หลักการธนาคารอิสลาม
โดย... ดร. เอ็ม อับดุลมันนาน
ธนาคารอิสลามวางรากฐานอยู่บนหลักการหุ้นส่วน กล่าวคือ ทั้งระบบธนาคาร ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน ผู้ลงทุน และผู้ยืม จะร่วมกันเป็นหุ้นส่วน หลักการนี้จะทำให้ทุนและแรงงานสามารถรวมกันได้ในฐานะหุ้นส่วนในการประกอบการ การรวมดังกล่าวมิใช่เป็นการรวมตัวกันแต่เฉพาะด้านวัตถุอย่างที่คนในปัจจุบันเข้าใจกันแต่เพียงอย่างเดียว แต่การรวมกันของอิสลามมีความหมายมากไปกว่านั้น เพราะว่าอิสลามได้วางหลักจริยธรรมทางเศรษฐกิจเอาไว้ โดยนำเอาคุณค่าทางด้านวัตถุและจิตใจมารวมเข้าไว้ด้วยกันในการกำหนดพฤติกรรมของระบบเศรษฐกิจ และแนวทางจริยธรรมทางเศรษฐกิจของอิสลามจะบังเกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อได้มีการนำเอาหลักการหุ้นส่วนมาใช้
กลไกของระบบธนาคารอิสลาม
เนื่องจากระบบธนาคารอิสลามตั้งอยู่บนหลักการหุ้นส่วนและไม่มีดอกเบี้ย ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินหรือคิดดอกเบี้ยจากผู้มากู้จึงไม่เกิดขึ้น ระบบธนาคารอิสลามอาจเริ่มต้นตั้งขึ้นโดยประชาชนหรือรัฐบาลก็ได้ ตามหลักการแล้ว ธนาคารอิสลามจะมีเงินฝากอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ
1) เงินฝากที่ผู้ฝากสามารถถอนคืนได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า คล้ายกับเงินฝากประเภทเผื่อเรียก (Demand deposit) เงินฝากชนิดนี้เป็นเงินฝากเพื่อเก็บรักษา ไม่ใช่ฝากเพื่อลงทุนในกิจการผลิตอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีการเสี่ยงร่วมกัน เมื่อครบปีธนาคารจะทำหน้าที่หัก “ซะกาต” จากจำนวนเงินฝากที่อยู่ในธนาคาร และคิดค่าบริการฝากเงิน และถอนเงินจากผู้ฝากอย่างยุติธรรมและซื่อตรงที่สุด นั่นหมายถึง ถ้าผู้ฝากใช้บริการจากทางธนาคารมาก ผู้ฝากก็จะเสียค่าบริการมาก แต่ถ้าใช้น้อยก็เสียค่าบริการน้อย
2) เงินฝากที่ผู้ฝากไม่สามารถที่จะถอนคืนได้จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดไว้กับทางธนาคาร คล้ายกับเงินฝากประจำ (Time deposit) เงินทุนของผู้ฝากประเภทนี้จะถูกนำไปลงทุนในกิจการต่างๆ ในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ได้ ธนาคารจะไม่คิดค่าป่วยการหรือค่าธรรมเนียมใดๆ จากผู้ฝากเงินประเภทนี้ ผู้ฝากจะได้รับส่วนแบ่งผลกำไรหรือรับผิดชอบต่อการขาดทุนจากการที่ธนาคารเอาเงินของผู้ฝากไปลงทุนตามอัตราส่วนของเงินฝากเมื่อสิ้นปีงบประมาณในรูปของส่วนแบ่งหรือเงินปันผลซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่ามีความจำเป็น ธนาคารอิสลามก็สามารถระดมทุนเพิ่มขึ้นได้ด้วยการเชิญชวนประชาชนให้มาลงทุนร่วมกันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็น 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ก็ได้ ในทางตะวันตก บางธนาคารจะออกใบรับรองการลงทุนหรือพันธบัตรการลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนคงที่(ซึ่งก็คือดอกเบี้ย)ให้ โดยผู้ถือใบรับรองการลงทุนหรือพันธบัตรการลงทุนไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปจัดสรรผลกำไร แต่ในระบบของอิสลาม ผู้ถือใบรับรองการลงทุนเหล่านี้ มีสิทธิได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นผู้แบ่งสรรผลกำไรของธนาคารในตอนปลายปีงบประมาณได้
ความสัมพันธ์ของธนาคารกับผู้ฝากและผู้ประกอบการ
ตามระบบธนาคารอิสลาม ผู้ฝากทั้งหมดจะเหมือนกับนายทุน และธนาคารจะเป็นเหมือนกับผู้จัดการในแง่ที่ว่า ธนาคารอาจได้รับสิทธิให้แต่งตั้งตัวแทนขึ้น เพื่อนำเงินฝากไปลงทุน แน่นอน การลงทุนในกิจการบางอย่างอาจประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีบ้าง พอคุ้มบ้าง หรือไม่ก็ประสบความล้มเหลวบ้างเป็นของธรรมดา ดังนั้น ในการจัดสรรเงินทุน ธนาคารก็ต้องทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินใจว่าการค้า อุตสาหกรรม หรือกิจการประเภทไหนที่ควรจะปล่อยเงินไปลงทุน และเมื่อลงทุนไปแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวหรือไม่
