อิสลามกับความหลากหลายของมุสลิม : แตกต่างแต่ไม่แตกแยก
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
คำนำ ( Introduction )
โลกมุสลิมปัจจุบันประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธ์ แต่ละเชื้อชาติและเผ่าพันธ์ต่าง มีภาษา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นของตนเอง ธรรมชาติของการแตกต่างเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้า(อัลลอฮุ์)ทรงเป็นผู้กำหนด และในขณะเดียวกันพระองค์ทรงเป็นผู้วางกฎเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมของความหลากหลายอย่างสันติ กฎดังกล่าวนั้นคือ “อิสลาม”
ความหมายของอิสลาม ( The Meaning of Islam )
“อิสลาม” เป็นศัพท์ภาษาอาหรับ แปลว่า การยอมจำนนการนอบน้อมยอมตนต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง ผู้ใดปฏิบัติเช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม ซึ่งใช้เรียกสำหรับชาย และมุสลิมะฮ์ที่ใช้เรียก สำหรับผู้หญิง ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลับฮิวะซัลลัม) ได้อธิบายคำว่าอิสลาม ในหะดีษบทหนึ่งความว่า
“อิสลาม คือ การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้า ที่ถูกกราบไหว้โดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ์ และมูฮัมหมัด ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสนทูตของพระองค์ และคือการดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การทำฮัจญ์ ณ บัยตุ้ลลอฮ์ และการถือศีลอด ในเดือนรอมาฎอน”
บันทึกโดย อิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิม
นอกจากนั้นคำว่าอิสลามยังสามารถอธิบายในความหมายอื่นๆ อีก เช่น
ก. ระบอบแห่งการดำเนินชีวิต ของมนุษย์อันสมบูรณ์แบบที่พระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) เป็นผู้ทรงกำหนด โดยผ่านท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮวะซัลลัม)
ข. ประมวลกฏหมายที่อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงให้มีบัญญัติคลอบคลุมทั้งหลักศรัทธา จริยธรรม นิติธรรม การประกอบศาสนกิจและการอยู่ร่วมกัน ในสังคมโดยมีท่านศาสดาเป็นผู้ได้รับบัญชานำมาเผยแผ่แก่มนุษยชาติ
ค. ประมวลคำตอบอันถูกต้องและเป็นสัจจะต่อคำถามของมนุษย์ทั้งอดีตและปัจจุบันคือ เขามาจากไหน? เขามาเพื่ออะไร? และเขากำลังไปไหน?
การให้ความหมาย “อิสลาม”ว่าหมายถึง “ความสันติ”นั้นเป็นการให้ความหมายในเชิงภาษาศาสตร์สามารถ นำมาอธิบายอิสลามได้ เนื่องจากความสันตินั้นจะเกิดขึ้นจาก การมอบหมายตนเองอย่างสิ้นเชิง ยังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์)
สิ่งที่ยังมีหลายคนเข้าใจผิดก็คือ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาใหม่ที่มูฮำหมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)เป็นผู้นำมาในคริศตวรรษที่7 ณ คาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งจริงๆแล้วมิใช่เช่นนั้น เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่อัลลอฮ์ประทานให้แก่ศาสดาอาดัม ( อะลัยฮิสลาม ) ซึ่งเป็นมนุษย์และเป็นศาสดาคนแรกของอัลลอฮ์ และอิสลามคือศาสนาของศาสดาทุกคน ที่อัลลอฮ์ส่งมาสู่มวลมนุษยชาติ ศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสดาคนสุดท้ายของอัลลอฮฺ อิสลามจึงเป็นศาสนาของอัลลอฮ์ที่ได้นำมากล่าวถึงอีกในรูปแบบสุดท้าย ซึ่งเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุด
