จุดเด่นของบทบัญญัติอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  11204

จุดเด่นของบทบัญญัติอิสลาม


เรียบเรียงโดย...อิสมาอีล บินกอซิม


มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธ์ของอัลลอฮฺ

          เมื่อพูดถึงอิสลามผู้คนที่ไม่ใช่มุสลิม หรือมุสลิมที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของอิสลาม อาจจะเข้าใจอิสลามในบางมุม  บางคนอาจจะเข้าใจอิสลามว่าเป็นหลักคำสอนที่ล้าหลัง ไม่ทันยุคทันสมัย หรือบางคนอาจจะเข้าใจว่าอิสลาม คือศาสนาที่มาสร้างความลำบากให้แก่ผู้คน  เช่น มีบทบัญญัติบางอย่างที่หลายคนมองว่าเป็นคำสอนที่ไม่น่าจะเอามาใช้ในยุคสมัยที่มีความเจริญในปัจจุบัน 

         บางคนมองหลักคำสอนที่บังคับให้ผู้หญิงคลุมฮิญาบนั้นเป็นหลักคำสอนที่มาลิดรอนเสรีภาพของผู้หญิง  ผู้หญิงในยุคปัจจุบันอยากจะแสดงออก อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อยากที่จะมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผู้ชายทำ  แต่อิสลามขัดขวางผู้หญิงในการรับรู้เรื่องของวิชาการและการประกอบอาชีพ   บุคคลที่แสดงความคิดเห็นในภาพลบเกี่ยวกับอิสลาม ทำไมเขาจึงไม่ไปถามผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการอิสลามว่า เขาปฏิบัติตามหลักการอิสลามเพราะอะไร ? มีการบังคับให้ปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร ? 

          ดังนั้นถ้าใครไปถามผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการอิสลาม  ก็จะได้คำตอบจากคนที่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของอิสลามในแต่ละข้อที่เกิดขึ้น เกิดจากความศรัทธาความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าองค์เดียว คือ อัลลอฮฺ   และหวังผลตอบแทนจากพระองค์เท่านั้น ดังนั้นอิสลามคือระบอบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

จุดเด่นของบทบัญญัติอิสลาม


ประการที่หนึ่ง  บทบัญญัติอิสลามมีการใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่ว

     เป้าหมายของบทบัญญัติอิสลาม คือ การวางกฏเกณฑ์ข้อบังคับให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ กฎเกณฑ์เหล่านั้นได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความดี และการห้ามปรามความชั่ว จะสังเกตได้ว่า อิสลามไม่เพียงแต่ใช้ให้ผู้คนทำความดีเพียงอย่างเดียว  แต่อิสลามยังห้ามปรามการทำความชั่วพร้อมกับการใช้ให้ทำความดี

อิสลามได้ให้คำนิยามของความดีไว้ดังนี้

“ความดี ก็คือ สิ่งที่ดีที่สอดคล้องกับธรรมชาติอุปนิสัยของมนุษย์ ที่อัลลอฮฺได้ประทานให้มาพร้อมกับมนุษย์

และสิ่งดีๆเหล่านั้นได้รับการยอมรับจากบทบัญญัติของอัลอิสลามว่าเป็นความดี”

คำนิยามของความชั่ว

“สิ่งที่มาค้านกับธรรมชาติ และอุปนิสัยของมนุษย์ บทบัญญัติอิสลาม ได้กำหนดให้ว่าสิ่งนั้นเป็นความชั่ว”

หลักฐานในเรื่องนี้ดังดำรัสของอัลลอฮฺ  ความว่า

قَالَ اللهُ تَعَالَى : ﴿ وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ ﴾

“และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ

และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ”