ในแต่ละปีงบประมาณ ธนาคารจะทำการรวบรวมงบดุล ผลกำไรขาดทุนทั้งหมด และงบสุดท้ายที่ยังเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั่วไปของธนาคารแล้ว จะถูกนำมาแบ่งปันกันระหว่างธนาคารและผู้ฝากตามที่ตกลงกันไว้ ในส่วนที่เป็นของธนาคาร ธนาคารจะนำไปแบ่งกันอีกทีหนึ่งระหว่างผู้ถือหุ้นของธนาคาร
ถ้าหากเรามองความสัมพันธ์ของธนาคารกับผู้ฝากแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้ฝากเป็นเสมือนกับนายทุน และธนาคารเป็นเสมือนกับผู้จัดการธุรกิจ แต่ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคารแล้ว จะเห็นว่าธนาคารเปรียบเสมือนกับนายทุนและผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินงาน กำไรที่ได้มาจากการลงทุน ผู้ประกอบการจะแบ่งกับธนาคารตามสิทธิและข้อผูกมัดที่ผู้ประกอบการได้ตกลงไว้กับธนาคาร
ข้อดีของแนวคิดอิสลามเกี่ยวกับเรื่องธนาคาร
ถ้าหากวิเคราะห์กันอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบความจริงที่ว่าธนาคารสมัยใหม่ คือผู้ให้สินเชื่อทางอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลในทางตรงกันข้ามกับความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ โดยปกติแล้ว ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่นำไปลงทุนทางอุตสาหกรรม เพราะธนาคารไม่ได้มีหุ้นส่วนอยู่ในกิจการอุตสาหกรรมด้วย ธนาคารในระบบทุนนิยมจึงเปรียบได้กับธุรกิจที่จะกอบโกยผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงว่าผู้อื่นจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ธุรกิจที่กู้เงินมาจากธนาคารจึงต้องหลีกเลี่ยงการขาดทุนด้วยการคิดผลกำไรให้เหนือกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย หรือจะให้พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ผลิตจำต้องบวกดอกเบี้ยเข้าไปเป็นต้นทุนด้วย
ในที่สุด ผลร้ายทั้งหลายก็จะตกอยู่แก่ประชาชนผู้บริโภค และนำมาซึ่งความตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ธนาคารอิสลาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มีฐานะเป็นหุ้นส่วน ความตกต่ำทางเศรษฐกิจจึงมีอยู่น้อยมาก หรือถ้าหากว่ามีความตกต่ำเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่น ธนาคารอิสลามก็ยังอยู่ในฐานะที่ดีกว่าธนาคารในระบบทุนนิยมในการที่จะเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์นั้น เพราะอัตราดอกเบี้ยซึ่งทำให้ “การฟื้นขึ้นจากความตกต่ำ” ช้าลงไม่มีอิทธิพลใด ๆ ในระยะที่มีการตกต่ำทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วน ธนาคารก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการได้ผลกำไรและขาดทุนเช่นกัน แต่ในระบบอิสลามนั้น โอกาสที่จะขาดทุนมีน้อยมาก เพราะธนาคารมีความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการเงินทุนเป็นอย่างดี และความร่วมมือกันอย่างดีระหว่างเงินทุนกับการอุตสาหกรรมจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม และการสูงขึ้นของรายได้ประชาชาติ
ในระบบดอกเบี้ย ธนาคารจะทำเกิดปัญหาการว่างงานหนักขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงก่อให้เกิดการลงทุนต่ำ นักธุรกิจและนายทุนไม่อยากที่จะลงทุน เมื่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยกว่ากระแสอัตราดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยทั่วไปในท้องตลาดอยู่ในระดับ 4% และถ้าหากจะมีการลงทุน สมมติว่าลงทุนในการชลประทานซึ่งให้ผลตอบแทน 3% ดังนั้น ในทัศนะของนายทุนแล้ว จะเห็นว่ากิจการชลประทานไม่น่าลงทุน สู้เอาเงินไปฝากธนาคาร แล้วนอนอยู่ที่บ้านเฉยๆ ก็ยังได้มากกว่า
