อิกรอมคืออะไร ?
โดย อ.ปริญญา ประหยัดทรัพย์
อิกรอม คือการเคารพให้เกียรติและแสดงออกต่อบุคคลและสรรพสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสมถูกต้อง
อิกรอมในกรอบของอัลกุรอาน
อัลลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานซูเราะห์ อัล-อิสรออฮ์ โองการที่ 70 ความว่า :
"ขอยืนยันแท้จริงเราได้ยกย่องมวลมนุษย์ทั้งหลาย และเราได้ให้พวกเขาขี่พาหนะในภาคพื้นดิน และท้องทะเล และเราให้ปัจจัยยังชีพที่ดีต่าง ๆ แก่พวกเขา
และเราได้ให้พวกเขาเลอเลิศเหนือกว่าสรรพสิ่งอันมากมายที่เราได้ดลบันดาลไว้อย่างเหลือล้น"
อิกรอมในกรอบของอัลหะดีษ
ท่านนบีมูฮำหมัด ได้เล่าให้ฟังว่ามีหญิงคนหนึ่งต้องเข้านรกเพราะไม่เมตตาและอิกรอมต่อแมว ท่านกล่าวว่า
“หญิงคนหนึ่งต้องเข้านรกเพราะแมว ซึ่งนางขังมันไว้ไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยให้มันหาอาหารกินเอง”
(รายงานโดย บุคอรี)
ใครบ้างที่พึงอิกรอม
บิดา มารดา โดยแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และปฏิบัติต่อท่านด้วยความอ่อนโยน จิตใจมีแต่ความรัก และความเมตตา ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์อัล-อิสรออ์ โองการที่ 2 ความว่า :
" จงปฏิบัติต่อท่านทั้งสองด้วยความอ่อนน้อมและแสดงออกด้วยจิตใจอันมีเมตตา จงวิงวอนต่ออัลลอฮ์ เพื่อให้ทรงเมตตาท่านทั้งสองด้วย"
ญาติพี่น้อง โดยหยิบยื่นความรัก ความปรารถนาดี สานสัมพันธ์อันดีต่อกันและกัน ดังที่ทานศาสดามูฮำหมัด ได้กำชับว่า :
"ผู้ใดรักที่จะได้รับโภคปัจจัยอันอุดม และมีอายุขัยยืนยาวก็จงสานสัมพันธ์อันดีกับญาติพี่น้อง"
(รายงานโดย บุคอรี)
ผู้นำ ผู้นำคือสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพของสังคมมุสลิม จึงต้องอิกรอมให้ความเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามในทุกกรณี ยกเว้นในกรณีที่ขัดแย้งกับหลักการศาสนา ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัน-นิซาอ์ โองการที่ 59 ความว่า
" โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ เชื่อฟังรอซู้ล และผู้นำที่มาจากพวกเจ้ากันเองเถิด"
ผู้รู้ คือ ธรรมทายาทผู้สืบมรดกความดีงามจากเหล่าศาสดา จึงต้องยกย่องให้เกียรติและแสดงความเคารพในฐานะผู้จุดคบเพลิงประภาคารให้แสงสว่างแห่งความรู้แก่สังคม ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัล-มุญาดะละฮ์ โองการที่ 11 ความว่า
" อัลลอฮ์ทรงยกย่องผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และทรงยกย่องผู้ทรงคุณความรู้ไว้หลายขั้น"
เพื่อนบ้าน โดยการแสดงออกด้านความมีไมตรีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่กันและกัน ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัน-นิซาอ์ โองการที่ 36 ความว่า :
"และจงทำความดีต่อบุพการีทั้งสอง ตลอดจนญาติพี่น้อง เด็กกำพร้า คนยากจน เพื่อนบ้านใกล้ชิด และเพื่อนบ้านที่ห่างไกล"
มุสลิมทั่วไป เนื่องด้วยมุสลิมทั้งผองนั้นล้วนเป็นพี่น้องกัน จึงต้องรักใคร่สามัคคี และช่วยเหลือกันในสิ่งดี ๆ ดังที่ท่านนะบีมูฮำหมัด ได้กล่าวว่า :
" มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องของกันและกัน จึงต้องไม่อธรรมต่อกันไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ดูหมิ่นกัน "
(รายงานโดยมุสลิม)
มนุษย์ทั่วไป มนุษย์นั้นไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ หรือนับถือศาสดาใด ๆ ทุกคนล้วนสืบทอดจากบรรพบุรุษเดียวกัน คืออาดัม และฮาวา จึงจำเป็นต้องแสดงออกถึงการอิกรอมให้เกียรติกันโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่กันและกัน ดังที่อัลลออฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัล-อิสรออ์ โองการที่ 70 ความว่า
" แท้จริงอัลลอฮ์ทรงให้เกียรติแก่วงศ์วานของอาดัม อีกทั้งทรงนำพาพวกเขาไปทั้งบนบกและในทะเล"
สังคม หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ จึงต้องอิกรอมให้เกียรติต่อกันและกันโดยการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัล-มาอิดะฮ์ โองการที่ 2 ความว่า
" จงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องความดี และการยำเกรงต่ออัลลอฮ์ แต่จงอย่าช่วยเหลือกันในเรื่องบาปและการเป็นอริศัตรู"
สรรพสิ่งทั่วไป เช่นอิกรอมสัตว์โดยไม่ทำให้สัตว์ทุกข์ทรมาน อิกรอมสายน้ำที่อยู่อาศัยโดยไม่ทำให้สกปรกและเกิดมลภาวะเป็นพิษเป็นต้น
พฤติกรรมที่ถือว่าขาดอิกรอม
♦ การทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไม่ว่าด้วยกาย วาจา ใจ และไม่ว่าจะด้วยวิธีการอันใดก็ตามด้วยการใช้กลิ่น เสียงหรือวัตถุอื่นใด
♦ การทำให้ทรัพย์สินส่วนรวมเสียหาย
♦ การรุกล้ำถนนหนทางหรือน่านน้ำที่ใช้สัญจรร่วมกัน เช่น ถนน หรือ แม่น้ำลำคลอง
♦ การทำให้เส้นทางสาธารณะ สกปรกเสียหาย
ขาดอิกรอมแท้จริงคือขาดอีหม่าน
อีหม่าน คือ พลังผลักดันบุคคลสู่ความดีงาม อีหม่านที่เข้มแข็งจะก่อเกิดพฤติกรรมที่ศาสนาเชิดชูยกย่อง เช่นรู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม มีจิตใจต้องการให้เกิดความสงบสุขในชุมชน และรังเกียจสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย
คนบางคนอาจเคร่งครัดในการประกอบศาสนกิจ เช่นการละหมาด แต่หากยังทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและเห็นแก่ตัวเกินไป ก็แสดงว่าผู้นั้นยังขาดอีหม่าน ดังหะดีษบทหนึ่งระบุว่า :
" หญิงนางหนึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า เคร่งเรื่องการละหมาด การถือศีลอดมาก แต่เธอมักทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ
ท่านนบี จึงบอกว่า หญิงนางนั้นอยุ่ในนรก "
(รายงานโดย อะห์หมัด)