         จากอายะห์นี้จะเห็นได้ว่า การที่จะใช้ให้ผู้คนทำความดีนั้น ต้องอาศัย ญามาฮะห์ กลุ่มคน หรือองค์กรที่ทำงานเป็นทีม  และอัลลอฮฺได้ชี้ให้เห็นว่า องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องทำสองสิ่งให้เป็นคู่ขนานกัน คือ การใช้ให้ผู้คนทำความดี และห้ามปรามในสิ่งที่เป็นความชั่วด้วย  หากในสังคมของเรามีการใช้ให้ผู้คนทำแต่ความดี  แต่ขณะเดียวกันเราเห็นความชั่วแต่ไม่ห้ามปราม แน่นอนการทำงานในด้านความดีก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
 


ประการที่สอง  บทบัญญัติของอิสลาม คลอบคลุมในทุกๆด้านของการดำเนินชีวิตมนุษย์

         เมื่อศึกษาบทบัญญัติอิสลามจะพบว่าอิสลามนั้นครอบคลุมทุกเรื่องราวของการดำเนินชีวิต และมีคำสอนที่ละเอียดทุกเรื่องของการใช้ชีวิตในโลกนี้ อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่ให้มนุษย์มุ่งเน้นเฉพาะด้านหนึ่งด้านใดในการดำเนินชีวิต  จะกล่าวถึงเรื่องอะไรอิสลามก็จะมีคำสอนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ  เช่น เศรษฐกิจ  การเมืองการปกครอง การปฏิสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

         อิสลามไม่ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อเพียงอย่างเดียว (อากีดะห์) แต่มุสลิมจะต้องมีความเชื่อที่ถูกต้อง ที่มาจากอัลลอฮ์และมาจากรอซูลของพระองค์  เมื่อมุสลิมมีความเชื่อที่ถูกต้องต่อพระเจ้าของเขา  เขาก็จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด 

 

ประการที่สาม อิสลามเป็นบทบัญญัติที่สนองความต้องการของมนุษย์ 

         สำหรับบทบัญญัติอิสลามที่ปรากฏในอัลกุรอาน และ อัซซุนนะห์ มีทั้งหลักฐานที่ระบุชัดเจน เข้าใจได้ทันที ซึ่งหลักฐานประเภทนี้เขาเรียกว่า  (อัลกอตอียฺ) และมีหลักฐานที่ต้องอาศัยการอธิบายอย่างละเอียดถึงจะเข้าใจได้  ซึ่งเรียกว่า (อัลมุจมัล)       
       
         สำหรับหลักฐานที่ชัดเจน(อัลคอตอี) คือ กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่มีการระบุอย่างชัดเจน  ปรากฏในอัลกุรอาน และอัซซุนนะห์ที่ถูกต้อง  ซึ่งกฎเกณฑ์ข้อบังคับของบทบัญญัติประเภทนี้  มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องหะลาล(อนุญาตให้กระทำได้) และหะรอม (ห้ามมิให้กระทำ)  รวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

           สำหรับ (อัลมุจมัล)  ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในอัลกุรอานและอัซซุนนะห์แบบรวมๆ ไม่ว่าเรื่องการสั่งใช้  ข้อห้าม  การชี้แนะ  แต่สามารถทำให้เข้าใจได้หลายความหมาย  บทบัญญัติของอิสลามนั้น  ถูกกำหนดมาตามความสามารถที่มนุษย์จะปฏิบัติได้  ซึ่งสภาพของบุคคลแต่ละคนมีสภาพที่แตกต่างกัน  ดังนั้นบทบัญญัติที่ถูกกำหนดมาให้แก่มนุษย์นั้น ย่อมต้องไม่เกินความสามารถของมนุษย์ที่จะปฏิบัติได้

เช่นคำดำรัสของอัลลอฮฺ

((علم أن سيكومن منكم مرضى وآخرون يضربون في الأرض يبتغون من فضل الله وآخرون يقاتلون في سبيل الله فاقرءوا ماتيسر منه وأقيموا الصلاة وآتوا الزكاة   ))
 
“พระองค์ทรงรู้ดีว่า  อาจมีบางคนในหมู่พวกเจ้าเป็นคนป่วย  และบางคนต้องเดินทางไปดินแดนอื่น  เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

และบางคนต้องต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ 

ดังนั้นพวกเจ้าจงอ่านตามสะดวกจากอัลกุรอานเถิด  และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด  และจงบริจาคซะกาต......"

