เสบียงที่สาม : มีหิกมะฮฺ (วิทยปัญญา)
  จำนวนคนเข้าชม  6261

เสบียงนักดาอีย์ผู้เชิญชวนสู่อัลลอฮฺ

เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน

เสบียงที่สาม : มีหิกมะฮฺ (วิทยปัญญา)


          ดังนั้น เขาจงดะอฺวะฮฺด้วยหิกมะฮฺ ให้เริ่มการดะอฺวะฮฺสู่อัลลอฮฺด้วยหิกมะฮฺก่อน หลังจากนั้น ก็ด้วยการตักเตือนที่ดี (อัล-เมาอิเซาะฮฺ อัล-หะสะนะฮฺ) หลังจากนั้นก็ด้วยการโต้แย้งด้วยสิ่งที่ดีกว่าเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีความอยุติธรรม และสุดท้ายคือการโต้แย้งด้วยกับสิ่งที่ไม่ได้ดีกว่าสำหรับผู้ที่อยุติธรรม ฉะนั้น ลำดับขั้นทั้งหมดจึงมีสี่ประการ อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า:

"จงเรียกร้องสู่แนวทางของพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยหิกมะฮฺและการตักเตือนที่ดีและจงโต้แย้งพวกเขาด้วยกับสิ่งที่ดีกว่า"

(อัน-นะหฺลฺ : 125)

และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า:

"และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงกับพวกอะฮฺลุลกิตาบเว้นแต่ด้วยวิธีที่ดีกว่านอกจากบรรดาผู้อธรรมในหมู่พวกเขา"

(อัน-อันกะบูต : 46)


         การมีหิกมะฮฺ คือ การมีความประณีตบรรจงในการงานต่างๆ กล่าวคือการจัดตำแหน่งของกิจการงานต่างๆ ตามสถานะความเหมาะสมของมันและวางมันในที่ของมัน การรีบร้อนให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงจากสภาพปัจจุบันของเขาสู่สภาพในยุคสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺเพียงแค่รุ่งวันมิใช่แนวทางของหิกมะฮฺ และใครที่ประสงค์เช่นนั้น แท้จริงเขาเป็นคนเบาปัญญาและไม่มีหิกมะฮฺเพราะหิกมะฮฺของอัลลอฮฺมิได้ประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น

         และที่เป็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าวก็คือ ท่านนบีมุหัมมัด  ผู้ซึ่งเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ ผู้ที่อัลลอฮฺได้ประทานคัมภีร์ พระองค์ได้บัญชาบทบัญญัติต่างๆให้แก่ท่านอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งมันได้ยืนหยัดและสมบูรณ์ การละหมาดถูกบัญญัติก่อนการฮิจญ์เราะฮฺสามปี และบางรายงานระบุว่าหนึ่งปีครึ่ง และบางก็ว่าห้าปี ซึ่งเป็นที่ขัดแย้งกันในบรรดาอุละมาอ์ในเรื่องนี้ แต่ถึงกระนั้นก็มิได้ถูกบัญญัติเหมือนรูปแบบในปัจจุบัน

กล่าวคือแรกๆ นั้นการละหมาดถูกบัญญัติให้ปฏิบัติเพียงสองร็อกอัตในเวลาซุฮรฺ, อัศรฺ, อิชาอ์, ศุบหฺ และสามร็อกอัตในเวลามัฆริบ ทั้งนี้เพื่อเป็นวิตรฺสำหรับช่วงกลางวัน และหลังจากฮิจญ์เราะฮฺคือหลังจากสิบสามปีที่ท่านได้พำนักอยู่มักกะฮฺ ก็ได้เพิ่มจำนวนร็อกอัตให้กับการละหมาดในช่วงที่พำนักกับภูมิลำเนา(ไม่ได้เดินทาง) กล่าวคือ สี่ร็อกอัตในเวลาซุฮรฺ อัศรฺ และอิชาอ์ ส่วนศุบหฺยังคงร็อกอัตตามเดิม เพราะในเวลาละหมาดศุบหฺนั้นจะมีการอ่านที่ค่อนข้างยาว และมัฆริบก็ยังคงสามร็อกอัตเพราะถือเป็นวิตรฺสำหรับช่วงกลางวัน

