เสบียงนักดาอีย์ผู้เชิญชวนสู่อัลลอฮฺ
เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน
แท้จริงการสรรเสริญทั้งหลายเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ เราขอสรรเสริญพระองค์ ขออภัยโทษต่อพระองค์ ขอเตาบัตต่อพระองค์ และเราขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความชั่วร้ายของตัวเราเองและความผิดของการงานเขาพวกเรา ผู้ใดที่ได้รับทางนำจากอัลลอฮฺก็ย่อมไม่มีใครให้เขาหลงทางได้ และผู้ใดที่พระองค์ให้เขาหลงทางก็ไม่มีใครให้ทางนำเขาได้ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใด (ที่ควรแก่การอิบาดะฮฺ) นอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีภาคีใดๆต่อพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดนั้นคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
พระองค์ได้ส่งท่านด้วยทางนำและศาสนาแห่งสัจธรรม ทั้งนี้เพื่อให้มันประจักษ์โดดเด่นเหนือทุกศาสนา และท่านก็ได้เผยแพร่สาสน์แห่งพระเจ้า ได้จัดการภาระหน้าที่ ได้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺอย่างจริงจัง และได้จากประชาชาติของท่านไปโดยที่พวกเขาได้อยู่บนเส้นทางที่สว่างไสวเปรียบเสมือนว่ากลางคืนของมันนั้นก็ยังคงสว่างแจ่มชัดเหมือนกลางวัน ไม่มีผู้ใดหันเหออกจากมันนอกจากว่าเขาต้องเป็นผู้ที่พินาศบรรลัย ความจำเริญและความสันติสุขจงมีแด่ท่าน วงศ์วานของท่าน เศาะหาบะฮฺของท่าน และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขาด้วยความดีงามจวบจนวันสิ้นโลก
ฉันขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้ฉันและพวกท่านเป็นผู้เจริญรอยตามท่านนบี ทั้งในที่ซ่อนเร้นและเปิดเผย ให้เราเสียชีวิตในสภาพที่อยู่ในแนวทางของท่าน ให้เราฟื้นคืนชีพในหมู่พวกของท่าน ให้เราได้รับความช่วยเหลือจากท่าน และโปรดให้เราอยู่ในสรวงสวรรค์อันสถาพรพร้อมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺให้ความโปรดปรานจากบรรดานบี บรรดาผู้สัจจริง บรรดาผู้ตายในหนทางของอัลลอฮฺ และบรรดากัลยาณชนทั้งหลาย
พี่น้องทั้งหลาย !
ฉันรู้สึกยินดีและปลาบปลื้มยิ่งนักที่ได้พบปะกับพี่น้อง ณ สถานแห่งนี้และไม่ว่าที่ใด ๆก็ตาม เนื่องด้วยความปรารถนาในภาคผลอันดีงามและเพื่อเผยแพร่สัจธรรมคำสอนแห่งอัลอิสลาม เพราะอัลลอฮฺได้ให้พันธะสัญญากับผู้ที่พระองค์ประทานความรู้แก่เขา ว่าเขานั้นจะต้องแจกแจงและเผยแพร่ความรู้ที่มี โดยไม่ปิดบังซ่อนเร้นไว้แม้เพียงประการหนึ่งประการใดก็ตาม
ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า:
"และจงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮฺทรงเอาคำมั่นสัญญา จากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ว่า
แน่นอนยิ่ง พวกเจ้าจะต้องแจกแจงคัมภีร์นั้นให้แจ่มแจ้งแก่ประชาชนทั้งหลาย และพวกเจ้าจะต้องไม่ปิดบังมัน"
(อาล อิมรอน, 3 : 178)
พันธะสัญญาจากอัลลอฮฺนั้น มิได้ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรและอยู่นอกเหนือความสามารถในการมองเห็นของมนุษย์ หากแต่มนุษย์ทุกคนรับรู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่อัลลอฮฺประทานความรู้แก่เขา เมื่อนั้นเขาจะถูกผูกมัดด้วยพันธะสัญญาดังกล่าวทันที ไม่ว่าเขาจะเป็นชายหรือหญิง ฉะนั้นจำเป็นสำหรับทุกคนที่มีความรู้จะต้องเผยแพร่บทบัญญัติของอัลลอฮฺ ไม่ว่าเขาจะอยู่แห่งหนใดและสถานการณ์ใดก็ตาม
พี่น้องทั้งหลาย !
หัวข้อบรรยายของเราคือ “เสบียงของนักดาอีย์สู่อัลลอฮฺ” และเสบียงสำหรับมุสลิมทุกคน ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า:
"และพวกเจ้าจงตระเตรียมเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้น คือ ความยำเกรง"
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ, 2 : 197)
ดังนั้น เสบียงสำหรับมุสลิมทุกคน คือ ตักวา หรือการยำเกรงต่ออัลลอฮฺซึ่งพระองค์ตรัสย้ำหลายต่อหลายครั้งในคัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งการสั่งใช้ให้มีความยำเกรง สรรเสริญชมเชยผู้ที่มีความยำเกรง บอกถึงผลตอบแทนของการยำเกรง และอื่น ๆ
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
"และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าและไปสู่สวรรค์ซึ่งความไพศาลของมันนั้น
เสมือนเท่ากับความไพศาลของบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ยำเกรง
คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์
และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใดๆ หรืออยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ
แล้วขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษในบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น
และพวกเขาไม่ได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติ(อย่างผิดๆ)มาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่
ชนเหล่านี้แหละการตอบแทนแก่พวกเขาคือการอภัยโทษจากพระเจ้าของเขาและบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนเหล่านั้น
โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนเหล่านั้นตลอดกาลและรางวัลของผู้ที่ทำงานนั้นย่อมเลิศเลอโดยแท้"
(อาล อิมรอน, 3 : 133 –136)
พี่น้องผู้มีเกียรติทั้งหลาย !
บางครั้งท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่า แล้วความยำเกรงคืออะไร ? คำตอบนั้นก็มีอยู่ดั่งเช่นรายงานจากท่านฏ็อลฺก์ อิบนุ หะบีบ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่านด้วยเถิด) ท่านได้กล่าวว่า:
اﻛﺤقوى أن تعمل بطاعة الله ﻟﺒ نور من الله ترجو ثواب الله ، وأن
عقاب الله تﺘﺮك ما نﻬﻰ الله ﻟﺒ نور من الله ﺗﺨ
"ความยำเกรง คือ การที่ท่านปฏิบัติการงานที่เป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยแสงสว่าง (ความรู้)จากพระองค์ และปรารถนาการตอบแทนจากพระองค์
และการที่ท่านละทิ้ง สิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ด้วยแสงสว่าง(ความรู้)จากพระองค์และเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์"
ถ้อยประโยคข้างต้นได้รวบรวมระหว่างความรู้ การปฏิบัติ ความปรารถนาการตอบแทนและการหวั่นเกรงต่อการลงโทษ เหล่านี้แหละคือความยำเกรง(ตักวา)
ดังกล่าวนี้ นักดาอีย์ หรือผู้ที่ทำงานเชิญชวนผู้อื่นสู่อัลลอฮฺและคำสอนของพระองค์ ก็เป็นผู้สมควรที่สุดกว่าใครอื่นที่จะต้องประดับประดาตนด้วยความยำเกรงต่อพระองค์ทั้งในที่ลับและเปิดเผย และฉันจะขอบรรยาย ณ ที่นี้ –ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ- ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักดาอีย์และเสบียงต่างๆ ที่เขาสมควรตระเตรียมไว้
แปลโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี / Islamhouse.com