การทำความเข้าใจก่อนการจดจำ
  จำนวนคนเข้าชม  6058

 

การจัดลำดับความสำคัญในเรื่องศาสนา (2)


โดย... อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง


          คำสั่งใช้ให้กระทำจากพระองค์อัลลอฮ์มีจำนวนมากมายเหมือนกับคำสั่งห้าม มีบางอย่างศาสนากำหนดใช้ให้ปฏิบัติก่อน เช่นให้รีบปฏิบัติการละหมาดเมื่อได้ยินอาซานวันศุกร์ และมีบางอย่างศาสนาให้ปฏิบัติหลัง เช่นการชดในการถือศีลอดเมื่อไม่ได้ปฏิบัติในช่วงเดือนรอมฎอน มีบางอย่างศาสนากำชับให้ยึดมั่นอย่างเคร่งครัดจะลดหย่อนไม่ได้ เช่นเรื่องที่เกี่ยวกับการศรัทธา และมีบางอย่างที่ศาสนาเปิดโอกาสผ่อนปรนและลดหย่อนกันได้ เช่นการละหมาดวันศุกร์สำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง มีบางอย่างที่ศาสนาให้ความสำคัญสูงส่ง เช่น หลักการศรัทธาทั้งหกประการการญิฮาดต่อสู้ในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์ การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีฮัจญ์  และบางอย่างที่ศาสนาให้ความสำคัญน้อยลง หรือไม่ได้ให้ความสำคัญเลย เช่นวันเกิดและสถานที่เกิดของท่านเราะสูล ซึ่งไม่มีการกล่าวในอัล-กุรอานเลย

           ผู้ที่ไม่มีความรอบรู้ในเรื่องนี้อาจจะปฏิบัติสิ่งที่อยู่ในอันดับที่ 10 ก่อนโดยละทิ้งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นอับดับที่ 1 และ 2  ในสังคมมุสลิมมีผู้ที่จัดลำดับหน้าที่การงานที่ต้องปฏิบัติอย่างผิดพลาด หรือประเมินความสำคัญไม่ถูกต้องมีจำนวนไม่น้อย

           ในบทนี้และบทต่อจากนี้ไปจะขอเสนอบทความที่เกี่ยวกับความสำคัญของการจัดลำดับภารกิจในเรื่องศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในการเรียงลำดับและเรียงความสำคัญภารกิจ สิ่งใดควรทำก่อนและสิ่งใดที่ทำภายหลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสองประการนี้รวมกันในเวลาเดียวกัน ผู้อ่านควรทำสิ่งใดก่อน


(1) การทำความเข้าใจก่อนการจดจำ

          อิสลามเน้นให้มุสลิมทำความเข้าใจเรื่องศาสนาอย่างลึกซึ้งก่อนสิ่งอื่น จนตัวเองสามารถยอมรับมันได้ แล้วเริ่มปฏิบัติด้วยการกระทำและการจดจำ เพราะการปฏิบัติโดยปราศจากความรู้เป็นการปฏิบัติอย่างงมงายและอาจไม่ถูกต้องตามที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประสงค์ โดยมีหลักฐานจากอายะฮ์อัล-กุรอานที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ความว่า

وما كانَ المؤمِنونَ لِينفِروا كآفَّةً فَلَوْ لا نَفَرَ من كلِّ فرقةٍ منهم طائفةٌ لِيتفَقَّهوا في الدِّين
ولِينْذِروا قومَهم إذا رَجَعوا إليهم لعلَّهٌمْ يَحْذَرون (التوبة/122)

 “ไม่บังควรที่บรรดาผู้ศรัทธาจะออกไปสู้รบกันหมด ทำไมแต่ละกลุ่มในหมู่พวกเจ้าจึงไม่ออกเพื่อพยายามทำความเข้าใจในศาสนา

และเพื่อจะได้ตักเตือนหมู่คนของพวกเขาเมื่อพวกเขาได้กลับมายังคณะของพวกเขา โดยหวังว่าหมู่คณะของพวกเขาจะได้ระมัดระวัง”

คำที่เราต้องการนำมาเป็นหลักฐาน คือ คำว่า   (لِيتَفَقَّهوا) ซึ่งให้ความหมายว่าพยายามทำความเข้าใจ ก่อนสิ่งอื่น


ส่วนหลักฐานจากสุนนะฮ์ ท่านเราะสูล  ได้กล่าวไว้ว่า

مَن يرِدِ اللهُ بِه خيراً يفَقِّهْهُ في الدِّين (رواه البخاري (71) ومسلم (4956)