ดังนั้น การลงทุนจึงไม่เกิดขึ้น แม้ว่าบางทีการลงทุนนั้นอาจจะมีประโยชน์ทางอ้อมกับสังคมบ้างก็ตาม ผลก็คือ ทรัพยากรจะถูกทิ้งไปโดยไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ การจ้างงานก็จะน้อยลง เคนส์จึงยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างมาตรฐานระดับการจ้างงาน ทั้งนี้เนื่องจากประสิทธิภาพสุดท้ายของทุน (Marginal efficiency of capital) ถูกดึงให้ต่ำลงโดยอัตราดอกเบี้ย
ถ้าจะถามว่า อิสลามมีเหตุผลที่เหมาะสมอันใด ถึงไม่อนุญาตให้มีดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจหรือลงทุน คำตอบก็คือ ขอให้ท่านได้พิจารณาว่า ถ้าหากมีความแตกต่างระหว่าง “ผู้ถือหุ้น” กับ “ผู้ถือพันธบัตรการลงทุน” ฉันใด “กำไร” กับ “ดอกเบี้ย” ก็ย่อมแตกต่างกันฉันนั้น
อิสลามห้ามดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่มีอิทธิพลต่อปริมาณการออม ดอกเบี้ยก่อให้เกิดความตกต่ำเรื้อรัง ทำให้มีปัญหาการว่างงานมากขึ้น และในที่สุดก็จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ธนาคารสมัยใหม่คิดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่คำนึงถึงการขาดทุนและผลกำไรของนักธุรกิจ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภายใต้ระบบทุนนิยม ดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งที่คอยตัดโอกาสที่จะสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจขึ้นในสังคม และเพื่อต่อต้านระบบนี้ อิสลามจึงได้พยายามที่จะสร้างความเสมอภาคขึ้นโดยผ่านทางกระบวนการ “ซะกาต” บนเงินทุนส่วนเกิน ทั้งนี้เพื่อที่จะกระจายความมั่งคั่งจากคนมั่งมีไปสู่คนยากจน
ธนาคารอิสลามกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
บางคนอาจคิดว่าระบบธนาคารอิสลามที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาปฏิบัติได้ เพราะจะทำให้ประเทศที่ใช้ระบบธนาคารแบบนี้ต้องถูกโดดเดี่ยวจากส่วนอื่นๆ ของโลก และจะก่อให้เกิดความเสียหายในด้านการค้าระหว่างประเทศ ความจริงแล้ว ระบบธนาคารอิสลามไม่ใช่ของแปลกหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากใดๆ อย่างที่วิตกกันอยู่เลย เพราะถ้าหากประเทศต่างๆ ของโลกที่มีทฤษฎีการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน สามารถอยู่เคียงข้างกันและทำมาค้าขายซึ่งกันและกันได้แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลว่า ทำไมประเทศที่ใช้ระบบธนาคารอิสลามจะต้องถูกโดดเดี่ยวหรือแยกขาดออกไปจากส่วนอื่นๆ ของโลก
ประการที่สอง ถ้าปราศจากการขาดทุนทางการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารอิสลามก็สามารถที่จะส่งเสริมปริมาณสินค้าระหว่างประเทศได้ เพราะธนาคารสมัยใหม่จะหารายได้จากการค้าระหว่างประเทศโดยรับค่าจ้างจากการบริการต่างๆ เช่น การรับแลกเปลี่ยนเงินตรา การรับและเก็บสัญญาซื้อขาย เป็นต้น แต่ในระบบอิสลาม ธนาคารจะเสนอบริการเหล่านี้ให้โดยไม่คิดค่าบริการใดๆทั้งสิ้น ถ้าหากว่าธนาคารเป็นหุ้นส่วนกับนักธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารจะช่วยนักธุรกิจให้พ้นจากสภาพการเงินที่ฝืดเคือง เพื่อที่อุปสงค์และอุปทานของสินค้าจะสามารถปรับตัวได้อีกด้วย
ประการสุดท้าย หลักการธนาคารอิสลามค่อนข้างจะเหมาะสมกับหลักการธนาคารระหว่างประเทศ เพราะโลกสมัยใหม่จะโดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็แล้วแต่ กำลังมีแนวโน้มมาทางปรัชญาทางเศรษฐกิจอิสลามมากขึ้นทุกที
ที่มา: หนังสือเศรษฐศาสตร์อิสลาม หน้า 154-160
แปลและเรียบเรียงโดย บรรจง บินกาซัน