค้าขาย การเมืองการปกครอง และการศึกษาทางโลกจะทำให้ผู้คนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี พยายามทำให้คนที่ศึกษาเข้าใจว่าการศึกษาทั้งสองอย่างนั้นไม่มีความสัมพันธ์กัน ทำให้คนสนใจศาสนาอยากจะเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่ และทำให้คนที่เรียนวิชาการสมัยใหม่ไม่สนใจศาสนา เลยทำให้สังคมมุสลิมตกต่ำดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 


          ดังนั้นคนรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนทัศนะคติในการศึกษา ก่อนที่เราจะไปเรียนด้านใดเราต้องเรียนเรื่องที่ทำให้เรารู้จักพระเจ้า และหลักการศรัทธาของศาสนาเสียก่อน แน่นอนหากเราทำได้เช่นนั้นเราจะไม่หลงผิด และจะทำให้เรามีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า

 

 


วัลลอฮูอะลัม