บทบาทสตรีไทยมุสลิม : ในยุคโลกาภิวัฒน์
  จำนวนคนเข้าชม  15870

 

บทบาทสตรีไทยมุสลิม : ในยุคโลกาภิวัฒน์


ดร.บุหลัน ทองกลีบ


          สังคมยุคโลกาภิวัฒน์ในโลกดุนยานี้ จากการศึกษาพบว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ ของโลกปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ดังนั้นจากการเปลี่ยนแปลง ของโลกดุนยานี้เอง เราในฐานะมุสลิมะฮฺจำเป็นจะต้องทำการศึกษาและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในบริบททุก ๆด้านของโลกดุนยานี้ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับ อัลหะดีษ( พระวัจนะ) ของท่านศาสดา นบีมูฮัมหมัด  กล่าวไว้ว่า

“จงศึกษาตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ”

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของกระแสอันเชี่ยวกรากในยุคโลกาภิวัฒน์ของ โลกใบนี้เพื่อจะได้พิชิตดุนยาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


          ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์( Vision) ในการรำลึกถึงเกียรติคุณและพระจริยวัตรของท่านศาสดานบีมูฮัมหมัด  สู่การปฏิรูปสังคมแห่งคุณธรรม และการสร้างความสมานฉันท์ของสังคมไทยและมนุษยชาติ ผู้เขียนในฐานะเลขาธิการสมาคมแพทย์มุสลิม จึงทำการศึกษาค้นคว้าเนื้อหาวิชาการเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของมุสลิมะฮในโลกดุนยายุคโลกาภิวัฒน โดยมุ่งเน้นในมิติที่สำคัญ 4 ด้านคือ

1.ด้านสังคม และสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

2.ด้านเศรษฐกิจ และการอยู่รอดของสังคม

3.ด้านการเมือง เพื่อความสมานฉันท์ และ

4.ด้านวัฒนธรรม และสันติภาพ  


         ในการดำรงชีวิตประจำวันของพี่น้องมุสลิมะฮฺส่วนใหญ่ ยังคงยึดหลักการปฏิบัติตามหลักการ และคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์ อัลเลาะห์ คือ ธรรมนูญแห่งชีวิต (พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ) ทั้งข้อปฏิบัติและข้อห้ามรวมทั้ง อัลหะดีษ (พระวัจนะ ) ของท่านศาสดา นบีมูฮัมหมัด  แต่ยังมีส่วนน้อยที่จะต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในโลกดุนยานี้ ถึงแม้ว่าโลกดุนยาในยุคโลกาภิวัตน์นี้จะมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพียงใดก็ตาม หวังว่าพี่น้องมุสลิมะฮฺของเราคงจะไม่สิ้นหวัง เนื่องจากเราตั้งอยู่บนหลักของความศรัทธาว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามการกำหนด(ตักดีรฺ) ของอัลเลาะห์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น เพราะพระองค์เป็นผู้กำหนด

          อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการไม่ประมาท และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในการดำเนินชีวิตเพื่อพิชิตดุนยา รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการเตรียมตัวก้าวไปสู่โลกหน้า (อาคีเราะห์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนั้น มุสลิมะฮฺจำเป็นจะต้องมีความรู้และมีความเข้าใจในบริบทของสิ่งแวดล้อมของโลกดุนยาในยุคโลกาภิวัฒน์ทุกๆ ด้าน ทั้งนี้เพื่อจะได้นำเอาความรู้ ทั้งโลกนี้(ดุนยา) และโลกหน้า (อาคีเราะฮ์) มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติโดยภาพรวม นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับวันสิ้นโลก(กียะมัต) ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

          จะเห็นได้ว่าอิสลามได้กำหนดบทบาทของมุสลิมไว้ตามสถานภาพของบุคคล โดยแยกเป็นสถานภาพของสตรีและบุรุษให้เห็นเด่นชัด เพราะบทบาทในบางบทบาทนั้นจำเป็นจะต้องเกี่ยวกับสภาพร่างกายและสรีระเป็นเงื่อนไข ทำให้บทบาทส่วนใหญ่จะตกไปอยู่กับบุรษมากกว่า ส่วนสตรีนั้นจะมีบทบาทเพียงน้อยนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องภายในบ้าน  แต่ในบางครั้งบางคราวก็สามารถมีบทบาทนอกบ้านได้ ดังอัลหะดีษของท่านศาสดามูฮัมหมัด  กล่าวว่า

“อัลเลาะฮ์  ทรงอนุญาตให้พวกเธอ ออกนอกบ้านได้เพื่อทำธุรกิจที่จำเป็น”

รายงานโดยบุคอรี (อรุณ บุญชม, มปป. : 1140)


         โลกยุคปัจจุบัน สังคมได้มีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีไทยมุสลิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การแสดงสิทธิทางด้านการเมืองเป็นการใฝ่หาความเสมอภาคในสังคม อีกทั้งปัจจุบันก็เป็นยุคของการเบ่งบานของประชาธิปไตย ดังนั้น เหตุผลทางการตื่นตัวของสตรีไทยมุสลิมทางด้านการเมืองเป็นเครื่องชี้วัด (KPI)ตัวหนึ่งในการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันค่าครองชีพได้สูงขึ้น ทำให้สตรีไทยมุสลิมออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านได้มากขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วสตรีไทยมุสลิมส่วนใหญ่ไม่นิยมที่จะออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน เนื่องจากว่าไม่สะดวก ส่วนมากจะมีหน้าที่ดูแลครอบครัว ศาสนาอิสลามมิได้จำกัดหน้าที่และบทบาทในการประกอบอาชีพของสตรี หากนางจะประกอบอาชีพต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองหรือสามีเสียก่อน และอิสลามก็ได้วางระบบหน้าที่ให้สตรีมีบทบาทในสังคมในฐานะที่เป็นแม่บ้านและภรรยาเป็นสำคัญ

 

          ในอิสลามไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่ห้ามมิให้สตรีประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่ถูกกับลักษณะธรรมชาติของสตรี เช่น ครู พยาบาล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สตรีไทยได้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านสังคมทั่วไปก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับบทบาทของสตรีมากขึ้น เริ่มจากสถาบันครอบครัวและนำไปสู่สถาบันการเมืองต่อไป


         โดยหลักการแล้ว อิสลามมิได้สนับสนุนให้สตรีเป็นผู้นำ แต่อิสลามก็ยังคงให้ความสำคัญต่อสตรี โดยให้สตรีมีสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ของนาง แม้กระทั่งการออกเสียงเลือกตั้งเพื่อความอยู่รอดของประเทศ หรือสิทธิในชีวิตความเป็นอยู่ในการกำหนดรูปแบบกฎหมายใหม่ๆ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สตรีจะต้องชี้แนะเพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบที่จะเกิดขึ้นในสังคมตามบรรทัดฐานของสตรีที่พึงมีได้


          อาจกล่าวได้ว่า บทบาท (Role) คือ แบบแห่งการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ บทบาทของสังคมในสถานะหนึ่งที่มีต่อบุคคลในอีกสถานะหนึ่งย่อมไม่เหมือนกัน เพราะแบบแห่งปฏิสัมพันธ์นั้นแตกต่างกัน เช่น บทบาทของสามีที่มีต่อภรรยาย่อมแตกต่างกับบทบาทของภรรยาที่มีต่อสามี หรือบทบาทของบิดาที่มีต่อบุตรก็ย่อมแตกต่างกับบทบาทของบุตรที่มีต่อบิดา เป็นต้น