ปิดเทอมใหญ่ หัวใจ(ไม่)ว้าวุ่น
โดย... ยูซุฟ อบูบักรฺ
มวลการสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ
พึงสำเหนียกเถิดว่า..เวลา คือ ชีวิต
เมื่อท่านละเลย เพิกเฉยต่อเวลา..ก็เท่ากับว่าเพิกเฉยต่อชีวิต เฉกเช่นกันหากท่านสนใจต่อเวลา..ก็เท่ากับสนใจต่อชีวิต
เวลา..นับว่าเป็นความยุติธรรมอีกประการ ที่พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลมอบให้แก่มวลมนุษยชาติ แต่..ยี่สิบสี่ชั่วโมงในหนึ่งวันของแต่ละคนจะมีเนื้อสารัตถะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าใครใช้ไปอย่างไร? หากหมดไปกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺและรับใช้ศาสนาของพระองค์ เขาจะได้รับคุณค่าจากวันเวลา และหากว่าเขาใช้ให้หมดไปกับเรื่องไร้สาระ ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ เขาเป็นผู้หนึ่งที่มิอาจหลุดพ้นจากความขาดทุนล้มเหลว
ในอัลกุรอานมีอยู่หลายอายะฮฺอัลลอฮฺได้สาบานด้วยกับเวลา อาทิ วัลอัศริ.. วัฎฎุฮา..วัลฟัจญริ..วัลลัยลิ..
“ความโปรดปรานสองประการที่ผู้คนส่วนมากเพิกเฉย ได้แก่ หนึ่ง.. การมีสุขภาพดี สอง..เวลาว่าง”
(หะดีษบันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)
“ในวันกิยามะฮฺ..เท้าทั้งสองข้างของบ่าวจะไม่ถูกเคลื่อนย้าย จนกว่าจะถูกสอบสวนถึงเรื่องราวสี่ประการ...
ส่วนหนึ่งได้แก่..จะถูกสอบสวนถึงเรื่องอายุ เขาได้ใช้ให้หมดไปอย่างไร ?”
(หะดีษเศาะฮีหฺของอัฏ-ฏ็อบรอนีย์)
คนหนุ่มสาวแห่งอิสลาม..พี่น้องผู้เดินอยู่ในแวดวงการศึกษา..ปิดเทอมใหญ่ ทำอย่างไร หัวใจจะ (ไม่) ว้าวุ่น ? นี่คือคำตอบหรือทางออกของโจทย์ข้อดังกล่าว ส่วนหนึ่งที่จะแนะนำกิจกรรมหรือโปรแกรมที่สมควรให้มีในช่วงปิดเทอม ดังต่อไปนี้
หนึ่ง..วางโปรแกรมในการท่องจำอัลกุรอาน
หวังว่าทุกคนอยากเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้ที่ดีเลิศที่สุด อันบังเกิดจากการเรียนหรือการสอนอัลกุรอานดังความหมายหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ มีค่ายอบรมต่างๆ มากมาย หรือเรียนเป็นกรณีพิเศษ เข้าท่องจำกับโรงเรียนตะหฺฟีซ โดยกำหนดเอาไว้ช่วงปิดเทอมนี้ต้องได้สักสองหรือสามญุซ อินชาอัลลอฮ์
สอง..ให้ความสนใจต่อสุนนะฮฺหรือหะดีษของท่านนบีมุหัมมัด
ตัวอย่างของอัครสาวกหรือบรรพชนแห่งคุณธรรมได้ทำไว้ เช่น การเดินทางแรมเดือนเพื่อไปเรียนวิชาการหะดีษ หรือต้องไปอีกแคว้นเมืองเพื่อสืบสายรายงานหะดีษ ฉะนั้นจงฉวยโอกาสในช่วงปิดเทอมท่องจำหะดีษสักสามหรือสี่สิบหะดีษ หรือศึกษาทำความเข้าใจหนังสือริยาฎุศศอลอหีน สี่สิบหะดีษของอิหม่ามนะวะวีย์ เป็นต้น
สาม..ติดต่อปฏิสัมพันธ์กับเครือญาติ
คงไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมไปกว่าช่วงเวลานี่แล้ว ช่วงเปิดเทอมไม่มีเวลาทำให้เราห่างไกลญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ หรือแม้กระทั่งในหมู่บ้านเดียวกันก็ตาม การติดต่อเครือญาติเป็นสาเหตุให้ได้รับความเมตตา ได้เข้าสวนสวรรค์ อายุยืนยาว และริซกีเพิ่มพูน
(จากความหมายหะดีษบันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)
สี่..ฝึกฝนวิชาชีพเฉพาะด้าน
ช่วงปิดเทอมไม่ใช่ช่วงเวลาของการนอนดึก หรือพักผ่อนตามสบายโดยไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่..เป็นช่วงโอกาสที่จะทำงานเสริมหรือฝึกฝนด้านอาชีพต่างๆ อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างตัดผม ทำขนม เย็บปักถักร้อย ซ่อมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อวิชาชีพเหล่านี้จะเป็นต้นทุนในการแสวงหาปัจจัยยังชีพที่หะล้าลในอนาคต
ห้า..เรียนพิเศษ ติวเข้ม เข้าคอร์สเฉพาะรายวิชาที่ต้องการ
ในกรณีที่ต้องการให้มีความรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้นหรือสร้างความเข้มแข็งในบางรายวิชาที่อ่อนจนเป็นสาเหตุให้เรียนช้าไม่ทันเพื่อน เช่น เรียนเสริมวิชาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเพิ่มทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นฐานสำคัญในการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป
หก..เตรียมตัวก่อนเปิดเทอมใหม่
ทำความรู้จักแบบเรียน รายละเอียดวิชา โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่ง เช่น เตรียมความพร้อมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือเปลี่ยนช่วงชั้นจากมอต้นเป็นมอปลาย เพราะจะมีวิชาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น วิชาอุลูมุลกุรอาน มุศฏอละฮฺหะดีษ เคมี หรือชีวะวิทยา หากไม่มีการเตรียมพร้อมจะมีปัญหาในการเข้าเรียนเทอมต่อไป และยิ่งการเรียนสมัยใหม่ต้องใช้สื่อเทคโนโลยี เช่น แท็บเล็ต อินเตอร์เน็ต ฯลฯ จึงต้องเตรียมตัวก่อน
เจ็ด..เข้าร่วมทำกิจกรรมสันทนาการ
อย่างเช่นทุกวันนี้มีค่ายอบรมต่างๆ มากมาย พร้อมที่จะให้เราเลือกสรรจะเข้าร่วมค่ายแบบใด (คุณเลือกได้ตามความถนัด) ค่ายอบรมมุสลิมภาคฤดูร้อน ค่ายฝึกทักษะชีวิต ค่ายอบรมนักแปลนักเขียน ค่ายเฉพาะมุสลิมะฮฺ ค่ายกิรออะตีย์ ค่าย..ค่าย.. ฯลฯ
เพราะในค่ายอบรมฯ เราสามารถพบคนเก่ง คนกล้า คนดี ได้หลากหลาย เมื่อพบกลุ่มดังกล่าวทำให้มีความกระหายอยากเป็นคนเก่ง คนกล้า คนดีเฉกเช่นคนกลุ่มนั้น
แปด..เยี่ยมเยียนผู้รู้ นักวิชาการ และบรรดาคนดีๆ
เป็นการเพียงพอจากหะดีษของอบูมูสา อัล-อัชอะรีย์ หะดีษเดียวก้อเกินพอ ความว่า “ผู้ใดที่เยี่ยมเยียนคนป่วย หรือเยี่ยมเยียนพี่น้องเพื่ออัลลอฮฺ มีเสียงเรียกขึ้นว่า ท่านได้ทำดีแล้วและทางเดินของท่านก็ดีแล้ว และท่านได้เตรียมที่พำนักไว้ในสวนสวรรค์แล้ว”