คุณลักษณะพิเศษของอิสลาม (Characteristics of Islam)
อิสลามมีคุณลักษณะพิเศษหลายประการดังจะกล่าวพอสังเขป ดังต่อไปนี้ คือ
คุณลักษณะประการที่ ๑ แหล่งที่มาของอิสลาม
อิสลามมีแหล่งที่มาจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงสร้างมวลมนุษย์และทรงกำหนดอิสลาม ให้เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิต อิสลาม จึงมีความแตกต่างกับระบบอื่นๆอย่างสิ้นเชิง เพราะระบบที่มาเหล่านั้นล้วนมีที่มาจากมนุษย์ผู้ถูกสร้างทั้งสิ้น
ผลจากที่อิสลามมีแหล่งที่มา จากพระผู้เป็นเจ้านี้เองอิสลามจึงมีเอกลักษณ์ ดังต่อไปนี้
ก. มีความสมบูรณ์ ไร้ข้อบกพร่องทั้งปวง
ข. มีความเหมาะสมกับทุกกาลสมัย
ค. มีพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่จากผู้ยึดถือปฏิบัติ ( มุอฺมิน )
คุณลักษณะประการที่ ๒ ขอบข่ายของอิสลาม (Intrusive Doctrine of Islam)
อิสลามครอบคลุมทุกกระบวนการของชีวิตมนุษย์
บทบัญญัติของอิสลามนั้นครอบคลุมหลักต่างๆดังต่อไปนี้คือ
1. หลักที่เกี่ยวข้องกับ การเชื่อ การศรัทธา (อะกีดะฮ์)
2. หลักที่เกี่ยวข้องกับ จริยธรรม (อัคล๊าก)
3. หลักที่เกี่ยวข้องกับ การจัดระบบความสัมพันธ์ ระหว่าง มนุษย์กับพระเจ้า หรือ ศาสนพิธี (อิบาดะห์)
4. หลักที่เกี่ยวข้องกับ การจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งมีอยู่หลายประเภทดังนี้
4.1 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ครอบครัว เช่นการแต่งงาน การหย่าร้าง ค่าเลี้ยงดูบุตร และมรดกฯลฯ หรือที่เรียกในสมัยปัจจุบันว่า กฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล
4.2 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการดำเนินธุรกิจ (มูอามะล๊าต) หรือ ที่เรียกโดยทั่วไปว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
4.3 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความหรือที่เรียก ในสมัยปัจจุบันว่า กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความ
4.4 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ คนต่างด้าวที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศมุสลิม
4.5 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในยามสงบและในยามสงคราม
4.6 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง รัฐ และการเลือกผู้นำ
4.7 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ การเงิน และ การคลังของรัฐ
4.8 บัญญัติที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและการลงโทษทางอาญา
คุณลักษณะประการที่ 3 ความเป็นสากลของอิสลาม (The Universal of Islam)
อิสลามมีความเป็นสากล มิได้จำกัดเฉพาะประชาชาติใดประชาชาติหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งมิได้จำกัดเวลาและสถานที่ ผู้ใดก็ตามไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ หนใดเวลาใดในโลกนี้ เขาก็สามารถเป็นมุสลิมผู้ปฏิบัติตามอิสลามได้ ทั้งนี้ เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)นั้น ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นศาสดาแห่งมวลมนุษยชาติ ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกรุอานความว่า
