อายะฮฺอัลกุรอานในวิถีชีวิตของชาวสะลัฟ
อิมาม หะสัน อบู อัลอัยนัยนฺ
เป็นความจริงที่ว่าบรรพชนชาวสะลัฟ อัศ-ศอลิหฺ หรือกัลยาณชนรุ่นแรกของเรานั้นมีความรู้สึกที่สุขใจต่ออายะฮฺอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ทำให้พวกเขาได้ปฏิบัติมันในวิถีชีวิตของแต่ละวัน ซึ่งไม่เคยปรากฏว่าวิถีชีวิตนอกมัสญิดนั้นได้ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากสภาพเช่นนั้น วิถีชีวิตในแต่ละวันของพวกเขานั้นจะไม่แยกให้เป็นส่วนหนึ่งและแยกศาสนาออกเป็นส่วนหนึ่ง ทว่าทั้งสองส่วนนั้นได้เติมเต็มความสมบูรณ์ซึ่งกันและกัน โดยที่การนำอายะฮฺอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบีไปใช้นั้นได้ฉายให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในการเคลื่อนไหวและการดำเนินชีวิตของพวกเขา
ซึ่งนี่คือเรื่องราวของท่านอับดุลลอฮฺ บินอุมัร ที่ท่านได้ตอบสนองในคำดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า
﴿لَن تَنَالُواْ ٱلۡبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُواْ مِمَّا تُحِبُّونَۚ ٩٢﴾ [آل عمران : 92]
“พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ”
(สูเราะฮฺ อาลิ อิมรอน : 92)
เมื่อท่านรู้สึกประทับใจในทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ ท่านก็จะใช้มันให้เป็นไปเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ กระทั่งบรรดาทาสรับใช้ของท่านต่างก็รับรู้ในเรื่องนี้กัน จึงมีทาสรับใช้บางคนถึงกับพำนักอยู่แต่ในมัสญิด ซึ่งเมื่อท่านอิบนุอุมัรเห็นเขาในสภาพเช่นนั้น ท่านก็ได้ปลดปล่อยเขาจากการเป็นทาสรับใช้โดยทันที
กระทั่งมีบางคนได้กล่าวกับท่านว่า “ทาสรับใช้เหล่านั้น ต่างก็หลอกลวงท่านเท่านั้น”
แต่ท่านอิบนุอุมัร กลับตอบว่า “ผู้ใดก็ตามที่หลอกลวงฉันเพื่ออัลลอฮฺ ฉันก็จะหลอกลวงตัวฉันเองเพื่อเขา”
และปรากฏว่า ท่านอิบนุอุมัรเองเคยครอบครองทาสสาวคนหนึ่งที่ท่านรักนางมาก แต่แล้วท่านก็ปลดปล่อยนางให้เป็นอิสระแล้วให้นางแต่งงานกับนาฟิอฺ ซึ่งเป็นทาสรับใช้คนหนึ่งที่ท่านเคยปลดปล่อยให้เป็นอิสระก่อนหน้านี้แล้ว และท่านได้กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺ ได้ดำรัสว่า
﴿لَن تَنَالُواْ ٱلۡبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُواْ مِمَّا تُحِبُّونَۚ ٩٢﴾ [آل عمران : 92]
“พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ”
(สูเราะฮฺ อาลิ อิมรอน : 92)
ครั้งหนึ่ง ท่านอิบนุอุมัรซื้ออูฐเพศผู้ตัวหนึ่งแล้วท่านรู้สึกประทับใจเมื่อได้ขี่มัน เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจึงกล่าวว่า โอ้นาฟิอฺเอ๋ย ! จงให้มันเป็นอูฐที่เศาะดะเกาะฮฺเถิด
