มิติด้านสังคม และสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรี
  จำนวนคนเข้าชม  7957

บทบาทสตรีไทยมุสลิม : ในยุคโลกาภิวัฒน์  (2)

ดร.บุหลัน ทองกลีบ


มิติด้านสังคม และสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีมุสลิม

 

          จากการศึกษาบทบาทของสตรีมุสลิมทางด้านสังคมพบว่าบทบาทของสตรีทางด้านครอบครัว สามารถจำแนกได้เป็น 3 สถานะ คือ


1.บทบาทของสตรีในฐานะที่เป็นภรรยา สามารถจำแนกบทบาทที่สำคัญได้ 6 ประการคือ


     1.1 สตรีมีหน้าที่ในการดูแลบ้านและครอบครัว สตรีมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการของครอบครัวได้ แต่ต้องยอมรับสามีในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของครอบครัว ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“...และภรรยาเป็นผู้ดูแลบ้านของสามีของเธอ และเธอเป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้อยู่ใต้การดูแลของเธอด้วยเช่นกัน”

รายงานโดยมุสลิม (อับดุลการีม ไซดาน, 2525: 9)

“...ผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบจัดการบ้านเรือนของสามีของนาง และนางจะถูกสอบสวน(เกี่ยวกับ) หน้าที่นั้น(ในวันอาคีเราะฮ์)

รายงานโดยบุคอรี (มุนีเราะฮ บินตุ อับดุลเฆาะฟุร, 2532: 14)


     1.2 สตรีมีหน้าที่ในการเชื่อฟังสามีและปฏิบัติตามคำสั่งของสามีตราบเท่าที่เขาอยู่ในขอบเขตของอิสลาม และนางไม่จำเป็นจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสามี ถ้าหากสามีของนางสั่งให้นางกระทำในสิ่งที่ละเมิดต่อพระเจ้าหรือปฏิบัติในสิ่งที่อิสลามไม่อนุมัติ เพื่อเป็นบ่าวที่ภักดีต่อพระเจ้า ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“...หญิงที่ดียิ่ง คือ หญิงที่เมื่อสูเจ้ามองไปยังเธอแล้วทำให้เกิดความสุขใจ และเมื่อเจ้าบอกกล่าวสิ่งใดเธอก็เชื่อฟัง”

รายงานโดยมุสลิม


     1.3 สตรีมีหน้าที่ในการรักษาศาสนา คุณธรรม เกียรติ และรักษาความบริสุทธิ์ของสามี โดยที่นางจะต้องดำเนินชีวิตและปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามในทุกๆ ด้าน นางจะต้องรักษาชื่อเสียงของสามีในตอนที่สามีไม่อยู่ โดยการรักนวลสงวนตัวและไม่เปิดเผยความลับของสามีให้แก่คนอื่น ดังที่อัลเลาะฮ์ ได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮอัลอันนิซาอ อายะฮที่ 34 ความว่า

“...ดังนั้น ผู้หญิงที่ดีทั้งหลาย คือ ผู้ภักดี ผู้รักษาความลับ (เช่น ชื่อเสียง สมบัติ ความดีงาม เมื่อสามีไม่อยู่)ตามที่อัลเลาะฮ์ได้ทรง (สั่งให้พิทักษ์)


    1.4 สตรีมีหน้าที่ต่อภาระการงานของสามี


     1.5 สตรีมีหน้าที่ในการปลอบโยนสามีในตอนที่เขาโกรธ และให้ความสุข สดชื่น แก่เขาเสมอ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความโกรธของสามีลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามีมีความสุขและสบายใจกับนาง


     1.6 สตรีมีหน้าที่ในการผูกสัมพันธ์กับญาติข้างเคียงของสามี

 