 

          ซะกาตถูกบัญญัติในปีที่สองของการฮิจญ์เราะฮฺหรือถูกบัญญัติที่มักกะฮฺ (ตามบางทัศนะ) แต่ทั้งนี้ ก็มิได้กำหนดอัตราส่วนที่ต้องจ่ายและไม่ได้ถือเป็นศาสนบังคับแต่ประการใดและท่านนบี  ก็มิได้ส่งเจ้าหน้าที่เก็บซะกาตจนกระทั่งถึงปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่เก้า

การจ่ายซะกาตมีลำดับการบัญญัติสามขั้น คือ

- ที่มักกะฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า

"และจงจ่ายส่วนอันเป็นสิทธิ์ให้มันด้วยในวันแห่งการเก็บเกี่ยวมัน"

(อัล-อันอาม : 141)

          พระองค์ไม่ได้กล่าวว่ามันเป็นศาสนบังคับและไม่ได้กำหนดอัตราส่วนที่ต้องจ่าย แต่ได้มอบภาระให้ตามความประสงค์ของผู้ต้องการจ่ายซะกาต

- ในปีที่สองของการฮิจญ์เราะฮฺ พระองค์ได้กำหนดอัตราส่วน (นิศอบ) ของการจ่ายซะกาต

- ในปีที่เก้าของการฮิจญ์เราะฮฺท่านนบี  ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังผู้เลี้ยงปศุสัตว์และเกษตรกรเพื่อเก็บซะกาต

ท่านจงใคร่ครวญถึงบทบัญญัติของอัลลอฮฺที่ให้ความสำคัญกับสภาพของผู้คนเถิด และพระองค์นั้นคือผู้ทรงปัญญายิ่ง

 

          การถือศีลอดก็เช่นเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าบัญญัติการถือศีลอดมีลำดับขั้นในช่วงแรกมีการให้เลือกระหว่างการถือศีลอดและการให้อาหาร หลังจากนั้นก็เจาะจงให้ถือศีลอดอย่างเดียว ส่วนการให้อาหารนั้นถูกกำหนดเป็นบัญญัติสำหรับผู้ที่ไม่สามารถที่จะถือศีลอดตลอดไปได้

         ฉันขอกล่าวว่า หิกมะฮฺของอัลลอฮฺมิได้ประสงค์ให้โลกเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ข้ามวัน แต่จำเป็นที่ต้องใช้เวลา ท่านจงเข้าไปหาสหายของท่านที่ท่านต้องการเชิญชวนเขา และจงเชิญชวนเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งเขาได้ละทิ้งสิ่งที่บาฏิล(จอมปลอม)ไป และจงอย่ามองมนุษย์ว่าอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะคนที่ไม่รู้ย่อมต่างจากคนที่ดื้อดึง

 

เป็นการดียิ่งที่ฉันจะขอกล่าวถึงตัวอย่างการดะอฺวะฮฺของท่านนบี

ตัวอย่างแรก

          มีชายคนหนึ่งจากชนบท (อะอฺรอบิยฺ) ได้เข้าไปในมัสญิด ขณะนั้นท่านนบี และเศาะหาบะฮฺได้นั่งอยู่ในมัสญิดด้วย แล้วชายคนนั้นก็ได้ปัสสาวะที่มุมหนึ่งของมัสญิด บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ต่างตะโกนไล่ แต่ท่านนบี  ผู้ซึ่งอัลลอฮฺได้ประทานหิกมะฮฺแก่ท่าน ได้ห้ามพวกเขา และเมื่อชายคนนั้นได้ปัสสาวะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้สั่งใช้ให้เอาน้ำหนึ่งถังแล้วรดน้ำปัสสาวะของเขา แล้วรอยของน้ำปัสสาวะก็หมดไป หลังจากนั้นท่านก็ได้เรียกชายคนนั้น แล้วกล่าวว่า

“มัสญิดนี้ไม่เหมาะและไม่ควรที่จะให้มีสิ่งสกปรกหรือสิ่งที่ก่อความเดือดร้อน แท้จริงมันคือสถานที่เพื่อการละหมาดและอ่านอัลกุรอาน”

