จริยธรรม ของผู้นำต่อประชาชน
  จำนวนคนเข้าชม  7984

จริยธรรม ของผู้นำต่อประชาชน


เขียน โดย: อุสตาซ เอช เอ อับดุรฺเราะหฺมาน อะหมัด


ความรับผิดชอบ

     ♦  ทุกๆ คนคือผู้นำ ทุกชีวิตจะต้องถูกสอบสวนในสิ่งที่ตนเองได้กระทำไว้ (อัลกุรอานมุดดัษษิรฺ: 38; มุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ) กล่าวคือ ทุกๆ คน คือผู้ที่จะต้องรักษาภาระหน้าที่ (อะมานะฮฺ) และขอบเขตศาสนาของอัลลอฮฺ

     ♦  การเป็นผู้นำถือเป็นฟิตนะฮฺ (บททดสอบ) อันยิ่งใหญ่ (อิมามนะวาวี)

     ♦  ต้องปฏิบัติภารกิจอย่างดียิ่ง เพราะทุกๆ คนต้องถูกสอบสวนในหน้าที่ของตน (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

     ♦  ผู้นำที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่จะต้องเศร้าเสียใจอย่างมากในวันกิยามะฮฺ (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

     ♦  ความพินาศจะประสบกับผู้นำที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี (อะหฺหมัด, บัยฮากี)

     ♦  การเป็นผู้ตัดสินคดี (ฮากิม) เป็นภารกิจที่หนักหน่วงมาก (อะหฺหมัด, ติรฺมีซีย์, อบูดาวูด, มุสลิม)

     ♦  อย่าได้กระสันอยากที่จะเป็นฮากิมหรือผู้นำ ผู้ใดต้องการเป็นฮากิมหรือผู้นำ ดังนั้นเขาจะต้องแบกรับภาระหนักด้วยตนเอง หากเขาต้องเป็นฮากิมหรือหัวหน้าด้วยความจำเป็น อัลลอฮฺ จะส่งมลาอิกะฮฺให้มาช่วยเหลือเขา(ติรฺมีซีย์, อบูดาวูด, มุสลิม)

     ♦  ผู้ใดที่อยากจะเป็นผู้นำ เท่ากับเขาได้เข้าใกล้ชิดความเกลียดชังของอัลลอฮฺ แล้ว (บิชรฺ บิน ฮาริษ)

 

คุณลักษณะของผู้นำ

     ♦  วาญิบต้องเรียนรู้ศาสนาอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะเป็นผู้นำ (อุมัรฺ บิน ค็อฏฏอบ)

     ♦  ฮากิม (ผู้ตัดสินคดีความ) หรือผู้นำจะต้องยำเกรงอยู่เสมอและรำลึกว่าภาระของตนนั้นใหญ่หลวงนัก (ติรฺมีซีย์, อบูดาวูด, อิบนุมาญะฮฺ)

     ♦  ผู้นำจะต้องอ่อนโยนต่อผู้ตาม (อัลกุรอานอัชชุอารออฺ: 215)

     ♦  ผู้นำจะต้องยุติธรรม คุณค่าของการเป็นผู้นำที่ยุติธรรมมีหลายประการ เช่น

- จะได้รับตำแหน่งที่มีรัศมีเจิดจรัส (มุสลิม)
- ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาอารัชอิลาฮีในวันกิยามะฮฺ (บุคอรี, มุสลิม)
- เป็นผู้ที่อัลลอฮฺ ทรงรักและใกล้ชิดกับพระองค์ (อัลกุรอานอัลฮุญุรอต: 9; ติรฺมีซีย์)
- จะได้รับสวรรค์เป็นการตอบแทน (อบูดาวูด)