เก้า..ฝึกฝนตนเองในการทำอิบาดะฮฺ
ในช่วงปิดเทอมเป็นโอกาสดีสำหรับการได้อบรมขัดเกลาจิตใจโดยการทำอิบาดะฮฺในรูปแบบต่างๆ เช่น ละหมาดสุนนะฮฺ กิยามุลลัยน์ ฎุฮา วิตรฺ สุนนะฮฺก่อน-หลังละหมาดฟัรฎู การถือศีลอดสุนนะฮฺ ไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด และความดีงามในรูปแบบอื่นๆ
สิบ..ใช้ชีวิตอยู่ร่วม/พักผ่อน/ท่องเที่ยวพร้อมกับสมาชิกในครอบครัว
ออกไปท่องเที่ยวหรือพักผ่อนอันเนื่องจากภารกิจหน้าที่ถูกพันธนาการในช่วงเปิดเรียนมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ปิดเทอมจึงเป็นอีกโอกาสไปเที่ยวตามสถานที่ๆ ศาสนาอนุมัติ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา หรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ และสิ่งที่ควรตระหนักไม่เฉลิมฉลองด้วยกับเสียงเพลง การละเล่นที่ต้องห้าม การแต่งกายที่ไม่สอดรับกับหลักการอิสลาม หรือเที่ยวจนกระทั่งหลงลืมเวลาทำอิบาดะฮฺ
สิบเอ็ด..บริโภคเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์
ในยุคปัจจุบันนับเป็นโอกาสสำคัญต่อการที่เราจะแสวงหาความดีงาม โดยเฉพาะช่วงเวลาปิดเทอมเราใช้เวลาส่วนมากอยู่กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตา..อย่าหมดเวลาไปกับเรื่องไร้สาระหรือสิ่งต้องห้าม วันนี้ทีวีภาคมุสลิมมีอยู่หลายช่อง เราจะกล่าวอ้างว่าไม่รู้จะดูอะไรไม่ได้อีกแล้ว
หู..วัยรุ่นส่วนมากหมดเวลาไปกับเสียงเพลงนั่งร้านน้ำชา เสพเพลงด้วยกับอุปกรณ์สื่อสารรูปแบบต่างๆ อย่างง่ายดาย วันนี้เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาฟังเรื่องที่เป็นสาระแทน เช่น อัลกุรอาน บรรยายธรรม
อ่านหนังสือ..ของที่ง่ายที่สุดในช่วงอยู่กับบ้านหรือเดินทางคือการอ่านหนังสือ กำหนดไว้เลยปิดเทอมนี้อ่านหนังสือให้ได้สัก 2,000 หน้า หรือ 10 เล่ม เพราะการตั้งเป้ามีไว้เพื่อพุ่งชน เป็นการท้าทายความมุ่งมานะของตัวเอง แต่งหรือแปลหนังสือ เขียนบทความ คำสั้นๆ ฯลฯ .. เพื่อการดะวะฮฺหรือเตือนสติตัวเองและคนอื่น เราขอย้ำว่า -ค่าของคน..อยู่ที่ผลของงาน-
สิบสอง..หางานเสริม ช่วยทำงานที่บ้าน
เพื่อจะได้รู้จักค่าของเงินว่ากว่าจะได้มาต้องแลกกับหยาดเหงื่อ เผื่อเวลาจ่ายจะได้ลดแต่น้อยๆ ใช้จ่ายเฉพาะของที่จำเป็น
เมื่ออ่านจบ..หวังว่าจะไม่ว้าวุ่น ขอได้รับความอบอุ่นจากทุกความปรารถนาดี เพราะนัยยะของมุสลิม..เกิดมาเพื่อที่จะให้ทุกอริยบถที่เคลื่อนไหวได้รับมรรคผล การทำความดีต่ออัลลอฮฺ ไม่มีเสาร์-อาทิตย์ และไม่มีปิดเทอมเล็กหรือเทอมใหญ่ ฉะนั้นจงการันตีกับตัวเองว่า..ไม่ว่าจะปิดหรือเปิดเทอม หัวใจของพวกเราไม่ว้าวุ่นอย่างแน่นอน
แล้วเจอกันใหม่..ในวันเปิดเทอม –อินชาอัลลอฮฺ