เอกลักษณ์เฉพาะของจริยศาสตร์อิสลาม
โดย อิจรลาลีย์
ตัวอย่างสำนึกจริยธรรม
1. ท่านอบูบักร ไม่เคยดื่มสุราเลยสักครั้งเดียว ครั้งหนึ่งมีผู้ถามท่านว่า ในสมัยญาฮิลียะฮฺ ( ยุคก่อนอิสลาม ) ท่านหลีกเลี่ยงจากการดื่มสุราได้อย่างไร?
ท่านอบูบักร ตอบว่า
“ ฉันปรารถนาที่จะรักษาเกีรยติและความเป็นสุภาพบุรุษของฉันไว้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่ดื่มสุรา แน่นอนว่าเขาได้สูญเสียทั้งสติปัญญาและความเป็นสุภาพบุรุษ ”
2. ครั้งแรกที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดา ท่านได้มาหา ท่านหญิง คอดิญะฮฺ ในสภาพที่ตื่นกลัว และตกใจ
ท่านบอกกับนางว่า “ นำผ้ามาห่มฉันที นำมามาห่มฉันที ”
นางได้ปลอบโยนท่านนบีมุฮัมมัด ว่า
“ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะไม่ทรงทำให้ท่านได้รับความอัปยศอย่างแน่นอน เพราะแท้จริงแล้ว ท่านเป็นผู้มีสัมพันธ์ต่อเครือญาติ ช่วยเหลือคนอ่อนแออนาถา เลี้ยงดูคนยากจนขัดสน ท่านเป็นผู้ที่ต้อนรับแขก และช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดพ้นจากเคราะห์กรรม”
(บันทึกโดย อิหม่ามบุคอรี )
จากสองตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้ก่อนที่อิสลามจะถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในคาบสมุทรอาหรับ แต่ในพื้นฐานจิตใต้สำนึกแล้ว จริยธรรม คุณธรรม ยังคงมีอยู่ในชาวอาหรับแต่เดิม และหลังจากมีศาสนบัญญัติ จริยธรรมเหล่านั้นก็ได้รับการส่งเสริมมากยิ่งขึ้น อาทิ ความใจบุญ ความโอบอ้อมอารี การให้เกียรติแขกผู้มาเยือน และอื่นๆอีกมากมายอันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติติดตัวของชาวอาหรับ ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งรอซูล
ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า
“ มนุษย์นั้นเหมือนกับแร่ธาตุ ผู้ที่ดีที่สุดในสมัยญาฮิลียะฮ ก็จะเป็นผู้ที่ดีที่สุดในสมัยอิสลาม หากพวกเขาเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ”
( บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และอิมามมุสลิม )
เอกลักษณ์เฉพาะของจริยศาสตร์อิสลาม
1. เป็นกฏเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ซึ่งเน้นย้ำในเรื่องของ การมีสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และการรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตนเอง
2. เป็นกฏเกณฑ์ที่จำเป็นและครอบคลุมโดยทั่วกัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงใดๆ เพราะล้วนครอบคลุมทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง ยิ่งไปกว่านั้น จริยศาสตร์อิสลามยังเป็นประหนึ่งประการสำคัญที่ป้องกันความอธรรมและความชั่วช้าต่างๆ ความครอบคลุมนี้ยังรวมถึงเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคลและเรื่องที่เกี่ยวพันกับบุคคลอื่น กลุ่มคนหรือแม้แต่รัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
"เหล่านั้นแหละ คือ ขอบเขตของอัลลอฮ พวกเจ้าจงอย่าได้ละเมิด"
( อัลบะก่อรอฮ 2/ 229 )
3. เป็นกฏเกณฑ์ที่กำหนดหลักการและรายละเอียดแก่ร่างกายและจิตวิญญาณพร้อมๆกัน มนุษย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ อารมณ์ใคร่ฝ่ายต่ำของตน ตามแต่ที่ตนปรารถนา หากแต่ต้องดำเนินอยู่ภายใต้กรอบแห่งศาสนบัญญัติ พระคัมภีร์ระบุว่า
"และพระองค์ทรงห้ามการลามก ความชั่วช้าและการก่ออธรรม พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึก "
( อันนะฮลฺ 16 / 90 )
ดังกล่าวเป็นกฏเกณฑ์จริยธรรมอันแผ่กว้างและครอบคลุมของพระผู้เป็นเจ้า เผื่อให้มนุษย์ออกห่างจากความไม่ดีไม่งามทั้งมวล เช่นเดียวกับที่ท่านนบีได้เชิญชวนสู่จริยธรรมอันสูงส่งว่า
“ ท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮเถิด ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม จงติดตามความชั่วด้วยความดี
ซึ่งความดีนั้นจะลบล้างความชั่ว และท่านจงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยจริยธรรมอันดีงาม”
( บันทึกโดย อิมามมาลิกและอิมาม อบูดาวู๊ด )
4. จริยศาสตร์อิสลาม ครอบคลุม และเหมาะสมกับทุกคน ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีความง่ายดาย ไม่ยากลำบาก อีกทั้งยังไม่จำกัดขอบข่ายที่บุคคลจะก้าวสู่ความเจริญแห่งชีวิต ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
"อัลลอฮ จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใด นอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น "
(อัลบะเกาะเราะฮ 2/286 )
"และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการยากลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา"
( อัลฮัจญ์ 22 / 78 )
5. จริยศาสตร์อิสลามไม่ตัดสินแต่เพียงการกระทำภายนอกเท่านั้น แต่ถือการพิจรณาที่เจตจำนงค์ และภาวะที่ผลักดันสู่การกระทำนั้นๆเป็นหลัก ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า
“ แท้จริง การงานนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนา และสำหรับทุกคนจะได้รับตามสิ่งที่เขาตั้งเจตนาไว้ ”
( บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์และอิหม่ามมุสลิม )
6. จริยศาสตร์อิสลามเป็นกฏเกณฑ์ที่สติปัญญาให้การยอมรับ และเป็นที่พึงใจของจิตวิญญาณ ทุกสิ่งที่อิสลามสั่งห้ามล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลทั้งสิ้น
"ผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงสุรา และการพนัน และแท่นหินสำหรับเชือดบูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมม อันเกิดจาการกระทำของชัยฏอน
ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ ที่จริงชัยฏอนนั้น เพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกัน
และการเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนัน เท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และการละหมาด
แล้วพวกเจ้าจะยังไม่ยุติอีกล่ะหรือ"
( อัลมาอิดะฮฺ 5 / 91 )
7. จริยศาสตร์อิสลาม จำเป็นต้องยึดมั่นในวิธีการและเป้าหมาย การกล่าวว่า “ เป้าหมายจะกำหนดวิธีการ” ถือเป็นคำกล่าวที่ค้านกับระบบจริยธรรมอิสลามโดยสิ้นเชิง จริยธรรมอิสลามต้องมีพื้นฐานจากวิธีการอันชอบธรรมและคำนึงถึงคุณค่าทางจริยธรรมเสมอ ดังตัวอย่างจากพระคัมภีร์ที่ว่า
"และหากพวกเขาขอให้พวกเจ้าช่วยเหลือในเรื่องศาสนา ก็จำเป็นที่พวกเจ้าต้องช่วยเหลือ นอกจากในการต่อต้าน
ซึ่งระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขามีสนธิสัญญาต่อกัน และอัลลอฮนั้นเป็นผู้ทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ"
( อัลอัมฟาล 8 / 72)