(อายะห์ที่ 20 อัลมุซัมมิล) 

         ถ้าเราพิจารณาในช่วงต้นของอายะห์  จะพบว่าบทบัญญัติในเรื่องของการละหมาดตาฮัจญุดเป็นวาญิบ(บังคับ)  แต่เนื่องด้วยสภาพของมนุษย์แตกต่างกัน  บางคนอยู่ในสภาพที่เจ็บป่วย  บางคนต้องเดินทางค้าขาย  บางคนต้องออกไปยังสมรภูมิรบ  ถ้าบทบัญญัติข้อนี้เป็นวาญิบย่อมสร้างความลำบากแก่ปวงบ่าวเป็นอย่างมาก  บทบัญญัตินี้จึงถูกยกเลิกให้เป็นแค่ซุนนะห์  ปฏิบัติตามความสามารถที่จะทำได้  นี่คือความยืดหยุ่นของบทบัญญัติอิสลาม         
                                                                                             
           * ส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ  (หะลาล)สิ่งที่อนุมัติให้ และ(หะรอม)สิ่งที่ต้องห้าม  ถ้าพิจารณาถึงกฏเกณฑ์ข้อบังคับของหลักการอิสลาม สิ่งที่อิสลามอนุญาต ย่อมต้องเกิดประโยชน์แก่มนุษย์อย่างแน่นอน และสิ่งที่เป็นข้อห้ามย่อมต้องไม่ดีเช่นกัน    

           * สำหรับที่เกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัว  เช่น อิสลามอนุญาติให้ทำการหย่าร้างกันได้ระหว่างสามีภรรยา  เมื่อการไกล่เกลี่ยประสบความล้มเหลว ในขณะเดียวกันก็ได้ตำหนิการหย่าร้าง  แต่เมื่อทั้งคู่ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตร่วมกันได้ อิสลามมีทางออกสุดท้ายให้ด้วยการหย่าร้าง นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าคำสอนของอิสลามนั้นมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในทุกๆด้าน

 

ประการที่สี่ สอดคล้องกับยุคสมัย

          หลักการอิสลามถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสนองตอบความต้องการในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ บทบัญญัติบางข้อถูกกำหนดมาเพื่อผลประโยชน์ของการดำเนินชีวิต  เช่น ห้ามการผิดประเวณี  ห้ามการดื่มของมึนเมาทุกประเภท  ห้ามการพนัน ห้ามการขโมย การฆ่าชีวิตที่ปราศจากความชอบธรรม ส่วนการฆ่าชีวิตที่อยู่ในหลักเกณฑ์ถือว่าไม่เป็นที่ต้องห้าม เช่น การประหารชีวิต บุคคลที่ฆ่าชีวิตผู้อื่น  และอีกมากมายที่อิสลามวางบทบัญญัติไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของมนุษย์ เพราะอิสลาม คือ กฎหมายที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า และพระเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์นั้นย่อมรู้ดีว่า บทบัญญัติอะไรที่จะนำมาซึ่งความสุขของมนุษย์ 

           ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่ากฎหมายอิสลามได้ถูกบังคับใช้มามากกว่า 1400 ปีแล้ว และไม่มีการแก้ไขหรือปรับปรุงใดๆ เพราะกฎหมายของพระเจ้าสมบูรณ์แบบแล้ว ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน บทบัญญัติยังสอดคล้องอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่อิสลามสั่งใช้นั้นล้วนนำมาซึ่งประโยชน์แก่มนุษย์ และสิ่งที่อิสลามห้ามนั้นล้วนให้โทษกับมนุษย์เช่นกัน  เมื่อมาดูกฎหมายที่มนุษย์ร่างขึ้น ยุคหนึ่งอาจจะใช้ได้แต่เมื่อสังคมมีความเจริญก้าวหน้า  จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์มีความรู้ที่จำกัด 


และทั้งหมดนี้ คือ จุดเด่นของบทบัญญัติอิสลามที่จะคงอยู่ตลอดไป

 

والله أعلم