ค่าของคนอยู่ที่คุณภาพของงาน
อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง
เมื่อเราได้ศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิตของท่านเราะสูลซึ่งในภาษาอาหรับเราเรียกว่า “สีเราะฮ์ นะบะวิยะฮ์” เราจะพบว่าท่านเราะสูล
ได้ให้ความสำคัญและเน้นคุณภาพ ไม่ได้เน้นที่ปริมาณของงานนั้นๆ บรรดาและเคาะลิฟะฮ์ทั้ง 4 ท่านและบรรดาเศาะหาบะฮ์ รุ่นแรก ๆได้เจริญรอยตามสุนนะฮ์ของท่าน อย่างเคร่งครัด
ท่านอุมัร อิบนุ คอฎฎอบให้ความสำคัญถึงคุณภาพของงานและมั่นใจว่าคุณภาพต้องมาก่อนปริมาณ มีรายงานว่าวันหนึ่งท่านนั่งพูดคุยกับเพื่อน ๆในเชิงหยอกล้อกันว่า
“จงบอกความฝันของแต่ละคนซิ”
คนหนึ่งกล่าวว่า ฉันหวังที่จะได้เงินเต็มบ้าน แล้วฉันจะได้จ่ายมันในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์
อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ฉันหวังที่ได้ทองเต็มบ้าน แล้วฉันจะได้จ่ายมันในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์
แต่ตรงกันข้าม ท่านอุมัรไม่ได้ฝันเหมือนกับเพื่อนทั้งสองฝัน
อุมัรกล่าวว่า ฉันฝันที่จะให้บ้านนั้นเต็มด้วยชายที่เหมือนกับ อบู อุบัยดะฮ์ อิบนุ ญัรรอห์ , มุอาซ์ อิบนุ ญะบัล ,และสาเล็มเมาลา อบูฮุซัยฟะฮ์
ปัจจุบันมุสลิมมีปริมาณในด้านจำนวนมาก แต่ปริมาณในเรื่องคุณภาพยังไม่เด่นและยังไม่มากเหมือนจำนวนปริมาณ สภาพของมุสลิมในสังคมทุวันนี้เสมือนกับสภาพที่ท่านเราะสูล เคยเป็นห่วงเป็นใยตั้งแต่ 1400 ปีมาแล้ว ซึ่งตอนนั้นท่านได้กล่าวว่า
يوشَكُ أن تَتَداعَى عليْكُمُ الأُمَمُ من ِّ كلِّ أُفُقٍ كما تَداعَى الأكَلَةُ إلى قصْعَتِها ، قالوا : أَ مِن قلَّةٍ نحْنُ يومَئِذٍ يا رسولَ الله ؟ قال : بل أنتُم كثيرٌ ، ولكنَّكم غُثاءٌ كغناءِ السَّيْلِ ، ولَينْزِعَنَّ الله من صُدورِكم المهابَةَ ولَيقْذِفَنَّ في قلوبِكم الوهْنَ ، قالوا : وما الوهْنُ يا رسولَ الله ؟ قال : حبُّ الدنيا وكراهيةُ الموتِ . (رواه الإمام أحمد وأبو داود)
“ฉันกลัวว่าสักวันหนึ่งจะมีประชาชาติอื่นจากทุกสารทิศมารุมล้อมพวกเจ้าเสมือนกับบรรดาผู้หิวโหยกำลังล้อมรอบสำรับอาหาร
บรรดาเศาะหาบะฮ์ จึงตกใจ เลยถามว่า เพราะวันนั้นพวกเรามีจำนวนน้อยกระนั้นหรือโอ้ท่านเราะสูล
ท่านนบี ตอบว่า พวกเจ้าวันนั้นมีจำนวนมาก แต่พวกเจ้าจะอ่อนแอเหมือนกับฟองน้ำ พระองค์อัลลอฮ์
จะทรงถอดความเกรงขามออกจากหัวใจของพวกเจ้า และพระองค์จะทรงทดแทนด้วย “ความอ่อนแอ”
บรรดาเศาะหาบะฮ์ ได้ถามว่า “ความอ่อนแอ” ในที่นี้หมายถึงอะไร
ท่านนบี ตอบว่า “ความรู้สึกรักในดุนยานี้และเกลียดกลัวความตาย”
จากหะดีษนี้สอนให้เรารู้หลายประการ ดังนี้
1. จำนวนคนที่มากมายไม่ได้ประกันถึงความสำเร็จและชัยชนะ แต่ต้องเสริมด้วยคุณภาพ จำนวนคนที่มากมายไม่ยังประโยชน์อะไรหากมีความอ่อนแอภายใน จำนวนคนที่มากมายแต่ไม่มีคุณภาพเหมือนกับฟองน้ำที่ไม่มีค่าและไม่มีน้ำหนักอะไรเลย เพียงแต่ลอยตามกระแสน้ำโดยปราศจากเป้าหมาย
