การคิดบวก positive thinking
  จำนวนคนเข้าชม  24731

การคิดบวก positive thinking


โดย...ยูซุฟ อบูบักร


"นัยน์ตาที่ดีมองความบกพร่องของคนอื่นไม่เห็น  แต่..นัยน์ตาที่อาฆาตร(ไม่ดี)ชอบมองเห็นความบกพร่องของคนอื่น”

กวีอาหรับ

         positive thinking หมายถึง “การคิดบวก” หรือ “การร่วมปลุกพลังบวก” สังคมทุกวันนี้กำลังวิกฤติ ขาดแคลน เรื่องความรักความเข้าใจ ความเป็นพี่น้องกำลังเหือดแห้งจางหายไปกับเรื่องมายคติ กระแสวัตถุนิยมรูปแบบต่างๆ กำลังประดาหน้าเข้ามาถาโถม ฉะนั้นการคิดบวก หรือมองโลกในแง่ดี เป็นศาสตร์อีกแขนงที่คนในยุคปัจจุบันจะต้องเรียนรู้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการมองโลกในแง่ร้าย ไม่เพียงแต่การทำร้ายผู้อื่นแล้วยังกลับมาทำร้ายทิ่มแทงตัวเองอีกด้วย

         การฝึกตนให้เป็นคนคิดในเชิงบวกอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนที่ความสุขในชีวิต การคิดบวกจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้มีพฤติกรรมที่จะตอบสนองต่อบุคคลรอบข้างในทางบวก อย่าลืมว่าการมีทัศนคติที่ดีย่อมจะส่งผลดีต่อการกระทำและเกิดผลลัพธ์ที่ออกมา และการปรับตนเองให้เป็นคนคิดเชิงบวกเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปในทางบวกอีกเช่นเดียวกัน

         อิสลามได้เรียกร้องไปสู่การมองโลกในแง่ดีหรือคิดบวก และได้ประณามการมองโลกในแง่ร้ายหรือคิดไม่ดี เพราะการนึกคิดไม่ดีเป็นแหล่งที่มาของความผิดพลาด ดั่งความหมายจากคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ  ดั่งความหมายที่ว่า

 “โอ้บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงปลีกตัวให้รอดพ้นจากส่วนมากของการสงสัย¹ แท้จริงการสงสัยบางประการนั้นเป็นบาป (จะได้รับการลงโทษ)

 และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และบางคนในกลุ่มของพวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน

คนหนึ่งในกลุ่มพวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน

และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” 

 
 1.จงทำตัวให้ห่างไกลจากการสงสัย การไม่ซื่อสัตย์ และการนึกร้ายต่อญาติพี่น้องและประชาชนทั่วไป ที่ว่าส่วนใหญ่การสงสัยนั้นเพื่อเป็นการระมัดระวังในทุก ๆ การกระทำดังกล่าว อย่ารีบด่วนในการนึกคิดแต่จงพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงเสียก่อน

(อัล-หุญุรอต/12)


           ปัญหาในสังคมของเราวันนี้..ความดีไม่ถูกตีแผ่ ในขณะที่ความชั่วถูกนำมาประจานอย่างฉับพลันทันด่วน ความดีงามอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบ ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างให้ผู้คนในสังคมได้ เพื่อจะทำให้ผู้คนที่รับรู้ได้ตระหนักและนำไปสู่การเอาเป็นแบบอย่าง กระตุ้น ปลุกจิตสำนึก สร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจ แต่..ไม่เป็นอย่างนั้น สังคมกลับไปมีพฤติกรรมเลียนแบบในเรื่องของความชั่วช้าเลวทราม ความผิดถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเมามันในสถานที่สาธารณะ ในที่สุดสังคมก้าวสู่ความหยาบกร้าน แข็งกระด้าง เพราะถูกหมักหมมด้วยกับปัญหาที่ชั่วร้ายนานับประการ