ท่านอิบนุญะอฺฟัร เคยมอบเงินให้ท่านอิบนุอุมัร 10,000 ดิรฮัม หรือมากกว่านั้นเพื่อที่จะซื้อตัวนาฟิอฺ แต่ท่านอิบนุอุมัรกลับตอบว่า “ฉันได้ปลดปล่อยให้เขาเป็นอิสระแล้ว เขาได้เป็นอิสระเพื่ออัลลอฮฺแล้ว”
ท่านอิบนุอุมัรเคยซื้อเด็กน้อยคนหนึ่งด้วยราคา 40,000 ดิรฮัม แล้วท่านก็ได้ปล่อยให้เขาเป็นอิสระ เด็กน้อยคนนั้นจึงกล่าวต่อท่านว่า “โอ้เจ้านายของฉัน แน่แท้ท่านได้ปล่อยให้ฉันเป็นอิสระแล้ว ดังนั้นจงมอบเงินให้แก่ฉัน เพื่อที่ฉันจะใช้มันในการใช้ชีวิตต่อไปเถิด” ดังนั้นท่านจึงมอบเงินให้แก่เขาเป็นจำนวนเงินถึง 40,000 ดิรฮัม
และครั้งหนึ่ง ท่านเคยซื้อทาสรับใช้ถึง 5 คน ซึ่งเมื่อท่านได้ละหมาดพวกเขาทั้งหลายก็ได้ละหมาดตามหลังท่านด้วย
ท่านจึงกล่าวแก่พวกเขาหลังจากละหมาดเสร็จว่า พวกเจ้าละหมาดเพื่อใครกระนั้นหรือ ? พวกเขาได้ตอบว่า เพื่ออัลลอฮฺ
ท่านอิบนุอุมัรจึงกล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลายเป็นอิสระเพื่อผู้ที่พวกเจ้าได้ละหมาดแล้ว ดังนั้นท่านอิบนุอุมัรก็ปลดปล่อยให้พวกเขาเป็นอิสระทุกคน”
(อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 6 : 9)
ดังนั้น อายะฮฺข้างต้นนี้
﴿لَن تَنَالُواْ ٱلۡبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُواْ مِمَّا تُحِبُّونَۚ ٩٢﴾ [آل عمران : 92]
“พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ”
(สูเราะฮฺ อาลิ อิมรอน : 92)
หากมันได้รับการปฏิบัติในยุคของเราในปัจจุบันนี้ แน่แท้เราจะไม่พบคนยากไร้ หรือคนที่ถูกทอดทิ้งท่ามกลางพี่น้องมุสลิมที่มีอยู่อย่างมากมาย และแม้ว่ามุสลิมได้ปฏิบัติสิ่งนี้เพียงแค่ 10 % ก็ตาม เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนั้นมันอยู่นอกเหนือจากการบังคับให้จ่ายซะกาตที่เป็นภาคบังคับ แต่มันเป็นการกระทำที่เปิดกว้างนั่นคือการบริจาคทาน(เศาะดะเกาะฮฺ) และมันเป็นสนามที่เปิดกว้างนั่นคือสนามที่ผู้คนสามารถใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองตามที่ตนปรารถนา และเป็นการออมทรัพย์สำหรับตัวของเขาเองด้วย
และเรื่องราวของท่านอุมัร บินอับดุลอะซีซ ที่ท่านได้ตอบสนองในดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า
﴿إِنَّ وَلِـِّۧيَ ٱللَّهُ ٱلَّذِي نَزَّلَ ٱلۡكِتَٰبَۖ وَهُوَ يَتَوَلَّى ٱلصَّٰلِحِينَ ١٩٦﴾ [الأعراف : 196]
“แท้จริงผู้คุ้มครองฉันนั้นคือ อัลลอฮฺผู้ทรงประทานคัมภีร์ลงมา และพระองค์ก็ทรงคุ้มครองบรรดาผู้ประพฤติดีทั้งหลาย”
(สูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ : 196)
มีคนกล่าวแก่ท่านอุมัร บินอับดุลอะซีซในขณะที่ท่านนอนบนเตียงใกล้เสียชีวิตว่า “พวกเขาเป็นลูกๆของท่าน(ซึ่งมีจำนวน 12 คน) ท่านจะไม่สั่งเสียบางสิ่งบางอย่างแก่พวกเขา เพราะพวกเขาเป็นผู้ยากไร้ดอกหรือ ?”
