ดุนยานี้เพื่ออะไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  12675

ดุนยานี้เพื่ออะไร ?


อาจารย์ มุญาฮิด ลาตีฟี

 
إِنَّ اللهَ يُحِبُّ الَّذِيْنَ يُقَاتِلُوْنَ فِى سَبِيْلِهِ صَفًّا كَأَنَّهُمْ بُنْيَانٌ مَرْصُوْصٌ  (الصف : 4)

 

         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงมีความตั้งมั่นยำเกรงต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม ในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกล จากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ด้วยความยำเกรงของเราที่มีต่ออัลเลาะห์ ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม ผู้ที่สวามิภักดิ์ ยินยอม ศิโรราบ ให้กับคำบัญชาแห่งอัลเลาะห์  และการ تقوى นี้ จะเปรียบเหมือนกับ แสงสว่างที่จะชี้นำในการที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ถูก และออกห่างจากสิ่งซึ่งที่เป็นความผิด เป็นความไม่ถูกต้องในทรรศนะของอิสลาม

 พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย จากโองการ ที่ได้อันเชิญในตอนต้น แห่งคุตบะห์นั้น  อัลเลาะห์ ได้ทรงมีพระดำรัสใน ซูเราะห์ الصف อายะห์ที่ ๔ โดยมีนัยยะว่า

 

“แน่แท้อัลเลาะห์ ทรงรักบรรดาบุคคลซึ่งที่ต่อสู้ในหนทางของพระองค์ ในสภาพที่อยู่ในแถวอย่างเป็นระเบียบ ประหนึ่งสิ่งปลูกสร้างซึ่งที่มั่นคงแข็งแรง”

 และท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า

  ثَلاَثَةٌ يَضْحَكُ اللهُ إِلَيْهِمْ
اَلرَّجُلُ يَقُوْمُ مِنَ اللَّيْلِ وَاْلقَوْمُ إِذَاصَفُّوْالِلصَّلاَةِ وَاْلقَوْمُ إِذَاصَفُّوْالِلْقِتَالِ (أخرجه إبن ماجه والإمام أحمد)   

   

“บุคคล ๓ จำพวก ที่อัลเลาะห์ ทรงมีความพอพระทัย คือบุคคลซึ่งที่เขาดำรงการปฏิบัติ อิบาดะห์ ในยามค่ำคืน

และกลุ่มบุคคลซึ่งที่เขาตั้งแถว ในการปฏิบัติละหมาด และกลุ่มบุคคลซึ่งที่เขาเข้าแถวเพื่อการต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์ ”

 

        จากโองการแห่งอัลเลาะห์ และคำกล่าวของท่านนบี  บ่งชี้ถึงความเป็นเรา ในฐานะที่ประกาศตนว่า เราคือมุสลิม  เราคือมุมิน ลักษณะของการอยู่ร่วมกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ส่วนตัว และส่วนรวมนั้น ปฏิเสธไม่ได้ถึงลักษณะของการปรองดอง การอยู่ในแถว ในแนว ที่มีกฎ มีระเบียบ ที่อัลอิสลามได้กำหนดเอาไว้ ถ้าหากเราจะพิจารณาในระดับจุลภาค ในระดับเล็ก ๆ ในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว หรือในระดับมหภาค องค์กร สถาบัน ที่ภาพลักษณ์ได้ชี้ถึง ว่าครอบครัว สถาบัน องค์กร อยู่ภายใต้การดูแลของมุสลิม

        แต่แล้วสิ่งที่ประจักษ์ กลับก่อให้เกิดความหดหู่ ความน่าสมเพช ไม่ใช่เฉพาะกับผู้ที่เป็นมุสลิมเท่านั้น ลักษณะอันน่ารังเกียจนั้น ก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อบุคคลซึ่งที่ไม่ใช่มุสลิม นั่นคือภาพลักษณ์ที่มุสลิมได้ฉายออกไปให้บุคคลภายนอกได้เห็น กับบุคคลที่ไร้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของอิสลาม ก็จะมองว่า นี่หรืออิสลาม ? นี่หรือหลักคำสอนของอิสลาม ? เขาไม่ได้พิจารณาตัวบุคคล แต่เขาจะพิจารณาถึงสิ่งซึ่งบุคคลนั้นยึดถือ นั่นคือ ศาสนา

 

        แน่นอนที่สุดหลักธรรมคำสอนของอิสลามนั้นสูงส่ง ตราบเท่าที่ มนุษย์หรือบุคคลนั้นได้นำไปปฏิบัติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มุสลิม ไม่ได้นำคำสอนของอิสลามมาปฏิบัติ ก็จะไม่มีวันที่จะได้รับความสูงส่งที่อัลเลาะห์ จะทรงประทานให้