ดำรัสนี้เป็นการบัญญัติใช้ให้มุสลิมต้องช่วยเหลือพี่น้องของพวกเขาที่ถูกกดขี่ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ทางด้านศาสนาของมุสลิม แต่หากการช่วยเหลือดังกล่าวทำให้ต้องละเมิดสนธิสัญญาที่มีอยู่กับคนต่างศาสนา ก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ เพราะเป็นวิธีการที่นำไปสู่การบิดพลิ้วและละเมิดข้อตกลง ศาสนาอิสลามเกลียดการบิดพลิ้วและเกลียดชังผู้บิดพลิ้วทั้งหลาย
8. จริยศาสตร์อิสลามเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศรัทธาและการยำเกรงต่อพระเจ้า จริยธรรมหาใช่เป็นเพียงนามธรรมที่ประเสริฐเท่านั้น หากแต่จริยธรรมจำเป็นต้องเชื่อมสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการดำเนินชีวิตทั้งหมด ดังนั้น สำหรับอิสลามแล้ว หลักการเชื่อมั่นก็คือจริยธรรม หลักการปฏิบัติก็คือจริยธรรม เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดบกพร่อง อีกส่วนหนึ่งย่อมจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน
ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า
“ไม่มีผู้ผิดประเวณีคนใด ในขณะที่เขากำลังผิดประเวณีอยู่นั้น เป็นผู้ศรัทธา และไม่มีผู้ดื่มสุราในขณะที่เขากำลังดื่มอยู่นั้น เป็นผู้ศรัทธา
และไม่มีผู้ลักขโมยคนใด ขณะที่เขากำลังขโมยอยู่นั้น เป็นผู้ศรัทธา”
ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า
“ เมื่อผู้เป็นบ่าวทำซินา ( ผิดประเวณี ) เมื่อนั้นการศรัทธาได้ออกไปจากตัวเขาแล้ว”
(บันทึกโดย อิมาม อบูดาวู๊ด )
ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า
“ ไม่มีความศรัทธาสำหรับผู้ที่ไม่มีความซื่อสัตย์ และไม่มีศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่รักษาสนธิสัญญา”
( บันทึกโดยอิมาม อะฮฺหมัด )
เพราะการศรัทธาที่แท้จริงนั้นย่อมนำไปสู่จริยธรรมอันดีงาม ความประพฤติที่ชั่วช้าจึงขัดแย้งกับการศรัทธาโดยสิ้นเชิง การศรัทธาและความประพฤตชั่วนั้นย่อมไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยเด็ดขาด
จริยศาสตร์อิสลามล้วนแล้วแต่เป็นกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติความเป็นมนุษย์อันบริสุทธิ์ให้การยอมรับ และสติปัญญาที่ถูกต้องไม่อาจปฏิเสธความสมบูรณ์นี้ได้ จริยธรรมจึงเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการมีอิสลามที่สมบูรณ์ทั้งในด้านการศรัทธาและการปฏิบัติ เมื่อใดก็ตามที่ศรัทธาเข้มแข็ง จริยธรรมที่เข้มแข็งก็จะเป็นผลสืบเนื่องติดตามมาอยู่เสมอ
9. จริยศาสตร์อิสลามระบุถึงการตอบแทนอย่างชัดเจน บัญญัติอิสลามจึงเป็นในลักษณะคำสั่งใช้ให้กระทำ และคำสั่งห้ามไม่ให้กระทำ ดังนั้น ผู้ที่ละเมิดคำสั่งย่อมได้รับผลกรรมตามที่ตนกระทำไว้ การลงโทษผู้ฝ่าฝืน สำหรับบางกรณีก็มีผลทันทีในโลกนี้ ตัวอย่างเช่น การเป็นพยานเท็จ การใช้วาจาหยาบคายและการทรยศ ผู้พิพากษาสามารถลงโทษได้ตามความเหมาะสม
ตัวอย่างการลงโทษของพระองค์ในโลกนี้ ดังจะเห็นได้จาก ความพินาศของประชาชาติที่มีการประพฤติชั่วอย่างแพร่หลาย ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวถึงการลงโทษในลักษณะนี้ ว่า
“ แท้จริง สิ่งที่ทำให้ผู้คนก่อนพวกท่านได้รับความหายนะ คือ เมื่อผู้มีเกียรติในหมู่พวกเขาลักขโมย พวกเขาก็จะปล่อยไปไม่เอาเรื่อง
และเมื่อผู้อ่อนแอในหมู่พวกเขาลักขโมย พวกเขาก็จะจัดการลงโทษผู้นั้นเสีย
ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮว่า หากว่าฟาฏิมะฮฺ บุตรีของมุฮัมหมัด ขโมย แน่นอน ฉันจะต้องตัดมือของนาง”
( บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และอิมามมุสลิม )