     ♦  ผู้นำจะต้องมีความซื่อสัตย์และยุติธรรม ผู้นำทั้งหลายจะต้องยืนอยู่บนสะพานข้ามนรก หากเขาเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์และยุติธรรม เขาจะปลอดภัย หากเป็นผู้นำที่อธรรม สะพานก็จะหักสะบั้น แล้วพวกเขาก็จะถูกโยนลงสู่ขุมนรกเป็นเวลานานถึง 70 ปี (บิชรฺ บิน ฮาริษ)

 

การตัดสินเรื่องต่างๆ

     ♦  อย่าได้สร้างภาระอันยุ่งยากให้แก่พี่น้องมุสลิม ผู้ใดที่สร้างภาระหนักให้แก่พี่น้องมุสลิม อัลลอฮฺ  จะทรงสร้างภาระหนักให้แก่เขา

     ♦  ผู้ตัดสินมี 3 ประเภท สองประเภทเป็นชาวนรก อีกหนึ่งประเภทเป็นชาวสวรรค์

ที่เป็นชาวนรก คือ 1. ตัดสินคดีความผิดพลาดทั้งๆมีความรู้ , 2. วินิจฉัยผิดพลาดโดยที่ตนเองไม่มีความรู้ถึงขั้นจะวินิจฉัยได้

ที่เป็นชาวสวรรค์ คือ  3. ผู้ที่วินิจฉัย ตัดสินคดีความถูกต้องพร้อมด้วยวิชาความรู้ (อบูดาวูด)

     ♦  จะต้องตัดสินคดีความในภาวะที่สงบ เยือกเย็น ไม่อยู่ในภาวะที่เจ็บป่วย เศร้าใจ ดีใจ หิวกระหาย ง่วงนอน และโกรธเคือง (อัชชาฟิอี, มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

     ♦  ผู้นำต้องฟังเรื่องราวทั้งหมดด้วยความชัดแจ้งจากทุกฝ่าย เพื่อให้การตัดสินเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม (มุสลิม, อบูดาวูด, ติรฺมีซีย์)

     ♦  ผู้นำจะต้องมากด้วยการปรึกษาหารือหรือการประชุมในการปฏิบัติงานหรือตัดสินคดีต่างๆ (อัลกุรอานอันนิชาอฺ: 159, อบูดาวูด)

     ♦  ผู้นำที่ชาญฉลาดจะต้องตัดสินเรื่องต่างๆ ด้วยอัลกุรอาน หากไม่มีหลักฐานจากอัลกุรอานก็ตัดสินตามซุนนะฮฺ หากไม่มีในทั้งสองก็ด้วยการอิจญติฮาด วินิจฉัยอย่างรอบคอบที่สุด (ติรฺมีซีย์, อบูดาวูด, ดารอมี)

     ♦  ผู้นำที่ทำการวินิจฉัยด้วยความรอบคอบ และเต็มกำลังความสามารถ หากการวินิจฉัยถูกต้องจะได้รับสองผลบุญ แต่หากผิดพลาดก็จะได้หนึ่งผลบุญ (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

 

ผู้นำที่ชั่วช้า

     ♦  ผู้นำที่เลวที่สุด คือผู้ที่ประชาชนเกลียดชัง และเกลียดชังประชาชน (มุสลิม)

     ♦  อัลลอฮฺ ทรงห้ามสวรรค์สำหรับผู้นำที่ทำร้าย (อธรรม) ต่อประชาชน (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

     ♦  ผู้อธรรมที่เลวที่สุด คือ ผู้นำที่อธรรมต่อประชาชน (มุสลิม)

     ♦  มนุษย์ที่เลวที่สุด คือ ผู้มีอำนาจที่อธรรมและโหดร้าย (อะหฺหมัด, บัยฮะกี)

     ♦  พฤติกรรม  3 ประการ ที่รอซูล เกรงว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของท่าน คือ

- การขอฝนจากดวงดาว
- ความอธรรมของผู้นำ
- การปฏิเสธตักดีรฺ (ลิขิต) จากอัลลอฮฺ

(มิชกาตุล มะศอบิฮฺ)

