ศอฮาบะฮ์ในอัลกุรอ่าน
  จำนวนคนเข้าชม  15140

ความพยายามของศอฮาบะฮ์ในการรวบรวมอัลฮะดิษ 5


โดย...อับดุลกอเดร   พลสะอาด


ศอฮาบะฮ์ในอัลกุรอ่าน

โองการที่ ๑

مُحَمَّدٌ رَسُولُ اللَّهِ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاءُ عَلَى الْكُفَّارِ رُحَمَاءُ بَيْنَهُمْ تَرَاهُمْ رُكَّعًا سُجَّدًا يَبْتَغُونَ فَضْلًا مِنَ اللَّهِ وَرِضْوَانًا سِيمَاهُمْ فِي وُجُوهِهِمْ مِنْ أَثَرِ السُّجُودِ ذَلِكَ مَثَلُهُمْ فِي التَّوْرَاةِ وَمَثَلُهُمْ فِي الْإِنْجِيلِ كَزَرْعٍ أَخْرَجَ شَطْأَهُ فَآزَرَهُ فَاسْتَغْلَظَ فَاسْتَوَى عَلَى سُوقِهِ يُعْجِبُ الزُّرَّاعَ لِيَغِيظَ بِهِمُ الْكُفَّارَ وَعَدَ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ مِنْهُمْ مَغْفِرَةً وَأَجْرًا عَظِيمًا (29)

มุฮัมมัดเป็นรอซูลของอัลลอฮ์ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง เจ้าจะเห็นพวกเขาเป็นผู้รูกั๊วะ ผู้สุญูด โดยแสวงหาคุณความดีจากอัลลอฮ์และความโปรดปราน (ของพระองค์) เครื่องหมายของพวกเขาอยู่บนใบหน้าของพวกเขาเนื่องจากร่องรอยแห่งการสุญูด นั่นคืออุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัตเตารอต และอุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัลอินญีล ประหนึ่งเมล็ดพืชที่งอกหน่อหรือกิ่งก้านของมันออกมาแล้วทำให้มันงอกงาม แล้วมันก็เติบโตแข็งแรงและทรงตัวอยู่ได้บนลำต้นของมัน นำความปลื้มปิติมาให้แก่ผู้หว่าน เพื่อที่พระองค์จะก่อความโกรธแค้นแก่พวกปฏิเสธศรัทธา เพราะพวกเขา (มุสลิมีน) และอัลลอฮ์ทรงสัญญาบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายในหมู่พวกเขาว่าจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง” 

(ซูเราะฮฺ อัล-ฟัตฮฺ อายะฮฺที่  29)

          โองการอัลกุรอ่านข้างต้นนั้น เป็นโองการสุดท้ายของซูเราะฮฺ อัลฟัตฮฺ ซึ่งไม่มีความขัดแย้งกันในระหว่างบรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน  ว่าอัลลอฮฺ ได้ตรัสถึงบรรดาศอฮาบะฮฺ ของท่านนบี ซึ่งพระองค์ได้ตรัสถึงคุณลักษณะต่างๆของพวกเขาไว้หลายประการด้วยกันดังนี้

     ๑. พวกเขาเป็นผู้ที่อยู่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านนบี ด้วยความไกล้ชิดและแนบแน่น

     ๒. เป็นผู้เข้มแข็ง ห้าวหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา ที่แสดงตัวเป็นศัตรูต่ออิสลาม แม้นว่าจะเป็นพ่อ ลูก พี่น้องหรือญาติไกล้ชิดกันก็ตาม เพราะพวกเขารู้ดีว่า ท่านนบี  คือผู้ที่พวกเขาต้องมอบความรักให้มากกว่าทุกคน รวมทั้งตัวของพวกเขาเอง ดังนั้นพวกเขาจะแสดงออกถึงความรุนแรงอย่างเปิดเผยต่อผู้ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูในศาสนา โดยไม่มีความหวาดกลัวแต่อย่างใด ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้มากมาย

     ๓. พวกเขาเป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง มีความอ่อนโยน และยิ้มแย้มต่อกันและกัน จนกระทั่งพวกเขาสามารถสละสิ่งที่พวกเขารักและหวงแหนให้แก่พี่น้องของพวกเขาได้ ถึงแม้ไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมสายเลือด หรือ มาจากต่างเผ่ากันก็ตาม

