จงละอายในตัวเอง
  จำนวนคนเข้าชม  9150

จงละอายในตัวเอง


โดย... อ.ตายุดิน  ลาตีฟี


ก่อนที่ท่านผู้อ่านที่เคารพจะได้ทราบเรื่องราวต่อไปนี้ เรามาทำความเข้าใจคำว่า อาย กันก่อนจะดีกว่า

ความอาย หรือที่ภาษาอาหรับเรียกว่า อัลฮายาอุ นั้นมีอยู่ ๒ ความหมายด้วยกัน คือความหมายตามคำนิยามทั่วไป ๑ และความหมายทางเทคนิคอีก ๑


         ความหมายตามคำนิยามทั่วไปนั้นคือ ความรู้สึกกระดาก ตะขิดตะขวงใจ ไม่กล้ากระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อหน้าคน เพราะมีข้อบกพร่องอยู่ เช่นไม่กล้าเข้าสังคมเพราะแต่งกายไม่ทันแฟชั่น ไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะกลัวถูกโห่ ไม่กล้าไปเรียนหนังสือเพราะอายเด็ก ๆ เป็นต้น อายตามความหมายนี้อิสลามไม่สนับสนุน

         ส่วนความหมายทางเทคนิค เชคอาบุลกอเซ็ม อัลยูไนด์ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ ความรู้สึกสำนึกในหน้าที่ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อัลลอฮ ที่รงประทานความเมตตาต่าง ๆ ให้ และตระหนักอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงรู้เห็นการกระทำทุกอย่างทั้งภายนอกและภายใน ทั้งที่ลับและที่แจ้ง เป็นผลกระตุ้นให้เจ้าของความรู้สึกเกิดความละอายใจ ไม่กล้าละเมิดและฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ อายตามนัยนี้เป็นเจตนารมณ์ของอิสลาม


         ความอายเป็นคุณธรรมอันล้ำเลิศ เป็นส่วนประกอบอันหนึ่งของการศรัทธา เป็นเอกลักษณ์ของท่านศาสดามูฮำหมัด รวมถึงศาสดาองค์ก่อน ๆ และบรรดาปวงปราชญ์ เป็นจักรกลสำคัญที่จะช่วยพัฒนา และควบคุมสังคมมุสลิม ให้เป็นสังคมที่ดีมีประสิทธิภาพและมีระเบียบวินัย ข้อยืนยันเหล่านี้เราสามารถตรวจสอบได้จากหลักธรรมคำสอนของอิสลาม ส่วนหนึ่งจากคำสอนนั้น อิหม่ามมุสลิมรายงานจากอิมรอน อิบนิฮุซอยน์ ท่านศาสดามูฮำหมัด  กล่าวไว้มีความว่า

“ความอายนั้น เป็นคุณธรรมอันล้ำเลิศอีกบทหนึ่ง”

 

รายงานจากอาบูฮุรอยเราะห์ มีความว่า

“องค์ประกอบการศรัทธามีมากกว่า ๗๐ อย่าง และความอายเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”

 

และอีกบทหนึ่ง อิหม่ามบุคคอรี-มุสลิม รายงานจากอาบีซาอิดอัลดุฏริ มีความว่า

“ท่านศาสดามูฮำหมัด นั้นเป็นบุคคลที่มีความอายยิ่งกว่าหญิงสาวที่หมกตัวอยู่แต่ในห้อง

เมื่อท่านเห็นสิ่งใดที่พึงรังเกียจ พวกเรา (สาวก) เข้าใจกันดีจากสีหน้าของท่าน”


        ความผันผวนปรวนแปร ความระส่ำระส่ายที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมมุสลิมปัจจุบัน และองค์ประกอบที่ขาดมารยาททางสังคม การทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน การใส่ร้ายป้ายสีกัน การเหยียดหยามประนามกัน การค่อนแคะแดกดันกัน การตัดสัมพันธ์และการตัดพี่ตัดน้องกัน ฯลฯ กลายเป็นหนามยอกอก และบั่นทอนเสถียรภาพของสังคม สถานการณ์เช่นนี้นับวันจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงขึ้นไปทุกที เหตุเนื่องมาจากหน่วยประกอบของสังคมไม่มียางอายนั่นเอง เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การตีความหมายตามอำเภอใจ ตามความเห็นของตนเอง ผลลัพธ์ของมันจึงออกมาในรูปลักษณะดังกล่าว