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การปรองดอง ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งซึ่งที่ขาดไม่ได้ กับบุคคลที่คิดจะทำงาน เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม และการปรองดองนั้น มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อดีตประธานคณะกรรมาธิการของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ผู้ล่วงลับ ได้วางกรอบไว้ว่า

 “แท้จริงการวางกรอบความเข้าใจ คือองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งจากบรรดาองค์ประกอบของการพิจารณา ไตร่ตรอง ไม่ว่าในเรื่องใด และหากไม่มีการวางกรอบดังกล่าวแล้ว ข้อชี้ขาดทางศาสนาก็จะแตกต่าง คำพูดก็จะสับสน และความแตกแยกก็จะเกิดขึ้นในที่สุด”


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย อิสลามได้วางกรอบให้กับเรา ในทุก ๆ  การปฏิบัติ ในส่วนตัว ในครอบครัว ในชุมชน ในองค์กร ในสถาบัน ในทุก ๆ ระดับแห่งการใช้ชีวิตในดุนยานี้ อยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะกำหนดบทบาทของตัวเอง ให้อยู่ในกรอบแห่งการปฏิบัตินั้นได้หรือไม่ นั่นคือการประมาณตน ให้เรารู้ว่าเราอยู่ในฐานะอะไรในดุนยานี้ แน่นอนที่สุดเราอยู่ในฐานะบ่าวของอัลเลาะห์ ต่อบทบาทซึ่งที่เราได้รับนั้นคืออะไร เป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม เป็นผู้เรียน เป็นผู้รู้ หรือผู้ไม่รู้

เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ท่าน سيدنا علي ได้วางกรอบการกำหนดบทบาทของมนุษย์ในดุนยานี้

ประเภทที่หนึ่ง คือบุคคลซึ่งที่รู้ และตัวเขาก็รู้ ว่าเขานั้นรู้ فاسئلوا ท่านจงถามบุคคลนั้นเถิด เขาคือผู้รู้ที่แท้จริง

ส่วนบุคคลที่สอง บุคคลซึ่งที่รู้ แต่ตัวเขาเองนั้นไม่รู้ ว่าตนนั้นรู้ ท่านจงเตือนเขาเถิด เขาคือผู้ที่หลงลืม

บุคคลที่สาม คือบุคคลซึ่งที่ไม่รู้ และตัวเขาก็รู้ว่าตนเองนั้นไม่รู้ ท่านจงสอนเขาเถิด เพราะเขาเป็นผู้ซึ่งที่ไม่รู้

ประเภทสุดท้าย คือบุคคลซึ่งที่ไม่รู้ และตนเองก็ไม่รู้ว่าตนนั้นไม่รู้ พวกท่านทั้งหลายจงระวังมันไว้ให้ดี นั่นคือบุคคลซึ่งที่เป็น ฟาซิก


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การวางกรอบความเข้าใจคือสิ่งที่สำคัญ เพราะเราจะได้ไม่อยู่ในขอบข่ายของบุคคลซึ่งที่จะอยุติธรรมต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นสำคัญ กับบุคคล ซึ่งที่อยู่ใกล้ชิดเรา  อัลเลาะห์ ได้ทรงกล่าวเอาไว้   ใน ซูเราะห์ ص อายะห์ที่ ๒๔ ว่า

وَإِنَّ كَثِيْرًا مِّنَ اْلخُلَطَاءِ لَيَبْغِيْ بَعْضُهُمْ عَلَى بَعْضٍ إِلاَّ الَّذِيْنَ آمَنُوْا وَعَمِلُوْا  الصَّالِحَاتِ وَقَلِيْلٌ مَّاهُمْ  

 

“แน่แท้บรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกันส่วนใหญ่นั้น มักจะมีการฉ้อฉล อธรรมซึ่งกันและกัน

ยกเว้นบรรดาผู้ที่มีการศรัทธา และความประพฤติดีงามเท่านั้น แต่พวกเขาก็มีจำนวนน้อยเหลือเกิน”

 

         สิ่งสำคัญที่เราจะต้องให้การเอาใจใส่ ระมัดระวัง คือบุคคลซึ่งที่อยู่ใกล้ชิดเรา เราจะต้องเพียรพยายามต่อการที่ตัวเรา จะต้องไม่อธรรมต่อบุคคลนั้น และพยายามที่จะทำให้บุคคลซึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับเรานั้น มีความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของอิสลาม เฉกเช่นเดียวกับเรา สามี ภรรยา ลูก เพื่อนบ้าน ญาติใกล้ชิด บุคคลในชุมชน มุสลิมทั่ว ๆ ไป หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็ตาม ทุกคนมีสิทธิ์ สิทธิที่จะต้องมอบให้ซึ่งกันและกัน ถามว่าเราสามารถที่จะให้สิทธิกับทุก ๆ คน ได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา คำตอบก็คือ ไม่ แล้วใครกันเล่า คือผู้ซึ่งที่เราจะต้องมอบสิทธิการดูแล