          ความสวยงามที่มีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลมีอยู่มากมาย แต่เรากลับมองไม่เห็น หรือเพราะเราเลือกมองเฉพาะของไม่ดีผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ในที่สุดเราก็เห็นแต่เรื่องร้ายๆ เท่านั้น เหมือนกับสุภาษิตอาหรับที่ว่า “ต้นอินทผลัมที่อยู่ในตาของตัวเองมองไม่เห็น แต่..กลับไปเห็นเศษฝุ่นที่อยู่บนศรีษะของคนอื่น”

         เช่นเดียวกันท่านรอสูลุลลอฮฺ  ได้สอนศิลปะในการอยู่รวมกันระหว่างสามีภรรยา โดยแนะนำให้แต่ละฝ่ายได้ตระหนักถึงความดีอันมากมายที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ อย่าเลือกมองสิ่งที่ไม่ดีเพียงบางประการสุดท้ายนำไปสู่ความร้าวฉานและหย่าร้างในที่สุด เพราะการหย่าร้างเป็นเรื่องอนุมัติ(หะลาล)ที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้วยิ่ง ความดีงามอีกมากมาย คนเราเคยอยู่ด้วยกันเป็นระยะเวลาหลายสิบปี แต่บางครั้งต้องมาแตกหักด้วยกับประเด็นปัญหาปลีกย่อย ความดีงาม ความรักในครั้งอดีตไม่สามารถฉุดรั้งให้ใช้ชีวิตร่วมกันได้อีกกระนั้นหรือ??

รายงานจากอบีฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ท่านรอสูล  กล่าวไว้ความว่า

 “ชายผู้ศรัทธา(สามี)อย่าเกลียดชังหญิงผู้ศรัทธา(ภรรยา) ถ้าหากเขาเกลียดชังนางในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็ขอให้พึงพอใจนางในเรื่องอื่นๆ” 

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ1469)

          ก่อนที่เราจะสรุป ตัดสินพิพากษา มองโลกในแง่ร้าย หรือตำหนิผู้อื่น เราลองทบทวนถึงความดีงาม ความรักที่เราต่างมอบให้กันก่อน คืนวันที่เราเคยช่วยกันปลุกปั้นสรรค์สร้างให้ครอบครัว องค์กร หรือสถาบันประสบความสำเร็จด้านต่างๆ มากมาย หวนรำลึกถึงหลากหลายภาพเหตุการณ์ที่เราได้ก้าวผ่านมาในครั้งอดีต ก่อนที่จะตัดสินพิพากษาว่าเขาเป็นคนไม่ดี


          เช่นเดียวกันการทำงานในสถาบัน องค์กรเดียวกัน การปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลาย ย่อมต้องพบกับความสุขสมหวังหรือไม่ก็ต้องพบกับความผิดหวังเสียใจในบ้างครา แต่อย่างหนึ่งที่ระดับปัจเฉกบุคคลจะต้องคำนึงว่า ความถูกต้องไม่ใช่เป็นของๆ เราเพียงผู้เดียว ความถูกผิดอาจเกิดกับใครก็ได้ การลดทิฐิ อัตตา อีโก้ ของตัวเองลงบ้าง นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อการอยู่รวมกันอย่างมีความสุข อาจจะแตกต่างกันบ้างในบางประเด็นปัญหา แต่..ต้องไม่แตกแยก ให้มองความแตกต่างหลากหลายเป็นสีสันเป็นความงดงามขององค์กร เพราะเราต่างเติบโตมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฉะนั้นการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด อยู่รวมกันให้ได้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องศึกษา เพราะถ้าต่างคนยึดแต่ความดี ความเก่ง เกียรติแห่งตนโอกาสที่ทำให้องค์กรอยู่รอดนับเป็นเรื่องที่ท้าทายและยากเย็นยิ่งนัก