     ๔. พวกเขาเป็นผู้ที่มีความรักในการทำอิบาดะฮฺ มีความอิ่มเอิบในการเข้าไกล้ชิดต่อพระเจ้า หวังในภาคผลอันยิ่งใหญ่จากพระองค์  โดยเฉพาะการละหมาด ซึ่งพวกเขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มันเป็นการงานที่ออกมาจากความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง

     ๕. เมื่อการอิบาดะฮฺของพวกเขาเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง และจิตใจของพวกเขามีความมั่นคงแล้ว มันจะส่งผลปรากฏร่องรอยแห่งความอิ่มเอิบนั้นผ่านทางอวัยวะภายนอก โดยเฉพาะใบหน้า ซึ่งจะยังผลให้พวกเขามีใบหน้าที่สดชื่น ดูมีสมาธิและมีความสุขุมลุ่มลึกปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

     ๖. อัลลอฮฺ ได้กล่าวยกย่องชมเชยพวกเขา ด้วยการระบุถึงพวกเขาโดยกล่าวไว้เป็นอุปมาในคำภีร์เตารอตและอินญีล

     ๗. สัญญาของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงเตรียมไว้แก่พวกเขาในวันอาคิเราะฮฺ ซึ่งการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง


          และจากจุดนี้เอง เราจึงเข้าใจได้โดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้น ถึงความประเสริฐของพวกเขา ที่พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงสัญญาถึงการอภัยโทษและรางวัลอันยิ่งใหญ่  สำหรับพวกเขา เพื่อเป็นการตอบแทนในความศรัทธาอย่างแท้จริงที่พวกเขามี และการงานที่ดีทั้งหลายที่พวกเขาได้กอบกรรมไว้ในโลกดุนยา

          จะมีความโปรดปราณใด ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้รับอภัยโทษและตอบแทนด้วยรางวัลอันยิ่งใหญ่ จากพระองค์  เพราะนั่นหมายถึง สวนสวรรค์อันนิรันดรนั่นเอง

 

โองการที่ ๒

وَالسَّابِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنْصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُمْ بِإِحْسَانٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي تَحْتَهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا ذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ (100)

“บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญีรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศ้อรจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่างพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง”

(ซูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ  : ๑๐๐)

          โองการนี้ก็เช่นกัน   ได้ชี้แจงถึงความประเสริญของเหล่าศอฮาบะฮฺที่ชัดเจนที่สุดอีกโองการหนึ่ง ซึ่งอัลลอฮฺมีความพอพระทัยต่อพวกเขา เนื่องจากพวกเขามีความพอใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์โดยดุษฎี พร้อมทั้งตอบรับคำเรียกร้องของท่านนบี

          มีรายงานจากอัชชะอฺบีย์ว่า  (وَالسَّابِقُونَ الأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالأَنصَار )  นั้นคือบรรดาศอฮาบะฮฺผู้ที่ทำสัตยาบัน บัยอะฮฺอัรริฏวาน ในปีฮิจญเราะฮฺศักราชที่ ๖

          ท่านอบูมูซา อัลอัชอะรีย์ , ท่าน สะอีด อิบนิ อัลมุสัยยับ , ท่านมุฮัมมัด อิบนิ ซิรีน , ท่านอัลฮะซัน และท่านเกาะตาดะฮฺ กล่าวว่า พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ละหมาดไปยังกิบลัตทั้งสอง (หมายถึง บัยตุลมุก็อดดิส ซึ่งเป็นกิบลัตแรก และ มัสยิดอัลฮะรอม กิบลัตที่สอง )พร้อมกับท่าน รอซูล    บางทัศนะมีความเห็นว่าพวกเขาคือ บรรดาผู้ที่ออกสงครามในสมรภูมิบะดัร   นอกจากนี้ยังมีทัศนะอื่นอีกเกี่ยวกับกลุ่มชนดังกล่าว ซึ่งเราจะสังเกตเห็นว่า ถึงแม้จะมีความขัดแย้งกันในแต่ละทัศนะเหล่านั้น   แต่ก็ล้วนจำกัดวงอยู่เฉพาะในกลุ่มศอฮาบะฮฺ ผู้มีเกียรติยิ่งเท่านั้น

           ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ  กล่าวว่า ทัศนะของอุลามาอฺส่วนใหญ่ (ญุมฮูร) มีความเห็นว่า َ وَالسَّابِقُونَ الأَوَّلُونَ นั้นหมายถึงบรรดาผู้ที่บริจาคและทำการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ก่อนการพิชิตมักกะฮฺและบรรดาผู้ที่ทำสัตยาบัน บัยอะฮฺอัรริฏวาน ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งพวกเขามีมากกว่า ๑,๔๐๐ คนด้วยกัน  ส่วนทัศนะที่ว่า وَالسَّابِقُونَ الأَوَّلُونَ หมายถึงบรรดาผู้ที่ละหมาดไปยังกิบลัตทั้งสองนั้น ถือเป็นทัศนะที่อ่อน 

          จะอย่างไรก็ตาม อัลลอฮฺทรงยืนยันถึงสถานะอันสูงส่งยิ่งของพวกเขา ในฐานะบรรพชนรุ่นแรก ทั้งจากชาวมุฮาญีรีนและชาวอันศ้อร ด้วยความพอพระทัยต่อพวกเขา รวมทั้งบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดี ซึ่งหมายถึงเหล่าศอฮาบะฮฺ ที่ทยอยเข้ารับอิสลามภายหลังจากบรรพชนกลุ่มแรก และแน่นอนที่สุดว่า สิ่งตอบแทนสำหรับพวกเขานั้น คือ บรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่างพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล  และพระองค์ทรงย้ำถึงการตอบแทนนี้ว่า  นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง

         ท่านอิบนุ อับดิลบัร (สียชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ ๖๔๓)  ได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือ  อัลอิสตีอาบ ฟี อัสมาอิลอัศฮาบ ในการอธิบาย อายะฮฺนี้ว่า บรรดาผู้ที่ได้รับความพึงพอใจจากอัลลอฮฺนั้น   พวกเขาจะไม่มีวันได้รับความโกรธกริ้วตลอดไป อินชาอัลลอฮฺ  

ในบันทึกของท่านอิหม่ามบุคอรีและอิหม่ามมุสลิม   มีรายงานจากท่านอัลบัรรออฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านนบี  กล่าวว่า

"ชาวอันศอรนั้น จะไม่มีใครรักพวกเขา นอกจากเขาผู้นั้นคือผู้ศรัทธา และ จะไม่มีใครเกลียดชังพวกเขา นอกจากว่าเขาผู้นั้นคือ คนกลับกลอก (มุนาฟิก)

ดังนั้นใครก็ตามที่รักพวกเขา (หมายถึงชาวอันศอร) อัลลอฮฺก็จะรักผู้นั้น และใครก็ตามที่เกลียดชังพวกเขา อัลลอฮฺก็จะเกลียดชังเขาผู้นั้นเช่นเดียวกัน "

ท่านอะนัส อิบนิ มาลิก รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูล   กล่าวว่า 

"เครื่องหมายแห่งความศรัทธานั้นก็คือ การรักชาวอันศอร และเครื่องหมายแห่งความกลับกลอกนั้นก็คือความเกลียดชังชาวอันศอร"

 

โองการที่ ๓

لِلْفُقَرَاءِ الْمُهَاجِرِينَ الَّذِينَ أُخْرِجُوا مِنْ دِيَارِهِمْ وَأَمْوَالِهِمْ يَبْتَغُونَ فَضْلًا مِنَ اللَّهِ وَرِضْوَانًا وَيَنْصُرُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ أُولَئِكَ هُمُ الصَّادِقُونَ (8) وَالَّذِينَ تَبَوَّءُوا الدَّارَ وَالْإِيمَانَ مِنْ قَبْلِهِمْ يُحِبُّونَ مَنْ هَاجَرَ إِلَيْهِمْ وَلَا يَجِدُونَ فِي صُدُورِهِمْ حَاجَةً مِمَّا أُوتُوا وَيُؤْثِرُونَ عَلَى أَنْفُسِهِمْ وَلَوْ كَانَ بِهِمْ خَصَاصَةٌ وَمَنْ يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ (9) وَالَّذِينَ جَاءُوا مِنْ بَعْدِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلًّا لِلَّذِينَ آمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَحِيمٌ (10)
 