2. คำว่า”ประชาชาติที่มีจำนวนมาก” ในที่นี้อาจให้ความหมายว่า ประชาชาติที่อยู่ในดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล มีร่างกายที่กำยำแข็งแกร่ง มีอายุยาวนาน เป็นต้น
3. ค่าของคนในสังคมอยู่ที่สติปัญญาและจิตใจ เราจะวัดค่าของมนุษย์ได้ด้วยการวัดที่ความรู้ สติปัญญาและความศรัทธาในอิสลาม การงานในอิสลามมิได้วัดด้วยรูปแบบของงานและจำนวนของงาน แต่พระองค์อัลลอฮ์ จะวัดด้วยคุณภาพของงาน ซึ่งสรุปได้จากอายะฮ์ที่ว่า
الَّذِي حَلَقَ الموتِ والحياةَ لِيبْلُوَكم أيُّكم أحْسَنُ عملاً (الملك/2)
“พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็นเพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง”
4. ค่าของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่การมีชีวิตที่ยาวนาน มนุษย์อาจจะอายุยืนนาน แต่ไม่มีความจำเริญ บางคนอายุสั้นแต่มีความจำเริญ
- หากพิจารณาชีวิตของ ท่านเราะสูล ท่านใช้เวลาเพียง 23 ปี ก็สามารถสถาปนาศาสนาขึ้นมา ใช้เวลาที่มีอบรมเยาวชนให้เป็นประชาชาติที่ดีที่สุด สามารถก่อตั้งรัฐที่ถือว่าเป็นรัฐที่ยึดความยุติธรรมได้ดีที่สุด
- จงพิจารณาชีวิตของท่าน อบู บักร ใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ครึ่ง ท่านสามารถพิชิตผู้ที่อ้างตนเป็นนบี ผู้ที่ไม่ยอมจ่ายซะกาต และทำให้มนุษย์ยอมรับว่าเป็นรัฐที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ยากจน
- จงพิจาณราดูชีวิต อุมัร อิบนุ คอฎฎอบ เคาะลิฟะฮ์ที่ 2 ได้ส่งกองทัพไปเปิดประเทศใหม่ ๆทางด้านเปอร์เซียและโรมัน
- จงพิจารณาดูชีวิตของ อุมัร อิบนุ อับดุลอะซีซ เคาะลีฟะฮ์บะนี อุมัยยะฮ์คนที่ 8 มีเวลาในการบริหารประเทศเพียง 30 เดือน ได้สถาปนาความยุติธรรม ทำให้ชีวิตทุกชีวิตมีความปลอดภัย รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น
- จงพิจารณาดูชีวิตของ อิหม่ามซาฟิอีย์ มีอายุ 54 ปี แต่ผลงานด้านวิชาการ แต่งตำราเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นหลังเป็นอย่างดี
- จงพิจารณาดูชีวิตของ อิหม่ามนะวะวีย์ มีอายุเพียง 45 ปี แต่ผลงานด้านการเขียนตำราวิชาหะดีษและฟิกฮ์เป็นที่ยอมรับมากมาย เช่น หนังสือหะดีษ 40 หะดีษ คำอธิบายหะดีษของอิหม่ามมุสลิม ตำรามินฮาดและมัจญ์มุอ์ในวิชาฟิกฮ์ เป็นต้น
"ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน" ถ้าผลงานไม่มีคุณภาพ แล้วคนๆนั้นจะมีค่าอะไร ! พวกท่านจงพิจารณาดูชีวิตของตนเองที่ผ่านมาว่าได้ทำอะไรที่ดี ๆ ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงบ้าง หรือต่อจากนี้พวกเราจะทำอะไร ? เพื่อประโยชน์สุขของสังคมมุสลิม เพื่อศาสนาอัลอิสลาม