          ในตัวของผู้บริหาร หัวหน้าสายงาน พวกเขาไม่มีความดีอยู่เลยหรือ? ความผิดพลาดของพวกเขาพอที่จะให้อภัยได้หรือไม่? หรือความผิดนั้นเรามีส่วนร่วมอยู่ด้วยหรือไม่?อย่างไร? ในองค์กรหรือในตัวของคู่ครองยังมีความดีงามอีกมากที่เราไม่พยายามเหลือบตาไปมอง หรือความดีบางประการไม่ต้องใช้ความพยายามก็สามารถพบเห็นได้เลย อยู่ที่ว่าเราสนใจจะมองมากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง


          เคมีหรือเส้นแบ่งแยกระหว่างความรักกับความชังถูกฝังตัวอยู่อย่างเฉียดฉิว จากที่เราเคยรักกันอย่างดูดดื่ม มาเปลี่ยนเป็นความชังจนกระทั่งดูหน้ากันไม่ได้ หลงลืมอดีตที่แสนงามไปแล้วหรือ? มัวติดใจอยู่กับปัจจุบันที่เลวร้ายเพียงอย่างเดียว เลยไม่สนใจอดีตที่งดงามและไม่คำนึงถึงอนาคตที่น่าจะเป็น

          คงไม่มีใครเถียง หากผมจะอนุมาน “ความแตกแยก”  เป็นดั่งมะเร็ง เป็นโรคที่น่ากลัวไม่น้อยกว่าโรคร้ายแรงอื่นๆ เพราะบทเรียนที่ได้รับจากความแตกแยกได้สอนผู้คนในสังคมมามากต่อมาก ไม่เพียงแต่ทำให้มุสลิมอ่อนแอเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับศัตรูอีกต่างหาก

         การให้อภัย..มองโลกในแง่ดี..ความรัก.. ความเข้าใจ.. ยอมรับความดีที่มีอยู่มากมายในตัวของผู้อื่น..จำนนต่อความหลากหลาย..คือยาวิเศษอีกขนานที่จะมาช่วยบำบัดโรคร้ายที่กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้

          ทางออกอีกประการคือ การเปิดอกพูดคุยกัน เปิดใจให้กว้างยอมรับคำแนะนำบอกกล่าว ดีกว่าต่างฝ่ายมาคิดวิเคราะห์เอาเอง หรือลำเลิก รำพรรณต่างๆ นาๆ ในที่สุดแต่ละฝ่ายต้องทุกข์ระทมไปพร้อมกันอย่างที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

จงมอบหมายทุกกิจการงานต่ออัลลอฮฺ (ตะวักกัล) แล้วจะสุขใจ จงเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ (ยะกีน)อย่างแน่วแน่ไม่แปรผัน แล้วชีวิตจะยิ่งเปี่ยมสุข

         วันนี้..เป็นเวลาที่เราต้องมาช่วยกันฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่กัน  โปรดรำลึกเสมอว่า การให้สุขแก่กัน.. สุขนั้นถึงตัว..จงปรับเปลี่ยนความอีมาน..ให้เป็นอาวุธที่ทรงพลัง มีแสนยานุภาพ  เพราะชีวิตในโลกนี้ช่างแสนสั้นยิ่งนัก ไม่มีเวลาพอที่จะให้ใครมามัวตัดพ้อหรือสิ้นหวัง

         โลกดุนยา..เป็นเพียงทางผ่าน.. พวกเราเปรียบเสมือนนักเดินทาง.. ที่มาพึ่งพาร่มเงาของต้นไม้ ไม่นาเราก็เดินทางต่อไปยังโลกอันจีรังถาวร โลกที่ไม่มีวันอันตรธานแล้วหลังจากนั้น จงมีความสุขกับชีวิต..มองโลกที่เราอาศัยอยู่ในเชิงบวกให้มาก

 

          การปลุกให้คนในสังคมคิดเชิงบวกเป็นเรื่องที่ต้องรีบทบทวนแล้วล่ะ..หวังว่าโลกใบที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ถึงแม้จะมีความบุบเบี้ยวอยู่บ้าง ก็จะทำให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นนะครับ.