"สิ่งที่ยึดมาได้(จากพวกยะฮูด) เป็นของบรรดาผู้อพยพ (ชาวมุฮาญีรีน) ที่ขัดสน ซึ่งถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาและทอดทิ้งทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และความยินดีของพระองค์ และช่วยเหลืออัลลอฮและรอซูลของพระองค์ ชนเหล่านั้นพวกเขาคือผู้สัตย์จริง*  และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ (ชาวอันศ้อร) และพวกเขาศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของพวกเขา (ชาวมุฮาญีรีน) พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขา และจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานให้ และให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ  *และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา โดยพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเราทรงโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ "

(ซูเราะฮฺ  อัล-ฮัชรฺ  :   ๘-๑๐)

          โองการนี้พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสถึงความประเสริฐของชาวชาวมุฮาญีรีนและชาวอันศ้อร โดยที่พระองค์ทรงเริ่มกล่าวถึงชาวมุฮาญีรีนก่อน เนื่องจากความยากลำบากของพวกเขา จากการต้องจำใจละทิ้งทรัพย์สินเงินทองและบ้านเรือนไว้ที่มักกะฮฺ    แล้วอพยพออกมาจากที่นั่น  โดยไม่มีสิ่งใดติดตัวมาเลย อีกทั้งพวกเขาจำต้องขัดแย้งกับกลุ่มชนของตัวเองที่เคยอยู่ร่วมกันมา   ในเรื่องการยึดมั่นต่อพระเจ้าองค์เดียว ด้วยหวังในความพอพระทัยจากพระองค์ นอกจากนี้พวกเขายังยืนเคียงข้างรอซูลของพระองค์ แม้จะเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยสักปานใดก็ตาม ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในสัญญาของอัลลอฮฺ  หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้กล่าวสรรเสริญชาวอันศ้อร ถึงเกียรติภูมิและความประเสริฐของพวกเขา  การแสดงออกซึ่งความความมีน้ำใจ ความรักของพวกเขาที่มอบให้แก่ชาวมุฮาญีรีน  พร้อมทั้งยินดีสละสิ่งที่พวกเขารักและหวงแหนให้แก่พี่น้องของพวกเขาได้โดยไม่รู้สึกเสียดายแม้แต่น้อย

          และที่สำคัญ พวกเขาก็รู้ทั้งรู้ถึงความมีเกียรติของชาวมุฮาญีรีน   สถานะและความประเสริฐของพวกเขาที่เหนือกว่า แต่พวกเขาหาได้มีความอิจฉาริษยา หรือขุ่นข้องหมองใจแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำพวกเขากลับทำหน้าที่ของผู้ต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง

 

โองการที่ ๔

وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا

"และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย และร่อซูล ก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า "

 (ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ  143)

          โองการนี้ก็เช่นเดียวกันที่นักวิชาการมีความเห็นว่า ถูกประทานลงมาเกี่ยวกับศอฮาบะฮฺโดยเฉพาะ   ซึ่งอัลลอฮฺทรงบรรยายลักษณะของพวกเขาว่า มีความเป็นกลาง มีคุณธรรม แต่ถ้าหากว่าโองการนี้ เป็นการกล่าวถึงกว้างๆ  หมายถึงประชาชาติของท่านนบีโดยทั่วไป  ก็ไม่เป็นที่น่าสงสัยในแง่ที่ว่า บรรดาศอฮาบะฮฺ นั้นจะต้องอยู่ในลำดับแรกๆ ของกลุ่มประชาชาติของท่านนบี ดังความประเสริฐที่ได้กล่าวมาแล้วในโองการก่อนหน้านี้  และสำหรับผู้ที่มีความเห็นว่า โองการนี้ประทานลงมาเกี่ยวกับศอฮาบะฮฺ ก็คือ ท่านอัลคอฏีบ อัลบัฆดาดีย์ ท่านกล่าวว่า " และแม้ว่าโองการนี้จะใช้ประโยคกว้างๆ ทั่วไป แต่จุดมุ่งหมายนั้นเจาะจง โดยกล่าวกันว่า โองการนี้ประทานลงมาเกี่ยวกับศอฮาบะฮฺ มิใช่ผู้อื่นนอกจากพวกเขา"

