มุสลิมะฮ์กับเศรษฐกิจและการอยู่รอดของสังคม
  จำนวนคนเข้าชม  8824

มุสลิมะฮ์กับเศรษฐกิจและการอยู่รอดของสังคม


ดร.บุหลัน ทองกลีบ


          มิติด้านเศรษฐกิจและการอยู่รอดของสังคม จากการศึกษาบทบาทของมุสลิมะฮ์ทางด้านเศรษฐกิจนั้น  ตามหลักการของศาสนาอิสลามแล้ว ด้านการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว อันเป็นการทำงานเชิงเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของสามี ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮอันนิซาอ อายะฮที่ 33 ความว่า

" ผู้ชายเป็นผู้ปกครองเลี้ยงดู ( เหนือ) ผู้หญิง .......”

 

         ดังนั้นการประกอบอาชีพมิใช่หน้าที่หลักของสตรีมุสลิม แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นในด้านการครองชีพ อิสลามไม่คัดค้านการประกอบอาชีพของนาง ตราบใดที่นางยังสามารถทำหน้าที่ของแม่ศรีเรือนได้ ไม่บกพร่องในหน้าที่ การปรนนิบัติต่อสามี อบรมเลี้ยงดูบุตร ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้กล่าวไว้

 “ อัลลอฮทรงอนุญาตให้พวกเธอออกนอกบ้านได้เพื่อทำธุระกิจจำเป็น”

รายงานโดยบุคอรี


          และในด้านการประกอบอาชีพนี้ก็ควรเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับลักษณะธรรมชาติของสตรี เช่น เป็นครูบาอาจารย์ หรือนางพยาบาล นอกจากนั้นอาชีพที่อนุมัติให้ทำไม่ว่าชายหรือหญิงจะต้องไม่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม เช่น ไม่ค้าขายสุรายาเมา ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้าหญิงโสเภณี ฯ ลฯ และในการค้าก็ต้องไม่โกงราคา ดัง ที่อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮอันนิซาอ อายะฮที่ 29 ความว่า

“ และจงอย่ากิน ( โกง ) สมบัติสูเจ้า ในระหว่างสูเจ้า โดยมิชอบ ”

 

          จากการศึกษาจะเห็นได้ว่า ในอิสลามไม่ได้มีบทบัญญัติอันใดเลยที่ห้ามมิให้สตรีประกอบอาชีพการงานในกรณีที่เกิดสภาวะอันจำเป็นเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่ได้มีข้อจำกัดที่ห้ามมิให้สังคมได้รับผลประโยชน์จากความรู้ทางด้านแรงงานทางเศรษฐกิจ  แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่ามุสลิมะฮจะมีความรับผิดชอบงานทางด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้ชาย และได้รับความคุ้มครองในด้านการกินอยู่จากผู้ชาย  แต่ทรัพย์สินใด ๆที่มุสลิมะฮมีอยู่ก่อนสมรส ก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเธอภายหลังจากการสมรส


           ดังนั้นความรับผิดชอบในด้านเศรษฐกิจส่วนมากจะตกอยู่กับผู้ชาย แต่มิได้หมายความว่าสตรีนั้นไม่มีบทบาทเลย ส่วนในด้านการอยู่เบื้องหลังของสามี มุสลิมะฮ์สามารถเป็นผู้ดูแลกิจการแทนสามีได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในสังคมดุนยาในยุคโลกาภิวัฒต์ มุสลิมะฮ มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจึงมีโอกาสประกอบอาชีพที่ก้าวหน้าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรับราชการ รัฐวิสาหกิจ  บริษัทเอกชน รวมทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวดังนั้นทุกครอบครัวจึงจำเป็นจะต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกรูปแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการอยู่รอดในสังคมดุนยานี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


          และนอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าในเชิงของการผลิต ทั้งเพศชายและเพศหญิงจะต้องทำงานร่วมกัน หากมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนามิได้ห้ามให้สตรีมุสลิมทำงาน แต่จะต้องทำงานที่เหมาะสมกับลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์  ดังนั้นมุสลิมะฮจึงจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในการที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวในยามที่กำลังประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวในสังคมโลกดุนยาใบนี้

 

          ซึ่งโดยภาพรวมแล้วยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของมุสลิมะฮในการปรับเปลี่ยน(Adaptation)บทบาทของตนเองเพื่อปรับสภาพให้เข้ากับมิติด้านเศรษฐกิจและการอยู่รอดในสังคมโลกดุนยานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

 

 


ที่มา : บทบาทสตรีไทยมุสลิม  ในยุคโลกาภิวัฒน์