3 เสบียง สู่รอมาฎอน
เขียนโดย มูฮัมหมัด อับดุฮฺ ฏัวซิกัล
รอมาฎอนถือเป็นเดือนที่ประเสริญอย่างยิ่งในอิสลาม เพราะเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา และยังมีความประเสริฐต่างๆอีกมากมายที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ ในการที่เรานั้นจะแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺในเดือนรอมาฎอนนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเตรียมเสบียงต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมสู่รอมาฎอน ขอนำเสนอ 3 เสบียงสู่รอมาฎอน ดังนี้
1. ความรู้
ความรู้ ถือเป็นเสบียงที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะนำมาซึ่งการตอบรับจากอัลลอฮฺในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆในเดือนรอมาฎอน ท่านอุมัร บิน อับดุลอะซีซ ได้กล่าวว่า
مَنْ عَبَدَ اللهَ بِغَيْرِ عِلْمٍ كَانَ مَا يُفْسِدُ أَكْثَرَ مِمَّا يُصْلِحُ
“ผู้ใดที่ทำศาสนกิจต่ออัลลอฮฺ โดยไม่มีความรู้ แน่นอนเขาย่อมได้รับความเสียหาย มากกว่าได้รับความดีงาม”
(อัลอัมรู บิลมะอฺรูฟ ของ อิบนุตัยมียะฮฺ หน้า 15)
หากไม่มีความรู้ในหลักการสิ่งต่างๆที่ทำให้บุญผลเสียหายในการถือศีลอด ย่อมทำให้การถือศีลอดไม่สมบูรณ์ และหากเป็นเช่นนั้นย่อมทำให้ผลบุญอันมากมายที่เราจะได้รับจากการถือศีลอดนั้นเสียหายไปด้วย และการถือศีลอดที่ไม่มีความรู้จะไม่ได้รับอะไรเลยนอกจากความหิว และความกระหาย เช่นเดียวกับศาสนกิจอื่นๆที่ทำในเดือนรอมาฏอน เช่น การละหมาดกิยามุลลัย การอ่านอัลกุอาน ศาสนกิจต่างๆ ล้วนแล้วต้องใช้ความรู้ในการปฏิบัติ และในการทำศาสนกิจบางอย่าง ที่ไม่มีตัวบทจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ ก็ย่อมเป็นสาเหตุที่จะทำให้อัลลอฮฺไม่ตอบรับการงานของเรา
เพราะการปฏิบัติศาสนกิจนั้นจำเป็นที่จะต้องมี 2 เงื่อนไขด้วยกัน คือ บริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบี ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ก็ต้องอาศัยความรู้ในการที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านั้น
2. ขออภัยโทษให้มากๆ
การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺให้มากๆ ก่อนเข้าสู่รอมาฏอนนั้น ถือเป็นคำสอนของบรรดาอุลามาอฺสะลัฟฟุศศอลิหฺ เพื่อที่ว่าให้เดือนรอมาฏอนเราจะได้เป็นบุคคลที่มีความประเสริฐยิ่งขึ้นอันเนื่องจากเป็นผู้ที่ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ และจงรำลึกถึงคำสอนต่างๆของเหล่าอุลามาอฺสะลัฟฟุศศอลิหฺ เกี่ยวกับการอภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เช่นอิมาม อิบนุ กะซีร ได้กล่าวว่า
“จงห่างไกลจากบาปในเวลานี้ จงเสียใจและขออภัยในบาปที่ผ่านมา และจงตั้งใจที่จะไม่ทำบาปในเวลาหน้า
และหากบาปนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิของมนุษย์ ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องไปขออภัย”
(ตัฟซีรอัลกุรอานนุลอะซีม 14:16)
นี่คือ การขออภัยโทษที่มีความจริงจังและจริงใจ(เตาบาตันนาซูฮา) ซึ่งเป็นการขออภัยโทษที่ สวยงามและได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ส่วนหนึ่งจากบทขอพรที่ถูกถ่ายทอดจากท่านนบี ในเรื่องของการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ คือ
اللَّهُمَّ اغْفِرْ لِى خَطِيئَتِى وَجَهْلِى وَإِسْرَافِى فِى أَمْرِى وَمَا أَنْتَ أَعْلَمُ بِهِ مِنِّى
“โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์อภัยโทษความผิดพลาดของข้าพระองค์ ความโง่เขลาของข้าพระองค์
และการงานของข้าพระองค์ที่ละเมิดขอบเขต และสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงรู้ยิ่งมากกว่าข้าพระองค์”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 6398 และมุสลิม หะดีษที่ 2719 )
3. การขอให้อัลลอฮฺประทานความง่ายดาย
การขอพรให้อัลลอฮฺ ประทานความง่ายดายในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆในเดือนรอมาฎอน ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมเสบียงสู่รอมาฎอน เพราะสิ่งต่างๆนั้นล้วนเป็นไปตามความประสงค์ของอัลลอฮฺดังนั้นมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างที่อ่อนแอ จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาและมอบหมายตัวต่ออัลลอฮฺในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆในเดือนรอมาฎอน
การขอพรให้อัลลอฮฺทรงประทานความง่ายดายในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆในเดือนรอมาฎอน เช่น การขอให้การถือศีลอดมีความสมบูรณ์ การขอให้มีความสามารถในการยืนละหมาดช่วงเวลากลางคืน การขอให้อ่านอัลกุรอานให้จบในเดือนรอมาฎอน การขอให้มีความสามารถในการบริจาคทรัพสินเพื่ออัลลอฮฺ เป็นต้น
ส่วนหนึ่งจากบทขอพรเพื่อขอให้อัลลอฮฺทรงประทานความง่ายดายในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆในเดือนรอมาฎอน คือ
اللَّهُمَّ لاَ سَهْلَ إِلاَّ مَا جَعَلْتَهُ سَهْلاً وَأَنْتَ تَجْعَلُ الحَزْنَ إِذَا شِئْتَ سَهْلاً
“โอ้อัลลอฮฺ จะไม่มีความง่ายดาย นอกจากพระองค์จะให้ความง่ายดายเกิดขึ้น
และพระองค์ทรงให้ความเศร้าโศก ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงประสงค์มันย่อมเป็นสิ่งที่ง่ายดาย ”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยอิบนุ หิบบาน3:255 และอิบนุซซูนี ในหนังสือ”อะอฺมาลยัววะลัยละหฺ” )
اللَّهُمَّ إِنِّى أَسْأَلُكَ فِعْلَ الْخَيْرَاتِ وَتَرْكَ الْمُنْكَرَاتِ
“โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานความง่ายดายในการประกอบสิ่งดีงาม และห้ามปราบความชั่วร้าย”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยติรมีซีย์ หะดีษที่ 3233 และศอหี้หตามทัศนะของเชค อัลบานีย์ )
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอัลลอฮฺจะทรงให้รอมาฎอนของเราในปีนี้ เป็นรอมาฎอนที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา และมาร่วมกันต้อนรับรอมาฏอนอันประเสริฐด้วยการแสวงหาความรู้ ขออภัยโทษ และขอพร เพื่อที่ว่ารอมาฎอนของเราจะเป็นเดือนแห่งการแสวงหาความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ
แปลโดย มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์