2. บทบาทของสตรีในฐานะที่เป็นมารดา จำแนกบทบาทที่สำคัญได้ 7 ประการ คือ

     2.1 สตรีมีหน้าที่ในการเตรียมตัวเป็นมารดา มารดาจะต้องพยายามสร้างความใกล้ชิดกับอัลเลาะฮให้มากที่สุด โดยการทำอิบาดะฮให้มากยิ่งขึ้น เช่น ละหมาด การขอพร การอ่านอัลกุรอาน การรำลึกถึงถึงอัลลอฮฺ(หรือการซิเกรฺ)และการศอดาเกาะฮ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มารดามีความสุข

ดังที่พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮอัลอะอรอฟ อายะฮที่ 189 ความว่า

“...พระองค์ทรงเป็นผู้บันดาลพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง ( คือ อาดัม) และทรงบันดาลมาจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา เพี่อเขาจะได้สงบมั่นอยู่กับนาง

ต่อมาเมื่อเขาได้ครอบคลุมนาง (คือสมสู่กัน) นางก็ตั้งครรภ์อย่างแผ่วเบา (คือตั้งครรภ์อ่อนๆ) ซึ่งนางก็นำครรภ์ของนางไปไหนมาไหนได้( ไม่รู้สึกลำบาก)

ครั้นเมื่อนางรู้สึกหนัก( ครรภ์ของนาง) ทั้งสองก็วอนขอต่ออัลเลาะฮผู้ทรงอภิบาลของทั้งสองว่า

 แท้จริงหากแม้นพระองค์ประทานลูกที่ดีแก่เราทั้งสอง เราทั้งสองจะเป็นหนึ่งในผู้กตัญอย่่างแน่นอน”


     2.2 สตรีมีหน้าที่ ให้มีการทำพิธีโกนผมให้แก่ลูก เป็นสิ่งที่ควรกระทำทุกครั้งเมื่อได้กำเนิดทารก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ซ่อนเร้นเหตุผลอันทรงคุณค่ามากมาย กล่าวคือ

1. เป็นการกระทำที่ได้รับการโปรดปรานจากอัลเลาะฮ์ เพราะเป็นการกระทำตามแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมหมัด

2. เพื่อที่จะให้เด็กมีสุขภาพดี เนื่องจากการโกนผมจะทำให้หัวของเด็กแข็งแรง สายตา หู และจมูกสามารถทำหน้าที่ด้วยดี

3. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ด้วยดีระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะว่าผู้ที่เป็นบิดาหรือมารดาควรบริจาคเงินที่มีน้ำหนักของผมทารกที่ถูกโกนให้แก่คนจนในวันที่ทารกมีอายุครบ7 วัน


     2.3 สตรีมีหน้าที่ ในการทำอะกีเกาะฮ์ ให้แก่ลูก เพื่อเป็นการขอบคุณพระองค์อัลเลาะฮ์


     2.4 สตรีมีหน้าที่ให้มีการตั้งชื่อลูกให้ดีงาม การตั้งชื่อให้ทารกที่เกิดใหม่ด้วยชื่อที่ดีงามและมีความหมายที่ดีนั้น เป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของพ่อแม่ทุกคน ซึ่งศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อทารกเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“...แท้จริงพวกเจ้าจะถูกเรียกในวันกียามะฮ์ (วันแห่งการตอบแทน) ด้วยชื่อของพวกเจ้า และชิ่อบิดาของพวกเจ้า ดังนั้น จงตั้งชื่อลูก ด้วยชื่อที่ดี”

รายงานโดยอะบูดาวูด


     2.5 สตรีมีหน้าที่ให้มีพิธีเข้าสุหนัต (คิตาน) แก่ลูกๆ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ควรปฏิบัติ


     2.6 สตรีมีหน้าที่ในการให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูกๆ และบิดามารดาจะต้องให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวหรือลูกชายต่างก็ควรได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคและยุติธรรม ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮอัลมาอิดะฮ อายะฮที่ 8 ความว่า

“...พวกเจ้าจงยุติธรรม มันเป็นสิงที่ใกล้เคียงต่อความยำเกรงอย่างยิ่ง”