 “ผู้ใดที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้ความดีแก่เขา พระองค์จะทรงให้เขาเข้าใจเรื่องศาสนา”


และในอีกหะดีษหนึ่งท่านเราะสูล  ได้กล่าวว่า

النَّاسُ معادِنُ كمعادِنِ الذَّهب والفضَّةِ خِيارُهم في الجاهليةِ حِيارُهم في الإسلام إذا فقِهوا
(رواه البخاري 3493 مسلم (6454)

 “มนุษย์เปรียบเสมือนแร่ธาตุ เช่นธาตุทองและธาตุเงิน ผู้ที่ดีที่สุดในยุคญาฮิลิยะฮ์เป็นผู้ที่ดีที่สุดในยุคอิสลามเมื่อเขาเข้าใจอย่างลึกซึ้ง”


หลักฐานสุดท้าย คือ หะดีษที่ท่านเราะสูล  ได้กล่าวไว้ว่า

  ما بعثَنِي الله بِه من الهدى والعلْم كَمثَلِ الغَيْثِ الكَثير أصابَ أرضاً ، فَكانَ منْها نقيَّة
قبِلَت الماءَ فأنبَتَت الكلأَ والعشْبَ الكثيرَ ، وكان منْها أجادِبُ أمْسَكَت الماءَ فنفَع الله
بِها الناسِ ، فشرِبوا وسقَوا وزَرَعوا ، وأصابَت منْهم طائفة أخرى ، إنَّما هي قَيْعـانٌ
لا تمسِكُ ماءً ولا تنبِتُ كلأً ، فذلِك مثْلُ من فقِه في دينِ الله ونَفَعَه ما بعَثَني الله بِه
فعَلِمَ وعلَّمَ ومثْلُ مَن لم يرفعْ بذلك رأساً ولم يقْبَلْ هُدى الله الذي أرسِلْتُ به
(رواه البخاري (79) ومسلم (5953)


 “บทชี้ทางและวิชาการที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงได้บังเกิดฉันเกิดมาเป็นตัวแทนเปรียบเสมือนฝนที่ตกลงมาอย่างมากมายลงบนพื้นดิน

พื้นดินนั้น มีทั้งพื้นดินที่สมบูรณ์รับน้ำได้และสามารถทำให้หญ้าและต้นไม้เล็ก ๆงอกเงยได้

และมีพื้นดินหนึ่งที่ค่อนข้างแห้ง สามารถรับน้ำได้ มนุษย์ได้ประโยชน์จากมันได้ มนุษย์มีสิทธิใช้น้ำเพื่อดื่ม เพื่อรดต้นไม้และเพื่อเพาะปลูก

และดินสุดท้าย คือ ดินลื่นที่ไม่ดูดน้ำและไม่มีต้นไม้งอกเงย

เช่นเดียวกับผู้ที่เข้าใจเรื่องศาสนา ฮิดายะฮ์และวิชาการที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงได้ประทานผ่านฉันได้ให้ประโยชน์แก่เขา เขาได้เข้าใจและสอนให้ผู้อื่นเข้าใจ

ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องศาสนาและไม่จำอะไรแม้แต่น้อย หรือผู้ที่ไม่มีความรู้และไม่มีผลงานปฏิบัติไม่สามารถรับฮิดายะฮ์และวิชาการที่พระองค์ทรงประทานลงมาผ่านฉันได้”

 


สรุปจากหะดีษได้ว่า ผู้ที่รับฮิดายะฮ์และวิชาการที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาผ่านท่านเราะสูลและไม่ได้รับมี 3 จำพวก คือ

 

     1. ผู้ที่ประเสริฐที่สุด คือ ผู้ที่ได้รับฮิดายะฮ์ เข้าใจฮิดายะฮ์และวิชาการที่พระองค์ทรงประทานลงมา จากนั้นได้นำวิชาการนั้นมาเผยแผ่ให้แก่ผู้อื่น

     2. รองลงมา คือ ผู้ที่มีความสามารถท่องจำและเก็บความรู้นี้ได้ดี วันข้างหน้าหากมีผู้ต้องการความรู้นี้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์  เขาสามารถมอบให้ เป็นการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

     3. ผู้ที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย คือ ผู้ที่ไม่ที่ไม่เข้าใจอิสลาม ไม่ยอมทำความเข้าใจและไม่จดจำอะไรเลย หรือผู้ที่ไม่มีความรู้และไม่มีผลงานด้านการปฏิบัติอะไรเลยเพื่อตอบแทนบุญคุณพระองค์อัลลอฮ์