 

โองการที่ ๕

لَقَدْ رَضِيَ اللَّهُ عَنِ الْمُؤْمِنِينَ إِذْ يُبَايِعُونَكَ تَحْتَ الشَّجَرَةِ فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمْ فَأَنْزَلَ السَّكِينَةَ عَلَيْهِمْ وَأَثَابَهُمْ فَتْحًا قَرِيبًا (18)

"โดยแน่นอนอัลลอฮ์ทรงโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธาขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้าใต้ต้นไม้ (ที่อัล-ฮุดัยบิยะฮ) เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบใจลงมาบนพวกเขา และได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้ "

 (ซูเราะฮฺอัลฟัตฮฺ อายะฮฺที่ 18)

          โองการนี้ เป็นคำยกย่องชมเชยจากอัลลอฮฺ ที่มีต่อศอฮาบะฮฺ กลุ่มหนึ่ง  คือ บรรผู้ทำสัตยาบรรณกับท่านนบี  ใต้ต้นไม้ ซึ่งรู้จักกันในนาม บัยอะตุลริฎวาน ซึ่งมีจำนวน ๑๔๐๐ คน ดังที่กล่าวผ่านมาแล้ว

الَّذِينَ إِنْ مَكَّنَّاهُمْ فِي الْأَرْضِ أَقَامُوا الصَّلَاةَ وَآتَوُا الزَّكَاةَ وَأَمَرُوا بِالْمَعْرُوفِ وَنَهَوْا عَنِ الْمُنْكَرِ وَلِلَّهِ عَاقِبَةُ الْأُمُورِ (41)

"บรรดาผู้ที่เราให้พวกเขามีอำนาจในแผ่นดิน คือบรรดาผู้ที่ดำรงการละหมาด และบริจาคซะกาตและใช้กันให้กระทำความดี และห้ามปรามกันให้ละเว้นความชั่ว และบั้นปลายของกิจการทั้งหลายย่อมกลับไปหาอัลลอฮ์ "

(ซูเราะฮฺ อัลฮัจญ์ อายะฮฺที่   41)

ท่านอบุล อาลิยะฮฺ กล่าวว่า พวกเขาคือ บรรดาสหายของ มุฮัมมัด

ท่านอุษมาน บิน อัฟฟานกล่าวว่า มันถูกประทานลงมายังพวกเรา


นอกจากนี้  ยังมีโองการอีกมากมาย ที่ประทานลงมาถึงบรรดาศอฮาบะฮฺ เช่น


     - พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ.....(ซูเราะฮฺ อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่  ๑๑๐)


     - โอ้ นบี! อัลลอฮ์นั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้า และแก่ผู้ปฏิบัติตามเจ้าด้วย อันได้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย...(ซูเราะฮฺ อัลอัมฟาล  อายะฮฺที่  ๖๔)


    - และกลุ่มแนวหน้า คือกลุ่มแนวหน้า   เขาเหล่านั้น คือบรรดาผู้ใกล้ชิด  ในสวนสวรรค์หลากหลายแห่งความสุขสำราญ...(ซูเราะฮฺ อัลวากิอะฮฺ  อายะฮฺที่  ๑๐-๑๒)


     - ขณะที่พวกปฏิเสธศรัทธาได้ทำให้ความหยิ่งยะโสมีขึ้นในจิตใจของพวกเขา ซึ่งเป็นความหยิ่งยะโสในสมัยแห่งความงมงาย อัลลอฮ์จึงประทานความเงียบสงบของพระองค์ให้แก่ร่อซู้ลของพระองค์และแก่บรรดาผู้ศรัทธา....(ซูเราะฮฺ อัลฟัตฮฺ  อายะฮฺที่  ๒๖)