และท่านศาสดามูฮัมหมัด  ได้กล่าวไว้ว่า

“...พวกเจ้าจงให้ความยุติธรรมแก่ลูกๆ ของพวกเจ้า พวกเจ้าจงให้ความยุติธรรมระหว่างลูกๆ ของพวกเจ้า”

รายงานโดยอิมามอะฮมัด และอิบนุฮับบาน


     2.7 สตรีมีหน้าที่ในการปลูกฝังศาสนา อัลกุรอานและจริยธรรมอิสลามให้แก่ลูกๆ เพื่อให้เขามีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามศาสนาได้อย่างถูกต้องและเป็นที่ประเสริฐต่อไป ซึ่งส่งผลต่อความดีงามแก่บิดามารดาทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

 

          3.บทบาทของสตรีในฐานะที่เป็นบุตรี มีมากมายหลายประการ เช่น ทำความดีต่อบิดามารดา เชื่อฟังท่านทั้งสอง รับใช้ท่านทั้งสองในวัยชรา ไม่ขึ้นเสียงกับท่านทั้งสอง ขอพรให้ท่านทั้งสองหลังจากที่ท่านเสียชีวิต เป็นต้น ดังที่พระองค์อัลเลาะฮ์  ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮอัลอันอาม อายะฮที่ 15 ความว่า

“...จงประกาศเถิด ท่านทั้งหลายจงมาเถิด ฉันจะแถลงแก่พวกท่านในสิ่งที่องค์อภิบาลของพวกท่านได้บัญญัติห้ามไว้

มิให้ท่านทั้งสองนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นเป็นภาคีกับพระองค์ และให้ทำดีตู้บ่อังผเกิดเกล้าทั้งสอง”

 

และในซูเราะฮอัลลุกมาน อายะฮที่ 14 ความว่า

“...และเราได้มีคำสั่งแก่มวลมนุษย์ (ให้กระทำดี) กับผู้ให้กำเนิดทั้งสอง(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง) มารดาของเขาได้ตั้งครรภ์เขา(เป็นระยะเวลาประมาณ 9 เดือน)

ด้วยความทุกข์ทรมานเป็นที่สุด และได้เลิกการให้นมเขาในสองปี (ด้วยเหตุนี้) เจ้าจงกตัญญูต่อข้าและต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด

 และ (จงระลึกตลอดเวลาเถิดว่า) (เจ้าจะต้อง) กลับคืนมายังข้า( เพื่อรับการตอบแทน)”

 

         นอกจากนี้บุตรจะต้องมีมารยาทที่ดีต่อบิดามารดา ไม่ควรเดินนำหน้าท่านทั้งสอง ไม่ควรเรียกชื่อท่านทั้งสอง ไม่ควรนั่งก่อนท่านหรืออยู่สูงกว่าท่านทั้งสอง ควรรับฟังการตักเตือนและปฏิบิัตตามคำสั่งของท่านทั้งสองเสมอ ดังที่อัลเลาะฮได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮอัลอิสร๊อ อ์ายะฮที่ 23-24 ความว่า

 

 “...องค์อภิบาลของเจ้าได้บัญชาไว้ว่า พวกเจ้าทั้งหลายอย่ามนัสการสิ่งใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำความดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง

แม้นว่ามีคนหนึ่งจากทั้งสองหรืองทั้งสองคนก็ตามได้บรรลุวัยชราอยู่กับเจ้า เจ้าก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า “อุฟ” (คำอุทานแสดงความรำคาญหรือรังเกียจ)

 เจ้าอย่าขู่ตะคอกแก่ทั้งสอง และจงพูดกับทั้งสองด้วยคำพูดที่ยกย่อง และเจ้าจงลดปีกแห่งความนอบน้อมแก่ทั้งสองด้วยความเมตตา

และจงกล่าวขอพรแก่ทั้งสองว่า  โอ้องค์อภิบาลโปรดเมตตาท่านทั้งสอง ประดุจเดียวกับท่านทั้งสองได้ชุบเลี้ยงข้ามาแต่ยามเยาว์วัย”