เสบียงที่หก : ยอมรับความเห็นต่าง
  จำนวนคนเข้าชม  4175

เสบียงนักดาอีย์ผู้เชิญชวนสู่อัลลอฮฺ

เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน


เสบียงที่หก : ยอมรับความเห็นต่าง


          นักดาอีย์ต้องใจกว้างต่อผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าผู้ที่มีความคิดเห็นค้านกับเขามีเจตนาที่ดีและบริสุทธิ์ และเขาก็ไม่ได้เห็นค้านนอกจากด้วยเพราะตามมูลหลักฐานที่เขามี ดังนั้นแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสุภาพในประเด็นดังกล่าวและไม่นำมาเป็นสาเหตุของความเป็นศัตรูและบาดหมางกัน นอกเสียจากว่าผู้ที่เห็นค้านมีความเย่อหยิ่งและไม่ยอมรับสัจธรรมถึงแม้ว่ามันจะประจักษ์ขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่กลับดื้อดึงอยู่กับความไม่ถูกต้อง เช่นนี้แล้วก็ให้ปฏิบัติตามที่เขาควรจะได้รับ ด้วยการหนีออกห่างจากตัวเขาและตักเตือนผู้คนให้ระแวดระวังจากเขา เพราะความเป็นศัตรูได้ก่อเกิดขึ้นในตัวเขาแล้ว เนื่องจากสัจธรรมได้ปรากฏแต่เขากลับไม่ยอมปฏิบัติตาม


         ยังมีประเด็นปัญหาข้อปลีกย่อย(มะสาอิล ฟัรฺอิยฺยะฮฺ)ต่างๆ ที่บรรดาอุละมาอ์ต่างมีทัศนะที่แตกต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้ว มันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺได้ให้ความสะดวกแก่ปวงบ่าวของพระองค์ –ปัญหาข้อปลีกย่อย ณ ที่นี้ฉันหมายถึงที่ไม่ได้เป็นปัญหามูลฐาน (อุศูล) ที่ผู้ที่เห็นค้านถึงขั้นตกเป็นกาฟิรฺ- และนี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺได้เปิดกว้างแก่ปวงป่าวของพระองค์ และทรงทำให้ความผิดพลาดในประเด็นเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เปิดกว้าง

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

"เมื่อผู้ตัดสินทำการตัดสินและเขาได้วินิจฉัยอย่างเต็มความสามารถแล้วเขาก็ตัดสินถูกต้องเขาจะได้รับสองผลบุญ

และเมื่อเขาตัดสินและได้วินิจฉัยอย่างเต็มความสามารถ แล้วเขาก็ตัดสินผิดเขาจะได้รับเพียงผลบุญเดียว"

(อัล-บุคอรีย์ หะดีษลำดับที่ 7352,และมุสลิม หะดีษลำดับที่ 4584)


         ดังนั้นผู้ที่วินิจฉัย (มุจญ์ตะฮิด) เขาจะไม่หลุดออกจากกรอบของผลบุญ ไม่สองผลบุญก็หนึ่งผลบุญ สองผลบุญเมื่อเขาวินิจฉัยถูกและหนึ่งผลบุญเมื่อเขาวินิจฉัยผิด และเมื่อท่านไม่อยากให้คนอื่นเห็นต่างกับท่าน คนอื่นก็เฉกเช่นเดียวกัน เขาก็ไม่อยากให้ใครเห็นต่างกับเขา ดังที่ท่านประสงค์อยากให้คนอื่นยึดเอาคำพูดของท่าน คนที่เห็นต่างกับท่านก็ประสงค์เช่นนั้นเหมือนกัน ดังนั้น ข้อชี้ขาดเมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันนั้นก็คือ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

"และอันใดที่พวกเจ้าขัดแย้งกันในเรื่องนั้น ๆ ดังนั้นการชี้ขาดตัดสินย่อมกลับไปหาอัลลอฮฺ"

(อัช-ชูรอ : 10)

และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า

"แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและเราะสูลุลลอฮฺสูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺแต่วันปรโลก

 นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และเป็นการกลับไปที่สวยงามยิ่ง"

(อันนิสาอฺ : 59)


         ฉะนั้น จำเป็นสำหรับทุกๆ คนที่มีความเห็นขัดแย้งกันที่จะต้องกลับไปสู่สองหลัก นั่นก็คือคัมภีร์ของอัลลอฮฺและคำสอนของท่านนบี ศาสนทูตของพระองค์ และไม่เป็นที่อนุญาตที่จะให้ใครเห็นค้านกับพระดำรัสของอัลลอฮฺและวจนะของศาสนทูตของพระองค์ด้วยการใช้คำพูดของมนุษย์อื่นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

         ดังนั้น เมื่อสัจธรรมเป็นที่ปรากฏแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องละทิ้งคำพูดของคนที่เห็นค้านเหมือนกับทิ้งของให้ชนกำแพง และไม่เหลียวมองมันถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะทางความรู้และศาสนาสูงส่งแค่ไหนก็ตามที เพราะมนุษย์ย่อมมีผิดมีพลาด แต่พระดำรัสของอัลลอฮฺและวจนะของเราะสูลุลลอฮฺนั้นไม่มีผิดพลาด


         และสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกเสียใจอย่างมากก็คือ การที่ได้ยินว่าคนบางกลุ่มที่มุมานะและเอาจริงเอาจังในการศึกษาหาความรู้ แต่พบว่าพวกเขากลับแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ทุกๆ กลุ่มมีชื่อเฉพาะหรือมีคุณลักษณะเฉพาะ ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะแท้จริงศาสนาของอัลลอฮฺนั้นหนึ่งเดียว และประชาชาติอิสลามก็หนึ่งเดียว

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

"แท้จริงนี่คือประชาชาติของพวกเจ้า เป็นประชาติเดียวกัน และข้าคือพระเจ้าของพวกเจ้า ฉะนั้นพวกเจ้าจงยำเกรงต่อข้า"

(อัลมุอ์มินูน : 52)

และพระองค์ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ตรัสถึงนบีของพระองค์ว่า

"แท้จริงบรรดาผู้ที่แบ่งแยกศาสนาของพวกเขา และพวกเขาได้กลายเป็นนิกายต่างๆ นั้น เจ้า(มุหัมมัด)หาใช่อยู่ในหมู่พวกเขาแต่อย่างใดไม่

แท้จริง เรื่องราวของพวกเขานั้นย่อมกลับไปสู่อัลลอฮฺ แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน"

(อัลอันอาม : 159)

และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า

"พระองค์ได้ทรงกำหนดศาสนาแก่พวกเจ้าเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่นูหฺ

และที่เราได้ประทานวิวรณ์แก่เจ้าก็เช่นเดียวกับที่เราได้บัญชาแก่อิบรอฮีม มูซา และอีซา ว่า

พวกเจ้าจงดำรงศาสนาไว้ให้มั่งคงและอย่าแตกแยกกันในเรื่องศาสนา"

(อัชชูรอ : 13)


         ดังนั้น เมื่อนี่คือการชี้แนะของอัลลอฮฺแก่เรา ก็จำเป็นที่เราจะต้องยึดเอาคำชี้แนะนี้ และพวกเราต้องรวมเป็นหนึ่งบนหลักการค้นคว้าศึกษา และวิภาษกันเพื่อการปรับปรุงแก้ไข มิใช่เพื่อการตำหนิดูแคลน แท้จริงใครก็ตามที่โต้เถียงคนอื่นโดยมีเจตนาเพื่อต้องการหาชัยชนะให้แก่ทัศนะของตนและดูถูกดูแคลนทัศนะของคนอื่น หรือเพื่อต้องการเพียงแค่การติเตียนโดยไม่มีเจตนาเพื่อการปรับปรุงแก้ไขเลย โดยทั่วไปแล้วเขาจะหลุดออกจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ จึงจำเป็นสำหรับเราที่จะต้องเป็นประชาติเดียวกัน

แต่ทั้งนี้ ฉันก็มิได้จะกล่าวว่าทุกคนไม่มีใครผิด ทุกๆ คนย่อมมีผิดมีถูก แต่เรากำลังพูดถึงแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด

         ซึ่งที่จริงแล้ว มันมิใช่แนวทางการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเลย ที่เราจะพูดลับหลังและติติงเขา แต่ทว่าแนวทางการแก้ไขคือ การที่ต้องเข้าไปหาเขาและเสวนากัน และเมื่อเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขายังคงดื้อดึงอยู่กับความดันทุรังของเขาและกับความจอมปลอมของเขา เมื่อถึงครานั้นเราก็มีข้ออ้างและสิทธิ ซึ่งจำเป็นด้วยซ้ำที่เราจะต้องแจกแจงอธิบายถึงความผิดพลาดของเขา และต้องบอกให้คนอื่นๆ ได้ระแวดระวังจากความผิดพลาดดังกล่าวของเขาด้วย และด้วยวิธีการนี้เรื่องทั้งปวงก็จะดีขึ้น

ส่วนการแตกแยกแบ่งเป็นพรรคเป็นพวกนั้นไม่มีใครที่อยากให้เกิดขึ้นนอกจากผู้ที่เป็นอริต่ออิสลามและบรรดามุสลิมเท่านั้น


          โอ้อัลลอฮฺ ฉันขอให้พระองค์ทรงรวบรวมหัวใจของพวกเราสู่การเคารพภักดีต่อพระองค์และโปรดให้พวกเราเป็นผู้ที่ตัดสินด้วยด้วยบัญญัติของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และโปรดให้การเจตนาของเราบริสุทธิ์เพื่อพระองค์ และโปรดแจกแจงในสิ่งที่ซ่อนเร้นในบทบัญญัติของพระองค์ให้แก่เรา แท้จริง พระองค์ทรงมีพระทัยที่กว้างและทรงเอื้อเฟื้อยิ่ง

 


 แปลโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี / islamhouse.com