การเนียต (ตั้งเจตนา)
  จำนวนคนเข้าชม  53503

การเนียต (ตั้งเจตนา)


โดย อุสตาซ เอช เอ อับดุรฺเราะฮฺมาน อะหมัด


           ♦ ทุกการกระทำทั้งภายนอก (ซอฮิรฺ) และภายใน (บาฏิน) ต้องกระทำเพื่อหวังความเมตตาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาอาลา เท่านั้น

 (อัลกุรอาน, อัซซุมัร : 11)

          ♦  ระดับชั้นผลงานการกระทำของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาของเขา

 (มุสลิม)

          ♦  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาอาลา ทรงมองดูที่เจตนาของเขา พระองค์มิได้ทรงมองดูรูปร่างหน้าตา ทรัพย์สิน สมบัติของพวกเขา

 (มุสลิม)

          ♦  ไม่ว่าบ่าวคนหนึ่งจะซ่อนเร้นสิ่งใดหรือเผยมันออกมา อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาอาลา ย่อมรู้ดีทั้งสิ้น

 (อัลกุรอาน, อาละอิมรอน : 29)

          ♦  การงานทุกอย่างของบ่าวจะไม่ถึงอัลลอฮฺ ยกเว้น การงานที่กระทำด้วยความตักวา (ยำเกรง) อัลลอฮฺเท่านั้น

 (อัลกุรอาน, อัลฮัจญ์ : 37)

           ♦ สถานที่สำหรับเนียต คือ จิตใจ เวลาในการเนียตคือ ตอนเริ่มต้นทำงาน เงื่อนไขในการเหนียต คือ เพื่อกระทำสิ่งที่ดีเท่านั้น

(อิหม่ามนาวาวี)

          ♦  ความสมบูรณ์ของอิบาดะฮฺขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา (เนียต) ที่บริสุทธิ์ และการปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางอิสลาม

(อบู ลัยษฺ สะมัรฺก็อนดี)

        ♦  การตั้งเจตนามุ่งมั่นจริงๆ ว่าจะทำความชั่ว จะถูกบันทึกให้เป็นบาปแล้ว ดังที่ชายสองคนต่อสู้กันเพื่อเข่นฆ่ากัน แน่นอนผู้ฆ่าต้องตกนรกและผู้ที่ถูกฆ่าก็ต้องตกนรก เพราะหากเขาไม่ถูกฆ่าเขาก็ต้องฆ่าคู่ต่อสู้

(มุสลิม)


          ♦  ชายที่นิกะฮฺกับผู้หญิง โดยเจตนาว่าจะไม่จ่ายมะฮัรฺ(ค่าสินสอด)ให้ แน่นอนนั่นคือ ผู้ทำซินา และ ผู้เป็นหนี้ที่ตั้งใจว่าจะไม่จ่ายหนี้ แน่นอนเขาคือ ขโมย

(อะหฺมัด อิบนุมาญะฮฺ)

         ♦  บางที การเนียตของชายคนหนึ่ง อาจดีกว่าอามัลของเขา (อบู นัศรฺ สะมัรฺก็อนดี) เพราะหากเนียตที่จะทำดี เขาย่อมได้รับผลบุญ แม้ยังไม่ได้ปฏิบัติ แต่การกระทำยังไม่แน่ว่าจะได้รับผลบุญหรือไม่ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเจตนา และวิธีการปฏิบัติของเขาว่าถูกต้องแค่ไหน


          ♦  การงานของคนมุนาฟิก (หน้าไว้หลังหลอก) ดีกว่าเนียตของพวกเขา

 (อบู ลัยษฺ สะมัรฺก็อนดี)

          ♦  ความปลอดภัยมาจาก 2 ประการ คือ ตักวา และ เนียต ความพินาศมาจาก 2 ประการเช่นกันคือ สิ้นหวัง และ ยโส

 (อับดุลลอฮฺ บินมัสอูด)

          ♦  เนียต คือ ความลับที่ไม่มีผู้ใดรู้ นอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาอาลา เท่านั้น

 (อัลฆอซาลี)

         ♦  หากเนียตที่จะทำดี จะถูกบันทึกผลบุญให้ 1 ผลบุญ หากได้ทำตามที่เหนียตนั้น จะถูกบันทึกผลบุญให้ถึง 10 หรือ 700 ผลบุญ หรืออาจมากกว่า และหากเนียตที่จะทำความชั่ว แต่ไม่ได้ทำมัน จะถูกบันทึกผลบุญให้ 1 ผลบุญ หากเราทำความชั่วนั้นก็จะถูกบันทึกบาปกรรมให้เพียง 1 บาปเท่านั้น

 (บุคอรี, มุสลิม)

         ♦  ผู้ใดพูดกับคนอื่นด้วยถ้อยคำที่อาจไม่ไพเราะหู แต่มีเจตนาที่ดี ดังนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาอาลา ก็จะทรงเพิ่มความรู้สึกให้อภัยเกิดขึ้นในหัวใจของคู่สนทนานั้น (อบู ลัยษฺ สะมัรก็อนดี) อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงคำพูดที่ไม่ไพเราะ