ท่านจึงกล่าวว่า “แท้จริงผู้คุ้มครองฉันนั้นคืออัลลอฮฺ ผู้ทรงประทานคัมภีร์ลงมา และพระองค์ก็ทรงคุ้มครองบรรดาผู้ประพฤติดีทั้งหลาย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่มอบสิ่งใดที่เป็นสิทธิ์ของผู้อื่นแก่พวกเขาเป็นอันขาด เพราะพวกเขาอยู่ระหว่างบุคคลสองประเภท บางทีเขาอาจจะเป็นผู้ประพฤติดี ดังนั้นอัลลอฮฺก็ทรงคุ้มครองบรรดาผู้ประพฤติดีทั้งหลาย และบางทีเขาอาจจะเป็นผู้ที่ประพฤติไม่ดี ซึ่งฉันจะไม่ช่วยเหลือการกระทำที่ฝ่าฝืน(ฟาสิก)ของเขา –ด้วยการให้ทรัพย์สินเงินทองอย่างแน่นอน(ผู้แปล)- ฉันไม่สนใจว่าเขาจะไปตายที่หุบเขาใด และฉันจะไม่ทิ้งสิ่งใดเพื่อเขาจะใช้มันในการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ(มุอฺศิยะฮฺ) กระทั่งฉันกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมกับเขา เมื่อเขาได้ประพฤติตัวภายหลังที่ฉันตายไป หลังจากนั้นท่านก็ได้เรียกลูกๆเพื่อกล่าวคำอำลาและสั่งเสียพวกเขาในสิ่งที่ท่านได้กล่าวไว้”
แล้วท่านก็กล่าวต่ออีกว่า “พวกเจ้าทั้งหลายจงไปเถิด อัลลอฮฺจะทรงคุ้มครองพวกเจ้าเอง และดูแลคุ้มครองพวกเจ้าอย่างดีที่สุด”
ผู้คนได้กล่าวว่า “เป็นความจริงที่ว่า พวกเราได้เห็นลูกๆบางคนของท่านอุมัร บินอับดุลอะซีซ นำม้า 80 ตัว(บริจาค)เพื่อใช้หนทางของอัลลอฮฺ แต่ลูกๆบางคนของสุลัยมาน บินอับดุลมะลิก(เคาะลีฟะฮฺ สมัยอุมาวิยะฮฺ ปี ฮ.ศ 96-99)ด้วยกับทรัพย์สินจำนวนมากมายที่สุลัยมานได้ให้แก่ลูกๆของเขา แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับต้องไปขอยืมทรัพย์สินจากลูกๆของท่านอุมัร บินอับดุลอะซีซ เนื่องจากว่าท่านอุมัรได้มอบหมายลูกของท่านไว้กับอัลลอฮฺ แต่สุลัยมานและคนอื่นๆกลับมอบหมายลูกๆของพวกเขาไว้กับสิ่งที่พวกเขาได้ให้ กระทั่งทรัพย์สินเหล่านั้นหมดสิ้นและจากไปด้วยกับอารมณ์ใคร่ของลูก ๆ พวกเขา”
(อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ : 9/218)
ด้วยอายะฮฺเดียวเท่านั้น ที่ท่านอุมัร บินอับดุลอะซีซได้นำมาใช้ในสิทธิของลูกๆของท่าน ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับการปกป้องดูแลด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ และได้รับประกันพวกเขาให้อยู่ในความดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้น สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ศรัทธาต้องเรียนรู้ว่าจะอบรมสั่งสอนครอบครัวอย่างไร ? และจะปกป้องดูแลลูกๆในมุมมองอิสลามในรูปแบบใด ?
แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse.com