         ปัจจุบันมีคำพูดที่กำลังนิยมอยู่ประโยคหนึ่งคือ “เราต้องตามซุนนะห์รอซูลและกีตาบุลลอฮ”  คำพูดประโยคนี้เราได้ยินได้ฟังกันทั่วไปแทบทุกหมู่บ้าน จนบางครั้งเบื่อหน่าย ทั้งนี้ก็เพราะว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมาทางวาจาก็ดี ทางกริยาก็ดี มันค้านกับคำพูดของตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

          มีไหมครับที่อิสลามส่งเสริมให้แตกแยกกัน ให้ทับถมกัน ให้หลอกลวงกัน ให้ใส่ร้ายป้ายสีกัน ให้เหยียดหยามประนามกัน ให้ตัดสัมพันธ์กัน เท่าที่ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาศึกษามา ๑๐ ปีเศษ ไม่เคยมีครู อาจารย์ท่านไหนแนะนำ ไม่พบอัลกุรอ่านวรรคไหน ฮาดิษบทไหนและแม้แต่กีตาบญาวีเล่มใดส่งเสริมให้กระทำเลย แต่กลับพบว่าสภาพดังกล่าวเป็นพฤติกรรมของพวกยาฮูดี และมูนาฟีกีนเท่านั้น แล้วสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมมุสลิมทั่วไปในขณะนี้เราจะเรียกว่า เป็นซุนนะห์ของใครกันดีครับ ขอฝากท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาเองเถิด


         อิสลามจัดระบบสังคมไว้อย่างประณีต และวางระเบียบข้อบังคับไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังปรากฏในคำสอนของท่านศาสดามูฮำหมัด บทหนึ่งซึ่งรายงานโดย อิหม่ามบุคคอรี- มุสลิม จากอับดุลลอฮอิบนิอัมริน มีความว่า

“มุสลิมที่ดีนั้นคือบุคคลที่มุสลิมทั้งปวงปลอดภัยจากวาจาของเขาและการกระทำของเขา

และผู้อพยพที่ดีนั้น คือบุคคลที่งดเว้นจากทุกสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ ทรงห้าม”

 

         คำสอนของท่านศาสดามูฮำหมัด บทเดียวนี้เพียงพอแล้วสำหรับผู้มีศรัทธาธรรมทั้งหลายที่ประสงค์จะดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าทั้งภพนี้และภพหน้า และปรารถนาที่จะพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่มีความน่าอยู่และมีระเบียบวินัย คำสอนดังกล่าวเป็นคำสอนที่ครอบคลุมทั้งข้อใช้และข้อห้ามทั้งหมด แสดงให้เห็นเด่นชัดว่า อิสลามสอนให้รักใคร่สามัคคีกัน ให้คบค้าสมาคมกัน ให้ปรึกษาหารือกัน ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ให้โอบอ้อมอารีซึ่งกันและกัน ให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในขณะเดียวกันอิสลามห้ามทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน ห้ามประทุษร้ายต่อกัน ห้ามจองเวรซึ่งกันและกัน ห้ามทับถมกัน ห้ามเหยียดหยามประณามกัน ห้ามอิจฉาริษยาต่อกัน และห้ามตัดสัมพันธ์ต่อกัน


          ท่านผู้อ่านที่เคารพ สังคมมุสลิมจะเป็นสังคมที่สมบูรณ์ตามแนวนโยบายของอิสลามได้นั้น หน่วยประกอบของสังคมนั้น ๆ คือ ตัวท่านเอง จะต้องมีความอายเป็นคุณธรรมประจำใจ คุณธรรมข้อนี้เปรียบเสมือนเส้นโลหิตใหญ่ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต ถ้าหากขาดคุณธรรมข้อนี้ในมวลมุสลิมแล้ว สังคมมุสลิมจะต้องวุ่นวายระส่ำระสายอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดามูฮำหมัด  จึงเตือนไว้ มีความหมายที่กินใจเหลือเกินว่า


“หากสูเจ้าทั้งหลายไม่มีความอายประจำใจแล้ว ก็เชิญกระทำทุกอย่างตามความปรารถนาเถิด”


ลิ้น ที่ชั่วนั้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดความแตกแยก

 

ร.ร.ท่าอิฐศึกษา