         ♦  ผู้ใดที่เนียตว่า จะขอเตาบัต (ลุแก่โทษ) ในความผิดบาปของเขา แต่แล้วเขาต้องมาเสียชีวิตลงก่อน ดังนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะทรงอภัยโทษในบาปกรรมทั้งหมดของพวกเขา จนกระทั่งเขาได้จากโลกนี้ไปในสภาพที่ไม่มีบาปติดตัว

 (อบู ลัยษฺ สะมัรฺก็อนดี)

          ♦ ไม่มีบาปสำหรับผู้ที่ถูกบังคับขู่เข็ญให้ออกจากศาสนา ในขณะที่หัวใจของเขายังยึดมั่นอยู่กับการอีหม่านในอัลลอฮฺ ซุบฮูวะตะอาลา เพราะเจตนานั้นอยู่ที่หัวใจ

(อัลกุรอาน, อันนะฮฺลิ : 106)

          ♦  อย่าให้ดุนยา (โลกนี้) เป็นเป้าหมายในการตั้งเจตนา (เนียต) การงานหนึ่งการงานใด ผู้ใดเอาดุนยาเป็นเป้าหมายในการเนียต อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะบันดาลความยากจนให้เกิดขึ้นเบื้องหน้าพวกเขา และจะแยกตัวเขาออกจากสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ

(อิบนุมาญะฮฺ)

          ♦ อย่าคิดว่าคนๆหนึ่งตายชะฮีด และได้เข้าสวรรค์ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้นที่จะรู้ว่าเนียตของคนๆ หนึ่งเป็นเช่นไร

(อิบนุ อะบิด ดุนยา)

          ♦  การงานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้ความสำคัญมากที่สุด คือ

♥ ปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาใช้

♥ พึงระวังตนเองจากสิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม)

♥ การมีเจตนาที่บริสุทธิ์

(อุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ)

          ♦  แท้จริง การช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต่อบ่าวคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับระดับการเนียต ของเขา

 (ซาลิม บิน อับดิลลาฮฺ)

          ♦  ช่างดีงามแท้ๆ ดวงตาที่หลับโดยไม่คิดจะทำชั่ว และตื่นขึ้นมาในสภาพที่ไม่มีบาป

 (นบีอีซา อะลัยฮิสลาม)

          ♦  แท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงทดสอบบ่าวของพระองค์ในทุกๆ สถานการณ์ เพื่อที่พระองค์จักได้ประจักษ์ว่า ผู้ใดมีการงานที่ดีหรือเสียหาย

(อัลกุรอาน, มุฮัมมัด : 31)

          ♦  เสาหลักของการงาน คือ การเหนียต หากเนียตดี การงานก็จะดี (อัลฆอซาลี) เพื่อการได้มาซึ่งเนียตที่สมบูรณ์ จะต้องปรับปรุงสิ่งต่อไปนี้

♥ ความรู้ (อิลมู)

♥ ความต้องการ

♥ ความสามารถ

(อัลฆอซาลี)

          ♦  เปรียบการเนียตที่อิคลาศ เหมือนกับการที่คนๆ หนึ่งวิ่งหนีเสือ ซึ่งเป็นการวิ่งหนีด้วยความกลัวที่ไม่มีอะไรแอบแฝง การเนียต (เจตนา) ของเขาไม่มีอะไรเจือปนใดๆ นอกจากความกลัวจริงๆ

 (อัลฆอซาลี)

          ♦ เนียตที่จะทำการงานที่ดี (แต่ยังไม่ได้ทำ) ดีกว่าการทำงานที่ดีแต่มิได้มีเนียต

 (อัลฆอซาลี)

          ♦  การตออัต (เชื่อฟัง) ภักดีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นอาหารสำหรับหัวใจมนุษย์ และทุกๆ การตออัตนั้น ถูกควบคุมด้วยเนียต และอามัล (ปฏิบัติ)

(อัลฆอซาลี)

         ♦  จิตใจเป็นสถานที่เนียต เปรียบเสมือนราชา ในขณะที่ร่างกายเปรียบเสมือนประชากรที่ต้องคล้อยตามคำสั่งของพระราชา

(อัลฆอซาลี)

         ♦  หมั่นปรับปรุงหัวใจอยู่เสมอ เพราะหากหัวใจดี ร่างกายส่วนอื่นๆก็จะดีด้วย หากหัวใจชั่วร่างกายส่วนอื่นก็จะทำชั่วด้วย

(มุตตะฟะกุลอะลัย)

 


ที่มา : หนังสือแบบอย่างแห่งศาสดาในวิถีชีวิตมุสลิม

แปลและเรียบเรียงโดย มันศูรฺ อับดุลลอฮฺ