“(มูฮัมหมัด) จงกล่าวเถิดว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงฉัน คือ ศาสนทูต ของอัลลอฮ์ มายังพวกท่านทั้งมวล”
(อัลกุรอาน บทที่7 ส่วนหนึ่งของอายะฮ์ที่ 158)
คุณลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้อิสลามเป็นระบอบ
ก. มีความเป็นอมตะไม่มีการยกเลิกแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น แม้เวลา จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
ข. มีความเหมาะสมกับทุกกาลสมัย มนุษย์ทุกยุคทุกสมัย สามารถนำระบอบอิสลาม มาใช้เพื่อบรรลุสู่คุณประโยชน์และความดีงาม
ค. มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของบุคคล ไม่มีนักบวช ไม่มีฆราวาสเพราะทุกคนเท่าเทียมกันในการปฏิบัติตามบทบัญญัตติของศาสนา
คุณลักษณะประการที่ 4 การตอบแทน ( The Reward )
อิสลามมีระบบการตอบแทนที่เป็น ทวิภาค คือ
1. การตอบแทนชีวิตในโลกนี้
2. การตอบแทนชีวิตในโลกหน้า
มนุษย์ทุกคนต้อง ได้รับการตอบแทนตามพฤติกรรม ของตน โดยที่เขาไม่อาจหลบหนีได้ จริงอยู่มนุษย์อาจหลบหนีจากการลงโทษในโลกนี้ได้ แต่เขาจะต้องรู้ว่าการลงโทษในโลกหน้านั้นกำลังรอเขาอยู่
ขอบข่ายของการตอบแทนในอิสลามนั้นกว้างและครอบคลุมทุกกระบวนการของชีวิตไม่ว่า จะเป็นการยึดมั่น จริยธรรม พิธีกรรมทางศาสนาและการประกอบธุรกิจต่างๆ ถ้าเขาฝ่าฝืนบทบัญญัติในเรื่องราวเหล่านี้แล้วเขาก็ต้องได้รับการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน
คุณลักษณะประการที่ 5 ความเป็นธรรมชาติในคำสอนของอิสลาม (The nature of Islamic Instruction)
อิสลามเป็นคำสอนที่อยู่ในสายกลางไม่มีลักษณะสุดโต่งหรือหย่อนยานสอดคล้องกับธรรมชาติและความเป็นจริงเสมอ ถือว่าการบรรลุจุดสูงสุดของความดีนั้นไม่จำเป็นต้องฝืนธรรมชาติด้วยการตัดกิเลสตันหา หรือทรมานร่างกาย แต่สามารถบรรลุได้ด้วยหนทางที่เป็นธรรมชาติซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้กำหนด
จากการคำนึงถึงธรรมชาติและสภาวะความเป็นจริงของมนุษย์ อิสลามกำหนดมาตรฐานของบุคคลไว้ 2 มาตรฐาน คือ
มาตรฐานที่ 1 : การปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลามอย่างเคร่งครัดทั้งภาคบังคับ (วายิบ) และไม่บังคับแต่ควรปฏิบัติ (ซุนนะฮฺ) และออกห่างจากสิ่งที่อิสลามห้าม บัญญัติทั้ง 2 ประเภท คือ ห้ามเด็ดขาด (ฮะรอม) และควรหลีกเลี่ยง (มักรูฮฺ) มาตรฐานนี้ถือเป็นมาตรฐานที่สูงสุดที่อิสลามต้องการให้มนุษย์บรรลุถึง แต่เนื่องจากมนุษย์มีสภาวะของความพร้อมที่แตกต่างกัน อิสลามจึงกำหนดมาตรฐานที่สองซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่มนุษย์พึงบรรลุถึงได้ นั้นคือ
มาตราฐานที่ 2 : การปฏิบัติสิ่งที่อิสลามบังคับใช้ (วาญิบ) และออกห่างจากสิ่งที่อิสลามบัญญัติห้ามอย่างเด็ดขาด (ฮะรอม) บุคคลใดที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานที่หนึ่งและที่สอง ถือว่าบุคคลนั้นตกจากมาตรฐานที่อิสลามกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตตามครรลองของอิสลามนั้น อิสลามให้ยึดหลักสองประการ คือ
๑. ความสมดุล : หมายถึงไม่เลยเถิดจนเกินขอบเขต และไม่ประมาทจนเลินเล่อ แต่ให้อยู่ในความพอเพียง
๒. ครอบคลุม : หมายถึง ต้องครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านส่วนตัว ครอบครัวและสังคม ไม่เน้นด้านหนึ่งด้านใดเป็นการเฉพาะ
อ่านต่อตอนที่ 2 >>>Click