     ♦  ผู้นำที่พินาศ คือผู้ที่รู้สึกเพียงพอกับทรัพย์สินของตน แต่โลภต่อทรัพย์สินของคนอื่น (อบูบักร รอฏิยัลลอฮุอันฮู)

 

เจ้าหน้าที่หรือผู้ร่วมงาน

     ♦  สำหรับผู้นำทุกคนจะมีผู้ร่วมงาน 2 ประเภท คือ คนดี และคนไม่ดี (บุคอรี, บัยฮะกี, อะหฺหมัด)

     ♦  ผู้นำจะต้องแสวงหาเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ เมื่อใดที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ความดีให้แก่ผู้นำคนหนึ่ง อัลลอฮฺ  จะทรงเลือกเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ให้แก่เขา หากเขาลืม เพื่อนก็จะเตือนและจะคอยช่วยเหลือเขา (อบูดาวูด)

     ♦  ผู้นำจะต้องบัญชาใช้ให้เพื่อนร่วมงานปฏิบัติดี สะดวกง่ายดาย อย่างสร้างความยากลำบากให้แก่ปะชาชน (มุสลิม)

     ♦  ความผิดของเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นความผิดของผู้นำด้วย (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

 

ผู้นำกับประชาชน

     ♦  ผู้นำคนหนึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อประชาชน หากผู้นำเสียหาย ประชาชนย่อมเสียหายด้วย (อัลฆอซาลี)

     ♦  ผู้นำจะต้องพร่ำเตือนประชาชนให้ตออัตต่ออัลลอฮฺ อยู่เสมอๆ (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

     ♦  อย่าข่มเหงรังแกประชาชน ผู้นำที่ข่มเหงรังแกประชาชน วันกิยามะฮฺเขาต้องถูกสวมแอกหรือขื่ออย่างทุกข์ทรมาน (อัดดารอมี)

     ♦  อย่าหลอกลวงประชาชน อัลลอฮฺ ทรงห้ามสวรรค์สำหรับผู้นำที่หลอกลวงประชาชน (บุคอรี, มุสลิม)

     ♦  จะไม่ได้เข้าสวรรค์ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เก็บภาษีจากประชาชนหนึ่งในสิบ (อะหฺหมัด, อบูดาวูด, ดารอมี) ภาษีของประชาชนจะต้องน้อยกว่าหนึ่งในสิบของรายได้

     ♦  ผู้นำต้องสนใจในความต้องการของประชาชน ผู้ใดไม่สนใจในความต้องการของประชาชน อัลลอฮฺ จะไม่สนใจในความต้องการของเขา (อบูดาวูด, ติรฺมีซีย์)

 

ค่าตอบแทนของผู้นำ

     ♦  ผู้นำมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าตอบแทนจากกองคลังบัยตุลมาลให้เพียงพอกับความจำเป็น (ตามมติตกลงของที่ประชุม) (บุคอรี)

     ♦  สิทธิประโยชน์ที่ผู้นำสามารถรับได้จากกองทุนบัยตุลมาล นอกเหนือจากเงินเดือน คือ ที่พัก (บ้าน ที่อยู่อาศัย) คนรับใช้ อย่างไรก็ตามสามารถรับทั้งสองประการนั้นได้ เมื่อยังไม่มีอยู่ก่อนเท่านั้น ผู้ใดแสวงหานอกเหนือไปจากนั้น ถือเป็นการฉ้อฉลต่อทรัพย์สินของประชาชน

     ♦  อย่ากินสินบน ท่านรอซูล สาปแช่งผู้ที่กินสินบนและให้สินบน (อบูดาวูด, มุสลิม)

 

 


ที่มา: หนังสือแบบอย่างแห่งศาสดาในวิถีชีวิตมุสลิม

แปลและเรียบเรียง โดย: มันศูรฺ อับดุลลอฮฺ