ผลกำไรของรอมาฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  6934

ผลกำไรของรอมาฎอน

ที่ต้องอยู่เคียงข้างมุสลิมไปตลอดชีวิต


นิพล  แสงศรี


         นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินอิสลามมองว่า  เมื่อเราได้ลงทุนหรือการค้าใดก็ตามย่อมมีผลกำไรไม่มากก็น้อย  เช่นเดียวกับการลงทุนปฎิบัติตามคำสั่งใช้ในเรื่องการถือศีลอด  แม้รอมาฎอนได้ถูกบัญญัติลงมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า  1400  ปี  แต่รอมาฎอนก็มิได้ผ่านมาและผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์  ไร้ผลผลิต  และไร้พลังแฝง 

         รอมาฎอนได้มอบสิ่งดีๆ หลายประการให้แก่พี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่มีหัวใจศรัทธาและเชื่อมั่น  ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ  จิตวิญาณ  และร่างกาย  ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง  ครอบครัว  และสังคมส่วนรวม  เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญหน้ากับปัญหามากมายที่จะถาทมเข้ามาตลอดชีวิตของความเป็นมุสลิม  ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากความหลงผิด  ความเชื่ออันงมงาย  สังคมอันเสื่อมโทรม  เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน  และการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ตลอดจนกระแสโลกาภิวัฒน์ที่พยายามกลืนกินวัฒนธรรมอื่นก่อนเข้าครอบงำโลกอย่างเต็มรูปแบบ 


บทเรียนที่สำคัญได้แก่

1.การเชื่อฟังคำสั่งต่ออัลลอฮฺและการยึดมั่นคำสั่งนบีมุฮัมมัด ต้องมาเป็นอันดับแรก 

         ซึ่งจะเห็นได้จากการเริ่มต้นถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน  พร้อมๆกับปฎิบัติตามเงื่อนไขและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด  ทั้งๆที่สามารถรวมตัวกันต่อต้านหรือบิดเบือนคำสอน  โดยเฉพาะในยุคดิจิตอลและไฮไฟที่เต็มไปด้วยอิสระทางการแสดงความคิดเห็น หรือในประเทศที่มิได้ปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม    ดังนั้นการเชื่อฟังและน้อมรับมาปฎิบัติอย่างเต็มใจจึงถือเป็นปัจจัยหลักของการเป็นมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม

 

2.การอดทน  การอดกลั้นอย่างมีสติ 

          การซื่อสัตย์ต่อตนเอง การหยับยั้งอารมณ์  คำพูด และการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ผู้อื่น สิ่งเหล่านี้สามารถพบได้จากการงดกินงดดื่ม  ทั้งที่สามารถกระทำได้ยามอยู่เพียงลำพังคนเดียวไม่มีใครคอยควบคุม  จนทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เรียกว่า ความอดทนและความซื่อสัตย์ต่อตนเอง  

          โดยความหิวโหยจะทำให้เข้าใจชีวิตที่แท้จริงมากขึ้น  ลดการเหลี่อมล้ำทางฐานะ  เกียรติทางสังคม  และอำนาจจอมปลอมให้น้อยลงจนทำให้ทุกคนอยู่บนมาตรฐานเดียวกันคือ  ความเสมอภาคทางสังคม  เช่นเดียวกับการหยับยั้งอารมณ์  คำพูด และการกระทำบางประการที่ทำให้คนอื่นเดือนร้อนล้วนบ่งบอกถึงวิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิมควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ไว้วางใจกันได้   อีกทั้งยังพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำอันเป็นบ่อเกิดของความเสื่อมเสียและความขัดแย้งในด้านต่างๆ

 

3.การใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง  มีระบบ  มีระเบียบ  มีวินัย 

         ใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีคุณค่าและทุกวันอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด   ตลอดจนเคร่งครัดต่อบัญญัติศาสนาควบคู่กับใช้ชีวิตอย่างปกติหรือปฎิบัติหน้าที่การงานอย่างควบคู่กัน 

          สิ่งเหล่านี้ล้วนพบได้จากขั้นตอนการถือศีลอดในแต่ละวันตั้งแต่ต้นจนจบ  เริ่มจากทานซูฮูร(ทานอาหารก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น)  ละหมาดซุบฮิ  ละเว้นข้อห้ามต่างๆ  พร้อมกับทำงานและดำเนินชีวิตตามปกติอย่างระมัดระวังไปจนถึงเวลาละศีลอด  ละหมาดมัฆริบ ละหมาดอิชา  ตะร่อเวียฮฺ  ตะฮัจยุต  และวิเตร  ทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างมีระบบระเบียบและเรียงตามลำดับหรือความสำคัญ  โดยเฉพาะการปฎิบัติศาสนกิจที่มุ่งหวังโลกหน้าแต่ไม่ตัดขาดจากโลกการดำรงชีพแต่ละวัน

          หากประชากรมุสลิมใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบและมีวินัยแน่นอนย่อมจะส่งผลในทางที่ดีต่อสังคมและประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

4.การให้ความสำคัญต่อสุขภาพ 

          โดยพบได้จากการสนับสนุนให้ถือศีลอดเพื่อสุขภาพดี  การเป็นมุอฺมินที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงย่อมดีกว่ามุอฺมินที่อ่อนแอ  ตลอดจนการยอมรับในวงการแพทย์ เกี่ยวกับคุณค่าของการถือศีลอดที่สามารถเยียวยาโรคภัยและขจัดความความอ่อนแอทางร่างกายออกไป 

 

5.การใส่ใจในศึกษา  เรียนรู้  และค้นคว้า 

          ซึ่งเห็นได้จากการส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอานและศึกษาเนื้อหาตลอดเดือน เนื่องจากอัลกุรอานเป็นที่มาของอัลอิสลามและเป็นคลังของศาสตร์และความรู้แขนงต่างๆ  และยังประกอบด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์อีกมากมายที่มีประโยชน์ต่อสังคมยุคไร้พรมแดน  รวมทั้งรวมข้อคิดคำแนะนำดีๆ เพื่อการพัฒนาสังคมและก้าวสู่โลกแห่งอนาคต 

 

6.การเห็นอกเห็นใจต่อกัน  เสียสละ ค้ำจุน ลดความเห็นแก่ตัว 

         ช่วยกันดูแลสังคมรอบข้าง และสามารถเรียนรู้ได้จากการทำเศาะดาเกะฮฺ (ทำทาน) แก่คนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส และการจ่ายกัฟฟาร่อฮฺ (ค่าปรับ) แก่กลุ่มคนตามที่ศาสนากำหนด  ตลอดจนการสนับสนุนให้บริจาคช่วยเหลือสังคม  จนทำให้รู้จักคำว่า  เสียสละ  เกื้อกูล  และแบ่งปัน  ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสร้างคน  สร้างสังคมใหม่บนพื้นฐานอิสลามได้ดี

 

7.การประหยัดและมัถยัสถ์ในการกินอยู่และการใช้จ่าย 

          ซึ่งสามารถพบได้ตลอด 29-30  วัน เนื่องจากเงินเก็บในกระเป๋าหรือออมกับธนาคาร  แต่ไม่สามารถหยิบมาตอบสนองความต้องการของตนเองได้ทุกเวลา  ดังนั้นการประหยัด  มัถยัสถ์  และไม่ฟุ่มเฟื่อยจึงถือเป็นพลังแฝงด้านเศรษฐกิจที่ถูกสอดแทรกมาโดยตลอดแม้รอมาฏอนจะผ่านไปก็ตาม และเป็นตัวค้ำจุนให้มุสลิมดำเนินชีวิตไปด้วยดีมีความสุขพร้อมกับปฎิบัติตนตามคำสอนของศาสนา

 

8.การประกอบอิบาดะฮฺอย่างพร้อมเพรียงกัน 

        แม้จะเริ่มต้นและสิ้นสุดแตกต่างกันก็ตาม  แต่ภาพรวมของรอมาฎอนสำหรับโลกมุสลิมกว่า 1600 ล้านคนที่ปรากฎต่อสายตาชาวโลกคือ  ความเป็นหนึ่งของโลกมุสลิมแม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละขั้วโลก  คนละเชื้อชาติ  และสีผิว ซึ่งพบได้จากการประกอบอิบาดะฮฺตลอดเดือน  ทั้งถือศีลอด  ละหมาด  เอี๊ยะตกาฟ  และอื่นๆ  เอกภาพของการประกอบอิบาดะฮฺอย่างเอาจริงเอาจังก่อให้เกิดผลประโยชน์มากมายตามมาต่อโลกมุสลิม

 

          ที่กล่าวมาคือ  ผลกำไรบางประการที่ค้นพบจากรอมาฎอนอันประเสริฐที่ฝังรากอยู่ในตัวมุสลิมหลังผ่านสนามการถือศีลอดมาตลอดเดือน  ซึ่งถือเป็นตัววัดการเป็นมุสลิมอย่างมีคุณภาพ  และหากเรานำผลกำไรดังกล่าวออกมาใช้ต่อยอดในช่วงวันเวลาที่เหลือ  แน่นอนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  ทั้งในระดับส่วนตัว  ครอบครัว  และสังคมทั่วไป  และนั้นคือเหตุผลว่า  ทำไมผลกำไรดังกล่าวจะต้องอยู่คู่กับความมุสลิมไปตลอดชีวิต  !!!