แล้วหัวใจของชายคนนั้นก็เปิดรับคำตักเตือนของท่านนบี  เนื่องด้วยเพราะการปฏิสัมพันธ์ที่ดี และด้วยเหตุนี้ ฉันพบว่ามีนักวิชาการบางท่านได้ระบุว่าชายคนนั้นได้วิงวอนต่ออัลลอฮฺว่า

“โอ้อัลลอฮฺ โปรดประทานความเมตตาปรานีแก่และมุหัมมัดด้วยเถิด และพระองค์จงอย่าประทานความเมตตาปรานีแก่คนอื่นใดอีก”

ทั้งนี้ เพราะท่านนบี  ได้ปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างดี ส่วนบรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นต่างรีบเร่งเพื่อยับยั้งสิ่งที่เป็นความชั่วโดยมิได้ตระหนักและมองถึงสภาพของชายคนนั้นที่เป็นคนไม่มีความรู้


ตัวอย่างที่สอง

        ท่านมุอาวิยะฮฺ อิบนุ อัล-หะกัมได้เข้ามาในขณะที่ท่านนบี ได้นำละหมาดผู้คนอยู่ แล้วมีชายคนหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ละหมาดอยู่นั้นได้จาม แล้วเขาก็กล่าวว่า “อัล-หัมดุลิลลาฮฺ” เมื่อคนหนึ่งคนใดได้จามในขณะละหมาดให้เขากล่าวว่า “อัล-หัมดุลิลลาฮฺ” ไม่ว่าเขาจะอยู่ในอิริยาบถยืน รุกูอฺ หรือสุญูดก็ตาม”

ชายคนนั้นกล่าวว่า “อัล-หัมดุลิลลาฮฺ” มุอาวิยะฮฺก็ตอบไปว่า “ยัรฺหะมุกัลลอฮฺ” คำกล่าวของมุอาวิยะฮฺนี้เป็นคำกล่าวของมนุษย์ซึ่งทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ แล้วผู้คนต่างก็จ้องมองมุอาวิยะฮฺ ท่านก็กล่าวขึ้นว่า “แม่พวกท่านได้พรากไป” ¹

แล้วท่านมุอาวิยะฮฺก็ละหมาดต่อไปจนเสร็จ แล้วท่านนบี ก็เรียกเขา ท่านมุอาวิยะฮฺกล่าวว่า

"ฉันขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นผู้สอนที่สอนได้ดียิ่งกว่าท่านเลย ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ท่านไม่ได้ดุว่าและตวาดใส่ฉันเลย"

แต่ท่านกล่าวว่า:

 “แท้จริงการละหมาดนี้ไม่เหมาะกับคำพูดใดๆ ที่เป็นคำพูดของมนุษย์ แท้จริงมันคือการตัสบีหฺ การตักบีรฺ และอ่านอัลกุรอาน”

         ท่านจงดูการเชิญชวนที่ถูกตอบรับนี้เถิด ผู้คนยอมรับและเปิดใจน้อมรับส่วนสาระทางฟิกฮฺที่ได้จากหะดีษบทนี้คือ ใครก็ตามที่พูดในขณะละหมาดโดยที่เขาไม่รู้ว่าการพูดในขณะละหมาดนั้นทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ การละหมาดของเขายังถือว่าใช้ได้


ตัวอย่างที่สาม

ชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี แล้วกล่าวว่า:“ฉันบรรลัยแล้ว”

ท่านนบี ถามเขาว่า “อะไรล่ะที่ทำให้ท่านบรรลัย?”

เขาตอบว่า: “ฉันหลับนอนกับภรรยาของฉันในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนในขณะที่ฉันถือศีลอด”

ท่านนบี เลยใช้ให้เขาปล่อยทาสเป็นไท เขาตอบว่า: “ฉันไม่มีทาส”

หลังจากนั้นท่านนบี ก็ใช้ให้เขาถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน เขาตอบว่า: “ฉันไม่มีความสามารถ”

หลังจากนั้นท่านก็ใช้เขาให้อาหารแก่คนจนจำนวน 60 คน เขาตอบว่า “ฉันไม่มีความสามารถ”