     - และพวกเจ้าพึงรู้เถิดว่า ในหมู่พวกเจ้านั้นมีร่อซู้ลของอัลลอฮ์อยู่ หากเขา (มุฮัมมัด) เชื่อฟังพวกเจ้าในส่วนใหญ่ของกิจการแล้ว แน่นอนพวกเจ้าก็จะลำบากกัน แต่อัลลอฮ์ทรงให้การศรัทธาเป็นที่รักแก่พวกเจ้า และทรงให้การปฏิเสธศรัทธา และความชั่วช้าและการฝ่าฝืนเป็นที่น่าเกลียดชังแก่พวกเจ้า ชนเหล่านั้นคือพวกที่ดำเนินอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง...(ซูเราะฮฺ อัลฮุจญรอต  อายะฮฺที่  ๗)


     - บรรดาที่ผู้ที่ศรัทธา และอพยพและต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ทั้งด้วยทรัพย์สมบัติของพวกเขา และชีวิตของพวกเขานั้นย่อมเป็นผู้มีระดับชั้นยิ่งใหญ่กว่า ณ:ที่อัลลอฮ์ และชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้มีชัยชนะ  พระเจ้าของพวกเขาทรงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาด้วยความกรุณาเมตตาจากพระองค์ และด้วยความปิติยินดี และบรรดาสวนสวรรค์ ด้วยซึ่งในสวนสวรรค์เหล่านั้น พวกเขาจะได้รับสิ่งอำนวยความสุขอันจีรังยั่งยืน   โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนสวรรค์เหล่านั้นตลอดกาล แท้จริงอัลลอฮ์นั้น ณ:ที่พระองค์มีรางวัลอันยิ่งใหญ่....(ซูเราะฮฺ เตาบะฮฺ อายะฮฺที่ ๒๐-๒๒)

 

 


30.  ดูตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่ม ๗  หน้า ๒๗๐ , ตัฟซีร อัฏฏอบรีย์ เล่ม ๑๑ หน้า ๖๓๘
31.  ดูตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่ม ๗  หน้า ๒๗๐, ตัฟซีร อัฏฏอบรีย์ เล่ม ๑๑ หน้า ๖๓๙
32.  อัดดุรรุลมันษูร ฟิตตัฟซีร บิลมะอฺษูร เล่ม ๗ หน้า ๔๙๕ , อัลญามิอฺ ลิอะฮฺกามิลกุรอาน  เล่ม ๑๐ หน้า ๓๔๔
33.  มินฮาจญ์ อัซซุนนะฮฺ อันะบะวียะฮฺ เล่ม ๒ หน้า ๒๖-๒๗ , ชัรฮฺ อัลอะกีดะฮฺ อัฏเฏาะฮาวียะฮฺ เชคอับดุรเราะมาน อัลบัรรอก หน้า ๓๕๘
34.  อัลอิสตีอาบ ฟี อัสมาอิลอัศฮาบ ในบทนำหนังสือ  หน้า ๙
35.  ศอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี กีตาบ มะนากิบุลอันศอร  ,  บาบ ฮุบบุลอันศอร มินัลอีมาน  หมายเลข  ๓๗๘๓  /  มุสลิม เล่ม ๑ หน้า ๕๐ กีตาบ อัลอีมาน บาบ อัดดะลีล อะลาอันนะ ฮุบบัลอันศอร วะอะลี รอฎิยัลลอฮุอันฮุ มินัลอีมาน ...  หมายเลข ๗๕
36.  ศอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี กีตาบ มะนากิบุลอันศอร  ,  บาบ ฮุบบุลอันศอร มินัลอีมาน  หมายเลข  ๓๗๘๔  /  มุสลิม เล่ม ๑ หน้า ๕๐ กีตาบ อัลอีมาน บาบ อัดดะลีล อะลาอันนะ ฮุบบัลอันศอร วะอะลี รอฎิยัลลอฮุอันฮุ มินัลอีมาน ...  หมายเลข  ๗๔
37.  อัลกิฟายะฮฺ ฟี อิลมิรริวายะฮฺ เล่ม ๑  หน้า ๗๒
38.  ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่ม ๑๐ หน้า ๗๗
39.  เล่มเดียวกัน