         การให้ความสำคัญ เป็นลำดับ ๑ ๒ ๓ หรือ ๔ ความสับสน ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในตัวเราเอง ในครอบครัว ในชุมชนนั้น มันเกิดจากความผิดพลาดในการให้ความสำคัญ บุคคลที่สมควรจะได้รับความสำคัญ การดูแล เอาใจใส่จากตัวเราเป็นลำดับแรก กลับได้รับทีหลัง แต่บุคคลซึ่งที่สมควรจะได้รับการปฏิบัติ การดูแล เอาใจใส่จากตัวเราทีหลัง กลับมาได้รับก่อน บั้นปลายมันก็คือความสับสน การเหลื่อมล้ำ ที่สุดแล้ว มันก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ ซึ่งมันเกิดขึ้นกับตัวเราและกับบุคคลที่อยู่รอบข้าง


พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย 

ท่าน ซัยดินาอุมัร  ได้ถามกับ ซอฮาบะห์ ท่านหนึ่งว่า  ท่านรู้จักบุคคลนั้นหรือไม่ ? 

ซอฮาบะห์ท่านนี้ตอบว่า ฉันรู้จัก

ซัยดินาอุมัรได้กล่าวถามต่อไปว่า ท่านเคยพักอาศัยร่วมชายคาเดียวกับบุคคลนั้นหรือไม่ ?

ซอฮาบะห์ตอบว่า ผมไม่เคย

ท่านซัยดินาอุมัรถามต่อว่า ท่านเคยเดินทางไกลร่วมกับบุคคลนั้นหรือไม่ ?

ซอฮาบะห์ท่านนี้ก็บอกว่า ผมก็ไม่เคย

คำถามสุดท้าย ท่านเคยทำธุรกรรม การค้า ผลประโยชน์ เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นหรือไม่ ?

ซอฮาบะห์ก็ตอบว่า ผมก็ไม่เคย

ท่านซัยดินาอุมัร ตอบว่า เพราะฉะนั้น ท่านยังไม่รู้จักบุคคลนั้นหรอก

        นั่นหมายถึง ธาตุแท้ของความเป็นคน ๆ หนึ่งนั้น เราจะรู้จักได้อย่างถ่องแท้ ด้วยการพักอาศัยด้วยกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน การเดินทางที่ประสบความลำบากร่วมกัน การทำธุรกรรม การค้า เงินทอง ผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นแหละ มันจะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งที่จะบ่งชี้ถึง ธาตุแท้ของความเป็นตัวตนของเรา และบุคคลซึ่งที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ว่าเราและบุคคลนั้นอยู่ในกรอบของอิสลามหรือไม่ สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องเป็นบุคคลซึ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไตร่ตรองตัวเอง มีสิ่งใด อะไร ที่เราทำผิดต่อหลักธรรมคำสอนของอิสลาม รีบเปลี่ยนแปลง รีบแก้ไขในสิ่งนั้นเถิด อย่าคิด อย่าหวัง ต่อการที่เราจะพยายามตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นให้อยู่ในแนวทาง ตราบใดซึ่งที่เราไม่ได้อยู่ในแนวทาง

 
          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การใช้ชีวิตในดุนยานี้ มันเป็นช่วงเวลาที่สั้น ไม่เพียงพอต่อการที่เราจะรีบร้อน รีบเร่งในการที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งสำคัญมันขึ้นอยู่ที่ว่า ตัวเราตั้งเป้าหมายชีวิตในดุนยานี้เพื่อการใด จุดมุ่งหมายในชีวิตในดุนยานี้เราตั้งเป้าไว้อย่างไร การปฏิบัติของเรามันก็จะเป็นไปตามสิ่งซึ่งที่เราตั้งใจไว้ ถ้าคนหนึ่งตั้งเป้าในชีวิตดุนยาว่าจะต้องร่ำรวยเงินทอง พฤติกรรมก็จะเป็นไปตามนั้น ตั้งเป้าในชีวิตดุนยาว่า จะต้องมีอำนาจ พฤติกรรมมันก็จะเป็นไปตามนั้น อยู่ที่การตั้งใจของเรา การเจตนาของเราเป็นสำคัญ

 

          ที่สุดแล้ว ชีวิตก็จะต้องจบลง แต่จะจบจงในสภาพใดนั้น มันขึ้นอยู่กับการเลือก การ إختيار ของเรา ว่าเราจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร และขวนขวายการปฏิบัติไปทางใด อินชาอัลเลาะห์ ถ้าหากว่าสิ่งที่เราเลือก สิ่งที่เรากระทำ สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนของอิสลาม ท่านจงยึดมั่น ยืนหยัดในสิ่งนั้นเถิด อินชาอัลเลาะห์ ในบั้นปลายการมีชีวิตก็จะได้รับความสุขที่แท้จริง ทั้งในดุนยานี้และอาคิเราะห์  إن شاء الله

คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