แล้วชายคนนั้นก็นั่งอยู่ชั่วครู่ จู่ๆ ก็มีคนมามอบผลอินผลัมให้แก่ท่านนบี แล้วท่านก็กล่าวว่า ท่านจงเอานี้ไปบริจาค ในความเอื้อเฟื้อของท่านนบี  ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อมากที่สุด

แล้วชายคนนั้นก็พูดขึ้นว่าจะมีใครจนไปกว่าฉันอีกล่ะ โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงแล้วในนครมะดีนะฮฺนี้ไม่มีใครจนไปกว่าฉันอีกแล้ว”

ท่านนบี หัวเราะจนเห็นฟันกราม เพราะชายคนนี้มาหาท่านในสภาพที่ตื่นตระหนกและกล่าวว่า “ฉันบรรลัยแล้ว” แล้วเขาก็ได้กลับไปในสภาพที่ได้ลาภ

โดยที่ท่านนบี ได้กล่าวแก่เขาว่า “ท่านจงเอาไปให้แก่ครอบครัวของท่านเถิด”

แล้วชายคนนั้นก็เดินจากไปในสภาพที่สบายใจ อิ่มเอิบใจ และสุขใจด้วยศาสนา และนี่คือความสะดวกง่ายดายที่มาจากตัวนักดาอีย์คนแรกในอิสลาม ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านด้วยเถิด


ตัวอย่างที่สี่

         เรามาดูเถิดว่าท่านนบี ประพฤติปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ได้กระทำผิด

ท่านได้เห็นชายคนหนึ่งสวมแหวนทองคำที่นิ้วมือของเขา แล้วท่านก็ได้ดึงแหวนวงนั้นออกจากนิ้วของเขาแล้วโยนทิ้งลงบนพื้นดิน

แล้วท่านก็พูดขึ้นว่า: “คนหนึ่งคนใดที่ปรารถนาถ่านไฟจากนรกก็จงสวมมันที่นิ้วของเขา”

ท่านนบี มิได้ปฏิบัติกับเขาเสมือนกับที่ท่านปฏิบัติกับบุคคลก่อนๆ ที่ยกตัวอย่างมา กล่าวคือท่านดึงเอาและโยนทิ้งลงบนพื้นดิน

และเมื่อท่านนบี เดินจากไป ก็มีคนบอกแก่ชายคนนั้นว่า “ท่านเอาแหวานนั้นกลับมาสิ เผื่อท่านจะได้เอาประโยชน์จากมัน”

แต่เขาตอบกลับไปว่า: “ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่มีวันหยิบแหวนที่ท่านนบี  ได้โยนทิ้งแล้ว”

 

อัลลอฮุอักบัรฺ นี้คือการปฏิบัติตามที่ยิ่งใหญ่ของบรรดาเศาะหาบะฮฺขออัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยต่อพวกเขาด้วยเถิด

         ที่สำคัญ นักดาอีย์ต้องเผยแพร่อย่างมีหิกมะฮฺ คนไม่รู้ย่อมไม่เหมือนกับคนที่รู้ คนที่ดื้อดึงย่อมไม่เหมือนกับคนที่น้อมรับ ทุกๆ สภานภาพย่อมมีวิธีการของมันโดยเฉพาะ

 

 

 แปลโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี / islamhouse.com

 


1 คำพูดนี้เป็นคำพูดที่เอ่ยโดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในความหมายของมัน และท่านนบี  ก็ได้ใช้คำกล่าวนี้แก่ท่านมุอาซ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ
   ในตอนที่ท่านได้กล่าวแก่มุอาซฺว่า “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งสิ่งที่ครอบคลุมทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมา”
   ท่านมุอาซฺตอบว่า “เอาสิ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ”
   ท่านตอบว่า “ท่านจงยับยั้งสิ่งนี้”
   แล้วท่านก็จับลิ้นของท่าน ท่านมุอาซกล่าวว่า: “พวกเราจะถูกไต่สวนในสิ่งที่เราได้พูดด้วยกระนั้นหรือ?”
   ท่านตอบว่า “แม่ของท่านได้พรากท่านแล้วโอ้มุอาซฺ แล้วที่มนุษย์ต้องถลำหน้าหรือจมูกในไฟนรกมิใช่เพราะผลจากลิ้นของพวกเขาดอกหรือ?”