พื้นฐานของความดีงาม
  จำนวนคนเข้าชม  10042

 

พื้นฐานของความดีงาม


อาจารย์  มุยาฮิด ลาตีฟี


السلام عليكم ورحمة الله وبركاته

          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย   ขอท่านทั้งหลาย   จงมีความตั้งมั่น   التقوى ยำเกรง ต่อ   อัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกล จากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ตามนัยยะความหมายแห่งดำรัสของพระองค์ อัลเลาะห์ ข้างต้น  อัลเลาะห์ ได้ทรงมีพระบัญชาให้พวกท่านทั้งหลายจงมีความตักวา التقوى ยำเกรงต่ออัลเลาะห์ เท่าที่พวกท่านมีความสามารถ และจงรับฟัง จงภักดีอย่างจริงใจ และตามนัยยะที่ท่านนบี มูฮำมัด ได้กล่าวว่า

 

"ท่านจงมีความตักวา التقوى ยำเกรงต่ออัลเลาะห์ ไม่ว่าที่ใดซึ่งที่ท่านปรากฏตัวอยู่ และท่านจงปฏิบัติความดี ถัดจากการกระทำความชั่วเถิด

เพื่อความดีนั้นจะได้ลบล้างความผิดความชั่วนั้น และท่านจงร่วมสังคมกับมนุษย์ผู้คนด้วยกับจรรยามารยาทซึ่งที่งดงาม”

 

          ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย التقوى อัตตักวา ความยำเกรงต่ออัลเลาะห์ ตามคำนิยาม คำจำกัดความของท่านไซยิดินาอาลี กัรรอมัลลอห์ฮู้วัดยฺฮะห์ ที่ท่านได้ให้ความหมายไว้ว่า    

         "การมีความเกรงกลัวต่ออัลเลาะห์ ด้วยกับความกลัว ด้วยกับความเกรง ณ ที่นี้มันคือรากฐานของบรรดาการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ต่างๆ ทั้งหมด ที่เราได้กระทำในรูปแบบที่ شرع ได้กำหนดให้เราปฏิบัติ ทั้งเงื่อนไข ทั้งกฎเกณฑ์ ในรูปแบบของอิบาดะห์ต่างๆ เป็นรากฐานของความดีงามต่างๆทั้งหมด"

          นั่นคือ นัยยะความหมายของท่านไซยิดินาอาลี كرم الله وجهه ได้ให้ไว้ และด้วยกับความยำเกรงอันนี้ ความกลัวอันนี้ คือสาเหตุที่มาของความรอดพ้นและชัยชนะของบุคคลที่มีลักษณะนี้ทั้งในดุนยาและอาคีเราะห์ ทั้งในสภาพที่เขาอยู่ตามลำพังคนเดียว และในสภาพที่เขาอยู่ต่อหน้าผู้คน เขาปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ ต่ออัลเลาะห์ ในสภาพซึ่งที่ไม่ต่างกัน

 

          นักปราชญ์ได้กล่าวว่า การละทิ้งการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์อันดีงาม ด้วยกับสาเหตุของมนุษย์ นั่นคือความ รี่ยาอฺ.رياء  ความโอ้อวด และการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ เพื่อมนุษย์ นั่นคือการทำชิริก شرك การตั้งภาคีต่ออัลเลาะห์ และความ อิคลาศإخلاص  นั้น ความบริสุทธิ์ใจนั้น คือการที่ อัลเลาะห์ได้ทรงทำให้สภาพทั้งสองนั้น (คือ รี่ยาอฺ และ ชิริก رياء  &  شرك)  ปราศจากในตัวท่าน


          ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย التقوى การยำเกรงต่ออัลเลาะห์ นั่นคือส่วนแรก ในส่วนที่สองاَلْعَمَلُ بِالتَّنْزِيْلِ  คือการปฏิบัติตามพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จากการที่เราได้อ่าน พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน โดยมีเจตนาตั้งใจที่จะนำสิ่งซึ่งที่ได้อ่านนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งจากการปฏิบัติ กับตัวของเรา กับครอบครัวของเรา กับเพื่อนบ้านของเรา กับชุมชนของเรา กับสังคมของเรา ซึ่งในแต่ละระดับ ในแต่ละฐานะ ของความเป็นมุสลิม มุมิน ของแต่ละคนนั้น พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจะเป็นเครื่องช่วยชี้แนะในการใช้ชีวิตของเรา อยู่ที่ว่าเราจะพิจารณาสิ่งซึ่งที่เราอ่าน สิ่งที่เราทำความเข้าใจ โดยผ่านคำอธิบายของบรรดาอุลามะอฺที่มีต่อโองการต่าง ๆ เหล่านั้น


          ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย  เราพร่ำขอต่ออัลลอฮ ในการละหมาดของเราทุก ๆ วันإِهْدِنَا الصِّرَاطَ اْلمٌـُـسْتَقِيْمَ ขออัลลอฮ ทรงชี้นำเราสู่แนวทางอันเที่ยงตรง อันเที่ยงแท้ มันขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญต่อคำนัยความหมายของอายะห์ที่ปรากฏในซูเราะห์ ฟาตีฮะห์ ที่อันเชิญไปข้างต้นหรือไม่ว่า เราจะได้มาอย่างไร แนวทางที่เที่ยงตรง แนวทางที่เที่ยงแท้


          ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย  ประการที่ 3 اَلْقَنَاعَةُبِالْقَلِيْلِ ความพอใจด้วยกับปัจจัยซึ่งที่เล็กน้อย เป็นส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ต่อการตั้งเป้าหมายในชีวิตคือการได้มาซึ่งปัจจัย ริสกี ซึ่งที่มากมายแต่บุคคลนั้นหารู้ไม่ว่า ริสกี ปัจจัยรวมถึงอายุไขนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮ ได้ทรงกำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะขวนขวายแสวงหา ทำมาหากินมากมายสักปานใดก็ตาม ริสกี ที่ อัลลอฮ  ได้ทรงกำหนดนั้น เป็น ริสกีที่จำกัดเฉพาะของแต่ละบุคคล ริสกีของบุคคลอื่นเราก็ไม่สามารถซึ่งที่จะนำมาเป็นของตน  ริสกีของเราเองเราก็ไม่สามารถนำไปให้บุคคลอื่น แต่ละคนได้รับปัจจัยซึ่งที่แน่นอน เพราะฉะนั้นเราจงมีความพอใจ ในการได้มาซึ่งปัจจัย ถึงแม้ว่ามันจะเล็กน้อยก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า การได้มาของริสกีนั้นมันถูกต้องตามแนวทางของอิสลามได้กำหนดไว้หรือไม่ นั่นคือสิ่งสำคัญ


          บุคคลซึ่งที่ได้ริสกีปัจจัยยังชีพซึ่งที่น้อย แต่เป็นริสกีซึ่งที่ ฮาล้าล เป็นริสกีซึ่งที่ได้รับการอนุมัติจากอัลลอฮ ริสกีที่น้อยนั้นมันมีความมงคล มันมี บารอกัต มันจะถูกใช้สอยในสิ่งที่ดีงาม งดงาม แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่ได้รับริสกีมากมาย ได้รับปัจจัยที่ล้นเหลือ แต่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ شرع ศาสนาห้ามในสิ่งนั้นพึงสังวรไว้เถิดว่าปัจจัยที่มากมายนั้นไม่ได้มีค่าอันใด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับบุคคลนั้นแม้แต่เพียงเล็กน้อยทั้งในดุนยาและอาคีเราะห์ มิหนำซ้ำมันจะก่อให้เกิดความหายนะ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ที่จะเกิดขึ้นกับลูก ที่จะเกิดขึ้นกับภรรยา ที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว  เรา...ในฐานะที่เป็นผู้นำ เป็นพ่อ เป็นผู้ที่ดูแลปกครองไม่ได้เอาใจใส่กับปัจจัย   ริสกีที่ได้มา เพราะฉะนั้นเราอย่าได้ตำหนิติเตียนบุคคลหนึ่งบุคคลใด ในความตกต่ำ ในความเสียหายที่มันเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว จงมองย้อนกลับมาดูสิ่งซึ่งที่เราได้มาจากปัจจัยนั้น ว่ามันมีสิ่งซึ่งที่เจือปนจากสิ่งที่ ฮารอมหรือไม่


          ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย ประการสุดท้ายที่ท่านไซยิดินาอาลี كَرَّمَ اللهُ وَجْهَهُ ได้อธิบายบอกกล่าวกับเรานั้นคือ اَلْإِسْتِعْدَادُ لِيَوْمِ الرَّحِيْلِ   การเตรียมตัวเพื่อการเดินทาง เพื่อการอพยพ สภาพความเป็นอยู่ของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์เป็นสำคัญ ในฐานะที่เป็นมุสลิม เป็นมุมินนั้นเรามีหลักในการใช้ชีวิตต่อการที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตของเรา ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเราปฏิเสธไม่ได้ต่อการศึกษา การเรียนรู้ทำความเข้าใจในหลักธรรมคำสอน ที่ได้รับจากอัลกุรอ่าน ที่ได้รับจากฮาดิษ ที่ได้รับจากบรรดาอุลามะอฺปวงปราชญ์ ที่เขาบรรจงถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลัง อยู่ที่เรานั้นจะศึกษาเรียนรู้ เพื่อการเตรียมตัว ต่อการที่จะเดินทางต่อไป


          เราเดินทางตั้งแต่ช่วงเวลาที่เราอยู่ในโลกแห่งวิญญาณ เราเดินทางมาสู่โลกแห่งครรภ์มารดา เราเดินทางมาอยู่ในโลกดุนยาแห่งนี้และเราก็จะเดินทางต่อไปสู่โลกอาคีเราะห์โดยจุดเริ่มต้นนั้นก็คืออาลัมบัรซัค คือกุโบร์ เราต้องถามตัวเราเองว่า ณ วันนี้เรามีความพร้อมหรือยัง มีความมั่นใจในระดับไหนต่อการที่จะเดินทางต่อไป เพราะจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่อาคีเราะห์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่อายุ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสภาพร่างกาย เพราะความตายนั้นคือสิ่งเดียวกัน اَلْمَوْتُ وَاحِدٌ ความตายนั้นคือหนึ่งเดียวوَأَسْبَابُهُ كَثِيْرَةٌ  แต่สาเหตุที่นำมาสู่ความตายนั้นมากมาย เราไม่อาจที่จะระมัดระวังเพื่อหลีกหนีจากความตาย เราอาจจะดูแลสุขภาพ เราอาจจะดูแลความเป็นอยู่ซึ่งที่ครบถ้วนบริบูรณ์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะก่อให้เกิด การรอดพ้นจากความตายไปได้  وصية

คำสั่งเสียหนึ่งที่ท่านนบี ได้บอกกับท่าน อะบาซัรริน  وَاسْتَكْثِرِ الزَّادَ ว่า

“ท่านจงตระเตรียมเสบียงให้มาก فَإِنَّ السَّفَرَ طَوِيْلٌ เพราะว่าการเดินทางนั้นมันยาวไกลยิ่งนัก”


          พี่น้องศัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ในช่วงท้ายแห่งคุตบะห์นี้ขออัลลอฮ ทรงประทาน هِدَايَةُ اْلإِرْشَادِ และ هِدَايَةُ التَّوْحِيْدِ การชี้นำและพลังใจนำพาสู่การปฏิบัติให้กับเราท่านทุกคนได้ยึดมั่นในการตักวา การยำเกรงต่ออัลลอฮ จวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เพื่อการที่เราจะได้รับความสุข ความสบายใจทั้งในดุนยานี้และอาคีเราะห์

 

คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